จับกุมเด็กและเยาวชนต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ห้ามใช้เครื่องพันธนาการ

การปรากฏตัวขึ้นของกลุ่มผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ซ” เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การปะทะอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ บริเวณแยกดินแดง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ตลอดเดือนสิงหาคม มีผู้ถูกจับกุมจากเหตุความวุ่นวายที่แยกดินแดงมากกว่า 224 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีบุคคลอายุระหว่าง 15-18 ปี 63 คน และต่ำกว่า 15 ปี 5 คน 
ทั้งนี้ กระบวนการและขั้นตอนในการจับกุมเด็กและเยาวชนนั้นมีความแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้เมื่อจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ โดยกฎหมายหลักที่ใช้ก็คือ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ)
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 66 จำแนกวิธีการจับกุมเด็กและเยาวชนออกจากกัน ในกรณีที่เป็นเด็กซึ่งอายุเกิน 10 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ จะสามารถจับกุมได้เฉพาะในกรณีที่มีการกระทำผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ในขณะที่ถ้าเป็นเยาวชนที่มีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ เเต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ก็จะใช้วิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งรวมถึงในกรณีที่มีเหตุด่วนและอาจจะหลบหนีด้วย
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 67 ยังระบุด้วยว่าศาลควรจะหลีกเลี่ยงการออกหมายจับถ้าสามารถทำได้ และควรจะวิธีการติดตามตัวอื่นก่อน การออกหมายจับนั้นควรกระทำเฉพาะตอนที่มีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น โดยศาลต้องคำนึงถึงสิทธิของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอายุ เพศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการออกหมายจับทั้งต่อสภาพจิตใจและต่อการเรียนหรือการประกอบอาชีพของตัวเด็กและเยาวชนด้วย
เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชนแล้ว มาตรา 69 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ โดยหากมีผู้ปกครองหรือผู้รับผิดชอบอยู่ด้วยก็ต้องแจ้งข้อกล่าวให้ทราบด้วยเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นก็ให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของหนักงานสอบสวนโดยเร็ว โดยหากเป็นคดีอาญาซึ่งมีโทษสูงสุดไม่เกินห้าปี ก็อาจจะให้ผู้ปกครองนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนแทนได้ โดยในระหว่างนี้ หากผู้ถูกจับต้องการจะติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น เจ้าหน้าที่ก็ต้องอำนวยความสะดวกให้สามารถติดต่อได้
กฎหมายยังกำหนดให้การจับกุมนั้นต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน เจ้าหน้าที่นั้นจะควบคุมตัวเท่าที่จำเป็น และห้ามไม่ให้ใช้เครื่องพันธนาการไม่ว่ากรณีใด ๆ ในการจับกุมเด็กและเยาวชน ยกเว้นว่าเป็นไปเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือรับรองความปลอดภัยของผู้อื่นเท่านั้น รวมถึงห้ามไม่ให้มีการบันทึกภาพของเด็กหรือเยาวชนเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว ยกเว้นว่าเป็นประโยชน์แก่การสอบสวนเท่านั้น
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ยังวางกลไกคุ้มครองสิทธิของเด็กหรือเยาวชนเมื่อถูกจับกุมไว้อีกด้วย เมื่อเด็กหรือเยาวชนที่ถูกกล่าวหามาปรากฏตัวต่อหน้าศาลแล้ว ศาลก็มีหน้าที่ต้องเป็นผู้ตรวจสอบว่าในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนนั้นเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยมิชอบ ก็จะต้องปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป
ในระดับระหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีด้วยตั้งแต่ปี 2535 ก็ได้ให้การรับรองสิทธิของเด็กและเยาวชนเมื่อถูกจับกุมไว้ในลักษณะเดียวกัน มาตรา 37 ของอนุสัญญาระบุว่า
ก) จะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้าจะไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่มีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัวสำหรับความผิดที่กระทำโดยบุคคลที่มีอายต่ำกว่าสิบแปดปี
ข) จะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ การจับกุมกักขังหรือจำคุกเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดอย่างเหมาะสม
ค) เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรม และด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีแต่กำเนิดของมนุษย์และในลักษณะที่คำนึงถึงความต้องการของบุคคลในวัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กทุกคนที่ถูก ลิดรอนเสรีภาพจะต้องถูกแยกต่างหากจากผู้ใหญ่ เว้นแต่จะพิจารณาเห็นว่า จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็กที่จะไม่แยกเช่นนั้น และเด็กจะมีสิทธิที่จะคงการติดต่อกับครอบครัวทางหนังสือโต้ตอบและการเยี่ยมเยียนเว้นแต่ใน สภาพการณ์พิเศษ
ง) เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพมีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือทางอื่นที่เหมาะสมโดยพลัน ตลอดจนสิทธิที่จะค้านความชอบด้วยกฎหมายของการลิดรอนเสรีภาพของเขาต่อศาล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจอื่นที่เป็นอิสระและเป็นกลางและที่จะได้รับคำวินิจฉัยโดยพลันต่อการดำเนินการเช่นว่า