ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ : เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ จำคุกห้าปี-ปรับไม่เกินหนึ่งแสน

17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดพิจารณา "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ" หรือ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรีในฐานะ "กฎหมายปฏิรูป" ตามหมวดที่ 16 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจะเป็นการพิจารณากฎหมายร่วมกันของรัฐสภาต่างจากกฎหมายปกติที่ต้องพิจารณาทีละสภา และให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสินใจหลัก 
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวถูกคาดหมายว่าจะได้บังคับใช้หลังจากรัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระสามเป็นที่เรียบร้อยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องมีการออกเสียงประชามติ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ฉบับนี้ มีสาระสำคัญว่า การจัดประชามติจะกระทำได้ในสองกรณี คือ การแก้รัฐธรรมนูญ กับ ที่ครม. มีมติเสนอ และผลการตัดสินประชามติให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิและผู้มาใช้สิทธิ 
แต่สิ่งที่น่าจับตาในร่างกฎหมายดังกล่าว คือ การให้อำนาจ กกต. ในการกำกับการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโทรทัศน์ รวมถึงมีบทลงโทษสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จซึ่งมีโทษจำคุกถึง 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ประชามติได้สองกรณี คือ ครม.เสนอ กับ แก้รัฐธรรมนูญ
ตาม ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ในบททั่วไป กำหนดให้การออกเสียงประชามติมีอยู่สองกรณี ได้แก่
หนึ่ง การออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 10 โดยให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติตามวันที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา
ทั้งนี้ ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้ แก่นายกฯ และ กกต.
สอง การออกเสียงประชามติในเรื่องใดที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามมาตรา 11 โดยให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติตามวันที่ได้หารือร่วมกับ กกต. ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับตั้งแต่ ครม. มีมติ ทั้งนี้ ในประกาศดังกล่าวต้องระบุเรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้ไปออกเสียงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้โดยสะดวก
ประชามติต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิและผู้มาใช้สิทธิถึงยุติ
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 กำหนดให้ กกต. มีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริต เทียงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย
โดยการออกเสียงประชาติ ตามมาตรา 12 กำหนดให้ใช้บัตรออกเสียง หรือ กกต. อาจกำหนดให้กระทำโดยวิธีการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นใด ที่สามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และอาจใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตใดเขตหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด
โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินผลการออกเสียงประชามติ อยู่ในมาตรา 13 ซึ่งกำหนดว่า ผลการออกเสียงประชามติจะได้ข้อยุติต่อเมื่อมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
ประชามติแก้รัฐธรรมนูญต้องทำข้อมูลเผยแพร่ไม่น้อยกว่า 15-30 วัน
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 14 กำหนดให้การทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ต้องมีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปให้ประชาชนทราบ โดยการเผยแพร่ผ่านต้องเผยแพร่ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศให้มีการออกเสียงประชามติ รวมทั้งต้องจัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลส่งให้เจ้าบ้านทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันออกเสียง ทั้งนี้ เอกสารที่จัดทำและเผยแพร่ต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงประชามติและไม่มีลักษณะชี้นำ
นอกจากนี้ ในมาตรา 15 กำหนดให้การทำประชามติตาม มติ ครม. ต้องให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบจัดทำข้อมูลเผยแพร่อย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ทำประชามติและเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีประชามติ สาระสำคัญของเรื่องที่ทำประชามติ ขั้นตอนและระยะเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้สำหรับเรื่องที่ทำประชามติ และต้องมีข้อมูลเรื่องประโยชน์ได้เสียที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ท้องถิ่น หรือประชาชน รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้น
การแสดงความเห็นผ่านโทรทัศน์ต้องรอบด้าน ตามที่ กกต. กำหนด
ในมาตรา 16 กำหนดเรื่องการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ไว้ว่า ต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านอย่างเท่าเทียม ตามประกาศ กกต. และในกรณีที่ กกต. เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนด ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือให้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด 
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะมีบทลงโทษตามมาตรา 64 ที่ระบุว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
ประชาชน พรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ ต้องรณรงค์ได้โดยเสรี
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 16/1 กำหนดว่า ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆ ในสังคม ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการออกเสียงได้โดยเสรี เสมอภาค และเท่าเทียมกัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กกต. กำหนด ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจัดกิจกรรมให้ข้อมูล ต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มข้างต้นได้เข้าร่วมอย่างเสรี เท่าเทียม
ใช้จังหวัดเป็นเขตออกเสียงประชามติ-เลือกตั้งนอกเขตได้
มาตรา 17 และ มาตรา 18 ได้กำหนดให้ใช้จังหวัดเป็นเขตออกเสียง และให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งที่กำหนดตามกฎหมายว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันออกเสียงประชามติ เป็นหน่วยออกเสียงประชามติ
สำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งอยู่นอกเขตจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันออกเสียง มาตรา 37 กำหนดว่า จะไปลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงที่อยู่นอกเขตออกเสียงในวันออกเสียงประชามติได้
ทั้งนี้ กกต. สามารถจัดให้มีการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงผ่านเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นก็ได้ รวมถึงผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรจะขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิออกเสียง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ก็ได้
ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ต้องมีสัญชาติไทย-อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 19 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไว้ว่า
(1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียง
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันออกเสียง
และในมาตรา 20 กำหนดบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง ไว้ว่า
(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ถ้าไปลงประชามติไม่ได้ให้แจ้ง-ถ้าไม่แจ้งถูกตัดสิทธิอย่างน้อย 4 อย่าง
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 20/1 ระบุว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่มีเหตุอันควรให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ให้แจ้งยังบุคคลที่ กกต. แต่งตั้งภายในเจ็ดวันก่อนออกเสียงหรือภายในเจ็ดวันหลังการออกเสียง ถ้าหากว่าผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง และไม่ได้ได้แจ้งเหตุไม่อาจใช้สิทธิ ให้ถูกจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 20/3 ดังนี้
(1) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(2) สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
(3) ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
(4) ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยการจำกัดสิทธิดังกล่าวให้มีกำหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันออกเสียงครั้งที่ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง และหากในการออกเสียงครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงอีกให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิออกเสียงครั้งใหม่ หากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใดให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง
ใช้ตำแหน่งหน้าที่-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ประชามติไม่สุจริต มีโทษจำคุก 1-10 ปี
มาตรา 55 กำหนดโทษทางอาญาว่า ผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นเหตุให้การออกเสียงประชาติไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี 
และในมาตรา 57 กำหนดด้วยว่า ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้างในการไปใช้สิทธิออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่ 2 เกินปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขัดขวาง-หลอกลวง-ข่มขู่ ผู้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ มีโทษจำคุก 2-10 ปี
มาตรา 56 กำหนดว่า ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกเสียงประชามติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงานดังกล่าว กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
นอกจากนี้ มาตรา 60 ยังกำหนดด้วยว่า ผู้ใดกระทำการ อาทิ ขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรือให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคามเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวันเวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้
เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ-เล่นพนัน-เรียกรับทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
มาตรา 60 ยังกำหนดโทษสำหรับกรณี การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ หรือการเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือการเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ต้องต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้  
ห้ามทำโพลสำรวจความคิดเห็นก่อนออกเสียง 7 วัน
มาตรา 62 กำหนดว่า ผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันออกเสียงจนถึงสิ้นสุดเวลาออกเสียงในวันออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
ห้ามรณรงค์ก่อนวันประชามติ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.
62/1 กำหนดว่า ผู้ใดรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่มาใช้สิทธิออกเสียง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันออกเสียงหนึ่งวันจนสิ้นสุดเวลาออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แม้ทำผิดตามนอกราชอาณาจักร แต่ต้องรับโทษในราชอาณาจักรด้วย
ในมาตรา 67 อันเป็นมาตราสุดท้ายของร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ได้กำหนดให้ผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการ (ผู้ที่ร่วมกันกระทำความผิดในกรณีที่มีผู้กระทำตั้งแต่สองคนขึ้นไป) ผู้สนับสนุน (ผู้ที่ให้การช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในกระทำความผิดไม่ว่าจะก่อนหรือหลังกระทำความผิด) หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิด (ผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีใด) แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร