สภาไม่ให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อยกเลิกโทษผู้ใช้ยา ชี้ขัดความมั่นคง เครือข่ายประชาชนแถลงค้าน

จากกรณีที่เครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติด นำโดยไพลิน ดวงมาลา จัดทำและนำเสนอร่างพ.ร.บ.บำบัดฟื้นฟูคุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. … ขึ้นโดยตั้งใจว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณา จึงได้ยื่นหนังสือเพื่อแจ้งความจำนง “ริเริ่ม” เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565

ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตอบกลับมาตามหนังสือลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้วินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยกเลิกความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่มีไว้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคง การยกเลิกจึงส่งผลที่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.นี้ เป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีหลักการตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ จึงไม่อาจริเริ่มการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้

ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติดจึงจัดกิจกรรม “ถก ทวน ถาม : อำนาจการขอริเริ่มกฎฆมายอยู่ในมือประชาชนจริงหรือไม่…”​ และแถลงตอบโต้คำวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการช่วยเหลือ ปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจะทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น และขอให้ประธานรัฐสภาทบทวนคำวินิจฉัยดังกล่าว และให้ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างนี้ คือ รัฐสภา (เนื้อหาของแถลงการณ์ ตามข้อมูลด้านล่าง)

ทั้งนี้ หลักการของการเสนอร่างพ.ร.บ.บำบัดฟื้นฟูคุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. ที่เขียนไว้ คือ เพื่อให้ผู้ใช้ยาเสพติดเข้าถึงบริการ ด้านสุขภาพและบริการทางสังคมโดยไม่ถูกตีตรา ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกบังคับให้บำบัดรักษา เพื่อให้ผู้ใช้ยา เสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้อื่น

สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาสังคม ต้องปฎิบัติได้จริง ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้บัญญัติรับรองไว้

ร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. …. (ฉบับภาคประชาสังคม) นั้น มีหลักการและเจตนารมณ์ ที่ตรงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ หมวด ๓ มาตรา ๒๘ ที่รับรองสิทธิ เสรีภาพ ในชีวิตและร่างกายของทุกคนเท่าเทียมกัน ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องสุขภาพ ระบบสาธารณสุข สิทธิมนุษยชน ความยากจน การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะต้องมุ่งเน้น ในด้านสาธารณสุข เน้นการดูแลสุขภาพผู้เสพผู้ป่วย ซึ่งปัญหาใหญ่ของการบำบัดรักษา คือ ผู้เสพผู้ป่วยไม่กล้าเปิดเผยตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุมต้องโทษ

การยกเลิกโทษทางอาญาจะเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายที่เอื้อต่อกระบวนการบำบัดรักษาในผู้ใช้ยาเสพติดที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิง และ มีหลักการที่ตรงกับกับหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐซึ่งถือเป็นการคุ้มครองสังคม ซึ่งรัฐมีหน้าที่ดำเนินการบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติดซึ่งเป็นผู้ป่วย พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนและกำกับดูแลการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เป็นหน่วยร่วมบริการหรือเครือข่ายร่วมบริการลดอันตรายจากยาเสพติด

ดังนั้น หากรัฐตราพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. … ออกมาใช้บังคับอย่างจริงจัง ย่อมเป็นการที่รัฐได้ทำหน้าที่ตามหมวด ๕ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหมวด ๓ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ บังเกิดผลตามหลักการและเหตุผลของกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือ ปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจะทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น อันเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ประชาชนและสร้างสังคมที่พร้อมจะทำความเข้าใจ ให้โอกาส มีกระบวนการในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดในระหว่างที่เขายังใช้ยาเสพติดอยู่หรือยังเลิกไม่ได้ โดยไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวว่าจะถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในฐานะผู้กระทำความผิดอาญาเสียก่อน เมื่อรัฐตรากฎหมายรับรองว่าผู้ใช้ยาเสพติดไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา รัฐก็จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนโดยปราศจากความหวาดกลัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ยาเสพติดเอง สมาชิกในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรือประชาชนผู้หวังดีต่อตัวผู้ใช้ยาเสพติด 

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สอดคล้องกับทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดในระดับสากล จากการประชุมผู้นำระดับสูงวาระพิเศษว่าด้วยเรื่องยาเสพติด UNGASS 2016 – United Nations General Assembly Special Session 2016 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกด้วย ที่ประชุมได้แนะนําให้ภาคีกําหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติด เพื่อนําผู้เสพเข้าสู่การบําบัดรักษาแทนการลงโทษหรือดําเนินคดี เช่น การนํามาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) มาตรการทางด้านสาธารณสุข สิทธิมนุษยชน รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (alternative development) มาปรับใช้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน

“ส่วนผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ ยังคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการปราบปรามอย่างเข้มข้น”

และสอดคล้องอย่างยิ่งกับการที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” มีการประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งแนวคิดนี้ ถือว่า ผู้เสพทุกคน เป็นผู้ป่วย และจะให้โอกาส ในการบำบัดรักษา รวมถึงดูแลช่วยเหลือให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยรัฐบาลได้ให้โอกาสแก่ผู้ต้องสงสัยว่าใช้ยาเสพติดทุกคน สามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู โดยไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐมีหน้าที่ตราหรือยกเลิกกฎหมายหรือยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาใดๆได้  อันเป็นการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย เสริมสร้างความปกติสุขให้แก่สังคมหรือสาธารณชนโดยรวมในรัฐนั่นเอง  กรณีดังกล่าวรัฐยังได้ขอความร่วมมือจากประชาชนว่าหากพบผู้ใกล้ชิด ใช้ยาเสพติดขอให้ทำความเข้าใจ และแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ

ในต่างประเทศกระบวนการการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย (Drug Liberalization) นั้น ประสบความสำเร็จในการทำให้การใช้ยาเสพติดในประเทศลดน้อยลง ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ สาธารณรัฐโปรตุเกส เป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ยกเลิกบทลงโทษทางอาญาทั้งหมดที่เกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติดไว้เสพ ผู้ใช้ยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาแทนการจำคุก ทำให้จำนวนผู้รับการบำบัดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า การใช้ยาเสพติดของวัยรุ่นลดลง การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีลดลง การเสียชีวิตจากการใช้ยาเสพติดลดลง 

ประเทศไทย กำลังเริ่มปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด มีการลดการควบคุมและลดโทษจากกฎหมายเดิม (Drug Decriminalization) มีการบรรจุเรื่องการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดแทนการจำคุก การประกาศนโยบายลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) การทำให้ยาเสพติดบางชนิดถูกกฎหมาย (Drug Liberalization) เช่น การยกเลิกพืชกระท่อม พืชกัญชา จากยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ แต่ยังคงมาตรการควบคุมกำกับดูแล

ดังนั้น การวินัยฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ ๐๐๑๔/๗๘๔๖ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่แจ้งว่าเป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อ มาตรา ๒๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น คลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมายของพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๘ ซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนการพิจารณาว่าร่างกฎหมายมีหลักการที่เข้าเงื่อนไขของหมวด ๓ สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ควรเป็นหน้าที่ของรัฐสภาแล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามวาระ เพราะ เหตุผลที่ท่านยกมาวินิจฉัยนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะนอกจากจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการริเริ่มเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้วยังจำกัดสิทธิของประชาชนเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารงานของรัฐอย่างสุจริต การแสดงออกทางการเมือง เป็นต้น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

ดังนั้นเครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติด จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร 

  1. ทบทวนการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. …ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ ๐๐๑๔/๗๘๔๖ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เสียใหม่
  2. จัดให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. …เป็นหน้าที่ของรัฐสภาแล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามวาระ
  3. จัดให้มีแนวนโยบายและวิธีปฎิบัติ ที่ให้การวินิจฉัย การริเริ่มเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของประชาชน ตามมาตรา ๑๓๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมระหว่างอำนาจของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ไม่ใช่ด้วยการยกเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่กว้าง ไม่มีขอบเขต และแบบแผนชัดเจน และอำนาจในการตีความและกำหนดขอบเขตไม่ควรอยู่ที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

เครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติด
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕

ไฟล์แนบ