หยุดอ้างประชามติ! เพราะพรรคที่เสนอ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” มาจากประชาชน 23 ล้านเสียง

23 มิถุนายน 2564 ในศึกอภิปรายแก้รัฐธรรมนูญวันแรก มีประเด็นหลักที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่างอภิปรายตรงกัน คือ การยกเลิก มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรกของบทเฉพาะกาล แต่ทว่าประเด็นดังกล่าวก็นำไปสู่การลุกขึ้นประท้วงของฝ่าย ส.ว. อาทิ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ยืนยันย้ำเตือนว่า อำนาจ ส.ว. มาจากการออกเสียงประชามติจาก “พี่น้องประชาชน 16 ล้านคน”
อย่างไรก็ดี หากลองย้อนกลับไปดูการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 เราจะพบว่า อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ที่มาจากการคัดเลือกของคสช. มาจาก "คำถามพ่วงประชามติ" ซึ่งคำถามดังกล่าวมีปัญหาว่าเป็นคำถามมีความยาว กำกวม และซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นคำถามนำเพื่อนำไปสู่คำตอบในทิศทางที่ต้องการ และทำให้เกิดความสับสนในการตีความของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน 
โดยคำพ่วงประชามติดังกล่าว จงใจใช้คำว่าให้ “รัฐสภา” มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แทนที่จะใช้คำว่า สว. โดยตรง เพื่อซ่อนความจริงที่ว่า สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารจะเป็นกลายหนึ่งในการสืบทอดอำนาจหลังจากการเลือกตั้งผ่านการมีอำนาจเลือกนายรัฐมนตรี นอกจากนี้ คำถามพ่วงยังกำหนดว่าข้อความในคำถามนี้จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี โดยไม่ได้บอกว่าเลือกนายกรัฐมนตรีได้กี่คน รวมถึงหากคำนวณว่านายกรัฐมนตรี 1 สมัยจีระยะเวลา 4 ปี หมายความว่าอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นจะยาวนานถึง 8 ปีเลยทีเดียว
อีกทั้ง บรรยากาศ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 นั้นห่างไกลจากการเป็นการลงคะแนนเสียงที่ยุติธรรมและเสรีเป็นอย่างมาก หากยังจำกันได้ บรรยากาศในการลงคะแนนเสียงประชามติไม่ได้เป็นไปโดยเสรี รัฐบาล คสช. มีการออก พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เพื่อจำกัดการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดโทษผู้ที่ "ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่” ไว้สูงสุดถึง 10 ปี ตลอดระยะเวลาการรณรงค์ประชามติ กิจกรรมสาธารณะที่ถูกปิดกั้นอย่างน้อย 19 ครั้ง และมีผู้ถูกจับกุมจากการแสดงความคิดเห็นต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ถึง 64 ราย ยังไม่รวมถึงการใช้อำนาจและกลไกรัฐอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเพียงด้านเดียวให้กับประชาชน ทำให้การถกเถียงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีประสิทธิภาพ และประชาชนไม่สามารถได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากเราพิจารณาจากผลการออกเสียงประชามติ จะพบว่า มีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบกับคำถามพ่วงประชามติ อยู่ที่ 15,132,050 เสียง ในขณะที่พรรคการเมืองที่เสนอปิดสวิตซ์ ส.ว. ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชนรวมกันอยู่ที่ 23,712,812 เสียง ซึ่งประกอบไปด้วย
๐ พรรคเพื่อไทย  7,881,006
๐ พรรคก้าวไกล  6,330,617
๐ พรรคภูมิใจไทย 3,959,358
๐ พรรคประชาธิปัตย์ 3,734,459
๐ พรรคเสรีรวมไทย 824,284
๐ พรรคประชาชาติ 481,490
๐ พรรคเพื่อชาติ 421,412
๐ พรรคพลังปวงชนไทย 80,186 
จากคะแนนเสียงข้างต้น เราพอจะสรุปได้ว่า พรรคการเมืองมีความชอบธรรมในการเสนอปิดสวิตซ์ ส.ว. เนื่องจาก คะแนนเสียงที่ประชาชนไว้วางใจให้พรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ในสภา มีมากกว่าคะแนนเสียงเห็นชอบกับคำถามพ่วงประชามติ ดังนั้น การที่ ส.ว. เอาแต่อ้างเสียงเห็นชอบจากผลการออกเสียงประชามติเพื่อคงอำนาจตัวเองไว้ จึงเป็นการอ้างที่ขัดขวางกับความไว้วางใจของประชาชนที่มอบให้กับพรรคการเมือง