สภาคว่ำร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ หน่วยงานรัฐยัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเหมาะสมใช้แก้สถานการณ์ “ไม่ปกติ”

4 สิงหาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ) ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล นำโดยรังสิมันต์ โรม เพื่อใช้แทนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ด้วยคะแนนเสียง 169 เสียง ขณะที่เสียงเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวมี 69 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

โดยองค์ประชุมก่อนลงมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านเกณฑ์แบบเฉียดฉิว มีองค์ประชุม 240 คนจากเกณฑ์ที่กฎหมายต้องการคือ 239 คน (กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่) และหลังสภามีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมายดังกล่าว สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ก็สั่งปิดประชุมเวลา 16.41 น. เนื่องจากบรรยากาศไม่ค่อยพร้อม (ส.ส.ในที่ประชุมมีจำนวนน้อย)

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ที่ถูกเสนอขึ้นเพื่อใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีดังนี้

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้จำกัดคราวละ 30 วัน ต้องขอความเห็นจากสภา

นายกฯ ยังคงมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากครม. แต่จำกัดอำนาจประกาศได้คราวละไม่เกิน 30 วัน และขยายเวลาได้ครั้งละ 30 วันเช่นกัน ซึ่งลดลงจากที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกฯ ประกาศได้าสามเดือน และขยายเวลาได้ครั้งละสามเดือน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นายกฯ ต้องขอความเห็นจากสภาผู้แทนราษฎรภายในเจ็ดวัน พร้อมกับนำเสนอแผนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งมาตรการ และข้อกำหนดต่างๆ ที่นายกฯ จะประกาศใช้ด้วย

อำนาจสั่งเคอร์ฟิวยังอยู่ ตัดอำนาจรัฐบาลคุมสื่อ

ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ยังอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 ของร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ยังกำหนดไว้ทำนองเดียวกับกฎหมายเดิม โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรี สามารถประกาศเคอร์ฟิวได้ (ห้ามออกนอกเคหสถาน) สั่งห้ามชุมนุม หรือมั่วสุมกันหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้ รวมทั้งมีอำนาจสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปในบางพื้นที่ หรือสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ได้

ตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่ง “ห้ามนำเสนอข่าว” หรือทำให้แพร่หลายในสื่ออื่นใดที่มีข้อความทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ตามร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจควบคุมการเสนอข่าวของสื่อด้วย อย่างไรก็ดี การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จและกระทบต่อความมั่นคงของรัฐโดยสื่อมวลชนและประชาชนก็เป็นความผิดอยู่แล้วตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

จับผู้ต้องสงสัยได้ ต้องมีหมายศาล คุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จากเดิมพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 12 กำหนดให้การจับกุมและควบคุมตัวต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เมื่อจับกุมตัวได้แล้วสามารถควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกินวัน ในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจหรือเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่ายทหาร และหากครบกำหนดเวลาแล้วต้องการขยายเวลาควบคุมตัวก็สามารถขอต่อเวลาได้ รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน

ตามร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ได้แก้ไขมาตรา 12 ให้การจับกุมและควบคุมตัวต้องขออนุญาตจากศาลก่อนเช่นเดิม แต่เมื่อจับกุมตัวแล้วให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง โดยไม่ได้กำหนดสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งเป็นอำนาจเช่นเดียวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เลิกยกเว้นความรับผิด เลิกตัดอำนาจการตรวจสอบ

ดมาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดข้อยกเว้นสำหรับข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่กระทำภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ถ้าหากมีข้อพิพาทที่เกิดจากบรรดาข้อกำหนด คำสั่งหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นคดีปกครองผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ จะต้องนำเรื่องไปฟ้องศาลแพ่ง แต่ในร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ไม่มีการบัญญัติถึงประเด็นนี้ หมายความว่า ถ้ามีการประกาศข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดที่กระทบสิทธิของประชาชน ประชาชนสามารถนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครองได้เช่นเดียวกับสถานการณ์ปกติ

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เคยเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ครม.ก็นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีทีท่า “ไม่เห็นด้วย” กับร่างกฎหมายดังกล่าว ด้านสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวที่เพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร

เหตุผลที่หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ที่จะใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สรุปได้ ดังนี้

  1. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีความเหมาะสมที่จะใช้ต่อไป สามารถนำมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่ “ไม่ปกติ” ได้จริง เช่น กรณีความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้
  2. หากใช้ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ อาจจะทำให้เกิดการติดขัดต่อฝ่ายบริหารในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีที่ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกฯ ประกาศแล้ว อาจมีปัญหาในกรณีที่สภาไม่อนุมัติ
  3. ไม่เห็นด้วยในการตัดอำนาจของนายกฯ บางประการออก เช่น อำนาจออกข้อกำหนดห้ามเสนอข่าว เนื่องจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีข่าวที่บิดเบือนจำนวนมาก หากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้จะสามารถใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้ แต่อาจไม่ทันต่อสถานการณ์
  4. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ กรณีต้องประกาศหรือขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร