ประชาชนผิดหวัง วิปรัฐบาลชะลอพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

ยังไม่ผ่านกฏหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรักษาของแพทย์ วิปรัฐบาลให้ สธ. ไปหารือใหม่เพราะส่งผลกระทบกับหมอ เชื่อต่อไปต้องมีคนไข้ฟ้องหมอเพื่อเรียกเงินแน่นอนด้านเอ็นจีโอโวยผิดหวัง เตรียมบุกทำเนียบฯแจง 18 ต.ค.นี้ ขณะเดียวกันแพทยสภาย้ำ ให้ถอนมาทำประชาพิจารณ์ก่อน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ฉะรัฐลอยตัว ปล่อยให้หมอกับคนป่วยขัดแย้งกันต่อไป 
   
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2553 นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่ากรณีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ… วิปรัฐบาลได้หารือเรื่องนี้หลายรอบ เพราะมีปัญหาต่อขวัญกำลังใจของแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ จึงเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรนำกลับไปหารือทุกฝ่ายก่อน เนื่องจาก มีผลกระทบกับผู้ที่รักษาพยาบาล และประชาชนที่หวังจะเอาผลประโยชน์จากการคุ้มครอง ดังนั้นจึงชะลอร่าง พ.ร.บ.นี้ก่อน จนกว่าจะเกิดความปรองดองในกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามในสัปดาห์หน้าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งเพื่อ พิจารณาอย่างรอบคอบ
   
ประธานวิปฯระบุต่อว่า ที่สะท้อน ชัดเจนคือคณะแพทย์ที่รักษาพยาบาลในอดีต ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ขณะนี้คณะแพทย์เหล่านั้น เกิดความรู้สึกว่าในระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการออกกฎหมายขององค์กรต่าง ๆ มากขึ้น  และองค์กรต่าง ๆ ถูกครอบงำโดยเครือข่ายบางกลุ่ม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานอึดอัดไม่สบายใจ และภาพสะท้อนในด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ วิกฤติที่เกิดขึ้นในกระบวนการรักษาพยาบาล มาตรฐานการรักษาพยาบาลของไทยต่ำลง เพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ฉะนั้นเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา จะมีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะแพทย์ แต่รวมถึงประชาชนด้วย

 

                                 

   
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมติวิปรัฐบาล รู้สึกผิดหวัง และไม่สบายใจ กับมติดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายวิทยาได้ นัดหมายให้พวกตนเข้าไปพบเพื่อให้ข้อมูลกับวิปรัฐบาลในวันที่ 18 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เราหวังว่าการตัดสินใจของวิปรัฐบาลในเรื่องนี้ ยังไม่เป็น ที่ยุติ ส่วนการที่ให้กระทรวงสาธารสุขไปเคลียร์ปัญหาก่อนนั้น คิดว่าคงจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้นัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจถึง 4 ครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะแพทย์ยังแยกกันเป็นกลุ่ม ๆ ออกมาคัดค้าน ซึ่งรัฐบาลจะต้องตัดสินใจ โดยให้หลักประกันกลุ่มแพทย์เหล่านี้ได้มีโควตาเป็นกรรมาธิการในการพิจารณากฎหมาย ซึ่งพอจะเป็นหนทางออกได้
   
นาง ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากนี้ความขัดแย้งจะคงอยู่ต่อไป ไม่มีระบบที่จะเข้ามาเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทำให้ปัญหาผู้ป่วยฟ้องแพทย์ยังคงอยู่ เพราะผลักให้ผู้ป่วยไม่มีทางเลือกต้องฟ้องอย่างเดียว ทำให้ปัญหาขัดแย้งยิ่งสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบานปลาย การที่วิปรัฐบาลตัดสินใจเช่นนี้ มองว่ารัฐบาลกำลังลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ปล่อยให้แพทย์และผู้ป่วยขัดแย้งกันต่อไป เป็นการถอยหลังเข้าคลอง อย่างไรก็ตามในวันที่ 15 ต.ค.2553 ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ ในระบบ บริการสาธารณสุข ที่มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานนัดสุดท้ายเรายืนยันที่จะเข้าประชุมด้วย
   
ศ.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวว่า ได้รับทราบมติวิปรัฐบาลแล้ว ในวันที่ 15 ต.ค. ทางตัวแทนแพทยสภาคงไม่เข้าร่วมประชุมคณะ กรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ โดยยืนยันมติเดิมคือต้องชะลอหรือถอนร่าง พ.ร.บ. นี้ออกมาทำประชาพิจารณ์ก่อนเท่านั้น.
 
ที่มาข่้าว เดลินิวส์
 
ที่มาภาพ hoyasmeg

 

 
ไฟล์แนบ