จับตาแก้กฎหมายให้ “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” เป็นข้าราชการการเมือง-รับค่าตอบแทนห้าหมื่นบาท

assistant minister
assistant minister
ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 กรกฎาคม 2564 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจําตําแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญ คือ การเพิ่มตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ให้เป็นข้าราชการการเมืองตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง จากเดิมที่อยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และให้มีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 40,000 บาท และค่าตำแหน่ง 10,000 บาท 

ทำความรู้จักตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ที่รับค่าตอบแทนห้าหมื่นบาท

ตำแหน่งคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือ “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2546 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ออกในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งดังกล่าวมีไว้เพื่อ “บริหารความขัดแย้งทางการเมือง” ภายในพรรค เนื่องจากพรรครัฐบาลอย่างไทยรักไทยมีการดึงดูดคนมากมายเข้ามา แต่ทว่า ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งที่ปรึกษาต่างๆ ก็มีอยู่อย่างจำกัด
ตามระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2546 ระบุว่า ให้นายกฯ สามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 30 คนเป็นคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ปฏิบัติงานร่วมกัน จะเรียกว่า คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่ถ้าปฏิบัติงานแยกกันเรียกว่า “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน เช่น เคยรับราชการ เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไป เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา เคยทำงานในแวดวงภาคเอกชนระดับไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยผู้บริหาร
โดยหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรี คือคอย “ประสานงาน” ตามที่นายกฯ หรือ รมต. มอบหมาย และ “เป็นผู้แทน” รมต. ไปรับฟังเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนจากประชาชน รวมถึงเข้าร่วมประชุมและเจรจาความต่าง ๆ แต่ต้อง “ไม่ก่อให้เกิดพันธะทางกฎหมายผูกมัด รมต.”, “ไม่นับเป็นองค์ประชุม” และ “ไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ”
พอมาในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นายกรัฐมนตรี มีการแก้ไขระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าวถึง 4 ครั้ง ได้แก่ โดยครั้งแรกเป็นการแก้ไข “วินัย” ของผู้ช่วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ ให้กว้างขึ้น แต่ต่อมาก็มีการตัดข้อความเรื่องดังกล่าวออก แถมยังเปิดให้ ส.ส. ส.ว. และนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีได้ จนสุดท้าย ในปี 2563 ก็มีการแก้ไขเพื่อห้ามนักการเมือง และผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี
หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีในการบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองทั้งภายในพรรคและพรรคร่วม เช่น การตั้ง ‘สมเกียรติ ศรลัมพ์’ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ เป็น ผช.รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการจัดสรรที่นั่งรัฐมนตรีให้กับโควต้าพรรคเล็กจำนวน 10 พรรค นอกจากนี้ ยังมีการตั้ง ส.ส. ที่สอบตกเข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี เช่น ทศพล เพ็งส้ม ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนนทบุรี พรรคพลังประชารัฐ หรือ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้สมัคร ส.ส. ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ

แก้กฎหมายให้ “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” เป็นข้าราชการการเมือง-มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ

ในปี 2564 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.เงินประจําตําแหน่งฯ และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมืองฯ โดยสาระสำคัญ คือ การเพิ่มตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ให้เป็นข้าราชการการเมืองตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี “เข้มงวดน้อยลง” เพราะไม่มีการกำหนดเรื่องประสบการณ์การทำงานไว้ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง หน้าที่ อำนาจ และคุณสมบัติเฉพาะของผู้ช่วยรัฐมนตรี จะเป็นไปตามระเบียบที่นายกฯ กำหนด
ทั้งนี้ เมื่อเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นข้าราชการทางการเมืองจะทำให้ตำแหน่งดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเทียบเท่ากับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังทำให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญได้ ตาม พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปี 2494 อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญอีกประการของการเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีมาเป็นข้าราชการทางการเมืองคือ การตรวจสอบ เพราะแต่เดิมตำแหน่งดังกล่าวจะถูกกำกับด้วย “วินัย” ตามระเบียบสำนักนายกฯ แต่เมื่อเป็นข้าราชการทางการเมืองก็จะต้องมีความรับผิดชอบและข้อห้ามต่างๆ มากขึ้น เช่น ห้ามเป็นประธานหรือกรรมการขององค์กร หรือ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่แต่เดิมก่อนจะมีการออก พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อปี 2561 ผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่ต้องยื่น แต่ถ้าแก้ให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นข้าราชการทางการเมืองก็จำเป็นต้องยื่นโดยอัตโนมัติ

แก้กฎหมายจ่ายค่าตอบแทน “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ตำแหน่งละห้าหมื่นบาท

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการการเมืองซึ่งยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ปี 2538 ซึ่งภายหลังก็มีการออกพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 4) ปี 2554 เพื่อปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และเงินเดือนข้าราชการการเมือง เงินเดือนนายกฯ เดิมจาก 64,000 บาท ก็ถูกปรับขึ้นเป็น 75,590 บาท ขณะที่เงินประจำตำแหน่งนายกฯ ยังเท่าเดิม คือ 50,000 บาทต่อเดือน 
อย่างไรก็ดี ค่าตอบแทนสำหรับผู้ช่วยรัฐมนตรี ไม่ปรากฏอยู่ในกฎหมายนี้ แต่ปรากฏในระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนรายเดือนของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง ปี 2546 ระบุว่า ให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง ได้รับเงินค่าตอบแทนอัตราเดือนละ 63,800 บาท ต่อมา 16 กันยายน 2557 ครม. มีมติปรับลดค่าตอบแทนผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง เหลือ 50,000 บาทต่อเดือน
จนกระทั่ง มีการเสนอแก้กฎหมายให้เพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีให้เป็นข้าราชการการเมือง ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจําตําแหน่ง เพื่อกำหนดค่าตอบแทนให้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยค่าตอบแทนนั้นแบ่งออกเป็นเงินเดือน 40,000 บาทต่อเดือน และได้เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่เคยกำหนดในระเบียบกระทรวงการคลังเมื่อปี 2557