ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง นายกฯ มีอำนาจออกประกาศ “จับ-ค้น-ยึด-ควบคุมตัว”

15 ตุลาคม 2563 เวลา 4.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มาตรา 11 ที่ระบุว่า ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี  มีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง

หรือหมายความว่า องค์ประกอบของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงคือ ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. มีการก่อการร้าย

2. มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน

3. มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล

ทั้งนี้ ต้องมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

อย่างไรก็ดี จากประกาศของนายกฯ ระบุเหตุผลแต่เพียงว่า “มีบุคคลหลายกลุ่ม ได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

ซึ่งจากประกาศดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า มีความขัดแย้งต่อสภาพที่แท้จริงของการชุมนุม เพราะการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีการใช้พื้นที่สาธารณะแต่ก็เป็นเพียงการสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้ใช้รถและถนน หาได้มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลไม่

โดยหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นายกฯ สามารถออกประกาศให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐได้ ดังนี้

1. ลักษณะข้อห้าม (เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ)

๐ ห้ามชุมนุมและมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

๐ ห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบความมั่นคงของรัฐ

๐ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางที่กำหนด

๐ ห้ามใช้ เข้าไป อยู่ใน หรือให้ออกจากอาคารหรือสถานที่ใดๆ ที่รัฐกำหนด

2. อำนาจที่ใช้จัดการ

๐ อำนาจจับกุมและควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน (สูงสุด 30 วัน)

– บุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

๐ อำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวเพื่อให้ถ้อยคำ เอกสาร หรือหลักฐาน

๐ อำนาจยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร อาวุธ สินค้า หรือวัตถุอื่นใด

๐ อำนาจตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง

๐ อำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆ

3. ผู้มีอำนาจสั่งการและผู้ปฏิบัติงาน

๐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง

๐ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

๐ ให้ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่

You May Also Like
อ่าน

จำคุก 25 ปีแม็กกี้ LGBTQ คดีม. 112-พ.ร.บ.คอมฯ จากการทวีต 18 ข้อความ

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกแม็กกี้ ผูัมีความหลากหลายทางเพศในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการทวีต 18 ข้อความ รวม 25 ปี
อ่าน

ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์เก็ท โมกหลวงฯ กรณีขอออกนอกเคหสถานเพื่อทำงานเมื่อปี‘65 

ศาลอาญานัดเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ สืบเนื่องจากระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวเก็ทในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว