3 ข้อที่จะหายไป ถ้าพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่ทัน

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ส่อแววที่จะพิจารณาไม่เสร็จทันเดดไลน์ 15 สิงหาคม 2565 หรือภายใน 180 วันตามที่กฎหมายกำหนด เพียงเพราะความไม่มั่นใจของผู้มีอำนาจว่ากติกาที่ผ่านการพิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายในรัฐสภาจะทำให้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พวกเขาอาจจะเสียเปรียบให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมมากกว่า

ที่ผ่านมา ประเด็นหลักที่มักจะถูกนำเสนอและถกเถียงกันคือในเรื่องของสูตรคำนวณ ที่สภาพลิกล็อกลงคะแนนให้ “หาร500” ตามข้อเสนอของพรรคเล็ก จากเดิมที่เข้าใจกันมาโดยตลอดตั้งแต่แก้รัฐธรรมนูญว่าต้องเป็น “หาร100” โดยหากรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาได้ทัน ก็จะต้องกลับไปใช้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนสูตรกลับไปเป็น “หาร100” อีกครั้งหนึ่ง

แต่ราคาที่ต้องจ่ายจากเกมการเมืองที่ปล่อยให้การพิจารณา พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ทันนั้นมีมากกว่าแค่เรื่องของสูตรคำนวณ การกลับไปใช้ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเสนอยังหมายถึงการทำให้ข้อเสนอที่กรรมาธิการวิสามัญเคยปรับแก้ร่วมกันหายไปด้วย ทั้งที่ข้อเสนอเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อการเข้าถึงการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ต้องกลายเป็นเครื่องสังเวยของผู้มีอำนาจ

อำนวยความสะดวกหย่อนบัตรให้ผู้พิการ ทุพพลภาพ และคนชรา

จากเดิม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผู้พิการ ทุพพลภาพ และคนชรา ต้องหย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กมธ.ฯ  ได้แก้ไขใน มาตรา 93 โดยกำหนดให้ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสามารถช่วยได้ แต่ต้องทำต่อหน้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น โดยข้อเสนอนี้จะช่วยให้การเข้าถึงการเลือกตั้งของประชาชนครอบคลุมกับคนทุกกลุ่มมากขึ้น แต่อาจจะต้องตกไปเพราะรัฐสภาพิจารณาไม่ทัน

อำนวยความสะดวกประชาชนถ่ายรูปการนับคะแนนเลือกตั้ง

การสังเกตการณ์เลือกตั้งในหลายหน่วยเลือกตั้งมักจะพบความขัดแย้งระหว่างกรรมการประจำหน่วยกับผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง ในร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กมธ.ฯ ได้มีการเพิ่มข้อความใน มาตรา 117 วรรคสอง ว่า “…ต้องกำหนดให้มีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาสังเกตการณ์การนับคะแนนสามารถเห็นบัตรเลือกตั้งและเครื่องหมายลงคะแนน และบันทึกภาพและเสียงการนับคะแนนได้โดยไม่เป็นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง”

ให้ กกต. บันทึกผลการเลือกตั้งเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่ให้ประชาชนภายใน 72 ชม.

การเลือกตั้ง ส.ส ในปี 2562 พบความล่าช้าในการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ในการแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ กมธ.ฯ จึงแก้ไข มาตรา 120 ว่า เมื่อนับคะแนนที่เลือกตั้งเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง รายงานผลการนับคะแนนต่อ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งโดยเร็ว โดยให้ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งบันทึกข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และต้องเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยทั่วไป ภายใน 72 ชั่วโมงหลังปิดการออกเสียงลงคะแนน เปรียบเทียบกับร่างของคณะรัฐมนตรีที่ยังคงเปิดช่องไม่บังคับกรอบเวลาให้ กกต.