“ถ้าพรรคร่วมอยากกอบกู้ศรัทธา ต้องทำมากกว่าประกาศถอนตัว” เสียงจากอดีตผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ชื่อของ “นัฏฐิกา โล่ห์วีระ” อดีตผู้สื่อข่าวที่ผันตัวมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งถือว่าเป็นที่จับตาของสื่อมวลชนอยู่ไม่น้อย ทั้งในฐานะของคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ‘กลุ่ม New Dem’ รวมถึงในฐานะผู้หญิงที่เข้าสู่สนามทางการเมือง แม้ว่าการเลือกตั้งจะจบลงโดยที่เธอไม่ได้รับชัยชนะ แต่ชื่อของเธอก็ยังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากภายหลังการเลือกตั้ง เธอได้ประกาศยุติบทบาทกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคจะไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
ในยามที่ความนิยมของรัฐบาลกำลังถดถอยลงจากความผิดพลาดในการแก้ปัญหาสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับเสียงจากกัลยาณมิตรของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการเห็นพรรคประชาธิปัตย์ ‘ถอนตัว’ ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ เราจึงตัดสินใจพูดคุยกับเธอว่าในฐานะอดีตของคนที่เคยลงเรือลำเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ เธอมองผลงานของรัฐบาลและพรรคร่วมอย่างไร รวมทั้งถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่พรรคประชาธิปัตย์จะถอนตัวตามเสียงเรียกร้องของประชาชน
61709524_401877727081648_3791386851604955136_n
Interview-Nattika-Loweera

ย้อนกลับไปตอนเลือกตั้งปี 62 ทำไมคุณถึงตัดสินใจเป็นผู้สมัคร ส.ส. ประชาธิปัตย์

“ตอนที่พรรคตั้งกลุ่ม New Dem ขึ้นมา ทำให้เรามองว่า พรรคที่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบประชาธิปัตย์ก็ดูมีความก้าวหน้าภายในพรรค เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในพรรค ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วม และคิดว่าเป็นพรรคที่สามารถลงสมัครได้ และถ้าถามว่าจุดยืนของพรรคเป็นเหตุผลในการเข้าร่วมกับพรรคหรือไม่ เราคิดว่าใช่ นี่คือจุดสำคัญที่เราไปเข้าร่วมกับประชาธิปัตย์ การที่มีจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มันก็ชัดเจนแล้วว่าพรรคจะเดินไปในทิศทางที่ตอบเจตจำนงของเรา”
“เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการ เราต้องการให้ประชาชนได้มีโอกาสคิดและตัดสินใจ เกิดกระบวนการทางสังคม ดังนั้น การที่มีคนคนหนึ่งหรือคณะบุคคลหนึ่งมาตัดสินใจแทนว่าจะทำหน้าที่ยุติความขัดแย้งด้วยการรัฐประหาร เราก็มองว่า มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง มันก็คือการซุกปัญหาไว้ใต้พรม สุดท้ายแล้ว มันก็ยังมีความขัดแย้งอยู่ มันไม่ได้ถูกคลี่คลายลง”
“ในยุคของคสช. มันนานมาก ซึ่งตั้งแต่เราก็ไม่ชอบเพราะที่มามันไม่ถูกต้อง แล้วพอ พล.อ.ประยุทธ์ จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เราเลยไม่เห็นด้วย เพราะว่ามันคือการสืบทอดอำนาจ แล้ว คสช. เป็นคนเขียนกติกาการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคสช. ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มันคือการเลือกตั้งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย มันคือ การฟอกตัวของระบอบเผด็จการ”
“เราต้องพูดว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตั้งแต่เริ่มร่างมันก็ไม่ได้มีอิสระเสรี แม้มีการออกเสียงประชามติ แต่เหตุผลคือ ให้รับไปก่อนจะได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งมันไม่ใช่เหตุผลที่เป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ แถมในเนื้อหายังมี ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจในการเลือกนายกฯ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีเหตุผลหรือที่มาที่ไปว่าทำไม ส.ว. ถึงมีสิทธิในการเลือกนายกฯ เรามองว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ล้าหลัง มันไม่ตอบโจทย์ประเทศ”

พอพรรคเข้าร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ คุณประกาศยุติบทบาท ตอนนั้นคิดอะไร รู้สึกอย่างไร

“ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. เรารู้สึกผิดหวังมาก เพราะตอนที่หาเสียง เราก็ตอบกับประชาชนว่า พรรคมีทิศทางแบบนี้ แม้แต่ตัวเราก็เชื่อว่า พรรคมีทิศทางแบบนี้ ในระหว่างที่พรรคพิจารณาว่าจะดำเนินการไปในทิศทางไหน”
“สิ่งที่ทำให้รู้สึกผิดหวังมาก คือ คะแนนเสียงในพื้นที่ของเราไม่ได้ไร้ความหมาย คะแนนของ ส.ส.เขต มันจะไปคิดคำนวณให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งคะแนนที่เราได้มา มันทำให้พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างน้อยหนึ่งคน แต่คะแนนเหล่านั้นเขาไม่ได้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็เลยรู้สึกผิดหวังมาก คะแนนที่เราหามามันไม่ได้รับการตอบโจทย์”
“เราไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง และเสียงของเราอาจจะไม่ได้มีน้ำหนักพอที่จะบอกว่าพรรคควรทำแบบไหน แต่เราคิดว่า การเข้าร่วมรัฐบาลมันไม่ใช่แค่การช่วยเหลือประชาชน เพราะในขณะเดียวกัน มันคือ การช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ เราจะไม่มองเรื่องนี้ไม่ได้ มันทำให้เรารู้สึกผิดหวังมาก และไม่สามารถจะทำงานร่วมกับพรรคได้ เพราะไม่ว่าจะในฐานะหรือบทบาทอะไร จะเป็นฟั่นเฟืองเล็กแค่ไหน การทำงานของเราก็จะเป็นการสนับสนุนเผด็จการ”

คุณคิดเห็นอย่างไรที่ประชาธิปัตย์ตัดสินใจเป็น ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ โดยแลกกับการแก้รัฐธรรมนูญ ประกันรายได้เกษตรกร ฯลฯ

“มันไม่มีเหตุผลไหนที่สมเหตุสมผลในการเข้าร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่เป็นระบอบประชาธิปไตย มันคือช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ถ้ามันเป็นสภาวะปกติคุณจะไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพระพุทธเจ้า (พรรคประชาชนปฏิรูป) ด้วยเหตุผลในเรื่องนโยบายมันไม่มีปัญหา แต่ในบริบทของการเปลี่ยนผ่าน มันไม่มีเหตุผลไหนที่สมเหตุสมผลเลยสำหรับพรรคร่วมทุกพรรค”
“การอ้างว่าเข้าร่วมเพื่อปิดสวิตซ์ ต้องถามกลับว่า แล้วองคาพยพของคสช. ยังอยู่ไหม ก็ยังอยู่ พล.อ.ประวิตร ก็ยังคงอยู่และมีบทบาทในทางการเมือง มันก็แค่การเปลี่ยนจากรัฐบาลคสช. เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ การบอกว่าจะไปปิดสวิตซ์ คสช. เราคิดว่า พรรคการเมืองไม่ได้โง่ขนาดนั้นที่จะไม่เข้าใจ หัวหน้าพรรคทุกคนมีการศึกษา การอ้างว่าปิดสวิตซ์ คสช. คุณก็แค่เข้าไปอยู่ในกลุ่มคสช. ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ต่างหาก มันหลอกประชาชนไม่ได้ทุกคน”

หลังจากเห็นรัฐบาลทำงานมาเป็นเวลากว่าสองปี คุณประเมินผลงานรัฐบาลอย่างไร

“เรื่องที่ร้ายแรงที่สุดในตอนนี้ คือ การบริหารจัดการเรื่องโควิด เราคิดว่าไม่ดีเลย และเป็นตัว พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยที่ไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ประเมินสถานการณ์ต่ำจนเกินไป การจัดหาวัคซีนที่มีทั้งคุณอนุทินและคุณประยุทธ์ มันก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที มีวัคซีนเพียงสองยี่ห้อในประเทศไทย แม้ตอนนี้จะพยายามหายี่ห้ออื่นแต่มันก็ช้า มันมาถึงช้า พอบริหารจัดการไม่ได้ ศักยภาพไม่ได้ แต่ความจริงใจก็ไม่มี คุณประยุทธ์ เวลาออกมาขอโทษประชาชนก็ไม่มีความจริงใจ การเป็นผู้นำประเทศมันขอโทษได้ ญี่ปุ่นก็ออกมาโค้งตัวเลย นี่คือการแสดงความจริงใจและแลดงความเสียใจ หรือเวลาเกิดภัยพิบัติ ผู้นำประเทศก็ยังสามารถแสดงความเสียใจต่อผู้เสียหายได้ เรื่องแบบนี้ผู้นำประเทศทำได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีการแสดงความจริงใจออกมา”
“ส่วนของคุณอนุทิน ก็เอาชีวิตของประชาชนไปเป็นตัวทดลอง เอาวัคซีนที่ WHO (องค์การอนามัยโลก) ยังไม่รับรองมาฉีดให้กับประชาชน แม้ อย. (องค์การอาหารและยา) จะรับรองแล้ว แต่องค์การอนามัยโลกยังไม่รับรอง มันเอามาฉีดได้ยังไง แล้วประชาชนที่ยอมฉีด เขาเป็นบุคลากรด่านหน้า เขาไม่มีทางเลือก ถ้าถามว่าเขาพึงพอใจหรือไม่ เราคิดว่า คนที่ฉีดซิโนแวค เขาอยากได้ยี่ห้ออื่น เพราะฉะนั้น การบริหารจัดการโควิดของทีม พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือเอาประชาชนไปเสี่ยง”
“แล้วในวิกฤตินี้มันส่งผลต่อหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง เช่น การศึกษา แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับเงียบเป็นเป่าสาก การแก้ปัญหาการศึกษากลับไม่ได้ตรงจุดหรือตอบโจทย์ ที่ผ่านมาครูและนักเรียนมีปัญหา เช่น การเรียนออนไลน์ มันก็ต้องมีเครื่องมือ มีอุปกรณ์ แต่เขาไม่มีเงิน ขนาดจะเติมเงินอินเทอร์เน็ต เรื่องแบบนี้กระทรวงศึกษาฯ ว่ายังไง พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ แต่ยังไม่เห็นศักยภาพในการจัดการปัญหาโควิด”
“เรื่องที่สองคือ การแก้รัฐธรรมนูญ พรรคร่วมเข้าไปด้วยเหตุผลเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ใช้เป็นข้อต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาล แต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามจะแก้ไขก็ไม่ได้มีสาระสำคัญที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองได้เลย อย่างของพรรคประชาธิปัตย์ เสนอเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ มันได้แก้ปัญหาทางการเมืองอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น การมาบอกว่า นี่ไงพรรคได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปแล้ว มันก็เลยเป็นการเล่นละคร ก็เลยผิดหวังกับรัฐบาล และพรรคร่วมทุกพรรค”
“ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็รู้สึกผิดหวัง เพราะว่าการช่วยเหลือไม่ได้ช่วยอย่างถ้วนหน้า โครงการต่างๆ ที่ออกมาก็ไม่เพียงพอ ประชาชนก็ต้องแย่งกัน ชิงโชคกันเอง ทั้งที่เงินกู้ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ก็เลยมองว่า เราได้รัฐบาลที่ไม่มีศักยภาพเลยในสภาวะอย่างนี้”
“เรามองว่าถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหามันอาจจะดีกว่านี้ ถึงแม้ตลอดช่วงเวลา 4 ปี ที่เป็นรัฐบาลมันจะยากลำบาก แต่รัฐบาลก็จะต้องสร้างความเชื่อมั่น หรือสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรครัฐบาล แต่สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเป็นอยู่ขณะนี้คือ ‘ระบอบประยุทธ์’  ระบอบนี้มันมีกลไกที่เรียกว่า ส.ว.250  มันทำให้ทุกคนใส่เกียร์ว่าง พอการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะใช้ระบอบเดิม กติกาเดิม การทำงานก็เลยเป็นแบบนี้ มันทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย”

จากสถานการณ์การชุมนุมประท้วง คุณมองการรับมือของรัฐบาลอย่างไร

“ตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงมา รัฐบาลไม่เคยมีท่าทีที่อยากจะเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเลย มีท่านเดียวที่ออกมารับฟังเด็ก คือ ตอนที่ม็อบไปกระทรวงศึกษาธิการ (ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) แต่มันก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ แต่มันก็เป็นท่าทีที่อย่างน้อยก็ลงมา แล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะไม่รับฟังข้อเรียกร้องใดๆ การที่รัฐบาลไม่รับฟัง สิ่งเดียวที่ทำได้คือ การม็อบ”
“เรามองว่า ม็อบไม่ได้ใช้ความรุนแรง การเผาเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การที่เขาไปทำลายป้ายตำรวจ สาดสีเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความไม่พอใจ ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ใหญ่พอก็จะเปิดกว้างกับการแสดงออกแบบนี้ และทำความเข้าใจว่าทำไมเขาไม่พอใจในเรื่องนี้ แล้วไม่ต้องไปจุดไฟความขัดแย้งเพิ่ม เช่น การสั่งจับคนนั้นคนนี้ มันคือการเพิ่มไฟของความขัดแย้ง” 
“การรับมือกับม็อบมันไม่ใช่เรื่องง่าย และข้อเสนอของม็อบก็เป็นสิ่งที่รับมือยาก แต่สิ่งที่ทำอยู่มันกลับยิ่งเติมเชื้อไฟความไม่พอใจ แล้วต้องอย่าลืมว่า ผู้ชุมนุมตอนนี้มันคือ เด็ก คุณจะมองข้ามเรื่องนี้ไม่ได้ เด็กมัธยมต้นก็มี การใช้ปฏิบัติการความรุนแรงในการรับมือม็อบเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ส่วนตัวคิดว่า สถานการณ์จะมาไม่ถึงจุดนี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังมากกว่านี้ ใจกว้างกว่านี้ ทำแบบนี้เหมือนบีบประชาชนให้ลงถนน”

ช่วงนี้มีกระแสคนผิดหวังกับพรรคร่วมและอยากให้ถอนตัว คุณคิดอย่างไร

“มันเลยเวลาไปนานแล้ว ทำตอนนี้ก็ไร้ประโยชน์ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมอื่นๆ ทำตอนนี้ก็ไร้ประโยชน์”
“ถ้ามองความต้องการของประชาชน คือมันมีมาตั้งแต่แรกแล้วว่า ‘พรรคไม่ควรเข้าร่วมรัฐบาล’ รวมถึงคนที่ไม่เลือกทั้งพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ เขาก็อยากให้พรรคถอนตัว ประชาชนอยากเห็นพรรคร่วมถอยออกมาเพื่อถอดบทเรียน เพื่อที่พรรคจะได้เป็นผู้นำสังคมไปในทางที่ดีขึ้น แม้เขาอาจจะไม่ได้เลือกคุณ แต่ก็คาดหวังว่าคุณจะไม่เข้าสู่กลไกหรือกระบวนการสนับสนุนรัฐบาล”
“อยากให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจว่า ปัญหาของตัวเอง คือ ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ แล้วก็ไม่อยากให้แคร์แค่กลุ่มที่สนับสนุน จะต้องประเมินความน่าเชื่อถือของตัวเองในระดับประเทศว่าเป็นอย่างไร การถอนตัวไม่ช่วยกอบกู้ศรัทธา เพราะมันเลยเวลามาแล้ว  แต่ถ้าพรรคร่วมทบทวนว่า เขาอยากจะนำพาสังคม สิ่งที่เขาจะได้จากการถอนตัวคือ การกำหนดทิศทางพรรคใหม่” 
“พรรคประชาธิปัตย์ต้องรู้ปัญหาของตัวเอง อันนี้ขอพูดด้วยความหวังดีว่า พรรคสูญเสียความน่าเชื่อถือจากการเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไปจนหมดสิ้นแล้ว การดำรงรักษาความนิยมของพรรค พรรคจะเอาใจแต่ฝ่ายที่สนับสนุนไม่ได้ ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศมันต้องอาศัยพรรคการเมืองทุกพรรค ความเดือดร้อนของประชาชนคนหนึ่งเป็นความเดือดร้อนของพรรคทุกพรรค ดังนั้น การรักษาความน่าเชื่อถือ หรือ ชื่อเสียงของพรรค พรรคก็ต้องนึกถึงคนกลุ่มนี้ด้วย”

ถ้าพรรคร่วมขออยู่ต่อเพื่อแก้ปัญหาโควิดก่อน หรือ แก้รัฐธรรมนูญก่อน คุณคิดอย่างไร

“การเป็นฝ่ายรัฐบาลจะช่วยประชาชนได้จริงก็ต้องมีศักยภาพด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไร้ศักยภาพก็ไม่ได้ช่วยอะไร เป็นฝ่ายค้านยังจะดีซะกว่า อย่างน้อยก็ได้ตรวจสอบ แล้วก็ขับเคลื่อนเรื่องที่ล่าช้า ถึงประชาธิปัตย์ถอนตัวก็ยังมีบทบาท แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายค้านที่ขึ้นชื่อลือนาม”
“เราคิดว่ามันเป็นการถ่วงดุล เราจะละเลยพรรคฝ่ายค้านไปไม่ได้ มันคือการถ่วงดุล มันมีความสำคัญ ถ้าไม่มีฝ่ายค้าน มันก็เป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง พรรคฝ่ายค้านก็เป็นแสงสว่างของปัญหาได้ แล้วถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีความขัดแย้งกับเพื่อไทยไม่ต้องจับมือกันก็ได้ ก็เป็นตัวของตัวเอง ทำงานตรวจสอบไป” 

สุดท้ายนี้ คุณอยากจะบอกอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์

“พรรคประชาธิปัตย์ควรกลับมาทบทวนให้ดีว่า ปัญหาของประเทศ ณ ขณะนี้คืออะไร โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง แม้แต่ระดับนักเรียนมัธยมก็ยังให้ความสนใจ บริบทสังคมในตอนนี้มันเปลี่ยนไป พรรคก็ต้องทบทวนว่าจะมีบทบาทในสังคมอย่างไร พอกำหนดบทบาทแล้ว มันจะเป็นแนวปฏิบัติว่าพรรคจะทำอย่างไร” 
“ถ้าพรรคอยากพาประเทศออกจากระบอบประยุทธ์ ระบอบเผด็จการ ไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมแบบของพรรค พรรคก็ต้องรับรู้ และเข้าใจได้แล้วว่า สิ่งที่พรรคทำอยู่คือส่วนหนึ่งของระบอบประยุทธ์ พอคิดได้แบบนี้ก็จะคิดได้ว่า จะอยู่ต่อหรือออกมา”
“ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตัดสินใจ คุณก็จะกลายเป็นพรรคเล็กๆ ที่ไม่สามารถเป็นผู้นำประเทศได้ ต่อให้เป็นพรรคเล็กแต่ถ้าเป็นผู้นำทางสังคมได้ พรรคก็ยังมีความสำคัญ”
“พรรคต้องเริ่มแก้ปัญหาให้หมด พวกปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ไม่ว่าจะเป็นศาล ส.ว. มันต้องแก้ทั้งระบบเลย ต้องเริ่มต้นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เอา สสร. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่