พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับต้นทุนที่ประชาชนต้องแบก

นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อรับมือกับโรคโควิด 19 พบว่า สถานการณ์การระบาดในวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่น้อยลงเหลือเพียงหลักหน่วย และมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพียงหลักร้อย แต่ทว่าต้องแลกมาด้วยผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล

ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงสองครั้ง แต่กลับไม่มีรายงานความคืบหน้าเรื่องความพร้อมของการตรวจหาผู้ติดเชื้อ หรือการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันโรค ทั้งที่เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้โดยไม่เสี่ยงต่อโรคระบาด อีกทั้ง การคงมาตรการที่รุนแรงยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง

 

“ยาแรง” กับราคา(ภาษี)ที่ต้องจ่ายถึง “หนึ่งล้านล้านบาท” 

นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดอย่างน้อยสี่ฉบับ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการระบาดของโรค โดยมีสาระสำคัญ คือ การปิดสถานที่ต่างๆ การปิดช่องทางเข้าประเทศ การห้ามกักตุนสินค้า การห้ามชุมนุม การควบคุมการเสนอข่าว และการห้ามออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว)

ภายใต้มาตรการป้องกันที่รุนแรงทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกสั่งหยุดชะงัก ทำให้บรรดาผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ขาดรายได้ ผู้ประกอบการบางรายปิดตัวชั่วคราว และบางคนก็เลือกที่จะปิดกิจการถาวรเพราะไม่สามารถแบกต้นทุนกับรายจ่ายที่ไหลออกไม่หยุดในขณะที่ไม่มีรายได้เข้ามา และผลของปัญหาดังกล่าวก็ลุกลามไปถึงบรรดาลูกจ้าง พนักงาน หรือแรงงานไม่ว่าทั้งในระบบหรือนอกระบบที่จะต้องหยุดงานชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด

เมื่อเกิดผลกระทบตามมา รัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการเพื่อเยียวยาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือแรงงานในระบบด้วยการปรับเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยของประกันสังคมให้ครอบคลุมสถานการณ์โควิด หรือการตั้งโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบคนละห้าพันบาท หรือการออกมาตรการเงินกู้ให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกอบการ หรือการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคต่างๆ แต่ทว่ามาตรการเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหาว่าเยียวยาไม่ทั่วถึงและล่าช้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่าย ปี 2563 มาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ประกอบกับรัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อขอเงินงบประมาณของปีถัดไปมาใช้ได้ทัน ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. เพื่ออนุมัติเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและอื่นๆ โดยในวงเงินนี้แบ่งเป็นเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาด และช่วยเหลือเยียวยาประชาชน รวมถึงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งนี่คือราคาที่มาจากภาษีในอนาคตของประชาชน

 

เมื่อมาตรการ “ควบคุมโรค” กลายเป็น “ปิดปากประชาชน” 

หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 โดยมีข้อ 5 กำหนดว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด”  

แม้ว่าเป้าหมายของการออกข้อกำหนดดังกล่าวควรจะเป็นไปเพื่อป้องกันการรวมกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรค แต่ทว่า ข้อกำหนดดังกล่าวได้นำไปสู่การจำกัดหรือขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มอย่างไม่มีขอบเขตโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นหรือบริบทสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น การขู่ฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยึดอาหารจากผู้ที่นำอาหารมาแจกจ่ายให้กับคนที่ขาดรายได้หลังการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ โดยอ้างเหตุผลว่า การกระทำดังกล่าวทำให้คนมารวมตัวกัน

หรือการจับกุมกลุ่มบุคคลเร่ร่อน หรือคนไร้บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่สองคน โดยคนแรกถูกจับกุมขณะเดินทางกลับไปที่นอนของตัวเอง แต่ไม่ทราบเวลาว่าเกิน 4 ทุ่มแล้ว ส่วนอีกกรณีได้เดินออกมาหาที่ปัสสาวะริมคลอง แต่รถของเจ้าหน้าที่ขับผ่านจึงถูกจับกุม รวมไปถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขู่ฟ้องนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เตรียมเข้ายื่นหนังสือพิจารณาเรื่องการลดค่าเทอมต่อสมาชิกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังพบกรณีที่มีการจำกัดหรือขัดขวางเสรีภาพในการรวมกลุ่มอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาทิ ตำรวจ สภ.ม่วงงามไม่อนุญาตให้จัดชุมนุมคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม โดยอ้างว่าตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ให้จัดชุมนุม หรือกรณีตำรวจ สภ.หัวทะเลเชิญตัวชาวบ้านที่เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ไปสถานีตำรวจหลังร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ‘ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง’ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอและหยุดกระบวนการพิจารณาในการอนุมัติ/อนุญาต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในการสำรวจและการทำเหมืองแร่

 

การคงมาตรการรุนแรงต้องควบคู่กับความโปร่งใส

หากพิจารณาจากสถิติผู้ติดเชื้อจากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 จะพบว่า มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ไม่เกิน 10 จังหวัด และยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้เปลี่ยนจากหลักร้อยเหลือเพียงหลักหน่วย และยอดผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่เกินหลักร้อย ดังนั้น การคงมาตรการปิดเมือง ปิดสถานที่ การคงมาตรการเคอร์ฟิวไว้ทั่วประเทศจึงอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องแบกเอาไว้

อีกทั้งถ้าย้อนดูจากมาตรการสำคัญตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่ จะพบว่า รัฐสามารถใช้อำนาจและกลไกปกติตามกฎหมายต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการในการปิดสถานที่ อำนาจในการแยกคนเพื่อกักตัว เป็นต้น ซึ่งการใช้กฎหมายอื่นๆ ทดแทนยังมีข้อดีที่อำนาจไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางที่ทำให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่สอดคล้องกับความจำเพาะของแต่ละพื้นที่

ดังนั้น การที่รัฐบาลจะคงมาตรการที่รุนแรงเอาไว้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องตอบคำถามสำคัญเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้อำนาจ อาทิ ความพร้อมหรือศักยภาพในการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ หรือความพร้อมในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคให้กับประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยควบคุมโรคโดยที่ประชาชนไม่ต้องแบกต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจจนเกินจำเป็น 

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม