จับเข่าพูดคุยฉลอง Pride Month: LGBTQI+ มีพื้นที่แค่ไหนในสังคม?

10 มิถุนายน 2564 เวลา 19.30-22.00 น. กลุ่มนักกฎหมายจากหลายสถาบันเพื่อส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน หรือ Nitihub จัดงานเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ "LGBTQI+ มีพื้นที่แค่ไหนในสังคม ?" เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ผ่านทางแอปพลิเคชัน Clubhouse ของ Nitihub รวมทั้งถ่ายทอดเสียงผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ Nitihub และประชาไท
โดยในงานเสวนาดังกล่าว ประกอบด้วยวิทยากรหลักห้าคน ได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ รองศาสตราจารย์มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล เคท ครั้งพิบูลย์ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ และอัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ
สังคมไทย ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเพียง “เปลือกนอก” แต่ยังไร้การรับรองทางกฎหมาย
ก่อนเริ่มการเสวนา ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เกียรติปาฐกถานำว่าด้วย “ประเด็น LGBTQI+ ในมุมมองสากลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย" วิทิตได้หยิบยกเป้าหมายต่างๆ ที่จำเป็นต้องบรรลุเพื่อความก้าวหน้าทางเพศโดยเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ประกอบไปด้วย การยกเลิกความผิดทางอาญาต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ การมีมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติ การมีกฎหมายที่รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ การเปลี่ยนค่านิยมว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรคที่ต้องรักษา การหลอมรวมโอบรับทางสังคม ไปจนถึงการสร้างความเข้าอกเข้าใจ และสภาพแวดล้อมที่สามารถรองรับการสมรสโดยเพศเดียวกันได้
ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ กล่าวว่า ในปัจจุบันพื้นที่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงเป็นการได้รับการยอมรับเพียง ‘เปลือกนอก’ กล่าวคือ แม้ว่าจะมีพื้นที่ในการแสดงออกหรือการแต่งกาย หากแต่การรับรองในเชิงกฎหมายนั้นยังห่างไกล รวมทั้งในเชิงวัฒนธรรมก็ยังคงมีการกีดการ-การเลือกปฏิบัติอยู่มาก เช่น การรับบริจาคเลือด การเลือกรับเข้าทั้งงาน หรือการถูกไล่ออกเนื่องจากพฤติกรรมทางเพศที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสม 
ศิริศักดิ์เล่าการขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศในมิติของศาสนาว่า ในสังคมไทย ศาสนายังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดทับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยอ้างว่าความรักในเพศเดียวกันเป็นบาป กะเทยหรือเกย์บวชไม่ได้ เพราะกังวลว่าจะไปเสพกามา ขณะที่ข่าวพระมีเพศสัมพันธ์กับสีกาก็มีปรากฏอยู่ แต่ทำไมถึงไม่มีการห้ามเพศชายบวช สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่ยังคงดำรงอยู่ในพรมแดนของศาสนา โดยเหตุนี้ศิริศักดิ์จึงออกแคมเปญ ‘ทุกเพศต้องบวชได้’ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ามนุษย์ใช้ศรัทธาในการบวช ไม่ใช่ใช้อวัยวะเพศในการบวช 
เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นสนับสนุนเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหา ‘การยอมรับทางเพศแบบมีตามเงื่อนไข’ กล่าวคือ ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขเรื่องความประพฤติดี มีความสามารถที่มากพอ ไปจนถึงมีชนชั้นและสถานะทางสังคมที่ดี ซึ่งเงื่อนไขที่แตกต่างกันนี้ได้แปรผันต่อการได้รับการยอมรับทางเพศที่ต่างกัน
ส.ส.ก้าวไกลชี้ รัฐต้องให้ความสำคัญกับต้นทุนทางเพศของทุกคน เสนอตั้งกองทุนสำหรับคนข้ามเพศ
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงประเด็น ‘ต้นทุนทางเพศ’ ของทุกๆ เพศที่ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญ โดยในกรณีนี้ โดยทั่วไปเรามักเห็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ที่มีบทบาทอยู่ในแวดวงแฟชั่น แวดวงเครื่องสำอาง-การทำผม ที่ซึ่งคนทั่วไปจะมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม คุณธัญวัจน์เสนอว่า หากเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สินค้าประเภทดังกล่าวกลายเป็นสินค้าจำเป็น (สินค้าที่เป็นต้นทุนทางเพศของผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ได้นั้น ก็จะส่งผลให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มบทบาทและที่ทางในสังคมให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย
นอกจากนี้ คุณธัญวัจน์ได้เสนอให้มีการตั้งกองทุนสำหรับคนข้ามเพศ ในลักษณะเดียวกับกองทุนส่งเสริมอาชีพสตรี เพื่อมุ่งผลักดันโมเดลธุรกิจประเภทดังกล่าวโดยมีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurs) ขึ้นเป็นการเฉพาะ     
มี #สมรสเท่าเทียม แล้วยังไม่จบ แต่ต้องแก้กฎหมายต่ออีกหลายฉบับ ภาษี-ประกันสังคม-สวัสดิการ
อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต) ฉบับ ‘อัมพวาโมเดล’ ได้เปรียบเปรยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตว่าเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการนโยบาย (Policy Lab) โดยที่ตัวบทกฎหมายนั้นยังมีช่องว่างและไม่สมบูรณ์แบบนัก 
อัครวัฒน์ได้เน้นย้ำถึงสิทธิ์ที่ติดตามมากับครอบครัว อันได้แก่ สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา และสวัสดิการต่างๆ ที่ได้รับจากรัฐ ว่าเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งหากต้องการผลักดันให้คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง เช่น กฎหมายการเสียภาษีอากร อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่การระบุสถานะทางครอบครัว การปรับปรุงแก้ไขจะส่งกระทบไปทั้งโครงสร้าง 
ด้านธัญวัฒน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ) หรือ #สมรสเท่าเทียม ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 เพราะอยู่ในเรื่องค้างพิจารณา 
ธัญวัฒน์แสดงความเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่อัครวัฒน์เล่าถึง ‘อัมพวาโมเดล’ นั้นเรียกได้ว่าเป็นร่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่พอมีการแก้ไขปรับปรุงไปมา สิทธิบางประการหายไปเยอะมาก ทำให้เกิดกระแสไม่เอาร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งตอนนี้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตยังไม่มีความคืบหน้าใด ธัญวัฒน์เชื่อว่า ในขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา คณะรัฐมนตรีน่าจะเสนอร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาประกบคู่ไปกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ
รองศาสตราจารย์มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าสังคมไทยสมควรต้องมี ‘กฎหมายรับรองสถานะทางเพศ’ ให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเฉกเช่นนานาประเทศ อาทิ อเมริกา แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น เพื่อให้คนไทยมีสิทธิกำหนดทางเลือกของตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว ต้องมุ่งเป้าไปที่การมีเอกสารรับรองสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสมรสโดยเพศเดียวกัน 
มาตาลักษณ์เสริมว่า ไม่ใช่เพียงแต่การแก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ต้องมีการพิจารณาทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งเรื่องอื่นๆ นอกจากการสมรส รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เช่น กฎหมายภาษีอากร หรือกฎหมายลำดับรองที่กำหนดสวัสดิการต่างๆ เช่น สวัสดิการที่พักอาศัย ค่ารักษาพยาบาล