คู่มือเข้าชื่อเสนอกฎหมายสำหรับประชาชน

 
คู่มือเข้าชื่อเสนอกฎหมายสำหรับประชาชน 
 
เดิมทีขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ซับซ้อนยุ่งยาก ต้องใช้เอกสาร (ที่เป็นกระดาษ) หลายแผ่น การจะเสนอกฎหมายแต่ละฉบับได้ต้องใช้จำนวนผู้เข้าชื่อเยอะมาก แต่ตามกฎหมายที่ออกมาใหม่ (พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564) การเสนอเข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป  ขั้นตอนถูกปรับปรุงให้ง่ายมากขึ้น ลดภาระ สร้างความสะดวกให้กับประชาชนเท่าที่จะเป็นไปได้ในขณะนี้ 
ไอลอว์ อยากจะแบ่งปันวิธีปฏิบัติหรือเรื่องเล็กๆน้อยๆ (ที่ไม่มีอยู่ในกฎหมาย) ที่พวกเราได้ประสบพบเจอมาตลอดกระบวนการ ให้กลุ่มคนที่กำลังอยากจะใช้สิทธิรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ประหยัดแรงและเวลาลงได้บ้าง

 

 
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเข้าชื่อฯ 
 
 
 
> ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเสนอได้  
กฎหมายกำหนดว่า ถ้าจะเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ในรัฐธรรมนูญ 2560 
หากเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและรูปแบบของรัฐ 
> จำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 
ร่างพ.ร.บ. ต้องไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ
ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ 
> คุณสมบัติของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 
๐ ต้องเป็นคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ในวันที่เข้าชื่อฯ และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง
TIPS
1. ต้องอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นร่างต่อสภา หมายความว่า แม้ในวันที่เข้าชื่อจะมีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ แต่หากจะไปครบก่อนหรือในวันที่ยื่นร่างกฎหมาย ก็ถือว่ามีคุณสมบัติในการเข้าชื่อ
2. ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง อันได้แก่ พระภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช, อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง, ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ นับวันที่เอารายชื่อยื่นต่อสภาเช่นเดียวกัน
เอกสารต้องมีอะไรบ้าง? 
  • ร่างพ.ร.บ./ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ( สามารถเขียนเองได้หรือจะขอให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดทำให้ก็ได้) 
  • บันทึกหลักการของร่างกฎหมาย
  • บันทึกเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมาย
  • บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมาย
  • หลักฐานการลงลายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 
  • เอกสารในการนัดหมาย/แจ้งต่อสภาแต่ละครั้ง (ดาวน์โหลดหรือดูตัวอย่างได้ทางเว็บไซต์รัฐสภา)
ดาวโหลดหนังสือแจ้งความประสงค์ให้สำนักเลขาฯ ช่วยจัดทำร่างฯ ที่นี่
TIPS 
– เนื้อหาของร่างพ.ร.บ. เราสามารถเขียนเองได้ว่าต้องการให้มีเนื้อความว่าอย่างไร ต้องการแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเดิมอย่างไร จะเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมดเลยก็ได้ หรือถ้าติดปัญหาในการร่างกฎหมาย ตัวแทนสามารถทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ช่วยจัดทำร่างกฎหมายให้ก็ได้ 
ขั้นตอนการเข้าชื่อมีอะไรบ้าง? 
 
 
 
STEP 1 ริเริ่มการเข้าชื่อ
หลังจากจัดทำร่างพ.ร.บ. บันทึกหลักการและเหตุผล บันทึกวิเคราะห์สรุปหลักการสาระสำคัญเรียบร้อยแล้ว ตัวแทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจะต้องนำส่งเอกสารให้กับทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแจ้งต่อประธานรัฐสภาเสียก่อน เสมือนเป็นการแจ้งไว้ก่อนว่ากำลังจะเสนอกฎหมายเข้ามา
โดยทางสำนักเลขาฯ มีแบบฟอร์มที่เรียกว่า ‘หนังสือขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติ’ ทางตัวแทนผู้เข้าชื่อจะต้องกรอกรายละเอียดและส่งเอกสารดังกล่าวไปยัง กลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อนัดหมายวันและเวลาที่จะนำเอกสารไปยื่น 
ถ้าหากมีข้อสงสัย สามารถโทรศัพท์ไปสอบถาม ขั้นตอนการนัดหมายได้ตามรายละเอียด ดังนี้ 
ที่อยู่ เลขที่ 1111 ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ : 02 242 5900 ต่อ 7531
มือถือ : 09 3303 0509 
หลังจากนัดหมายได้วันที่จะไปยื่นเอกสารเรียบร้อย ในวันที่นำเอกสารไปยื่น ถือว่าเป็นการไปยื่นเพื่อให้ประธานสภารับรองฐานะของตัวแทนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้มีฐานะเป็น ‘ผู้เชิญชวน’ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ก่อนที่จะดำเนินการรวบรวมรายชื่อต่อไป
เอกสารที่ต้องนำไปยื่น มีดังนี้ 
  • ร่างพระราชบัญญัติ/ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
  • บันทึกหลักการและเหตุผล
  • บันทึกวิเคราะห์สรุปหลักการสาระสำคัญ
  • หนังสือยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติ 
  • แบบฟอร์มแสดงความประสงค์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 คนที่เป็นตัวแทนของผู้เข้าชื่อที่ประสงค์จะเป็นผู้เชิญชวน พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน  ดาวโหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่ 
การยื่นร่างกฎหมายรวมถึงเอกสารต่างๆ ต่อประธานสภา เป็นขั้นตอนที่มีขึ้นเพื่อให้ประธานสภาพิจารณาว่าร่างพ.ร.บ.หรือร่างรัฐธรรมนูญที่ยื่นเข้ามานั้น เป็นร่างที่ประชาชนมีสิทธิเสนอหรือไม่ ถ้าประธานสภาเห็นว่า ประชาชนไม่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอก็จะต้อง "คืนเรื่อง" โดยต้องตอบกลับภายใน 15 วันนับแต่วันที่ยื่นร่างกฎหมายและเอกสารครบถ้วน ตัวแทนผู้เข้าชื่อจะไม่ต้องเสียเวลาไปรวบรวมรายชื่อ เพราะต่อให้รวบรวมได้ครบสภาก็อาจจะไม่รับไว้พิจารณา
ถ้าประธานสภาเห็นว่า ประชาชนนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอได้ ก็จะตอบกลับมาเป็นจดหมาย หลังจากนั้นตัวแทนผู้เข้าชื่อ ก็จะมีฐานะเป็น ผู้เชิญชวน สามารถดำเนินการรวบรวมรายชื่อได้เลย 
ข้อสำคัญคือ ในระหว่างการรวบรวมรายชื่อ ห้ามมิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในส่วนที่เป็นหลักการหรือสาระสำคัญภายในร่างกฎหมายเด็ดขาด หากเป็นเพียงการแก้ไขข้อความที่ผิดพลาด สามารถทำได้
TIPS
– ในวันที่ไปยื่น ตัวแทนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ประสงค์จะเป็นผู้เชิญชวน ‘ไม่จำเป็น’ ต้องไปครบทุกคน สามารถส่งตัวแทนไปได้ และโดยปกติแล้วประธานสภาจะมอบหมายให้บุคคลอื่นมารับเรื่องไว้แทน
– เมื่อยื่นหนังสือแสดงความประสงค์จะเป็นผู้เชิญชวนแล้ว ในทางปฏิบัติเราสามารถเริ่มต้นรวบรวมรายชื่อได้เลยเมื่อพร้อม ไม่จำเป็นต้องรอให้ประธานสภารับรองว่าเป็นผู้เชิญชวนเสียก่อนก็ได้ การรอประธานสภาตอบก่อนก็เพื่อความแน่ใจว่าจะไม่เสียแรงฟรีๆ เท่านั้น
STEP 2 รวบรวมรายชื่อ
ในการรวบรวมรายชื่อ ตามกฎหมายใหม่นี้ สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ และใช้เอกสารเพียงอย่างเดียว คือ แบบฟอร์มการเข้าชื่อฯ ไม่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ไม่ต้องถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านอีกต่อไป นอกจากนี้ ผู้เชิญชวนจะรวบรวมรายชื่อด้วยตนเอง หรือจะให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รวบรวมรายชื่อให้ก็ได้
[1] ผู้เชิญชวนรวบรวมรายชื่อเอง
กรณีผู้เชิญชวนรวบรวมรายชื่อเอง ผู้เชิญชวนสามารถเชิญชวน และเปิดให้ลงชื่อแบบออฟไลน์ หรือออนไลน์ก็ได้ เช่น จัดทำเว็บไซต์สำหรับลงชื่อโดยอิงตามแบบฟอร์มเข้าชื่อฯ และให้ลงชื่อโดยเซ็นบนหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือให้ผู้ลงชื่อดาวน์โหลดไฟล์แบบฟอร์มไปกรอกเอง และส่งไฟล์เอกสารกลับมาที่ผู้เชิญชวน
แบบฟอร์มการเข้าชื่อฯ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษและอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้แบบฟอร์มแบบเดียวกัน โดยจะต้องมีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อนามสกุล เลขประจำตัวประชาชนของผู้ร่วมเข้าชื่อ และข้อความที่แสดงให้เห็นว่าสมัครใจเข้าร่วมในการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ 
สามารถดูตัวอย่างได้ ที่นี่ 
๐ วิธีการกรอก
บนหัวกระดาษ จะมีข้อความว่า หลักฐานการลงลายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย และมีชื่อร่างพ.ร.บ. ที่ต้องการจะเสนอ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตรงนี้ให้เว้นว่างไว้ หากกฎหมายผ่านและประกาศใช้เมื่อใดถึงจะเติบตัวเลขปี พ.ศ. ที่ประกาศใช้ภายหลัง สำหรับผู้เข้าชื่อให้เริ่มกรอกในช่อง "เขียนที่…"
เขียนที่… >>> กรอกสถานที่ที่เราเขียนอยู่ขณะนั้น อาจจะเป็นที่อยู่บ้านเรา อำเภอ จังหวัด เขต หรือชื่อสถานที่นั้นๆก็ได้ 
วันที่… >>> กรอกวันที่ที่เขียนอยู่จริง 
ชื่อ นามสกุล , เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก >>> กรอกให้ครบถ้วน 
ช่องลงชื่อ >>> จะต้องลงลายมือชื่อด้วยมือตัวเอง จะเซ็นลายเซ็นหรือเขียนชื่อก็ได้ 
หลังจากกรอกเอกสารเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นกระดาษ สามารถส่งไปรษณีย์หรือนำไปส่งด้วยตัวเอง ตามสถานที่ที่ผู้เชิญชวนกำหนดไว้ หรือจะถ่ายรูปกระดาษที่กรอกเสร็จแล้วส่งไปทางช่องทางออนไลน์ที่ผู้เชิญชวนเปิดรับก็ได้ 
 หากเป็นการกรอกในระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถบันทึกแล้วส่งไปเป็นไฟล์ (.pdf) หรือจะบันทึกเป็นรูป (.jpeg/ .png) แล้วส่งผ่านช่องทางออนไลน์ที่ผู้เชิญชวนกำหนดก็ได้ 
TIPS
– สาระสำคัญของเอกสารคือ จะต้องกรอกชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน และเซ็นลายเซ็น หากไม่กรอกให้ครบถ้วน เอกสารอาจเสียไป ส่วนในช่องวันที่…และเขียนที่… หากไม่ได้กรอกก็ไม่ทำให้เอกสารเสียไป สามารถเติมภายหลังได้ 
– สำหรับคนที่เขียนหนังสือไม่ถนัด จะให้คนอื่นช่วยกรอกข้อมูลในช่องอื่นก็ได้ แต่ต้องลงลายมือชื่อด้วยตัวเอง
– สำหรับคนที่เขียนหนังสือไม่ได้เลย ให้ใช้วิธีปั๊มลายนิ้วมือ (นิ้วโป้ง 1 นิ้ว) ลงไปในช่องลงชื่อพร้อมให้พยานเซ็นชื่อรับรองสองคน พร้อมเขียนกำกับว่า รับรองลายพิมพ์นิ้วมือ 
– ถ้าหากแบบฟอร์มที่เป็นกระดาษฉีกขาด สามารถแก้ไขได้ ไม่ถือเอกสารเสียไป
– หากเป็นการกรอกเอกสารที่เป็นกระดาษ เพื่อความแน่นอน ควรใช้ปากกาสีน้ำเงิน ไม่แนะนำให้ใช้ปากกาสีดำ สีแดง และดินสอ
– หากกรอกเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รายละเอียดต่างๆ สามารถพิมพ์ได้ แต่ช่องลงชื่อ จะต้องเซ็นด้วยมือเท่านั้น โดยอาจจะเซ็นผ่าน iPad หรือโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ใดๆก็ได้ เพียงแต่ต้องเซ็นด้วยมือ  ห้ามพิมพ์ชื่อตัวเองลงไปเพราะจะถือว่าไม่ใช่การลงลายมือชื่อ
[2] ผู้เชิญชวนขอให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรวบรวมรายชื่อให้
นอกจากผู้รวบรวมรายชื่อจะดำเนินการรวบรวมรายชื่อเอง ผู้เชิญชวนสามารถร้องขอให้สำนักเลขาฯ รวบรวมรายชื่อให้ได้เช่นกัน ซึ่งมีข้อดีสำหรับผู้เชิญชวน คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวบรวมรายชื่อเอง แต่ก็มีข้อสังเกตว่า วิธีการนี้อาจจะยุ่งยากสำหรับผู้ร่วมลงชื่อ
โดยขั้นตอนการลงชื่อร่างกฎหมาย ที่ผู้เชิญชวนขอให้สำนักเลขาฯ รวบรวมรายชื่อให้ มีดังนี้
(1) ผู้ลงชื่อต้องมีและลงทะเบียนแอปพลิเคชัน ThaID ซึ่งเป็นบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ ไว้เพื่อยืนยันตัวตนในตอนลงชื่อ 
แอปพลิเคชัน ThaID สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์หรือแท็บเลตได้ทั้งในระบบ Android และ iOS แอปพลิเคชันจะมีการใช้อินเทอร์เน็ต อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) กล้อง และระบบการแจ้งเตือน ซึ่งผู้ใช้จะต้องอนุญาตแอปพลิเคชันให้ใช้ระบบดังกล่าวเพื่อใช้แอปพลิเคชันได้ หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaID และอนุญาตให้ใช้ระบบดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชัน ThaID นั้นมีสองวิธี คือ การลงทะเบียนด้วยตนเองและการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
สำหรับการลงทะเบียนด้วยตนเองจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. อ่านและกด “ยอมรับ” ข้อตกลงและเงื่อนไขของการใช้แอปพลิเคชัน ThaID
2. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายด้านหน้าของบัตรประจำตัวประชาชน
3. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายด้านหลังของบัตรประจำตัวประชาชน
4. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันความถูกต้องของข้อมูล หากข้อมูลที่แอปพลิเคชันอ่านไม่ตรงกับข้อมูลที่ปรากฎบนบัตรประขำตัวประชาชน ผู้ใช้สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้
5. หากแอปพลิเคชัน ThaID ตรวจสอบใบหน้าไม่ผ่าน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากภาพใบหน้าของผู้ใช้บนบัตรประจำตัวประชาชนไม่ชัด ผู้ใช้จะต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ซึ่งจะต้องแสดงใบหน้าได้อย่างชัดเจน
6. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายใบหน้าของผู้ใช้ (เซลฟี)
7. สร้างรหัสผ่านแปดหลัก หลังจากที่สร้างรหัสผ่านแล้ว การลงทะเบียนการใช้แอปพลิเคชัน ThaID ก็เสร็จสิ้น
สำหรับการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. นำบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตที่มีแอปพลิเคชัน ThaID ไปที่สำนักทะเบียนที่สำนักงานเขตสำหรับผู้ใช้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือนำบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตที่มีแอปพลิเคชัน ThaID ไปที่สำนักทะเบียนที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเทศบาลสำหรับผู้ใช้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน 76 จังหวัด
2. ปิดแอปพลิเคชัน ThaID ในโทรศัพท์หรือแท็บเลตและกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
3. ส่งบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตให้กับเจ้าหน้าที่แล้วเจ้าหน้าที่จะยืนยันตัวตนของผู้ใช้ด้วยการดูใบหน้าของผู้ใช้และให้ผู้ใช้ประทับลายนิ้วมือบนเครื่องอ่าน
4. เจ้าหน้าที่จะนำโทรศัพท์หรือแท็บเลตไปสแกน QR Code และให้ผู้ใช้สร้างรหัสผ่านแปดหลัก ซึ่งผู้ใช้จะต้องกรอกรหัสผ่านแปดหลักนี้ทุกครั้งเมื่อจะใช้งานแอปพลิเคชัน หลังจากที่สร้างรหัสผ่านแล้ว การลงทะเบียนการใช้แอปพลิเคชัน ThaID ก็เสร็จสิ้น
(2) ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ของสภา
หลังจากลงทะเบียนใช้แอป ThaID เรียบร้อยแล้ว สามารถร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายได้ ตามขั้นตอนดังนี้
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://einitiative.parliament.go.th/
ในหน้าเว็บไซต์ จะมีรายชื่อของร่างกฎหมายที่กำลังเปิดให้เข้าชื่ออยู่ 
2. คลิก/กดที่ปุ่ม "เข้าชื่อเสนอกฎหมาย" ของร่างกฎหมายที่ประสงค์จะลงชื่อ จะเข้าสู่หน้าที่มีรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ และมีไฟล์แนบให้อ่านร่างฉบับเต็ม
3. คลิก/กดที่ปุ่ม "ร่วมเข้าชื่อ" จะขึ้นหน้าป๊อปอัพ "การยืนยันตัวตนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย" เด้งขึ้นมา ให้อ่าน ข้อตกลงและเงื่อนไข หากยอมรับให้ติ๊กที่ช่อง ข้าพเจ้ายอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้งานระบบเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
4. คลิกที่ปุ่ม "การยืนยันตัวตนด้วย ThaID" จะนำไปสู่หน้าคิวอาร์โคด เข้าสู่ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางเทคโนโลยี
  • ถ้าเข้าเว็บลงชื่อด้วยมือถือเครื่องที่มีและลงทะเบียนแอป ThaID อยู่แล้ว ให้กดที่ปุ่ม "เข้าสู่ระบบด้วย ThaID" (ไม่ต้องสแกนคิวอาร์โคด) แอป ThaID จะมีหน้า "ยืนยันตัวตน" เด้งขึ้นมา หากประสงค์ลงชื่อ ให้กด "ยินยอม" และระบุรหัสผ่านแปดหลัก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
  • ถ้าเข้าเว็บด้วยคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือเครื่องอื่นที่ไม่ได้มีและลงทะเบียนแอป ThaID ให้นำมือถือเครื่องที่มีและลงทะเบียนแอป ThaID มา สแกนคิวอาร์โคดจากหน้าจออุปกรณ์เครื่องที่เข้าหน้าเว็บลงชื่อ (ปุ่มสแกนคิวอาร์โคดแอป ThaID จะอยู่ที่หน้าหลัก) แอป ThaID จะมีหน้า "ยืนยันตัวตน"  เด้งขึ้นมา หากประสงค์ลงชื่อ ให้กด "ยินยอม" และระบุรหัสผ่านแปดหลัก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
๐ ระยะเวลาในการรวบรวมเอกสาร 
กรณีผู้เชิญชวนเป็นผู้รวบรวมเอง > ไม่มีกำหนดระยะเวลา สามารถเก็บรวบรวมไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะได้ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด 
กรณีขอให้สำนักเลขาฯ เป็นผู้รวบรวมให้ > สำนักเลขาฯ กำหนดไว้ที่ 1 ปีนับตั้งแต่ผู้เชิญชวนยื่นคำขอให้ทางสำนักเลขาฯ เป็นผู้รวบรวมรายชื่อให้ หากมีผู้เข้าชื่อไม่ถึงจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ ทางสำนักเลขาฯจะแจ้งให้ผู้เชิญชวนทราบเพื่อให้รีบดำเนินการหารายชื่อให้ครบ ภายใน 90 วัน หากพ้นกำหนดเวลาแล้วยังได้รายชื่อไม่ครบอีก ทางสำนักเลขาฯจะยุติการดำเนินการ ในกรณีเช่นนี้ ถ้าหากผู้เชิญชวนต้องการเสนอร่างฯ เข้ามาอีก ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่แรก 
TIPS
คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักเลขาฯ กรณีที่ผู้เชิญชวนเปิดให้มีการส่งเอกสารผ่านระบบออนไลน์ เจ้าหน้าที่แนะนำให้ทางผู้เชิญชวน ปริ้นท์เอกสารลงลายชื่อของผู้เข้าชื่อออกมาเป็นกระดาษ และรวบรวมส่งให้ทางเจ้าหน้าที่สำนักเลขาฯ ซึ่งจะง่ายต่อการตรวจสอบรายชื่อของเจ้าหน้าที่มากกว่า มีโอกาสที่กระบวนการตรวจสอบจะรวดเร็วขึ้น แต่การส่งเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับทางสำนักเลขาฯ ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด สามารถทำได้ 
STEP 3 นำส่งเอกสารเข้าชื่อ
เมื่อได้รายชื่อครบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะต้องนัดหมายกับทางสภาอีกครั้งเพื่อนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่น 
เอกสารที่ต้องนำไปยื่น 
  • แบบคำร้องขอให้สำนักงานฯ ดำเนินการรับ และรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ
  • หนังสือขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นคำร้องภายหลังชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อ
สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือเพื่อนัดหมายได้ ที่นี่ 
เมื่อได้นัดหมายวันและเวลาเรียบร้อยแล้ว เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อนำไปยื่นต่อสภา มีดังนี้ 
  • ร่างกฎหมายที่เข้าชื่อเสนอ
  • บันทึกหลักการของร่างกฎหมาย
  • บันทึกเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมาย
  • บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมาย
  • หลักฐานการเข้าชื่อของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
  • รายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คนแต่ไม่เกิน 30 คน  
TIPS 
– รายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ เป็นบุคคลเดียวกับผู้เชิญชวนก็ได้ 
– ในวันที่ไปยื่นเอกสารนี้ เราไม่จำเป็นต้องนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นภายในวันเดียว สามารถทยอยส่งไปก่อนจำนวนหนึ่งแล้วค่อยนำส่งให้ครบทีหลังได้
การตรวจสอบเอกสารของเจ้าหน้าที่ 
เมื่อทางผู้เชิญชวนยื่นเอกสารให้ทางสภาครบถ้วนแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนตรวจสอบเอกสารการเข้าชื่อซึ่งจะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของสภา กฎหมายกำหนดว่าจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้อง ทางเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งไปยังผู้เชิญชวนเพื่อให้แก้ไขให้เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้เชิญชวนไม่จัดการแก้ไขภายในระยะเวลา ก็จะถือว่ายุติการดำเนินการและส่งเรื่องคืน
เมื่อตรวจสอบเอกสารเข้าชื่อและคุณสมบัติว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะประกาศจำนวนและรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้งหมดผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภา ช่องทางเดียวเท่านั้น ผู้ที่ร่วมเข้าชื่อมาทุกคนสามารถไปตรวจดูได้ว่า มีรายชื่อของตัวเองร่วมเสนอร่างกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่
หลังจากตรวจสอบรายชื่อแล้ว หากพบว่ามีการปลอมชื่อ บุคคลที่ไม่ได้เข้าชื่อด้วยแต่กลับปรากฏชื่อเป็นผู้เสนอกฎหมายด้วย สามารถติดต่อไปที่สำนักเลขาฯ เพื่อขอตรวจสอบเอกสารและดำเนินคดีต่อไปได้ ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการปลอมลายมือชื่อ ชื่อดังกล่าวก็จะถูกตัดออกจากจำนวนผู้เข้าชื่อ 
ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภา
หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบรายชื่อครบถ้วนแล้ว ก่อนที่ร่างกฎหมายจะถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับการประชุม รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดให้ ร่างกฎหมายของภาคประชาชนจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบเสียก่อน โดยในขั้นตอนนี้สำนักเลขาฯจะเป็นผู้ดำเนินการให้ 
นอกจากนี้ ถ้าหากประธานสภาได้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามาเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ก็จะต้องส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรองก่อน (เป็นไปตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญมาตรา 133 วรรคท้ายและมาตรา 134)
เมื่อการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 เสร็จสิ้น รวมถึงได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีสำหรับกรณีเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ขั้นตอนต่อไป คือ รอให้ประธานสภาบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อรอการพิจารณาต่อไป
TIPS
– ร่างพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน หมายถึง ร่างพ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของประเทศ 
– ถ้าหากผู้เชิญชวนยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม หากมีการยุบสภาหรือสภาสิ้นสุดลงตามวาระและเลือกตั้งใหม่ ร่างกฎหมายที่เสนอไว้แล้วไม่ตกไป พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ พ.ศ.2564 กำหนดให้ ผู้เชิญชวนสามารถทำหนังสือถึงประธานสภาขอให้หยิบยกร่างกฎหมายเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมได้เลย 
เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา 
โดยหลักแล้ว การพิจารณาร่างพ.ร.บ. จะพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรให้ครบสามวาระก่อน คือ วาระที่หนึ่ง ชั้นรับหลักการ วาระที่สอง ชั้นพิจารณารายมาตรา และวาระสุดท้าย ชั้นลงมติ  เมื่อผ่านการพิจารณาทั้งสามวาระแล้วจึงจะเข้าสู่การพิจารณาวุฒิสภาอีกสามวาระเช่นเดียวกัน
ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จะมีเงื่อนไขมากกว่า คือ จะต้องพิจารณาร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยจะกระทำเป็นสามวาระเช่นเดียวกัน
ในการประชุมสภาวาระแรกหรือชั้นรับหลักการ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอร่างพ.ร.บ.หรือร่างรัฐธรรมนูญ ตัวแทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจะได้เข้าไปแถลงหลักการรวมถึงอธิบายเนื้อหาในร่างกฎหมายที่เสนอต่อที่ประชุมสภา 
นอกจากนี้ กรณีร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ข้อบังคับการประชุมสภากำหนดให้ตัวแทนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถแสดงคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการได้ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ สามารถแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมสภาในการพิจารณาในวาระที่สอง โดยกำหนดให้แสดงคิดเห็นได้เฉพาะถ้อยคำหรือข้อความที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น  
หากเป็นร่างพ.ร.บ. รัฐธรรมนูญ มาตรา 128 กำหนดให้ตัวแทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย โดยจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด
หลังจากผ่านการพิจารณา ปรับแก้ร่างกฎหมาย และลงมติในวาระที่สอง ชั้นพิจารณารายมาตราแล้ว เมื่อเข้าสู่วาระสุดท้าย จะเหลือเพียงการลงมติของที่ประชุมสภาเท่านั้น หมดหน้าที่ของประชาชนในขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 
ไฟล์แนบ