เปิดคำสั่ง ศบค. คณะทูตซูดาน/ทหารอียิปต์ เข้าไทยต้องกักตัว 14 วันทุกคน

นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ประชาชนต้องแบกรับภาระทั้งในแง่การดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ติดโรคและในแง่การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพในยุคที่เศรษฐกิจหยุดชะงักเพราะมาตรการของรัฐในการรับมือกับโรคโควิด 19 

หลายเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น จากสถิติจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมาแล้วรวม 51 วัน การค้าขายจึงเริ่มกลับมามีชีวิตชีวา ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดี กลับดูเหมือนต้องหยุดชะงักอีกครั้งเพราะความตื่นตระหนกของประชาชน เมื่อมีแถลงจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ว่า มีการติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มทหารอียิปต์และเด็กที่เดินทางมาพร้อมคณะทูตซูดานที่เดินทางเข้าไทย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563

กรณีคณะทูตซูดาน คำสั่ง ศบค. ให้ตรวจโควิดและกักตัวในบ้าน 14 วัน

จากเหตุการณ์นี้เอง ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยถึงสิทธิพิเศษบางประการของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศและไม่ต้องกักตัว 14 วันภายในสถานกักตัวของรัฐหรือ state quarantine

ซึ่งพิจารณาแล้วพบว่า สิทธิพิเศษในการเดินทางเข้าประเทศไทยของคณะทูตซูดานเป็นไปตามคำสั่ง ศบค. ที่ 7/2563 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ตามข้อ (3) ที่กำหนดข้อยกเว้นสำหรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของบุคคลบางกลุ่มไว้ อันได้แก่ คณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศหรือผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศซึ่งมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือบุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนคู่สมรส บิดา มารดา หรือ บุตรของบุคคลดังกล่าว รวมถึงกรณีของผู้ควบคุมยานพาหนะ 

สำหรับบุคคลในกลุ่มนี้ มาตรการก่อนการเดินทางกำหนดให้ต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนเป็นเวลา 14 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ Fit to Fly และต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ติดเชื้อโควิด อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงด้วย

เมื่อบุคคลในคณะทูตเดินทางมาถึง ก็มีมาตรการกำหนดว่า ต้องให้มีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 โดยวิธี RT-PCR ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ และแม้จะไม่ได้บังคับให้ต้องกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ แต่ก็บังคับให้กักกันในที่พำนักของบุคคลดังกล่าวภายใต้การดูแลของหน่วยงานต้นสังกัดไม่น้อยกว่า 14 วัน

ดังนั้น กรณีที่ครอบครัวของทูตเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด และยังได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ในลักษณะเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ จึงเป็นความหละหลวมของหน่วยงานของรัฐไทย ที่ไม่ได้บังคับใช้คำสั่ง ศบค. ที่ 7/2563 อย่างเข้มงวด

กรณีทหารอียิปต์ ไม่บังคับตรวจโรค แต่บังคับกักตัวในที่ของรัฐ

ส่วนกรณีของทหารชาวอียิปต์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้แถลงว่า ทหารชาวอียิปต์ที่เดินทางมานั้นเป็นลูกเรือของเครื่องบินทหารซึ่งเป็นการเดินทางเข้ามาตามข้อยกเว้นในคำสั่งของ ศบค. 7/2563 เอง 

ในคำสั่งดังกล่าวข้อ (5) กำหนดมาตรการสำหรับผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจและมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน ซึ่งคำสั่งนี้ยกเว้นให้คนกลุ่มนี้ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด 19 แต่ก็ไม่ได้ยกเว้นให้สามารถเดินทางไปไหนก็ได้ในประเทศ

มาตรการเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยสำหรับคนกลุ่มนี้ตามคำสั่ง ศบค. คือ ให้ใช้ระบบที่สามารถติดตามตัวหรือแอปพลิเคชันเพื่อเฝ้าระวังหรือติดตามอาการระหว่างที่เข้ารับการกักกัน

และให้เข้ารับการกักกัน ณ สถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด หรือ State Quarantine ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางพำนักอยู่ในราชอาณาจักร

ดังนั้น ตามคำสั่ง ศบค. ทหารอียิปต์ที่เดินทางเข้ามาในฐานะลูกเรือของเครื่องบินทหาร จึงต้องถูกกักตัวไว้ในสถานที่ของรัฐ การที่ทหารอียิปต์เดินทางออกไปข้างนอกได้ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จึงเป็นความหละหลวมในการบังคับใช้มาตรการของเจ้าหน้าที่รัฐเอง