รวมเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด 19

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และรัฐบาลได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรค มาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศต้องหยุดชะงักลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้คนต่างก็ต้องหยุดอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

ประชาชนทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ในสภาวะขาดช่องทางทำมาหาได้ ไร้งาน ไร้เงิน ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า และสิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ คือตัวอย่างเรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการดูแลเยียวยาที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล 

 

++++++++++++++++++++++++++

“เรียนจบปริญญาตรีศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นครูสอนภาษาไทยในระบบการศึกษาประมาณปีกว่าแล้วไม่แฮปปี้กับชีวิต ในปี 2554 ตัดสินใจเรียนต่อที่อักษรศาสตร์ เอกวรรณคดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เปิดโรงเรียนสอนเทควันโดเป็นของตัวเอง โดยคิดว่าจะทำเป็นงานอดิเรกเพื่อหาค่าขนม”

“ตอนแรกก็เป็นยิมนักกีฬาเทควันโดแบบทั่วๆ ไป ที่สร้างนักกีฬาส่งแข่งขันซึ่งก็ประสบความสำเร็จส่งนักเรียนได้แชมป์ประเทศไทยในวัยเจ็ดแปดขวบมาคนนึง แต่พอทำได้ปีสองปีก็รู้สึกว่า เด็กน่าจะได้เรียนรู้อะไรมากกว่าเทควันโดอย่างเดียว ระหว่างพาไปซ้อมวิ่ง เด็กจะหันมาพูดว่า “แดดสวยจัง” “ดูใบไม้ร่วงสิ” หรือพากันไปดูเต่าหรือคราบจักจั่น เราเลยอยากเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้พวกเขา”

“นอกจากสอนเทควันโด ก็เพิ่มกิจกรรมพัฒนาเด็กขึ้นเรียกว่า “บทเรียนผจญภัย” ตัวอย่างเช่น กิจกรรมสร้างฝาย กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีทั้งให้ลองเรียนรู้ด้วยตนเองและไปนอกสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์และสวนสาธารณะ เป็นต้น พบว่า เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้นเปลี่ยนจากที่เราเคยนิยามว่า เรียบร้อย เป็นระเบียบ ไปในแง่ซนมากขึ้น สะท้อนว่า เขากำลังเรียนรู้กฎด้วยความเข้าใจ และเด็กจะเลือกหาทางอยู่กับกฎได้หลายแบบด้วยตัวเอง เด็กจะมีพื้นที่แสดงความสามารถออกมาหลายทางมากขึ้น จากเดิมแค่ทางเดียวคือต้องเก่งเทควันโดเท่านั้นถึงถูกยอมรับ ในแง่ธุรกิจช่วงแรกก็ยังไม่กำไรเท่าไหร่นัก กลุ่มเด็กที่อยากเรียนเพื่อเอาแชมป์ก็ทยอยย้ายออกไป ต่อมาก็กำลังจะดีขึ้นเพราะกลุ่มเด็กที่มาสมัครเรียนใหม่ก็เริ่มเป็นกลุ่มที่สนใจทำกิจกรรมด้านนี้มากขึ้น”

“ช่วงปลายปี 2562 ก่อนโควิดจะระบาด ธุรกิจกำลังดำเนินไปด้วยดี มีนักเรียน 70-80 คนต่อเดือน แต่พอช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ข้อมูลจากรัฐบาลเรื่องโควิดไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ เด็กนักเรียนก็เริ่มหายไปเหลือไม่ถึงครึ่ง ตอนนั้นก็จ่ายได้เฉพาะค่าเช่า ไม่ได้ค่าแรงแล้ว แต่เราตัดสินใจปิดโรงเรียนเองก่อนรัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประมาณสองอาทิตย์ ด้วยความไม่มั่นใจสถานการณ์และข้อมูลที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล”

“ถ้ารัฐบาลให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และขั้นตอนรับมือโรคระบาดที่ชัดเจน รัฐบาลสั่งปิดก็ไม่มีปัญหาเพราะเราสามารถจัดการและวางแผนได้ ครั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเรารับมือไม่ทัน เช่น เราลงทุนสั่งทำเสื้อกีฬาไปก่อนหน้านั้นก็ขายไม่ได้ทำให้ต้นทุนจม นอกจากนี้ พอปิดแล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย และการเตรียมการสำหรับของใช้จำเป็น เช่น หน้ากากและแอลกอฮอล์ เพื่อจะเปิดธุรกิจอีกครั้งในสถานการณ์แบบใหม่ ก็มีค่าใช้จ่ายสูง”

“มาตรการของรัฐบาลมองไม่เห็นคนทำธุรกิจขนาดกลางเลย เราไม่ได้รายได้เลยและยังต้องจ่ายค่าเช่าอยู่ ซึ่งปัญหาค่าเช่าน่าจะเป็นปัญหาที่ทุกที่เจอ ก็น่าจะกำหนดมาตรการได้ เช่น ลดค่าเช่า 10-20 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ อีกปัญหานึง คือ การสั่งปิดสถานที่โดยนิยามกว้างๆ เช่น ‘โรงเรียนศิลปะป้องกันตัว (ยิม)’ ซึ่งโรงเรียนเราจะเข้าหรือไม่เข้าเกณฑ์นี้ก็ได้ แต่ประกาศคลุมๆ มาแบบนี้ก็ต้องปิดไป มุมนึง เราเข้าใจกลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายเลยว่า เหตุที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะเจอปัญหามากเกินไป แต่เป็นเพราะรู้สึกโดดเดี่ยว ในสถานการณ์วิกฤติที่ถาโถมเข้ามา รัฐบาลซึ่งควรจะสื่อสารและทำงานกับเรากลับไม่เห็นหัวเราเลย”

“พอปิดโรงเรียน เราก็มาสอนเทควันโดออนไลน์ เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ซึ่งก็ได้นักเรียนแค่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ที่เราตัดสินใจสอนออนไลน์โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพราะเรามองว่าในช่วงโควิดไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ที่มีปัญหา จริงๆ แล้วเด็กก็มีปัญหา ซึ่งรัฐบาลมองข้ามเรื่องนี้ไป ผู้ใหญ่ยังได้ปลดปล่อยบ้าง เช่น การวิดีโอประชุมออนไลน์ แต่ช่วงที่ผ่านมาเป็นปิดเทอมที่ตรงกับโควิดทำให้เด็กไม่มีอิสระและถูกกักขัง อยู่ภายใต้กรอบที่ผู้ใหญ่ในบ้านกำชับพฤติกรรมตลอดเวลา เด็กที่อยู่คนเดียวหรือไม่ได้มีพี่น้องก็จะขาดการเข้าสังคม”

“ถึงตอนนี้ (ปลายเดือนพฤษภาคม) ถ้ารัฐบาลไม่สั่งปิดเราก็เปิดโรงเรียนได้แล้ว เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อนิ่งแล้ว บรรยากาศก็เริ่มดีขึ้น ผู้คนและเด็กๆ ก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าต้องดูแลตัวเองยังไง ซึ่งเราก็ประเมินเองจากสถานการณ์โลกและพร้อมตั้งรับไว้แล้วว่าคงต้องอยู่กับโควิดอีกหลายปี เราก็เตรียมมาตรการสำหรับการเปิดโรงเรียนไว้แล้ว โดยจะตั้งจุดเช็ดเท้าและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนเข้ายิม จุดที่สองให้เปลี่ยนหน้ากากและพ่นฉีดตัวด้วยแอลกอฮอล์ แล้วให้ห่อรองเท้าใส่ถุงเก็บไว้ในที่ของตัวเอง โดยห้องเรียนจะทำฉากกั้นพลาสติกแบ่งเป็นล็อกละสามคูณห้าเมตรให้เด็กนักเรียนแต่ละคนอยู่ในนั้นตลอดเวลาเรียน และมีเจลล้างมือและวางขวดน้ำเป็นของตัวเองอยู่ในล็อกนั้น”

“ข้อเรียกร้องสำหรับรัฐบาลสองเรื่อง หนึ่ง ข้อมูลต้องชัดเจนว่ามีแผนการจะทำอะไรต่อ จะได้เปิดเมื่อไหร่ไม่ใช่ประเด็น แต่กลัวมากกว่าว่า จะปิดอีกเมื่อไหร่ สอง ค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดธุรกิจในสถานการณ์ New Normal ที่เป็นภาระสูงมาก รัฐบาลต้องไปเจรจากับผู้ผลิตสินค้าที่จะจำเป็น เช่น ฉากกั้นพลาสติก เจลแอลกอฮอล์ ท่อพลาสติก ฯลฯ ให้ลดราคาเพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางเข้าถึงได้”

– คณิน สารวานิชพิทักษ์ (ครูเต้)

 

++++++++++++++++++++++++++

“ก่อนโควิดค่อนข้างดี ลูกค้าเยอะ ลูกค้าติด ยอดค่อนข้างเยอะมาเรื่อยๆ สาขาแรกที่ตั้งคือยูเซ็นเตอร์ ส่วนสาขาที่ทำเงินเป็นหลักคือสยามสแควร์วัน ปลายปีที่แล้วยอดขายขึ้นมาตลอด ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มมาเปลี่ยนแปลงในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ปิดเมือง ยอดขายตกไปเยอะ ราว 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นมาตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยอดก็ตกไปเรื่อยๆ ต้องเน้นไปที่ระบบเดลิเวอรี่ ต้องอัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าสั่งกลับไปกินที่บ้านสะดวกที่สุด และต้องทำโฆษณามากขึ้น”

“โชคดีที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว สยามสแควร์วันยังระงับค่าเช่าให้ เก็บแค่ค่าบริการนิดหน่อยและค่าน้ำค่าไฟ ส่วนยูเซ็นเตอร์สามย่านของจุฬาฯ เหมือนจะลดค่าเช่าเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ เดือนมีนาคมยังจ่ายเงินให้พนักงานเต็ม เมษายนยังไม่ดีขึ้นจึงขอลดเงินเดือนพนักงานลงเหลือ 75 เปอร์เซ็นต์ และเข้างานแค่สี่วันจากหกวัน คุยกับเขาว่าตอนนี้ช่วยได้เท่านี้ ยังไม่อยากไล่ใครออก บางคนเงินเดือนลดเขายังอยู่ได้ บางคนต่อให้ไม่ลดก็อยู่ไม่ได้ เดือนที่จ่ายเต็มมีคนขอกลับบ้านเพราะว่าเขาอยู่กับแฟนแล้วมีลูก แฟนโดนหยุดงาน เงินเดือนเขาคนเดียวไม่พอต่อค่าใช้จ่ายของคนสามคน ก็ต้องกลับต่างจังหวัด”

“ที่โหดคือแอปขนส่งอาหารไม่ลดการหักเปอร์เซ็นต์เลย ยังเก็บเท่าเดิม บางที่ 30 บางที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ร้านอาหารส่วนใหญ่น่าจะพยายามประคองให้อยู่ได้ในช่วงโควิด เลยคิดว่าแอปขนส่งอาหารควรจะช่วยลดอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่อาศัยโอกาสทองในการหาเงิน”

“หลังจากรัฐบาลคลายล็อคแล้วยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเลิกกลัว คนกลับมารับประทานที่ร้านได้บ้าง มาตรการเรื่องนั่งในห้องแอร์ เรื่องฉากกั้น เข้าใจได้แต่สิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล คือ การให้นั่งโต๊ะละคนหรือสองคน ทั้งๆ ที่ทุกคนเพิ่งมาจากรถคันเดียวกัน บ้านหลังเดียวกัน บางคนนอนด้วยกันเป็นสามีภรรยากัน ไม่สมเหตุสมผลที่ต้องมาแยกที่นั่งเขา เดี๋ยวกลับไปเขาก็จูงมือกันขึ้นรถอยู่แล้ว ทำให้ร้านรับลูกค้าได้น้อยลง ยอดลดน้อยลง เราก็จับจ่ายได้น้อยลง เลยกระทบกันไปหมดเป็นทอดๆ ก็อยากจะให้ลูกค้าได้นั่งไม่ต้องเยอะอัดมาก แต่ให้สมเหตุสมผล”

“อีกมาตรการที่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล คือ เคอร์ฟิว เราไม่รู้สึกว่า กลางคืนกับการแพร่เชื้อมีความสัมพันธ์กัน การให้คนรีบกลับบ้านกับโรคไม่ได้เกี่ยวกัน การที่เขากลับบ้านดึกไม่ได้แปลว่าเขาต้องไปรวมตัวกัน อย่างพนักงานของเรา ตอนที่เคอร์ฟิวสี่ทุ่ม ก็ต้องย่นระยะเวลาให้ปิดเร็วขึ้นไปอีก เพื่อให้พนักงานเก็บร้าน ปิดยอด กลับบ้านให้ทันเวลา จากที่เราควรจะได้ปิดสามทุ่มเราเลยต้องปิดหนึ่งทุ่มหรือสองทุ่ม ไม่ใช่ว่าลูกค้าหมดจะได้กลับบ้าน ต้องใช้เวลาจัดการร้าน จริงๆ หลังเลิกงานทุกคนควรได้มีเวลาในการไปใช้ชีวิต เดินตลาดนัด ซื้อของ นี่เลิกงานต้องรีบกลับบ้านให้ทันเคอร์ฟิว พนักงานไม่มีเวลาใช้ชีวิตของตัวเอง เจ้าของร้านก็ไม่ได้ใช้ชีวิตของตัวเอง”

“มาตรการจำกัดจำนวนคนโดยการสแกนในแอป ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้เช่าพื้นที่ เช่น สยามสแควร์วันที่มาตรวจว่า มีการให้ลูกค้าสแกนหรือยัง เจ้าหน้าที่รัฐก็มีมาตรวจเรื่อยๆ นโยบายนี้เข้าใจว่าต้องการทำเพื่ออะไร แต่ยังวางระบบได้ไม่ดี เช่น ถ้าสแกนที่หน้าห้างเข้าไปแล้วเมื่อเข้าร้านก็ต้องสแกนอีก เข้าใจได้ว่าเพื่อติดตามว่าใครไปร้านไหนบ้าง แต่ตัวห้างใช้แอร์รวม ถ้ามีคนติด จะรู้ได้ยังไงว่าคนติดจากร้านเรา อาจจะติดจากร้านข้างๆ ก็ได้ คือไม่ได้มีประโยชน์ในกรณีนี้ เลยคิดว่าถ้าสแกนแค่ที่เดียวก็สมเหตุสมผลแล้ว”

“การสื่อสารข้อมูลของหน่วยงานรัฐช้า ควรจะบอกเลยว่าเจ้าของร้านอาหารต้องทำอะไรบ้าง และจะออกประกาศอะไรควรออกล่วงหน้า เพื่อให้มีเวลาเตรียมของ เตรียมพนักงาน เราไม่เข้าใจว่า ยากตรงไหน การจะประกาศออกกฎอะไรต้องบอกล่วงหน้า ไม่ใช่อะไรที่จะมาประชุมกันวันต่อวันได้ จะให้พนักงานกลับมาต่างจังหวัดในวันพรุ่งนี้ เป็นไปไม่ได้ ไหนจะไม่มีรถบัส ไหนจะต้องกักตัว ในบางกรณีต้องติดตามประกาศและหาข้อมูลเอง การสื่อสารถึงผู้ประกอบการที่ไม่มีการเตรียมพร้อม ทำให้เราทำงานยาก ไม่ใช่แค่เรา แต่รวมถึงพนักงานอีกกี่ชีวิตด้วย”

“ถ้ายกเลิกเคอร์ฟิว ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะทำให้คนรู้สึกกลับมาปกติได้ ต้องนึกถึงคนที่ทำงานอย่างอื่นตอนกลางคืนด้วย ยังมีร้านอาหารที่เปิดตอนกลางคืน พนักงานรักษาความปลอดภัย หาบเร่แผงลอย คนขายดอกไม้ปากคลองตลาด เขาจะใช้ชีวิตยังไง จะคิดง่ายๆ ว่าไม่ต้องออกมาตอนกลางคืนจะได้จบไม่ได้ ยังมีอาชีพอื่นๆ ที่สุจริตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่”

“เราบอกเลยว่าไม่เห็นอนาคตว่ารัฐบาลจะช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้ ตอนนี้อนาคตของเราฝากไว้ที่ว่าเมื่อไหร่คนจะเลิกกลัวแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตปกติกันเอง”

– ภูวณัฏฐ์ แท่นวัฒนกุล (ภู) ผู้ประกอบการร้านอาหาร “เหลือใจ” และร้าน “หุนหวย”

 

++++++++++++++++++++++++++

“เรียนจบคณะครุศาสตร์ สาขาดนตรีสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อปี 2559 พอจบมาสักพักก็ได้ทำงานที่ KPN ในโครงการที่ส่งครูเข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนให้ทำวงดนตรีสากล หลังจากนั้นก็ไปทำร้านกาแฟอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ก็ต้องทำอย่างอื่นไปด้วย เลยไปเป็นครูสอนพิเศษกีต้าร์กับเปียโน แล้วก็ไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่ตลาด พอมีงานดนตรีก็ไปเล่นเป็นวง แล้วก็มีไปเล่นโฟล์คแบบเดี่ยวตามร้านอาหาร แล้วก็มาขี่แกรบด้วย รายได้หลักๆ ของผมมาจากการสอนพิเศษประมาณ 5,000 – 6,000 ส่วนเปิดหมวกได้วันละประมาณ 300 วิ่งแกรบได้ประมาณวันละ 500 บาท”

“ตั้งแต่โควิดเริ่มมาก็เปิดหมวกไม่ได้เลยจนถึงทุกวันนี้ เพราะมันมีความเสี่ยง เราต้องยืนอยู่แล้วมีคนเดินผ่านไปมาแล้วเอาเงินเอาเหรียญให้เรา เมื่อเริ่มมองเห็นแล้วว่าจะไม่มีรายได้ก็เลยปิดร้านกาแฟแล้วเอาเงินค่าประกันที่เช่าร้านคืนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายไปก่อน ช่วงแรกๆ ยังเหลือรายได้จากการวิ่งแกรบกับสอนพิเศษ พอรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วมีข้อห้าม โรงเรียนก็ปิดเลย รายได้จากแกรบที่เคยได้ก็หายไปเพราะคนไม่มีเงิน ก็ไม่กล้าจะซื้อเหมือนกัน ต่อมามีประกาศเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่ ก็กระทบคนขับแกรบเลย รอบวิ่งแต่ละวันได้น้อยลง ก่อนหน้านี้เห็นเพื่อนที่วิ่งแบบทั้งวันทั้งคืนก็ทำไม่ได้แล้ว”

“การลงทะเบียน (รับเงินเยียวยา) ค่อนข้างยุ่ง เพราะผมต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมหลายครั้ง ผมเข้าระบบได้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ระบบยังไม่ล่ม แล้วมันก็ล่ม ผมก็พยายามเข้าไปใหม่อยู่อีกสามสี่ครั้งจนลงทะเบียนได้ มันมีความล่าช้ามาก ผ่านไป 1-2 อาทิตย์ก็ให้ผมส่งข้อมูล ต้องทำใหม่ 3-4 รอบ มันก็ไม่ได้บอกว่าที่ส่งไปแล้วโอเค เราก็เลยส่งซ้ำ พยายามติดตามข่าวเรื่อยๆ ว่าแบบไหนจะได้หรือไม่ได้ จนถึงช่วงปลายเดือนเมษายนก็ได้มา 5,000 บาท ผมยังไม่รู้เลยว่าที่ได้มาเรียกว่าก้อนแรกหรือก้อนที่สอง เพราะบางคนได้ตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว และก็ไม่รู้ว่าเราจะได้อีกไหม”

“ก่อนโควิดมาผมวิ่งแกรบได้วันละ 15-20 งาน บางวันได้ 500-700 ช่วงแรกๆ ที่ปิดล็อกบางวันได้แค่ 4-5 งาน บางวันได้ร้อยเดียว คนไม่มีงานทำก็มาวิ่งแกรบกันมากขึ้น พอกระจายกันแล้วคนขี่แต่ละคนก็เลยได้งานน้อยลง พอเริ่มมีปลดล็อกบ้าง รายได้จาการวิ่งแกรบก็เพิ่มขึ้นบ้าง พอเริ่มนั่งกินที่ร้านได้ คนไปทำงานได้มากขึ้นและกลับมามีรายได้ กลายเป็นคนก็สั่งแกรบมากขึ้น”

“ตอนนี้เหลือการวิ่งแกรบอย่างเดียว มันก็เหนื่อยเท่าๆ เดิม แต่เงินที่เราได้น้อยลง มันพออยู่ได้แต่อยู่แบบไม่มีความสุข งานแกรบมันมีค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงรถที่เพิ่มขึ้น ถ้าเราได้เล่นงานดนตรีเราจะได้เงินก้อนมาเป็นของเราเลย พอรู้ว่า ถ้าเล่นหนึ่งชั่วโมงจะได้เท่าไรแน่ๆ ไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์ แต่การวิ่งแกรบเราไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งๆ จะได้กี่บาท”

“เจ้าของโรงเรียนดนตรีของผมตอนนี้ก็ประสบปัญหาหนัก เพราะค่าเช่าก็ไม่ได้พัก มีความพยายามเปลี่ยนระบบไปสอนออนไลน์ แต่ค่าคอร์สมันถูกลง เมื่อก่อนมาเรียนที่โรงเรียนคิดค่าคอร์สได้ 1,800 แต่พอทำออนไลน์คิดได้แค่ 400 บาท มันก็ต่างกันมากๆ งานเล่นดนตรีที่โรงแรมก็หายหมดเพราะโรงแรมปิดไปเลย ได้ข่าวว่าเขาต้องไปทำธุรกิจอาหารเพิ่มด้วย ส่วนนักร้องเก่าของวงผมก็ไม่มีงานทำเลย อยู่บ้านใช้เงินของที่บ้านมั้ง”

“ก็อยากให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้แหละครับ มาตรการป้องกันของทางโรงเรียนก็ต้องมีอยู่แล้ว ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ แล้วก็ทำความสะอาดโรงเรียน ที่ผ่านมาเห็นใช้มาตรการเคอร์ฟิวไม่ให้ออกจากบ้าน แต่พอกลางวันเห็นคนก็ไม่ได้ระวังเข้มมาก หรือจะเรียกว่าการ์ดตกก็ได้ ถ้าจะปล่อยให้คนทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงเต็มวัน มันก็ไม่น่าจะต่างกันเท่าไรนะ เห็นมีข่าวด้วยว่า จะให้เปิดร้านอาหารกลางคืนได้ แต่ไม่ให้มีดนตรีสด ก็คงเปิดให้เด็กเสิร์ฟมีงานทำแต่ไม่ให้นักดนตรีด้วย ถ้าจะไม่ให้ร้านอาหารเหล่านี้กลับมาก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือนักดนตรีจริงๆ จังๆ กว่านี้ด้วย เช่น การพักจ่ายหนี้”

– ชัชวาล สอนริน (บิ๊ก)

 

++++++++++++++++++++++++++

“ก่อนโควิด ทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารอยู่ในห้าง ที่กรุงเทพฯ พักอยู่ห้องเช่าแถวบางนา เริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 คือตั้งแต่ทาง กทม.มีคำสั่งให้ปิดห้าง ทางร้านก็ต้องหยุด ซึ่งปกติได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือน ได้รับเงินเดือนงวดวันที่ 20 มีนาคมเป็นงวดสุดท้ายแล้วร้านก็เริ่มปิดวันที่ 23 มีนาคม ปกติค่าแรงที่ได้อยู่ก็เกินค่าแรงขั้นต่ำนิดหน่อย พอไม่ได้ไปทำงานแล้วตอนนี้ก็เลยได้เงินจากแฟน เพราะแฟนทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ในสถานที่ราชการ”

“ผลกระทบโดยตรงตอนนี้เลยคือ ค้างค่าห้องมาสองเดือนแล้ว พอไม่จ่ายค่าห้องก็ต้องออก ไปอาศัยอยู่กับแฟน ก็หวังว่าถ้าร้านกลับมาเปิด ก็จะมีรายได้กลับมาอยู่ห้องเช่าเดิมได้อีก ตอนนี้ห้างกลับมาเปิดแล้วแต่สาขาที่ผมทำยังไม่เปิด ก็เท่ากับว่าทำงานได้เป็นบางคน”

“ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นขอรับเงินจากทางประกันสังคม กรณีว่างงานชั่วคราว ก็ได้เงินมางวดแรก 3,900 บาท แต่งวดสองยังไม่ได้ ผมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ก็เลยไม่เข้าเกณฑ์ของรัฐที่จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท”

“มีความรู้สึกว่า มาตรการของรัฐมันไม่เป็นธรรม การที่รัฐประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันเอามาใช้กับทุกคนทั่วประเทศ แต่ทำไมการเยียวยาถึงไปไม่ถึงทุกคน สิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลมากที่สุดในตอนนี้ คือ อยากได้เงินกองทุนชราภาพของประกันสังคม แบ่งออกมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เชื่อว่ารัฐต้องมีมาตรการอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำ”

“พอร้านเปิดแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการต่อไปได้อีกแค่ไหน ส่วนตัวคิดว่าไม่น่ารอดเพราะโควิดด้วย เศรษฐกิจด้วย ผมก็ต้องวางแผนทางอื่นเตรียมไว้ ถ้าจะไปสมัครงานที่ไหนอีกก็คงไม่ได้ เพราะอายุมากแล้ว ก็เลยอยากจะได้เงินก้อนตรงนี้เพื่อเอาไปต่อยอดอย่างอื่น”

ลุงชุบ อายุ 48 ปี
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม #ขอคืนไม่ใช่ขอทาน เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายประกันสังคม 

 

++++++++++++++++++++++++++

“ทำงานเป็นพนักงานขับรถโดยสาร อยู่ที่รังสิต วิ่งรถจากห้างฟิวเจอร์ปาร์ค ไปมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์”

“ตอนมีโควิดช่วงที่รัฐบาลสั่งให้ปิดมหาลัย ปิดห้างสรรพสินค้า บริษัทก็ยังไม่หยุด ให้วิ่งรถอยู่ ตอนนั้นเราก็วิ่งรถเปล่า พอวิ่งรถเปล่า บริษัทก็ขาดทุน เราก็ไม่มีรายได้ เพราะเราขับรถ ได้เงินรายวัน เป็นรอบๆ เราก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย หยุดงานมาแล้วสองเดือน”

“พอรถหยุดวิ่ง ก็ไม่รู้จะไปทำไร ไม่มีรายได้เลยมาสองเดือนแล้ว ความเจ็บปวดของเรามันอยู่ตรงที่พออยู่ในระบบประกันสังคม เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ก็เลยไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือจากที่ไหนเลย เทศบาลมาแจกข้าวสาร แจกของ เราก็ไม่ได้ มาตรฐานของราชการตั้งแต่บนลงล่างเหมือนกันหมด พอเข้าข่ายประกันสังคม คือ เป็นข้อยกเว้น จะไม่ได้อะไรเลย”

“รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมาก บ้านข้างๆกัน เขาได้คนละห้าพัน มีสี่ห้าคน เป็นพ่อค้า เราจนกว่าเขามาก แต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐกลับเว้นที่บ้านเรา ทุกวันนี้อยู่โดยขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกินไปเรื่อยๆ เพื่อประทังชีวิต บ้านก็จะโดนฟ้อง ไม่ได้จ่ายค่าผ่อน รถก็จะโดนยึด ตอนนี้ไม่มีเงินถึงขั้นต้องไปขอรับบริจาคเขา ไปขอข้าวสาร ที่ไหนเค้ามีแจกของเราก็ไป”

“พอรัฐประกาศว่า ห้ามนายจ้างปิดงาน ห้ามลูกจ้างประท้วง บริษัทก็ตามกลับมาให้ทำงาน แต่ว่าทำไปก็ไม่ได้ค่าแรงเท่าเดิม ทุกวันนี้ได้เงินไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ”

“ไปที่ประกันสังคมขอค่าชดเชยหยุดงาน ก็ไม่ได้ ทางประกันสังคมเขาก็ไม่ทำอะไร บอกให้ไปเรียกร้องเอากับนายจ้างเอง แต่เราก็รู้อยู่ว่า บริษัทตอนนี้ก็ขาดทุนทุกวัน สุดท้ายกลายเป็นว่าเราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใครเลยสักบาทเดียว มองถึงมาตรฐานความช่วยเหลือ คนที่พอมีฐานะอยู่แล้วก็ได้แล้วได้อีก แต่คนที่จนจริงๆ กลับไม่ได้อะไรเลยเพียงแค่เพราะอยู่ในระบบประกันสังคม แต่ถามว่าประกันสังคมให้อะไรเรา เราไม่ได้อะไรเลย”

“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลอย่าลืมพวกเรา ในฐานะที่เป็นผู้ประกันตามมาตรา 33 และในฐานะที่เป็นคนไทยอีกคนหนึ่ง”

นนทกร สมานจิตร พนักงานขับรถโดยสาร
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม #ขอคืนไม่ใช่ขอทาน เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายประกันสังคม 

///////////////