5 ตำแหน่งสำคัญของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หลังการรัฐประหาร ปี 2557

20 กรกฎาคม 2565 ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในที่ประชุมรัฐสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงข้อกล่าวหากรณีอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ ปี 2557 ว่า

“เรื่องของปฏิวัติ (รัฐประหาร) ผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ (ผายมือไปทางพล.อ.ประยุทธ์) ท่านนายกฯ นี่คนเดียว (มีเสียงหัวเราะจากสภา) ท่านอนุพงษ์ก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง คุณก็เอาผมไปเกี่ยวข้อง ผมยังไม่รู้เลยจะปฏิวัติเมื่อไหร่ สามป. สามเปออะไร พูดไปเรื่อย เอาเรื่องจริงเข้าว่าดีกว่าครับ”

รับชมย้อนหลัง ที่นี่

ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นับว่าเป็นผู้กว้างขวางทางการเมืองนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองทัพบก ในปี 2547 หลังจากนั้น พล.อ.ประวิตร ก็สั่งสมบารมีขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังการรัฐประหารในปี 2557 ก็กลายเป็น “พี่ใหญ่สายคอนเนคชัน” ไอลอว์ ชวนย้อนดูการดำรงตำแหน่งที่มีอิทธิพลทางการเมืองสำคัญๆ หลายตำแหน่ง ดังนี้

(1) ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นมูลนิธิที่ดูแลผืนป่าขนาด 1.2 ล้านไร่ใน จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง และสระแก้ว ก่อตั้งเมื่อปี 2549 เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการให้หน่วยงานราชการทหารและพลเรือนช่วยดูแลป่าไม้และน้ำในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและป่าเขาใหญ่

โดยที่ตั้งของที่ทำการมูลนิธิแห่งนี้ อยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1.รอ.) หรือ กองบัญชาการของของกองทัพในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบัน มูลนิธิมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกิตติมศักดิ์ แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานซึ่งมีอำนาจที่แท้จริง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และอดีตรองหัวหน้าคสช. เป็นประธานมูลนิธิ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรในปี 2563 ‘รังสิมันต์ โรม’ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายนอกสภาว่า “มูลนิธิป่ารอยต่อกลายเป็นที่ซ่องสุม มั่วสุมอำนาจ” เนื่องกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมูลนิธิมีหลายงานไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งปัจจุบันในรายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน และมีผู้บริจาครายใหญ่จากกลุ่มบริษัทเอกชนบางแห่งบริจาคต่อเนื่องทุกปี

แต่ทว่า ต่อมา พ.อ.ภิญโญ บุญทรงสันติกุล ตัวแทนมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ได้เข้าแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กับ ส.ส.รังสิมันต์ โรม กรณีได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นอกสภา

(2) รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

หลังการยึดอำนาจของคสช. ในปี 2557 ผู้นำเหล่าทัพที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าคสช.

ตลอดเกือบ 6 ปี ในอำนาจ คสช. ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง มีการเรียกบุคคลมารายงานตัวใน ‘ค่ายทหาร’ มีการจับกุมและดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างสม่ำเสมอ ไม่เว้นแต่การทำงานของสื่อมวลชนก็ต้องถูกแทรกแซงหรือปิดกั้น

ในด้านอำนาจการเมือง คสช. ก็พยายามวางรากฐานอำนาจของตัวเองให้แน่นหนา ผ่านการกระจายตัวไปอยู่ในกลไกต่างๆ ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เขียนขึ้นเอง โดยเฉพาะการแทรกแซงองค์กรอิสระที่คสช. แต่งตั้งคนสนิดของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ อาทิ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นคนสนิดของ พล.อ.ประวิตร

(3) รองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

หลังการยึดอำนาจของคสช. ในปี 2557 พล.อ.ประวิตร นอกจากจะดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคสช. แล้ว ยังดำรงตำแหน่ง รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมฯ

โดยในยุคในยุคคสช. นับตั้งแต่งบประมาณปี 2557 ถึง 2562 งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปี 4.37% รวมกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในรอบ 12 ปี

ในยุค คสช.อนุมัติการจัดซื้ออาวุธยุทธปกรณ์ เช่น

  • เฮลิคอปเตอร์ MI17 V ของรัสเซีย 6 ลำ ประมาณ 4,500 ล้านบาท
  • รถถัง VT4 ของจีน อนุมัติแล้ว 38 คัน เกือบ 7,000 ล้านบาท

และกองทัพอากาศมีแผนจะจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน ทดแทนลำที่ตก

  • เฮลิคอปเตอร์ที่จะต้องจัดซื้อมาแทนฮิวอี้ เบล 212 และเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยที่ใช้มายาวนานหลายปี
  • เรือดำน้ำชั้นหยวน s 26 T ของจีน 1 ลำ 13,500 ล้านบาท และมีแผนจัดซื้อให้ครบ 3 ลำ ต้องใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาท และอีกหลายรายการ

(4) ประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 269 คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งขึ้นหนึ่งชุด ซึ่งข้อมูลจาก เอกสาร “สรุปข้อมูล และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561” ที่ไอลอว์ยื่นขอ พบว่า

ที่มาของการสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ทั้งสามประเภท มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ในการคัดเลือกจนได้ทั้งหมด 395 คน โดยในเอกสารได้สรุปว่า ทั้ง 395 คน มาจาก ผู้เคยดำรงตำแหน่งใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ, กรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ, คณะรัฐมนตรี, ผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการวิชาการ องค์กรธุรกิจภาคเอกชน และบุคคลอื่นๆ

อย่างไรก็ดี พบว่ามี กรณีที่คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อตัวเอง หรือ เสนอชื่อรัฐมนตรี และ คสช. อีกหลายรายชื่อด้วย นอกจากนี้ ยังมีกรณีการแต่งตั้งญาติเข้าไปเป็น ส.ว. อาทิ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชส และ พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

(5) หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ภายหลังวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ มีมติตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญทางการเมือง เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นจุดร่วมตรงกลางระหว่างนักการเมืองและทหารในการแลกเปลี่ยนอำนาจกัน

ความสำเร็จของพรรคพลังประชารัฐคือการเพิ่มโอกาสส่งขุนศึกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ คว้าตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ มาได้ แม้จะเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับสอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือที่เรียกกันว่าระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment MMA) ที่มีจุดเด่นจากการใช้ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” ที่เอาผลคะแนนจากบัตรเลือกตั้งไปคำนวณคะแนนให้ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปด้วยกัน

ด้วยระบบเลือกตั้งแบบนี้จึงเป็นผลให้พรรคการเมืองที่เน้นตัวบุคคลได้เปรียบ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “พลังดูด” ของพรรคพลังประชารัฐที่ใช้การดึงตัว ส.ส.เขตจากพรรคต่างๆ เข้ามา เสียแต่ว่าจะเกิดมุ้งการเมืองในพรรค ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้าพรรคจึงต้องเป็น “ผู้มากบารมี” เพื่อทำหน้าที่จัดการกับ “มุ้ง” หรือฝ่ายต่างๆ ภายในพรรคที่ดูดดึงมา