‘New Normal’ ทางกฎหมายแบบผิดๆ ผลพวงจากเวลา “6 ปี คสช.”

นับเป็นเวลาหกปีเต็มแล้วตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจการปกครอง ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ใต้การปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารนานกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารที่ไม่เน้นการใช้กำลังอาวุธ หรือ “รถถัง” เพื่อควบคุมอำนาจ แต่ใช้อำนาจในมือกับเล่ห์กลเข้ายึดกุม “กฎหมาย” เพื่อปกครองทุกอย่างให้ได้ตามที่ใจต้องการ เรียกได้ว่า เป็นการรัฐประหารที่สำเร็จ และการควบคุมอำนาจที่สำเร็จโดยการ “อ้างอิงกฎหมาย” ตลอดเส้นทาง

ภายใต้ยุคสมัยของ คสช. นี้ “กฎหมาย” ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือสนองตอบอำนาจของ คสช. และกลายเป็น “อาวุธ” ที่ คสช. ใช้เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองพร้อมกับทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทั้งการออกกฎหมายด้วยตัวเอง ประกาศใช้เอง ตีความบังคับใช้เอง รวมถึงการใช้ศาลทหาร หรือองค์กรอิสระที่เลือกมาเองเป็นผู้ชี้ขาด และเมื่อพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเวลาหลายปี ประชาชนก็เริ่ม “คาดหมายได้” ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้เพียงก้มหน้าก้มตาทำงานตาม “กฎหมาย” เหล่านั้นต่อไป ความเคยชินกับการใช้อำนาจแบบผิดๆ ที่ไม่ควรเกิดก็เริ่มจะเกิดขึ้นผ่านกาลเวลา

และเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของรัฐบาลที่ “พยายามจะมาจากการเลือกตั้ง” หรือ คสช.2 ก็พบว่า แนวทางการใช้กฎหมายแบบผิดๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการทหารไม่ได้ถูกลบล้าง แต่ยังคงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบกฎหมาย การกำกับการใช้อำนาจรัฐ และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

เป็นหน้าที่อันยากลำบากของประชาชนที่ต้องช่วยกันตอกย้ำอยู่เสมอว่า ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ก่อนที่จะเคยชินและปล่อยให้กลายเป็น ‘New Normal’ ของสังคมไทย

 

สั่งทุกคนโดยคนเดียว

การออกกฎหมายที่ผูกพันกับ “อำนาจ” ไม่ได้ผูกพันกับเหตุผล

ทันทีที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ ก็อ้างความเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” หรือผู้มีอำนาจสูงสุดออกประกาศและคำสั่งจำนวนมากมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 การห้ามชุมนุมทางการเมือง การห้ามออกนอกเคหสถาน การควบคุมสื่อมวลชน การสั่งให้บุคคลไปรายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนด ฯลฯ จนกระทั่งต่อมาก็ออกรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 เขียนรูปแบบและวิธีการปกครองประเทศขึ้นใช้เองโดยสมบูรณ์แบบ

ตลอดระยะเวลาห้าปีเต็มของ คสช. ออกประกาศและคำสั่งด้วยการอ้างว่า อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของตัวเองรวมแล้ว 250 ฉบับ ซึ่งแยกเป็นประกาศ คสช. 132 ฉบับ คำสั่ง คสช. 213 ฉบับ และด้วย “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนขึ้นเอง ก็ให้อำนาจกับ คสช. ออกคำสั่ง “อะไรก็ได้” อำนาจเบ็ดเสร็จนี้จึงถูกใช้เป็นฐานออกเป็น คำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 211 ฉบับ ซึ่งมีทั้งการแก้ไขกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หรือการสั่งโยกย้ายข้าราชการซึ่งเป็นระดับคำสั่งนายกรัฐมนตรี

รวมแล้วมีประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. 556 ฉบับ ที่ออกมาโดยลำพังการตัดสินใจของ คสช. เท่านั้น ไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ผ่านการคิดให้รอบคอบหรือมีระบบการพิจารณาออกกฎหมายโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่อาจจะได้และอาจจะเสียไปอย่างถี่ถ้วน เห็นได้จากการที่เมื่อบังคับใช้ไปแล้ว คสช. ต้องย้อนกลับมาแก้ไขเนื้อหาในประกาศและคำสั่งของตัวเองอีก 24 ครั้ง และแก้ไขคำผิดไปอีก 9 ครั้ง

นอกจากนี้ ในยุคสมัยของรัฐบาลเผด็จการทหาร ยังแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมา 250 คน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาออกกฎหมายพระราชบัญญัติ และเป็นสภาที่ทำงานอย่างรวดเร็วออกกฎหมายไปรวมแล้ว 444 ฉบับ โดยเฉพาะในช่วง “โค้งสุดท้าย” ก่อนการเลือกตั้ง ในช่วงต้นปี 2562 ที่ สนช. ทำงานเพียงแค่สองเดือนกว่าๆ แต่ผ่านกฎหมายไปได้ 99 ฉบับ หลายฉบับผ่านท่ามกลางเสียงคัดค้านหรือข้อกังวลที่ยังค้างคากันต่อเนื่องมา 

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แม้จะไม่มีอำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” และไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในฐานะของ คสช. แล้วก็ตาม แต่รัฐบาล คสช.2 ก็ยังคงเคยชินกับการออกกฎหมายได้ตามใจอยู่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกมาจากพรรคฝ่ายค้าน ที่คอยอภิปรายคัดค้านหรือลงมติสวนทางอยู่เสมอ คสช.2 ก็จึงเลือกที่จะเอาเครื่องมือทางกฎหมายที่เป็น “ทางลัด” มาใช้ กล่าวคือ เมื่อต้องการออกกฎหมายในเรื่องใดก็ใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีออกเป็น “พระราชกำหนด” และประกาศใช้ไปก่อน แล้วค่อยนำเข้าสู่สภาภายหลัง โดยไม่ต้องคำนึงว่า เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทำเช่นนี้แล้วสองครั้ง คือ การออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ.2562 และ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ยุคสมัยของ คสช. สร้างไว้ คือ เมื่อมี “อำนาจ” การออกกฎหมายอยู่ในมือก็สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้กฎหมายผูกพันกับอำนาจมากกว่าความเป็นธรรมในทางเหตุผลและเป็นอันตรายอย่างยิ่งเมื่ออำนาจตกอยู่ในมือของคนที่ฉ้อฉล การออกกฎหมายที่ดีนอกจากจะต้องผ่าน “แบบพิธี” หรือทำถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว ยังต้องมี “เนื้อหา” ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าการมุ่งเพิ่มประโยชน์ให้กับคนในอำนาจ และยังต้องมาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่จะถูกบังคับใช้ด้วย

 

คนผิดที่ไม่เคยผิด

การยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ทันทีที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ ก็มาพร้อมกับการใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร นอกจากจะให้ฝ่ายทหาร “มีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่” แล้ว ยังมีมาตรา 16 ที่ยกเว้นความรับผิดให้กับฝ่ายทหารแบบเต็มๆ โดยกำหนดว่า “ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร … บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย …”

สองเดือนถัดมาเมื่อ คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 ก็เขียนยกเว้นความรับผิดให้ตัวเองและพวกพ้องแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ในมาตรา 48 ว่า

            “มาตรา 48 บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

และเมื่อ คสช. ลงมือร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ด้วยตัวเองพร้อมกับผลักดันให้ประกาศใช้ออกมาจนสำเร็จ ก็มีมาตรา 279 เขียนยกเว้นความรับผิดให้ตัวเอง ทั้งในอดีตและอนาคตว่า

            “มาตรา 279 บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทําตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศคําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคําสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทําโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
             บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทําที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทํานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย”

ระหว่างทางการใช้อำนาจ คสช. ก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อยห้าฉบับ ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น และจำกัดความรับผิดเอาไว้ด้วย 

คำสั่งหัวหน้า คสช. สามฉบับที่ให้อำนาจกับทหารในการจับกุมดำเนินคดีบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของ คสช. ได้แก่ ฉบับที่ 3/2558, ฉบับที่ 13/2559 และฉบับที่ 5/2560 แม้จะออกมาในเวลาห่างกันแต่ก็เขียนเรื่องการยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ไว้ด้วยเทคนิคเดียวกัน คือ เขียนแบบไม่เห็นชัดเจนตรงไปตรงมา แต่อ้างอิงกับหลักการยกเว้นความรับผิดในมาตรา 16 และ 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ซึ่งเขียนไว้ว่า 

             “มาตรา 17  พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”

นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 ที่จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ก็เขียนให้เจ้าหน้าที่ที่ทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ที่ให้อำนาจ กสทช. เข้ามากำกับเนื้อหาและสั่งปิดสื่อได้กว้างขวางขึ้นก็ยังมีข้อกำหนดยกเว้นความรับผิดทำนองเดียวกัน

วัฒนธรรมการ “ลอยนวลพ้นผิด” ที่ คสช. จะมอบเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของ คสช. นั้นปรากฏตัวชัดเจนในยุคสมัยที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหารเต็มรูปแบบ แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาล คสช.2 แล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ก็ยังคุ้มครองตัว คสช. รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่ยังเหลือบังคับใช้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ ได้ตลอด และเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทางรัฐบาลมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ อยู่ในมือเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ก็ยังเลือกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศให้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครอบคลุมกฎหมายอื่นๆ ไปด้วย เป็นการขยายอำนาจยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 17 ให้กว้างขวางออกไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน และไม่มีท่าทีว่าอยากยกเลิกอำนาจนี้ง่ายๆ

 

‘องค์กรอิสระที่คุมได้’

การครอบงำองค์กรตรวจสอบ จนหวังพึ่งพาไม่ได้

ผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนของระยะเวลาอันยาวนานในยุค คสช. คือ การค่อยๆ ใช้อำนาจพิเศษเข้าครอบงำองค์กรอิสระทั้งหกจนครบถ้วน ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557, คำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับ และสืบทอดต่อมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

วิธีการ คือ มอบหมายอำนาจในการพิจารณาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระให้อยู่ในมือของ สนช. และยังออกคำสั่งตาม “มาตรา 44” เข้าแทรกแซงส่งคนของตัวเองไปอยู่ในคณะกรรมการสรรหา และต่อมากลไกเหล่านี้ก็ถูกส่งผ่านไปยังมือของสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากนี้ ยังมีการใช้อำนาจพิเศษสั่งปลด กกต. รวมถึงการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่สั่ง “เซ็ตซีโร่” ทั้ง กสม. และ กกต. รวมถึงการต่ออายุให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ยาวไปจนถึงหลังการเลือกตั้งอีกด้วย 

ทำให้ในยุคสมัยของ คสช. เราจะไม่เคยเห็นว่า องค์กรอิสระลงมติให้ฝ่ายของ คสช. เสียเปรียบในทางการเมืองเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ข้อกฎหมายชัดเจนเพียงใดก็ตาม ตัวอย่างเช่น

26 ตุลาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำสั่งว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 
27 ธันวาคม 2561 ป.ป.ช. ลงมติกรณีว่า นาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่า มีความผิด 
26 มิถุนายน 2562 กกต. มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา กรณีพรรคพลังประชารัฐจัดกิจกรรมระดมทุนด้วยการขายโต๊ะจีนราคา 3 ล้านบาท และกรณีอื่นๆ เห็นว่า ไม่มีความผิด 
18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ทำให้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและไม่ขาดคุณสมบัติ “ความเป็นนายกรัฐมนตรี” 
ฯลฯ

กลไกขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และช่วยถ่วงดุลในกรณีที่ผู้ที่ถืออำนาจใช้อำนาจในทางที่ผิด ผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้จึงต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ มีที่มาปราศจากการแทรกแซงโดยอำนาจทางการเมือง และโดยหลักการของการเกิดขึ้นองค์กรเหล่านี้ต้องทำงานอยู่ในขั้วตรงข้ามกับผู้ที่ถืออำนาจ

แต่เมื่อ คสช. สามารถยึดครองกระบวนการสรรหาได้แล้ว ทำให้องค์กรเหล่านี้มีที่มาจาก คสช. เอง ความคาดหวังเหล่านี้จึงสูญสิ้นไป และเมื่อเห็นกรณีศึกษาที่องค์กรเหล่านี้ตีความกฎหมายเป็นใจกับฝ่าย คสช. อย่างโจ่งแจ้งครั้งแล้วครั้งเล่า ประชาชนจึงเริ่มหมดความเชื่อถือศรัทธาและเลิกพึ่งพากลไกเหล่านี้ให้ทำงานตามวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ

 

หลากหลายด้วยคนหน้าเดิม

การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง เลือกแต่คนกันเองไปรับตำแหน่ง

ในยุคของ คสช. มีองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ และสมาชิกทั้งหลายมาจากการแต่งตั้งจำนวนมาก โดยการคัดเลือกคนของ คสช. ก็ไม่ได้ปรากฏหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด แต่จากรายชื่อที่ปรากฏออกมาพบว่า มีแต่ “คนหน้าซ้ำ” ที่แต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้ต่างๆ วนเวียนกันไปมา โดยที่บางคนก็เป็นญาติพี่น้องกับคนใน คสช. เอง และปรากฏการณ์นี้ก็ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งครบหกปีของ คสช.

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูกตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) หรือหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมาย ซึ่งสมาชิกทั้ง 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดยตรง สนช. มีสมาชิกทั้งหมด 250 คน เป็นทหารทุกเหล่าทัพรวมกัน 145 คน (58%) ตำรวจ 12 คน (5%) ข้าราชการ 66 คน (26%) ภาคธุรกิจ 19 คน (8%) และอื่นๆ 8 คน (3%) เรียกได้เต็มปากว่า คือ “สภาทหาร” เพราะประกอบไปด้วยผู้นำกองทัพทั้งอดีตและปัจจุบัน 14 คน เป็นทหารบกผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก อย่างน้อย 36 คน เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 13 ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างน้อย 17 คน 

นอกจากนี้ สมาชิก สนช. ยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ อย่างน้อยเจ็ดครอบครัว เช่น พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์, พลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ และพลตํารวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่พลเอกธีรชัย นาควานิช และพลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ อดีต สนช. ที่ลาออกไปปฏิบัติหน้าที่องคมนตรี ก็ยังส่งน้องชายมาเป็น สนช. แทน คือ พลตรีวุฒิชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และพลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ 

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นกลไกที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หลังการปฏิรูปในยุคของรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในปี 2557 และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในปี 2559 เพื่อทำหน้าที่เขียนรายงานและข้อเสนอการปฏิรูปประเทศที่ยังไม่ถูกปฏิบัติรวมแล้วกว่าพันข้อ

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีทั้งหมดอย่างน้อย 10 ด้าน แต่ละด้านประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการไม่เกิน 13 คน ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุด คสช.1 โดยปรากฏว่ามีคนที่เป็นทั้งอดีต สปช. และ สปท. อยู่ถึง 46 คน ที่เคยนั่งในสภาปฏิรูปมาแล้วสองชุดก่อนหน้านี้ และก็ยังได้ไปต่อเพื่อทำหน้าที่เดิมที่เคยทำไปแล้วต่อได้อีกเป็นคำรบที่สาม เช่น พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์, คำนูณ สิทธิสมาน, วันชัย สอนศิริ, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นต้น

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็เป็นกลไกใหม่ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี รวมทั้งติดตามการบังคับใช้ เมื่อนับถึงวันที่แผนยุทธศาสตร์ของ คสช. บังคับใช้ มีกรรมการ 29 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน และเป็นกรรมการที่รัฐบาล คสช. แต่งตั้ง 12 คน ในจำนวนนี้ 8 คน เป็นรัฐมนตรีรัฐบาลใน คสช. เอง, 13 คน เคยถูกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.), 12 คน ร่วมเป็นคณะทำงานโครงการประชารัฐ, 9 คน เป็นสมาชิก สนช. รวมทั้งพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และยังรวมทั้งผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย 

และก่อนที่ คสช. จะหมดไปก็ได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษขึ้นมาอีก 250 คน ที่จะมีวาระการทำงานต่อไปอีก 5 ปี โดยในจำนวนนี้มี “คนหน้าซ้ำ” ที่เคยรับตำแหน่งต่างๆ จากยุค คสช. มาก่อน ถูกแต่งตั้งกลับมาเป็น ส.ว. 157 คน ในจำนวนนี้ 20 คนเคยเป็นสมาชิกของ คสช., 89 คน เคยเป็นสมาชิก สนช., 26 คนเคยเป็นสมาชิก สปช., 35 คน เคยเป็นสมาชิก สปท., 26 คน เคยเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ, 25 คน เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ, 18 คน เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร และ 5 คนเคยถูกแต่งตั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญ 

จาก ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน มีอย่างน้อย 5 คน ที่นั่งทำงานในสภามากกว่า 13 ปีตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 คือ ตวง อันทะไชย, วิทวัส บุญญสถิตย์, สมชาย แสวงการ, สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และอนุศาสน์ สุวรรณมงคล นอกจากนี้ ส.ว. ชุดนี้ก็ยังเต็มไปด้วย “พี่ชายน้องชาย” ของคนที่อยู่ในอำนาจโดยตรง เช่น พล.อ.ปรีชา และ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร เจ้าเก่า ตามมาด้วย พล.อ.ต. นายแพทย์ เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายของรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม, สม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นต้น

หากรัฐบาลใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่แต่งตั้งใครก็ได้ที่ตัวเองพอใจไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องน่ารังเกียจและเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมต้องตรวจสอบและเอาผิด โดยเฉพาะการส่งญาติพี่น้องหรือคู่สมรสไปนั่งในตำแหน่งที่มีหน้าที่ตรวจสอบตนเอง เช่นที่เคยเกิดเป็นวาทกรรม “สภาผัวเมีย” มาแล้วเมื่อการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2549 แต่พฤติกรรมที่ คสช. ทำนั้นหนักหนากว่าเพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการใดๆ ที่เชื่อมโยงกับประชาชน เป็นการเลือกคนไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ตามอำเภอใจโดยตรง แต่เมื่อพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อเนื่องกันทุกครั้งที่มีองค์กรเกิดขึ้นใหม่ ก็เริ่มจะกลายเป็นเรื่องที่ชินชาและเป็นอันตรายต่อระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจในอนาคตการเมืองไทย

 

แยกย้ายกันชุมนุม

การจัดชุมนุมหดหาย เพราะไม่เหลือพื้นที่แสดงออก

ก่อนยุคสมัยของ คสช. ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ๆ ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาต่อด้วยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ภาพจำที่เกิดขึ้นสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ การมีคนจำนวนมากมารวมตัวกันบนท้องถนน ซึ่งสมรภูมิหลักก็คือ ท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนิน สะพานผ่านฟ้า ลานพระบรมรูปทรงม้า ไปจนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลและอาคารรัฐสภา 

แม้ต่อมาผู้ชุมนุมจะเริ่มขยายตัวไปจัดการชุมนุมยังย่านที่มีความสำคัญทางธุรกิจบ้าง เช่น สี่แยกราชประสงค์ สี่แยกอโศก สี่แยกปทุมวัน แต่อย่างไรเสียภาพจำของการแสดงออกทางการเมืองที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาก่อนหน้านี้ก็คือ การมีคนจำนวนมากลงมาเดินคลาคล่ำกันบนท้องถนน

คสช. เริ่มต้นยุคสมัยของตัวเองด้วยการออกประกาศฉบับที่ 7/2557 สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ต่อมาเปลี่ยนเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 แม้ว่าการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ก็มีคำสั่งเช่นนี้ แต่ คสช. แสดงให้เห็นว่า ในยุคนี้ “ห้ามจริงจับจริง” และใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้ทั้ง “ไม้อ่อน” เช่น การเจรจา การเข้าหาคนในครอบครัว การเชิญไปพูดคุยในห้องประชุมแทน และ “ไม้แข็ง” เช่น การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี การปิดล้อมห้ามเข้าสถานที่ รวมทั้งการใช้กำลังเข้าจับกุมหรือสลายการชุมนุม ทำให้การชุมนุมบนท้องถนนเป็นเรื่องต้องห้ามเด็ดขาดภายใต้รัฐบาลทหาร โดยบันทึกข้อมูลได้ว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีฐาน “ชุมนุมเกินห้าคน” อย่างน้อย 421 คน แยกเป็น 51 คดี บางคนถูกตั้งข้อหาซ้ำกันหลายคดี 

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2558 สนช. ก็ผ่าน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ออกมาบังคับใช้ และใช้ควบคู่ทับซ้อนกันไปกับคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองจนสร้างความสับสน ต่อมาเมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก็กลายเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ควบคุมการชุมนุมต่อเนื่องมา

เครื่องมือสำคัญของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ คือ ข้อห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง ตามมาตรา 7 ซึ่งตำรวจตีความขยายกว้างออกเป็นการห้ามชุมนุมใน “เขตพระราชฐาน” ทั่วประเทศ และเนื่องจากกฎหมายนี้สั่งให้ต้อง “แจ้ง” การชุมนุมล่วงหน้าทุกครั้ง ตำรวจจึงสามารถหยิบข้ออ้างตามมาตรา 7 ขึ้นมาใช้ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยตีความว่า บริเวณสนามหลวง ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอกไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า อาคารรัฐสภาเก่า ถนนสุโขทัย เป็นเขตที่ต้องห้ามชุมนุมทั้งหมด ข้อห้ามนี้ยังถูกใช้กับบริเวณสี่แยกปทุมวันที่อยู่ใกล้กับวังสระปทุมด้วย 

นอกจากนี้ข้ออ้างว่า “กีดขวางการจราจร” “รบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานราชการ” “รบกวนผู้ใช้ทางสาธารณะ” ฯลฯ ยังถูกยกมาเพื่อใช้สั่ง “ห้าม” การชุมนุม แม้ว่าหลายกรณีข้ออ้างเหล่านี้จะไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็มีผลทำให้การจัดการชุมนุมเกิดขึ้นได้ยาก 

ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่ชุมนุม ผู้จัดกิจกรรมจำนวนหนึ่งจึงทดลองใช้สถานที่อื่นๆ เช่น หน้าแมคโดนัลด์สี่แยกราชประสงค์ สกายวอล์กอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สกายวอล์กช่องนนทรี ฯลฯ แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคเพราะพื้นที่ทางกายภาพในเมืองหลวงแทบไม่มีสถานที่ที่เป็นลานกว้างๆ ให้จัดการชุมนุมได้โดยสะดวกเลย ไม่ว่าจะออกแบบการใช้สถานที่บริเวณใดก็ต้องรบกวนการใช้ถนนและชีวิตของผู้อื่นอยู่บ้าง เป็นเหตุให้ตำรวจหาข้ออ้างมาห้ามได้เสมอๆ 

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคสมัยของรัฐบาลทหาร แต่หลังการเลือกตั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะก็กลายมาเป็นเครื่องมือหลักที่ตำรวจใช้อ้างเพื่อสั่งห้ามการชุมนุม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบันทึกข้อมูลได้ว่า มีคนถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายนี้อย่างน้อย 276 คน ซึ่งอย่างน้อย 28 คนถูกตั้งข้อหาภายใต้รัฐบาล “คสช.2” นอกจากนี้กฎหมายอื่นๆ ยังถูกยกมาใช้เพื่อสร้างภาระให้กับผู้จัดการชุมนุมด้วย เช่น พ.ร.บ.ความสะอาดฯ พ.ร.บ.จราจรทางบก รวมไปถึงข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216

ผู้ชุมนุมที่ต้องการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกให้สำเร็จลุล่วงในแต่ละครั้ง ต้องพยายามออกแบบกิจกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและหาสถานที่กับรูปแบบการแสดงออกใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ โดยตำรวจจะเข้ามากดดันไม่ให้มีการเดินขบวนในที่ที่มีคนเยอะ ไม่ให้ปักหลักเป็นเวลานาน และไม่ให้ค้างคืน กิจกรรมที่พอจะปรากฏออกมาได้ คือ การรวมตัวกันในจำนวนไม่มากเป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อแสดงออกเสร็จแล้วแยกย้ายกันกลับ โดยการออกแบบให้หลีกเลี่ยงข้อห้ามต่างๆ อย่างรัดกุมที่สุด

เมื่ออำนาจเช่นนี้ถูกใช้นานๆ เข้า ก็เกิดเป็นบรรยากาศบ้านเมืองที่ “เคยชิน” กับการไม่มีการชุมนุมบนท้องถนน และเกิดวัฒนธรรมใหม่สำหรับผู้จัดการชุมนุมที่ต้อง “ลดความต้องการ” ทั้งรูปแบบกิจกรรมและจำนวนคนเข้าร่วม เป็นเหตุให้ภาพการชุมนุมขนาดใหญ่ที่ผู้คนออกมาเดินคลาคล่ำกันบนท้องถนนเกิดขึ้นไม่ได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผู้คนไม่ตื่นตัวทางการเมืองหรือไม่พร้อมจะแสดงออก แต่เพราะปัจจัยทั้งทางกฎหมายและทางกายภาพที่ไม่เอื้อให้เกิดขึ้นได้ 

 

เสวนาที่ไม่ได้พูด

การต้องเซ็นเซอร์ตัวเองในมหาวิทยาลัย กิจกรรมยังจัดได้ยาก

ในยุคสมัยของ คสช. การจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชน เกิดขึ้นได้ยาก เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการหลากหลายในการปิดกั้นและแทรกแซง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งการใช้กำลังทางกายภาพ การข่มขู่ หรือการคุกคาม บางกิจกรรมถูกกดดันด้วยหลายวิธีการ เช่น การกดดันเจ้าของสถานที่ให้สั่งยกเลิกการใช้สถานที่ การโทรศัพท์ไปเจรจาขอให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม การขอให้เปลี่ยนชื่อหัวข้อหรือเปลี่ยนตัววิทยากร รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่มาขัดขวางหรือรบกวนการจัดกิจกรรม

มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานศึกษา ควรจะเป็นสถานที่ที่มีเสรีภาพทางวิชาการสามารถจัดกิจกรรมเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สังคมสนใจแสวงหาความรู้ได้ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ บางแห่งเป็นหน่วยงานราชการ บางแห่งแม้เป็นสถาบันเอกชนแต่ก็ต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐ การจัดกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยจึงเป็นไปได้ยาก และหลายครั้งที่คำสั่งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมออกมาจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเอง

ตัวอย่างเช่น งานเสวนา “จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน: เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย” เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2558 เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาแจ้งว่าไม่ให้จัดงาน เก็บเก้าอี้ และมีการตัดน้ำตัดไฟให้เครื่องเสียงใช้ไม่ได้, งานเสวนา “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แจ้งผู้จัดว่าให้ขออนุญาต คสช. ก่อน แต่ คสช. แจ้งให้ผู้จัดเปลี่ยนหัวข้อ, เวที “สามัคคี (พ.ร.บ.) ชุมนุม” เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ถูกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยกเลิกการจัดเวที, งานสัมมนาวิชาการทางรัฐศาสตร์ “การเมืองไทยคนรุ่นใหม่ควรนิ่งไว้หรือไปต่อ” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามสั่งยกเลิก หลังมีทหารเข้าไปสอบถามรายละเอียด เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไปแม้ยุคที่ คสช. หมดอำนาจไปแล้ว เช่น งานสัปดาห์ประชาธิปไตย 17-19 ธันวาคม 2562 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพาขอให้เก็บป้ายผ้าที่ติดไว้บนตึก ซึ่งเขียนว่า “ประชาธิปไตยจากปลายกระบอกปืน” และ “อย่าทำให้ประชาธิปไตยเป็นแค่อนุสาวรีย์” งานเสวนา “ประชาชนได้อะไร เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ก็ถูกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สั่งยกเลิกการใช้ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์  

ไอลอว์บันทึกสถิติการปิดกั้นการจัดกิจกรรมในยุค คสช. ได้มากกว่า 200 กิจกรรม

พฤติกรรมที่มหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือกับ คสช. ในการเซ็นเซอร์การจัดกิจกรรมภายในรั้วสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนักศึกษาซึ่งเป็นผู้อยู่ภายใต้อำนาจของมหาวิทยาลัยก็ยากที่จะแข็งข้อกับผู้บริหาร ส่วนคนภายนอกที่ไปขอใช้สถานที่ก็ยิ่งอยู่ในสถานะถูกสั่งยกเลิกได้โดยง่าย จนเกิดเป็นวัฒนธรรมของผู้จัดกิจกรรมที่เรียนรู้จะต้อง “เซ็นเซอร์ตัวเอง” เมื่อหวังพึ่งสถานที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อแสดงออก เช่น การตั้งหัวข้อไม่ให้ล่อแหลม การควบคุมผู้เข้าร่วมไม่ให้แสดงออกบางประเด็น รวมถึงหลายครั้งก็เลือกที่จะ “ไม่จัด” กิจกรรมในบางหัวข้อเพราะรู้อยู่แล้วว่ามหาวิทยาลัยไม่สามารถอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้ เช่น การวิจารณ์ตัวนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลในรัฐบาลโดยตรง หรือการพูดคุยเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น

นี่เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่อันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออก และโอกาสของประชาชนในการได้ถกเถียง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่ง คสช. จงใจสร้างให้เกิดขึ้นและให้คงอยู่ต่อเนื่องมายาวนาน

 

คุกคามเพื่อดูแล

การมีทหาร/สันติบาลไปเคาะประตูบ้านได้ทุกเมื่อ

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม คสช. ใช้เครื่องมือสำคัญเพื่อควบคุมสถานการณ์การเมือง คือ การออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์ทุกช่องพร้อมกัน รวมแล้ว 34 ฉบับ เรียกให้บุคคลไปรายงานตัว 476 คน หลังพ้นเดือนแรกไป คสช. เลิกใช้วิธีการออกประกาศเรียกตัวบุคคลทางโทรทัศน์ แต่เปลี่ยนรูปแบบให้เป็นงานของหน่วยทหารในระดับพื้นที่ ซึ่งมีอย่างน้อย 163 คน ที่ถูกเรียกรายงานตัวโดยวิธีการทั้งการส่งจดหมายเชิญ การโทรศัพท์เรียก หรือการไปตามหาตัวยังที่พักอาศัย บางกรณีคนที่ไปรายงานตัวถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วันตามกฎอัยการศึก หรือบางกรณีหลังพูดคุยแล้วก็ปล่อยตัวกลับ รวมแล้วตลอดปี 2557 บันทึกข้อมูลคนถูกเรียกรายงานตัวได้ 666 คน โดยในจำนวนนี้อย่างน้อย 142 ไม่แน่ชัดว่า ได้เข้ารายงานตัวหรือไม่ 

หลังผ่านปีแรกไปแล้ว คสช. ใช้วิธีการออกคำสั่งเรียกแบบโจ่งแจ้งน้อยลง การเรียกตัวมักจะเป็นการออกคำสั่งโดยตำรวจ โดยอ้างอิงอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่รูปแบบที่ คสช. ใช้เป็นประจำแทน คือ การ “ไปหา” มีทั้งการไปหาที่บ้านตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน การไปหาที่ทำงาน การไปหาตามสถานศึกษา ทั้งขณะกำลังเรียนอยู่ หรือการไปหาตามที่ต่างๆ ที่สามารถพบตัวได้ สำหรับกรณีบุคคลมีชื่อเสียงหรือกรณีสำคัญ จะเป็นทหารเดินทางไปในเครื่องแบบโดยอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เช่น เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ทหารและตำรวจไปที่บ้านของณัชพล หรือ “มาร์ค พิทบูล” หรือนักเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ เพื่อเรียกให้ไปสอบสวนต่อในค่ายทหาร

สำหรับรูปแบบส่วนใหญ่เป็นการไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน กระทำโดยตำรวจในท้องที่หรือตำรวจจากกองบังคับการตำรวจสันติบาลที่ไม่แต่งเครื่องแบบ และมักจะเป็นการไปหาโดยไม่ได้มีธุระสำคัญอย่างเป็นทางการ แต่เป็นเพียงการ “แสดงตัว” ของเจ้าหน้าที่พร้อมกับติดตามความเคลื่อนไหว เกือบทั้งหมดเป็นการไปโดยไม่บอกกล่าวหรือนัดหมายล่วงหน้า และเจ้าหน้าที่จะขอถ่ายภาพร่วมกับบุคคลในเป้าหมายเพื่อ “รายงานนาย” ด้วย หากเป็นในช่วงที่มีกิจกรรมสำคัญ เช่น ช่วงที่มีพระราชพิธี หรือกรณีที่หัวหน้า คสช. เดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่ไปที่บ้านของคนที่ “มีประวัติ” และแจ้งตรงๆ ให้งดการเคลื่อนไหว

คนจำนวนหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามไปที่บ้านคือกลุ่มบุคคลที่ถูก คสช. เคยเรียกเข้าค่ายทหารในช่วงหลังการรัฐประหาร หลังปล่อยตัวก็จะกลายเป็น “บุคคลเป้าหมาย” เช่น จิตรา คชเดช อดีตแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และผู้สื่อข่าวประชาไทอย่างทวีพร ที่เคยถูกทหารเรียกไปพูดคุยในค่ายหลังเผยแพร่บทความเกี่ยวกับมาตรา 112 ต่างเคยบอกเล่าประสบการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารไปติดตามที่บ้าน แม้ทั้งสองจะเดินทางไปต่างประเทศก็ปรากฏว่ายังมีเจ้าหน้าที่ทหารแวะไปตามภูมิลำเนาของทั้งสองอยู่เป็นระยะ

กลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นเป้าหมายหลักของการไปหาที่บ้านเช่นกัน เช่น ช่วงปลายปี 2561 เจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของแกนนำคนเสื้อแดงอุดรเพื่อสอบถามเรื่องการครอบครองและการแจกจ่ายปฏิทินที่มีภาพอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นอกจากนั้นก็มีกรณีของอดีตผู้สนับสนุนกลุ่ม กปปส.ที่โพสต์ข้อความทำนองว่าขอคืนนกหวีดให้สุเทพ รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ซึ่งหลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทหารรวมสามนายมาที่บ้านของเขา

ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองเพื่อต่อต้าน คสช. เท่านั้น แต่คนที่เคลื่อนไหวแสดงออกในเรื่องอื่นๆ ก็ตกเป็นเป้าการไปติดตามถึงบ้านอย่างจริงจัง เช่น วันที่ 21 พฤษภาคม 2559 ทหารแต่งชุดลายพราง 2 คน พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปที่บ้านของเสมอ ผู้เข้าร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์, 11 พฤศจิกายน 2560 ทหารควบคุมตัวแกนนำสวนยางจากจังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรังไปเข้าค่ายทหาร หลังเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ, 12 มิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานทั้งทหาร กอ.รมน. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ไปที่บ้านของแสวง แอบเพ็ชร์ ชาวบ้านจังหวัดนครสวรรค์ที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อติดตามว่าจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช. หรือไม่ 

ภายใต้ระยะเวลาหกปีนับตั้งแต่การรัฐประหารโดย คสช. ไอลอว์บันทึกสถิติบุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตัว และถูกติดตามคุกคามถึงบ้านได้อย่างน้อย 1,349 คน และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2563 อย่างน้อย 30 กรณี ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบันทึกข้อมูลผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามถึงบ้านหรือพยายามติดตามผ่านช่องทางต่างๆ ในช่วงเวลาภายใต้รัฐบาลทหาร 592 คน และช่วงเวลาหลังรัฐบาลใหม่ 191 คน แต่เชื่อว่า ตัวเลขนี้ไม่ใกล้เคียงกับความจริงเพราะคนส่วนใหญ่ที่ถูกติดตามไปถึงบ้านเริ่ม “เคยชิน” จนไม่ได้เปิดเผยเรื่องของตัวเอง และไม่ได้แจ้งข่าวสารให้ใครทราบ ในความเป็นจริงน่าจะมีการไปเคาะประตูบ้านของคนที่เคลื่อนไหวแสดงออกมากกว่านี้อีกมาก

ทั้งที่ในทางกฎหมายยังไม่ชัดเจนว่า ทหารและตำรวจใช้อำนาจใดในการปฏิบัติการเช่นนี้ แต่เมื่อพฤติกรรมการใช้อำนาจเช่นนี้ของทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเกิดขึ้นอย่างเป็นประจำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้ที่เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นต้องรับการมาเยือนของเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้งจนเกิดเป็นความเคยชิน และเหนื่อยหน่ายที่จะต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิของตัวเอง จึงเลือกหนทางที่จะต้อนรับ พูดคุย และร่วมถ่ายภาพเพื่อให้เจ้าหน้าที่เดินทางกลับไปและคืนความเป็นส่วนตัวให้โดยเร็วที่สุดเท่านั้น จนกำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่การไปหาตามบ้านได้ทุกเมื่อเช่นนี้กลายเป็นเรื่องปกติ

ทั้งที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ว่าหน่วยใดก็ไม่มีอำนาจทำเช่นนี้ได้ตามกฎหมาย และถือเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน

นโยบายและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เช่นนี้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งแล้ว ตัวอย่างเช่น ระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2562-3 ตุลาคม 2562 มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเดินทางไปที่บ้านหรือโทรศัพท์สอบถามสมาชิกสมัชชาคนจนเก้าคน เกี่ยวกับการเดินทางไปชุมนุม และการสร้างความวิตกกังวลและข่มขู่ถึงผลของการไปชุมนุม, วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 คะติมะ หลีจ๊ะ หญิงชนเผ่าลีซูในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเดินทางมาพบที่บ้าน เพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัว หลังร่วมกันอ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำร้ายร่างกายชาวบ้านลีซูจากความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน, 8 กรกฎาคม 2562 กันต์ แสงทอง นักศึกษาปริญญาโท ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เข้าไปพบที่บ้านย่านตลิ่งชัน โดยให้เหตุผลในการเข้าไปเยี่ยมว่า เพื่อดูแลความปลอดภัยหลังเกิดเหตุการณ์การทำร้ายนักกิจกรรมก่อนหน้านี้  

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์