เสียงเพื่อ #สมรสเท่าเทียม : ช้าง-เบิร์ด ทำงานและเสียภาษีแต่ไม่ได้รับสิทธิ ไม่ใช่เรื่องจารีต แต่เป็นความไม่เท่าเทียม

การจดทะเบียนสมรส นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการร้อยรัดคนคู่หนึ่งให้ผูกพันกันในทางกฎหมาย ยังเกี่ยวพันไปถึงประเด็นการใช้ชีวิตร่วมกันของคนทั้งสอง ทั้งความยินยอมในการรักษาพยาบาล การแจ้งความดำเนินคดี การจัดการทรัพย์สิน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปก็มีเรื่องมรดกเข้ามาเกี่ยวข้อง ในคู่รักที่สามารถมีบุตร หรือเลือกที่จะรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ก็จะต้องแบกความรับผิดชอบของชีวิตเด็กคนหนึ่ง มีสิทธิหน้าที่ร่วมกันในการอุ้มชูให้เด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมาเป็นประชากรในสังคม และหากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต นอกจากคู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จะมีสิทธิได้รับมรดก บุตรหรือบุตรบุญธรรมของพวกเขาเองก็จะเป็นผู้สืบมรดกต่อไป
อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนสมรสไม่ได้เกี่ยวพันกับแค่เรื่องราวบางส่วนที่ได้เล่าไปข้างต้น แต่ยังเกาะเกี่ยวกับโครงสร้างของประเทศ งบประมาณของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการในการรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษี ในระบบกฎหมายไทย ยังยอมรับการสมรสเฉพาะผู้มีเพศกำเนิดชาย-หญิง เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมว่ามีคู่ชีวิตที่มีเพศกำเนิดเดียวกันใช้ชีวิตร่วมกันไม่ต่างจากคู่สมรสชาย-หญิง แต่ประมวลกฎหมายแพ่งของไทยก็ยังไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ผูกพันกันในทางกฎหมาย กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย จึงยังคงไม่ได้รับสิทธิบางอย่างเท่ากับคู๋สมรสชาย-หญิง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำงานและจ่ายภาษีให้กับรัฐในอัตราเดียวกันก็ตาม
ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ชวนรับฟังเสียงจาก “เบิร์ด” และ “ช้าง” คู่รักที่คบกันมานานถึง 15 ปี ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกัน อยู่ด้วยกัน ทำงาน จ่ายภาษี แต่ยังไร้กฎหมายที่จะมารับรองสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของพวกเขา
เบิร์ด-ช้าง คู่ชีวิต 15 ปี ที่ยังไร้กฎหมายรับรองสิทธิและความสัมพันธ์
ช้าง-สุวริทธิ์ ประภัทรวิมล อายุ 40 ปี ทำงานฟรีแลนซ์แปลภาษา และเบิร์ด-สุรเดช เฉินมี อายุ 39 ปี ทำงานฟรีแลนซ์ ช้างเป็นฝ่ายเล่าว่า ทั้งคู่คบกันมาตั้งแต่ช่วงปี 2549 หรือราว 15 ปีแล้ว ตอนนั้นทั้งสองคนไปเรียนภาษาที่ประเทศญี่ปุ่น และเจอกันที่โรงเรียนภาษา ด้านเบิร์ดเสริมว่า ช้างเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนภาษา เรียนจบไปก่อนและไปเรียนต่อด้านดีไซน์ ทั้งคู่มีโอกาสได้พบเจอกันบ้างประปรายตามงานเทศกาลที่คนไทยจะมาเจอกัน หลังจากนั้นทั้งสองคนก็มีโอกาสได้เจอกันอีกในร้านอาหารไทยที่ทำงานพาร์ทไทม์ ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมงานกัน และไม่ได้ปิดตัวว่าเป็นเกย์ เบิร์ดเล่าให้ฟังว่าเขาถูกใจช้าง จึงเข้าไปจีบก่อนและเป็นแฟนกัน โดยที่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็สนับสนุนและเข้าใจทั้งคู่ดี หลังจากเรียนจบ ช่วงปี 2552 ทั้งคู่กลับมาประเทศไทยและเริ่มหางานทำที่ประเทศไทย
เบิร์ดเล่าว่า คนในครอบครัว คนรอบตัว เพื่อนของทั้งสองคน รับรู้ในความสัมพันธ์ของทั้งคู่แล้ว ด้านช้างเล่าว่า “ตอนแรกก็ยังไม่รู้ แต่มาความแตกระหว่างจีบ ตอนช่วงปี 2549 ซึ่งผมกลับมาไทยชั่วคราวตอนปิดเทอม และเบิร์ดโทรมา แม่รับ ก็เลยความแตก” เขาหัวเราะเล็กน้อยเมื่อกล่าวมาถึงตอนท้าย
ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้ปกปิดความสัมพันธ์ของตนเองกับคนในครอบครัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้บริบทของสังคมไทย ที่ความเชื่อของคนในสังคมยังแตกต่างกัน จึงมีบางครอบครัวที่ยังยอมรับในรสนิยมของบุตรหลานตัวเองไม่ได้ ซึ่งครอบครัวของเบิร์ดคือหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่า “ครอบครัวผม ปัจจุบันยังไม่ยอมรับ ผมบอกที่บ้านมาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว ประมาณปี 2554 ตอนนั้นก็คบกับช้างมาได้ประมาณห้าปีแล้ว ตั้งใจว่าจะเปิดตัวกับที่บ้าน คือเราไม่เคยบอกที่บ้านมาก่อน พอเปิดตัวว่าเป็นเกย์ ตอนนี้มีแฟนคบกันอยู่ เขาก็รับไม่ได้ ขอให้เลิก หรือไม่ก็บอกว่า ไม่มีแฟนไม่ได้เหรอ อยู่คนเดียวไปสิ จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังรับไม่ได้ ผมยังกลับไปบ้าน พูดคุยกับที่บ้านได้ปกติ แต่ไม่สามารถพาช้างเข้าบ้านได้เลย คือ เขาไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากพูดคุย ไม่อยากพูดถึง เรื่องการเป็นเกย์ต้องกลายเป็นศูนย์”
เบิร์ดเล่าต่อว่า เขาโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเข้มงวด เด็กจะต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ พ่อกับแม่ของเขาก็มีเพื่อนที่เป็น LGBT (ผู้มีความหลากหลายทางเพศ) เช่นกัน “กับคนอื่น ที่บ้านผมจะไม่มีปัญหา แต่พอเป็นลูกตัวเอง ก็คือรับไม่ได้” ซึ่งเขาเองก็มองว่าน่าจะเป็นเพราะประสบการณ์ ความรับรู้ การเติบโตมาที่ไม่เหมือนกัน ความเปิดกว้างทางความคิดที่แตกต่างกัน “ได้แต่ทำใจ เข้าใจ ว่าเราคงไปเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ แต่เราก็ไม่อยากจะโกหกตัวเอง เพราะนี่คือชีวิตของเรา ผมขอประนีประนอม รักษาชีวิตตัวเองที่เป็นอย่างนี้ต่อไป แต่ก็ไม่ไปหาเรื่องให้เขาเคืองใจด้วย เราก็ไม่พูดเรื่องนี้ในบ้าน”
ด้านช้างเล่าภูมิหลังของตัวเองว่า เขาเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีเชื้อสายจีน พ่อของเขาเป็นลูกชายคนเดียว และเขาก็เป็นลูกชายคนเดียว โชคดีที่ครอบครัวของเขาไม่ได้กังวลเรื่องทายาทสืบสกุล ช้างโตมาในครอบครัวใหญ่ ที่มีปู่ย่าตายายและพี่น้อง ในมุมมองของช้าง เขามองว่า ยุคที่เขาเติบโตมาสังคมยังไม่เปิดกว้างขนาดนี้ เรื่อง LGBT ยังเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้เอง หาข้อมูลเอง ไม่มีวิธีแสดงออก ไม่มีคนให้ปรึกษา ต่างจากในยุคนี้ที่มีอินเทอร์เน็ต เด็กๆ สมัยนี้ก็จะได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น
“หลังจากคบกันมาระยะหนึ่ง 3-4 ปี ก็เริ่มคิดวางแผนกันว่าต่อไปจะอยู่ด้วยกันยังไง จะแยกออกจากที่บ้านมาอยู่ด้วยกันหรือเปล่า จะซื้อคอนโดหรือเก็บออมร่วมกันไหม ก็เริ่มคุยกันตั้งแต่ตอนนั้น และเป็นที่มาให้เบิร์ดต้องไปคุยกับที่บ้าน” ช้างเล่า ด้านเบิร์ดเสริมต่อว่า “ที่ตัดสินใจไปบอกที่บ้านว่าเป็นเกย์และมีแฟน เพราะว่าตอนนั้นตั้งใจจะซื้อคอนโดอยู่ร่วมกันกับแฟน อยากจะสร้างครอบครัว รู้สึกว่ามันถึงเวลาที่ต้องลงหลักปักฐานกันแล้ว”
“มันไม่มีอะไรรองรับคู่ที่เป็น LGBT เหมือนคู่ชาย-หญิง โอเคว่ามีทรัพย์สินร่วมกันได้ แต่การกู้ร่วมก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนคู่ชาย-หญิง แล้วก็ยังโยงไปถึงเรื่องการจ่ายภาษี การลดหย่อน การรักษาพยาบาล สิทธิในการดูแลกัน อย่างตอนนั้นเราวางแผนกันว่าจะซื้อคอนโดร่วมกัน ก็ต้องมานั่งหาข้อมูลว่าธนาคารไหนที่เขาเปิดรับคู่เพศเดียวกันบ้าง” ทั้งคู่แชร์ถึงปัญหาที่เจอช่วงก่อนเริ่มก่อตั้งครอบครัวอยู่ด้วยกัน 
กรณีของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ภาระในการจัดการยิ่งมากขึ้น เพราะพวกเขาไม่มีกฎหมายที่รับรองสิทธิ  ไม่มีระบบที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคู่ “อย่างเรื่องคอนโด เราต้องทำพินัยกรรม หากฝ่ายใดเสียชีวิตไปก่อน ทรัพย์สินจะได้ไม่ตกเป็นของทายาทครอบครัวของเขา แต่จะตกมาอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะว่าเราหามาด้วยกัน ผ่อนมาด้วยกัน”
เสียงที่อยากบอกศาล-สภาฯ เปิดใจรับฟังประชาชน เข้าใจความคิดประชาชน มองคนเท่ากัน
ในประเทศไทย องค์กรที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หน่วยงานรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ก็พยายามที่จะผลักดันออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของ LGBT ซึ่งตอนนี้มีสองกระแสหลักๆ คือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กำหนดให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ เป็นระบบที่แยกออกไปจากการจดทะเบียนสมรส กับอีกทางหนึ่งคือ แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งยังจำกัดให้การสมรสกระทำได้เฉพาะชาย-หญิง ซึ่งช้างมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “ถ้าดีที่สุดก็ต้องแก้กฎหมายแพ่งให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ต้องทำให้มันแบ่งแยกออกไปอีก ทำให้เป็นพลเมืองชั้นสองออกไปอีก ง่ายที่สุด คือ ทำให้เป็นบุคคล-บุคคล” ด้านเบิร์ดเสริมว่า “เราก็ทำงานจ่ายภาษี แต่ทำไมเราใช้สิทธิทางสังคมได้ไม่เหมือนคนอื่นเขา มันก็ไม่เท่าเทียมกันแล้ว”
ช้างฝากความเห็นไปถึงผู้แทนราษฎร รวมถึงสมาชิกสภาอื่นที่เขาไม่ได้เลือกเข้ามาว่า “ผมก็ขออนุญาตฝากแนวคิดที่ทุกคนอาจจะยังไม่เคยรับทราบ ให้ลองพิจารณา ให้ลองมองหลายๆ มุม ที่อาจจะยังไม่เคยเห็นบ้าง”
ด้านเบิร์ดฝากถึงส.ส. ว่า “อยากให้พวกคุณเปิดใจนะ สำหรับคนที่ยังไม่เปิดใจ บางคนผมเข้าใจว่าเขาโตมาด้วยวัฒนธรรมหรือขนบที่แตกต่างออกไป และเขากำลังมองว่าสิ่งที่เรากำลังเรียกร้องอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่จำเป็น แต่ว่าอยากให้เปิดใจ วันนี้ คุณอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่คุณรับไม่ได้ แต่อยากให้เห็นแก่อนาคตของชาติ ยังมีคนรุ่นใหม่ๆ อีกมากมายที่เขาเกิดและเติบโตมาแล้วทรมานหรือมีปัญหากับชีวิต เพราะว่าความไม่เท่าเทียมตรงนี้ คุณจะมาทำงานการเมือง เป็นตัวแทนของประชาชน คุณควรจะต้องเข้าใจความคิดของประชาชน”
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่พยายามต่อสู้เรื่อง #สมรสเท่าเทียม เพื่อให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ โดยใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ เบิร์ดเปิดเปลือยความคาดหวังที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า “ใจเราอยากเห็นความก้าวหน้าของระบบศาลไทย การที่มองคนเท่ากัน อยากจะให้มองเราเป็นคนเหมือนกัน เราเป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่ลำบากและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากความไม่เท่าเทียม หวังว่าทางศาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะตระหนักถึงปัญหา และเข้ามาช่วยเหลือแก้ไข”
เบิร์ดฝากถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า “ผมว่ามันยังไม่สายไปนะ ถ้าท่านทั้งหลายจะลองพิจารณาทบทวนอีกทีหนึ่งว่าสิ่งที่ทำอยู่มันแย้งกับในใจท่านหรือเปล่า ผมเชื่อว่าทุกคนมีความดี ความบริสุทธิ์ ความยุติธรรมในใจทุกคน เพียงแต่ว่าเราจะเอามาใช้เวลาไหนเท่านั้นเอง หวังว่าท่านจะเห็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน และตัดสินไปตามความถูกต้อง”
เสียงที่อยากฝากถึงคนที่ยังไม่เข้าใจ LGBT เราแค่ต้องการสวัสดิเท่าเทียมเหมือนคนอื่นๆ
จากเรื่องเล่าของทั้งคู่ สะท้อนให้เห็นภาพบางส่วนว่า ในสังคมไทยก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่เข้าใจเรื่องสมรสเท่าเทียม
เบิร์ดได้ฝากสิ่งที่อยากฝากถึงคนที่ยังไม่เข้าใจในประเด็นนี้ว่า “ลองคิดดูก็ได้ว่า คุณทำงาน จ่ายภาษี คุณคาดหวังชีวิตที่ดีจากรัฐบาล จากสังคม แต่สุดท้ายสิ่งที่คุณทำไมมันไม่เท่ากับคนอื่น กลายเป็นว่าคนอื่นเขาใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่มากกว่าคุณ คุณเสียใจไหม เพราะฉะนั้นมันเหมือนกัน พวกเราเองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ทำงานเสียภาษี เป็นคนไทยคนหนึ่ง แต่ว่าเราไม่ได้ใช้สิทธิเต็มที่เท่ากับคนอื่น ตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องของขนบ วิถีประเพณี จารีต เป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันทางสังคม”
 “ไม่ใช่เพื่อนคุณ ไม่ใช่ลูกหลานคุณ ไม่ใช่พ่อแม่คุณ สักวันหนึ่งก็ต้องสัมพันธ์ ต้องเจอ (LGBT) อยู่ดี ก็แค่พื้นฐานว่าเรามีชีวิตเหมือนกัน ใช้ชีวิตเหมือนกัน ทำงานเหมือนกัน จ่ายภาษีเหมือนกัน ก็อยากแค่มีสวัสดิภาพเท่าเทียมกัน แค่นั้นแหละครับ ไม่ได้มีความต้องการที่มากกว่าหรืออภิสิทธิ์อะไร” ช้างกล่าวทิ้งท้าย