แก้รัฐธรรมนูญ: สำรวจข้อเสนอ “ระบบเลือกตั้ง สสร.” ผ่านคำ แปรญัตติ

ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….  ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ. แก้รัฐธรรมนูญฯ) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว

โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือ การเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลเสนอให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และมาจากการสรรหาจากกลุ่มต่างๆ อีก 50 คน

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากการขอสงวนคำแปรญัตติ หรือ ขอสงวนความเห็นเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาปรับแก้ในประเด็นดังกล่าว จะพบว่า มีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง สสร. ไว้อย่างน้อย 5 แบบ ดังนี้

1. ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. แก้รัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 256/1 ว่า “ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน” และในมาตรา 256/5 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในการเลือกตั้งสมาชิิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง”

จากทั้งสองมาตรา สรุปได้ว่า วิธีการได้มาซึ่ง สสร. จะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยระบบเลือกตั้งแบบนี้จะคล้ายกับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตเลือกตั้งของตัวเอง เพียงแต่รอบนี้ใช้ ‘จังหวัด’ เป็นเขตเลือกตั้ง ดังนั้นในหนึ่งเขตหรือหนึ่งจังหวัดอาจจะมีผู้แทนหรือ สสร. ได้มากกว่า 1 คน แต่ทว่าประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกคนได้เพียงเบอร์เดียว

อย่างไรก็ดี จากงานศึกษาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งพบว่า ระบบเลือกตั้งแบบใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง “หนึ่งคน-หนึ่งเสียง” มีส่วนทำให้กลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มที่เป็นเสียงข้างน้อยในพื้นที่ยังสามารถแข่งขันทางการเมืองได้ แต่กลุ่มผู้ที่มีความนิยมในพื้นที่หรือกลุ่มที่มีเครือข่ายอิทธิพลในท้องถิ่นจะมีความได้เปรียบ และทำให้การแข่งขันทางการเมืองเป็นการแข่งขันในเชิงตัวบุคคลมากกว่าการแข่งขันทางนโยบาย

2. ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

ข้อเสนอในการใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งปรากฎครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 100,732 คน ได้ร่วมกันเสนอ โดยระบบเลือกตั้งดังกล่าวมีผู้ขอสวนคำแปรญัตติให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้อยู่หลายคน ได้แก่ ส.ส. พรรคก้าวไกล อาทิ ธีรัจชัย พันธุมาศ และ รังสิมันต์ โรม โดยขอแก้ไขในมาตรา 256/1 ไว้ว่า “ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง”

โดยระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะคล้ายๆ กับระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ที่ประชาชนกาบัตรหนึ่งใบเลือกคนหรือพรรคแล้วนำคะแนนทั้งประเทศมาคำนวณที่นั่ง ซึ่งระบบเลือกตั้งนี้จะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครที่ตนชอบหรือมีนโยบายที่ตนเองชอบได้มากที่สุด โดยไม่ต้องติดข้อจำกัดเรื่องเขตเลือกตั้ง และทำให้ผลการเลือกตั้งที่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนในระดับประเทศและเป็นระบบที่ทำให้มีตัวแทนตามสัดส่วนที่แท้จริงของกลุ่มประชากรได้ ยกตัวเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ก็มีโอกาสที่จะมีตัวแทนของตัวเองมากขึ้น

3. ใช้ทั้งประเทศและจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ข้อเสนอของระบบเลือกตั้งแบบใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จะถือว่าเป็นระบบเลือกตั้งแบบผสมผสาน และมีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน (Parallel) คล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2554 ที่มีทั้งระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เพียงแต่ระบบเลือกตั้ง สสร. นี้ จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเท่านั้นเอง

สำหรับ ส.ส. ที่ได้ขอสงวนคำแปรญัตติเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว คือ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แก่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ปดิพัทธ์ สันติภาดา, วรรณวิภา ไม้สน, ธัฐวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ และอื่นๆ รวม 16 คน ซึ่งขอแปรญัตติในมาตรา 256/1 ไว้ดังนี้

“มาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังต่อไปนี้
(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่งร้อยคน
(2) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่งร้อยคน”

4. ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งร่วมกับการสรรหา

ข้อเสนอของระบบเลือกตั้ง สสร. ที่มีการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งร่วมกับระบบการสรรหา สสร. ปรากฎอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคฝ่ายรัฐบาล ที่เสนอให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 150 คน และให้อีก 50 คน มาจากการสรรหาคัดเลือกจากรัฐสภา ที่ประชุมอธิการบดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ การเมือง การบริหารราชแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมตัวแทนกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยผู้ที่ขอสงวนคำแปรญัตติให้ใช้ในรูปแบบดังกล่าว คือ สมชาย แสวงการ ส.ว.

ส่วนผู้ที่สงวนคำแปรญัตติในประเด็นที่มีความใกล้เคียงกัน ก็อย่างเช่น วีรกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 190 คน และให้ 10 คน มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมอธิการบดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ การเมือง การบริหารราชแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ 

หรืออย่าง จิรายุ ห่วงทรัพย์ พรรคเพื่อไทย เสนอให้มี สสร. 250 คน มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และอีกให้ 50 คน ให้มาจากการ 3 ช่องทาง คือ

  1. 20 คน มาจากคัดเลือกของรัฐสภา โดยห้ามมิให้ผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และพวกบริวารว่านเครือ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
  2. คน มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดีจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ การเมือง การบริหารราชแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และต้องไม่มีประวัติในการส่งเสริมการทำรัฐประหาร หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
  3. 15 คน มาจากการคัดเลือกจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี โดยแบ่งตามภาคของประเทศให้สมดุลตามประชากรของประเทศ โดยให้ผู้ที่มีความสนใจในระบอบการเมืองการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย

5. ใช้การสรรหาทั้งหมด

ในข้อเสนอวิธีการได้มาซึ่ง สสร. โดยไม่ใช่การเลือกตั้งแต่ให้ใจการสรรหาทั้งหมด เป็นข้อเสนอของ ‘เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์’ ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เสนอให้แก้ไข มาตรา 256/1 โดยกำหนดให้มีที่มาดังต่อไปนี้
(1) บุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบจำนวน 100 คน ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 50 คน และบุคคลภายนอกที่มาจากการเสนอชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 50 คน
(2) บุคคลที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบจำนวน 70 คน ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 35 คน และบุคคลภายนอกที่มาจากการเสนอชื่อของวุฒิสภา จำนวน 35 คน

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ