ตามหาร่างหาย!! ร่างพ.ร.ก.ที่ครม.ประยุทธ์ อนุมัติแล้ว อยู่ไหน?? ใครพบเห็นรีบแชร์ด่วน!!

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม มีวาระสำคัญ คือ การอนุมัติร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 หรือ ร่างพ.ร.ก.โรคติดต่อฯ 
ภายหลังการประชุม รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ….. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแล้ว มีสาระสำคัญเพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ซึ่งต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก
กฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะใช้รับมือกับสถานการณ์โรคโควิด19 ที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติของประเทศไทย จะมีผลกระทบต่อการจัดสรรอำนาจองค์กรที่รับผิดชอบ และผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ อย่างการจัดสรรวัคซีน การจัดสรรงบประมาณ การตรวจเชิงรุก การมอบนโยบายให้โรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข และที่สำคัญ ก่อนหน้านี้มีข่าวลือถึงการสอดไส้ “นิรโทษกรรมวัคซีน” หรือการยกเว้นความรับผิดให้ผู้ที่ตัดสินใจเรื่องการจัดสรรวัคซีนที่ผิดพลาด เป็นเหตุให้โรคระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วและควบคุมไม่ได้
แม้รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะกล่าวว่า ร่างพ.ร.ก.โรคติดต่อฯ กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ “ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” (ครอบคลุมไปถึง ผู้ช่วย อสม. พนักงานกู้ภัย) ในร่างฯ ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่พูดถึงการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายหรือบริหารตามที่มีข้อคำถามอยู่ แต่ก็ยังทิ้งคำถามให้ประชาชนที่ติดตามข่าวคลางแคลงใจ เมื่อยังไม่ได้เห็นเนื้อหาของร่างฉบับเต็ม
พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่การแก้ไขต้องเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติ และผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยขั้นตอนปกติต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ต่อด้วยวุฒิสภา ตามลำดับ แต่กรณีนี้ ครม.ประยุทธ์ “ลัดขั้นตอน” การออกกฎหมายดังกล่าวโดยการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีออกเป็น “พระราชกำหนด” แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน แต่รัฐบาลชุดนี้ก็อยู่กับโรคโควิด และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่ง หากจะรีบเสนอร่างต่อรัฐสภา เพื่อการพิจารณาให้ถูกต้องตามขั้นตอนก็สามารถทำได้
[ ทำความเข้าใจ การใช้อำนาจลัดขั้นตอนออกพระราชกำหนด ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5435 ]
จากการสืบค้นมติคณะรัฐมนตรีทื่เว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี resolution.soc.go.th เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 17.00 พบรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับมติอื่นๆ ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีในวันที่ 21 กันยายน 2564 เช่น ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระแก้ว พ.ศ. …. ฯลฯ รวม 6 เรื่อง แต่กลับไม่พบรายละเอียดเกี่ยวกับร่างพ.ร.ก.โรคติดต่อ ฉบับสำคัญ
ประชาชนจึงทำได้เพียงรอว่า เมื่อใดที่ร่างพ.ร.ก.โรคติดต่อฉบับนี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อประกาศใช้แล้วก็จะมีผลทันที โดยประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย หรือไม่มีแม้โอกาสในการได้รับรู้ก่อนว่า กฎหมายสำคัญที่กำลังจะออกมาใช้อย่างเร่งด่วนนั้นมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง 
หากใครพบเห็น หรือทราบที่อยู่ของร่างพ.ร.ก.โรคติดต่อ ฉบับที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว โปรดช่วยกันนำมาแชร์ เผยแพร่ให้สังคมรับรู้ร่วมกันด้วย