ล้างมรดก คสช. ล้มเหลว สภาปัดตกทุกช่องทาง

แม้จะสิ้นสุดยุคเผด็จการภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว แต่มรดกที่ คสช. สร้างมาตลอดห้าปีของการปกครองยังคงดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะมรดกทางกฎหมายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จออกมาเป็นประกาศและคำสั่งจำนวน 556 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

 

หลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 มีความพยายามใช้เวทีรัฐสภาในการขจัดมรดกของคณะรัฐประหารหลายครั้งแต่ก็ประสบความล้มเหลว เพราะกลไกที่ คสช. วางไว้ในรัฐสภายังคงเข้มแข็งเกินกว่าที่ผู้แทนจากประชาชนจะฝ่าไปได้ ที่ผ่านมีความพยายามทั้งหมดแปดครั้ง โดยสามวิธีการที่จะใช้เวทีรัฐสภาปลดอาวุธ คสช. แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

1. ช่องทางเสนอร่างกฎหมาย “ปลดอาวุธ คสช.” – ล้มเหลว

 

ความล้มเหลวล่าสุดในการปลดอาวุธ คสช. คือ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. สองฉบับ คือ “ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ….” หรือ “ร่างปลดอาวุธ คสช.” ที่เสนอโดยประชาชน 13,409 คน และ “ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. ….” ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น)

 

สำหรับร่างปลดอาวุธ คสช. ของภาคประชาชน เริ่มดำเนินการล่ารายชื่อประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยต้องรอเวลาเกือบสี่ปีที่ร่างกฎหมายประชาชนจะได้เข้าสู่การพิจารณา แต่ท้ายที่สุดร่างฉบับนี้ถูกปัดตกโดยสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนนเห็นด้วย 162 เสียง ไม่เห็นด้วย 234 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกปัดตกไปพร้อมกัน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 156 เสียง ไม่เห็นด้วย 229 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง

 

2. ช่องทางเสนอญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 – ล้มเหลว

 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ตัวแทนจาก ส.ส.จากหลากพรรคทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้เสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของ คสช. ในประเด็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรา 44 กับนักการเมืองท้องถิ่น ข้ารการตำรวจ ไปจนถึงนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมทั้งหมดถึงเจ็ดญัตติ ประกอบด้วย

 

1)     ญัตติด่วน ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 เสนอโดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

2)     ญัตติด่วน ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาในเรื่องการดำเนินการกับผู้บริหารท้องถิ่นและผู้มีตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เสนอโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

3)     ญัตติด่วน ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ผลจากประกาศและคำสั่งคณะปฏิวัติคณะต่าง ๆ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมของกฎหมายที่บัญญัติ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

4)     ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบของนโยบายทวงคืนผืนป่า และผลกระทบของผู้ถูกดำเนินคดีจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 และ 66/2557 
เสนอโดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

5)     ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ เสนอโดย ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย

6)     ญัตติ เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา 44 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ส.ส.พรรคประชาชาติ

7)     ญัตติ เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบและผลงานของนโยบายทวงคืนผืนป่า โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันลงมติในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้ถอนญัตติของตัวเองออกไปทำให้เหลือเพียงหกญัตติ ซึ่งในการพิจารณา ญัตติที่เหลือทั้งหมดก็ถูกรวมกันเป็นญัตติเดียวกัน ผลของการลงมติสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับญัตตินี้ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 234 เสียง ไม่เห็นด้วย 230 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง แต่พรรคร่วมรัฐบาลขอให้นับคะแนนใหม่จนทำให้ฝ่ายค้านไม่ร่วมนับองค์ประชุมทำให้สภาล่มไปถึงสองรอบ

 

สุดท้ายในวันที่ 4 ธันวาคม 2562 จึงลงมติได้สำเร็จโดยที่ฝ่ายค้านประท้วงโดยการวอร์กเอาต์ ผลคือสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 5 เสียง ไม่เห็นด้วย 244 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

 

3. ช่องทางเสนอแก้รัฐธรรมนูญ “ล้างมรดก คสช.” – ล้มเหลว

 

มรดกทางกฎหมายที่สำคัญของ คสช. ถูกรับรองรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาลมาตรา 279 มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญให้การรับรองให้คำสั่งและการกระทำของคสช. ไม่ขัดต่อกฎหมายว่า

         “มาตรา 279 บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ … ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ …”

ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 279 ที่เป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยนวล ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของ คสช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งรับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป

 

ที่ผ่านมามีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้งจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อยกเลิกมาตรา 279 อยู่ถึงสี่ฉบับ จากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดสามครั้ง ดังนี้

 

1)     ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ผลการลงมติ เห็นด้วย 209 เสียง ไม่เห็นด้วย 50 งดออกเสียง 460 เสียง

2)     ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน (รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ) ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ผลการลงมติ เห็นด้วย 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 138 งดออกเสียง 369 เสียง

3)     ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ผลการลงมติ เห็นด้วย 327 เสียง ไม่เห็นด้วย 150 งดออกเสียง 229 เสียง

4)     ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน นำโดย Re-Solution ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผลการลงมติ เห็นด้วย 206 เสียง ไม่เห็นด้วย 473 งดออกเสียง 6 เสียง

 

ผลของการลงมติร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการล้างมรดก คสช. ทั้งหมดถูกคว่ำในรัฐสภาตั้งแต่ขั้นรับหลักการวาระที่หนึ่ง  โดยเสียงจาก ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. และ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล คสช.