“พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” ฉบับใหม่: เปิดทางเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางออนไลน์

27 พฤษภาคม 2564 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 เริ่มมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ฉบับใหม่ คือ การเปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภา (แล้วแต่กรณี) ได้สะดวกขึ้น อาทิ การกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สำนักงานเลขาฯ) มีหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้งในเรื่องการจัดทำร่างกฎหมาย หรือ การรวบรวมเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย อีกทั้ง ยังกำหนดให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และเตรียมเปิดระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางออนไลน์
เปิด "สี่ขั้นตอน" การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 ได้กำหนดขั้นตอนของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 16 ซึ่งพอจะแบ่งขั้นตอนหรือวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหหมายโดยสรุป ได้ดังนี้
1) ขั้นตอนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ
ขั้นตอนแรกของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ. พร้อมเอกสารประกอบ ได้แก่  บันทึกหลักการ เหตุผล และสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ถ้าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 20 คน ก็สามารถร้องขอให้สำนักงานเลขาฯ ช่วยจัดทำร่างกฎหมายและเอกสารประกอบแทนได้ โดยสำนักงานเลขาฯ ต้องจัดทำเอกสารให้แล้วเสร็จ ช้าสุดไม่เกิน 90 วัน
2) ขั้นตอนการเชิญชวนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ขั้นตอนต่อมา หลังผู้ที่ต้องการเข้าชื่อเสนอจัดทำร่างกฎหมายและเอกสารประกอบแล้วเสร็จ ให้บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการเสนอร่างกฎหมายรวมกลุ่มกันไม่น้อยกว่า 20 คน เพื่อยื่นร่างกฎหมายและเอกสารประกอบต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ประธานสภาฯ พิจารณาว่า ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอเข้ามามาเป็นร่างกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่ โดยประธานสภาฯ ต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
ในกรณีที่ประธานสภาฯ เห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนสามารถเสนอได้ตามรัฐธรรมนูญก็ให้ดำเนินการต่อไป โดยให้ผู้ที่ยื่นร่างกฎหมายต่อประธานสภาฯ จะมีสถานะเป็น "ผู้เชิญชวน" ให้คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งสามารถช่วยคนเข้าชื่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องเผยแพร่เอกสาร อาทิ ร่างกฎหมายและเอกสารประกอบ ควบคู่ไปด้วยกัน แต่ถ้าประธานสภาฯ เห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนไม่สิทธิเสนอก็ให้คืนร่างกฎหมายให้ผู้ยื่นเรื่องกลับไป
3) ขั้นตอนการรวบรวมเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ขั้นตอนต่อมา ให้ผู้ที่เชิญชวนคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายรวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ครบ 10,000 ชื่อ หรือ 50,000 ชื่อ (สำหรับกรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญ) โดยเอกสารและหลักฐานการเข้าชื่อนั้นต้องประกอบไปด้วย ชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และข้อความแสดงว่าตนสมัครใจ พร้อมลายเซ็น ทั้งนี้ ส.ส.วรภพ วิริยะโรจน์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.การเช้าชื่อเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหายฉบับใหม่ ไม่จำเป็นต้องถ่ายสำเนาเอกสารบัตรประชาชนอีกต่อไป และในกรณีที่สำนักงานเลขาฯ มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ก็ให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ โดยไม่ต้องลงลายมือชื่อ (เข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบออนไลน์)
ทั้งนี้ ผู้เชิญชวนคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายอาจร้องขอให้สำนักงานเลขาฯ เป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อได้ แต่มีระยะเวลารวบรวมเอกสาร คือ ไม่เกิน 1 ปี หากครบกำหนดเวลาแต่การรวบรวมเอกสารยังไม่ครบถ้วน ให้แจ้งไปยังผู้เชิญชวนให้รวบรวมเอกสารให้ครบภายใน 90 วัน หากยังไม่ครบให้สำนักงานเลขาฯ ยุติการดำเนินการ
4) ขั้นตอนการเสนอกฎหมายสู่สภาผู้แทนราษฎร
ขั้นตอนสุดท้ายของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ เมื่อผู้เชิญชวนสามารถรวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อได้ครบ 10,000 หรือ 50,000 ชื่อ ให้ผู้เชิญชวนยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ พร้อมหลักฐานและเอกสารการเข้าชื่อ และหลังจากนั้นให้ประธานสภาฯ ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารและหลักฐาน ภายใน 45 วัน 
ทั้งนี้ ถ้าเอกสารไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนให้ผู้เชิญชวนดำเนินการให้ถูกต้องตามเวลาที่กำหนด แต่ถ้าเอกสารถูกต้องและครบถ้วนให้ประธานสภาฯ ดำเนินการต่อไป และในกรณ๊ที่ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินให้ส่งร่างกฎหมายไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้คำรับรองก่อน จากนั้นให้สำนักงานเลขาฯ จัดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 แล้วถึงให้ประธานสภาฯ บรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่ระเบียบวาระตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ
สำนักงานเลขาฯ มีหน้าที่อำนวยความสะดวกประชาชน
ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 ได้กำหนดให้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ได้แก่ ช่วยจัดทำร่างพระราชบัญญัติและเอกสารประกอบ ช้าสุดไม่เกิน 90 วัน อีกทั้ง สำนักงานเลขาฯ ยังมีหน้าที่ช่วยเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และการช่วยเผยแพร่และเชิญชวนให้คนทั่วไปทราบถึงกฎหมายที่ประชาชนกำลังเข้าชื่อเสนอ และทราบถึงกฎหมายที่อยู่ระหว่างการชื่อเสนอ
เข้าชื่อเสนอ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ต้องใช้ผู้มีเลือกตั้ง 50,000 ชื่อ
สำหรับการเข้าชื่อเสนอ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 ยังคงมีขั้นตอนและวิธีการที่คล้ายกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายปกติ แต่ต่างกันในรายละเอียด ได้แก่
(1) การร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรช่วยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบ ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมชื่อกันไม่น้อยกว่า 120 คน
(2) การยื่นร่างรัฐธรรมนูญให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา และให้ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ตรวจสอบหลักการและหลักฐานการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ
(3) การยื่นร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานสภา ต้องมีจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายรวมกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน
(4) ให้ผู้ที่ยื่นร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ยื่นรายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญได้ไม่เกิน 10 คน
(5) ห้ามเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
 
ถ้ายุบสภาก่อน ประชาชนมีสิทธิร้องขอให้สภาชุดใหม่พิจารณาต่อได้
ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดว่า หากอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่าง พ.ร.บ. ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบหรือยังมิได้พระราชทานคืน เป็นอันตกไป  เว้นแต่ คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีต้องร้องขอภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป
แต่ทว่า พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 ได้เพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองร่างกฎหมายที่ประชาชนเป็นผู้เสนอในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วยว่า ถ้า 'ผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย' ทำหนังสือยืนยันต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อไป ให้ถือว่า เป็นการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ผู้ใด "ปลอมลายเซ็น" มีความผิด-ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
สำหรับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 ได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้เพียงกรณีเดียว คือ ความผิดฐานปลอมลายมือชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลสั่ง