รับมือโควิดในสวีเดน: ว่ายทวนน้ำด้วยแนวคิด “ภูมิคุ้มกันหมู่”ไม่ปิดเมือง แค่รักษากราฟไปเรื่อยๆ

เรื่องโดย
เกษมสันติ์ เราวิลัย
นักออกแบบผังเมือง Planarkitekt ที่เทศบาลของสวีเดน

 

การต่อสู้กับโควิด-19 ครั้งนี้ ถ้าไม่พูดถึงยุทธศาสตร์ของสวีเดนแล้วก็เหมือนจะขาดอะไรไปบางอย่าง หลายคนมองว่าสวีเดนนั้นมียุทธวิธีที่สุดโต่งมาก สวีเดนกลายเป็นเป้าโจมตีจากหลายๆ ประเทศ สวีเดนกลายเป็นประเทศที่พูดกันหนาหูเรื่องความบ้าบิ่นในการจัดการกับโรคระบาดครั้งนี้ สวีเดนกลายเป็นประเทศตัวอย่างที่ท้าทายกับอำนาจนิยมในสายตาใครบางคน

ก่อนที่เราจะเริ่มไปดูว่า ทำไมสวีเดนถึงมีการรับมือกับโรคระบาดอย่างทุกวันนี้ อยากจะขอเกริ่นประวัติศาสตร์ของสวีเดนแบบย่อๆ ที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ประกอบกัน เพื่อที่จะให้เราเข้าใจว่าทำไม เพราะอะไร คนสวีเดนจำนวนไม่น้อยต่างเห็นพ้องต้องกันกับยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่ตอนนี้
สวีเดนมีโมเดลที่ยึดถือกันมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 ที่ อั๊กเซล โอ๊กเซ่นแคว่น่า (Axel Oxenstierna) ขุนนางในยุคนั้น คิดระบบราชการที่เป็นอิสระจากผู้บริหารประเทศที่ต่อมาพัฒนามาเป็นระบบราชการไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งสวีเดนยึดถือโมเดลนั้นมาจนถึงวันนี้ สวีเดนมีรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อปี 1809 สวีเดนประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองด้วยระบบศักดินา เศรษฐี มีศาสนากดทับสังคมแบบเกษตรกรรม ช่วงปี ค.ศ.1867-1869 เป็นช่วงที่เกิดความอดอยากรุนแรง หนาวเย็นผิดปกติ ร้อนและแห้งแล้งส่งผลให้เกิดอาหารขาดแคลนผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ช่วงระหว่างปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 พลเมืองราวๆ 1 ใน 3 หรือประมาณหนึ่งล้านคนไปตายเอาดาบหน้าที่อเมริกา 

ปี 1919 รัฐบาลออกกฎหมายให้เกิดการเลือกตั้งแบบทั่วไปที่ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมาพรรคแรงงานสังคมนิยมสวีเดนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางประเทศ สวีเดนประกาศตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และที่ 2 เรียกได้ว่า สวีเดนไม่เคยมีสงครามเลยตลอด 200 กว่าปี ระบบรัฐสวัสดิการถูกพัฒนามาตั้งแต่หลังสงครามครั้งที่หนึ่ง เรื่อยมาจนมาถึงปัจจุบัน 

ช่วง 1930 เป็นช่วงที่นักวิชาการและนักวิจัยมีส่วนสำคัญในการนำเสนอนโยบาย กลายเป็นกลไกสำคัญเสมือนหางเสือให้กับนักการเมือง สงครามเย็นทำให้สวีเดนเตรียมพร้อมกับภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสวีเดนเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างทั้งความเชื่อมั่นในการร่วมมือกันระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน




 

ระบบราชการแบบ Axel Oxenstiernas förvaltningsmodell

โมเดลระบบราชการนี้ทำให้สวีเดนกลายเป็นประเทศที่แตกต่างจากชาวบ้าน แม้กระทั่งประเทศในยุโรปด้วยกัน โมเดลนี้เป็นรูปแบบที่ยึดถือมาตั้งแต่ยุค 1950 คือ ระบบที่ราชการเป็นอิสระจากการเมือง ราชการที่อยู่ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายนั้นๆ เป็นผู้ถือหางเสือ ซึ่งในกรณีวิกฤติโคโรน่านี้ กรมสุขภาพของสวีเดนนั้นเป็นผู้วางแผนในการรับมือ และนักการเมือง (รัฐบาลและสภา) จะเป็นผู้สนองด้วยการออกกฎหมาย และการบังคับใช้ พูดกันง่ายๆ ก็คือคำสั่งที่ออกมาจากรัฐบาลนั้นต้องมีการยืนยันด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข เรียกง่ายๆ ว่านักการเมืองไม่ล้ำเส้นการทำงานของระบบราชการ ในกรณีนี้ สังเกตในง่ายๆ เลยว่าช่วงนี้ไม่มีนักการเมืองกลุ่มใดที่ออกมาตั้งคำถามกับยุทธศาสตร์ของสวีเดนว่า ล้มเหลวหรือเปล่า ขนาดพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มักจะไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่กล้าออกความเห็นว่า กรมสุขภาพนั้นเดิมเกมส์ผิดหรือไม่ เรียกได้ว่างานนี้นักการเมืองโยนให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญในสายนี้ไปถกไปดีเบตกันเอง นักการเมืองไม่กล้าไปถือหางเสือเอง 


 

ทำไมไม่กักบริเวณ หรือปิดเมือง 

นับถึงวันที่ 26 เมษายน สวีเดนพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วกว่า 18,000 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,100 คน 

ในรัฐธรรมนูญ Regeringsformen มาตราที่ 2 กำหนดเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานว่า รัฐไม่สามารถห้ามให้พลเมืองไปไหนมาไหนได้ แม้ว่าโรคระบาดจะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพของพลเมืองก็ตาม แต่ทางรัฐหรือคณะกรรมการรัฐธรรมนูญเองมองว่า เสรีภาพนั้นมีน้ำหนักมากกว่าโรคระบาดในครั้งนี้ ซึ่งสวีเดนนั้นลดจำนวนการชุมนุมจาก 500 คนเป็น 50 คนเมื่อตอนกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนึ่งในสาเหตุที่ไม่ลดจำนวนลงเหมือนประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่เหลือ 10 หรือ 2 คนนั้นเป็นเพราะเห็นว่า การชุมนุม การประท้วงนั้นก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองสวีเดน การลดทอนสิทธิเหล่านั้นต้องมีน้ำหนักมากพอที่จะเปรียบเทียบกันได้ แต่ในตอนนี้รัฐยังเล็งเห็นว่ามาตรการอื่นๆ ที่ออกมานั้นก็สามารถช่วยได้มากพอแล้ว เช่น การเว้นระยะห่างและการรักษาสุขอนามัย


Sergels torg ใจกลางเมืองสต๊อคโฮล์มในวันที่ร้างผู้คน ลานนี้เป็นแลนด์มาร์กที่ผู้คนนัดเจอกันและก็เป็นที่รวมชุมนุมประท้วงด้วย (ถ่ายโดย Ploypailin Shamach)

บางประเทศใช้วิธีปิดเมือง ซึ่งในสวีเดนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยถ้ามองในแง่กฎหมายที่มีอยู่ในตอนนี้ เพราะด้วยเหตุผลของเสรีภาพ รัฐบาลอย่างเก่งก็แค่สั่งปิดบางพื้นที่ด้วยการใช้กฎหมายการป้องกันโรคระบาด Smittskyddslagen แต่การจะปิดสถานที่เอกชนอย่างห้างสรรพสินค้าเป็นแห่งๆ ได้ ก็ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ก่อน เรียกได้ว่า ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน การเปลี่ยนแปลงสร้างผลกระทบกับคนทั่วไป และทางหน่วยงานรัฐเองต้องมีเหตุผลมากเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นที่ยอมรับได้ง่ายในสังคม 

รัฐบาลเองก็เพิ่งจะออกกฎหมายใหม่มาสดๆ ร้อนๆ เป็นกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจรัฐสั่งปิดธุรกิจบางประเภทที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น บาร์ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในช่วงที่ร่างกฎหมายออกมานี้รัฐบาลได้รับเสียงตำหนิอย่างมากจากฝ่ายค้าน เพราะในร่างกำหนดว่า รัฐบาลสามารถออกคำสั่งโดยตรงเลยซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาก่อน ซึ่งฝ่ายค้านอ้างว่า เป็นอำนาจที่ขัดกับหลักระบอบประชาธิปไตย การออกข้อบังคับที่ส่งผลต่อประชาชนนั้น ต้องได้รับคำยินยอมจากประชาชนและในที่นี้ คือ รัฐสภา แม้ว่าจะหน้าสิ่วหน้าขวานกันขนาดไหนสวีเดนก็ยังเป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจเกินเหตุของรัฐบาล สุดท้ายก็ตกลงกันว่า รัฐบาลสามารถออกคำสั่งไปก่อนได้ แต่สภาสามารถยกเลิกได้ถ้ามีมติไม่ยินยอมในภายหลัง 



 

ทำไมไม่ปิดโรงเรียน 

ในบทสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมสุขภาพ โย่ฮาน คาร์คซ่อน (Johan Carlson) ในหนังสือพิมพ์ DN ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศว่า หน่วยงานการป้องกันโรคระบาดนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกรมสุขภาพ ซึ่งหมายความว่า การรับมือกับโรคระบาดในครั้งนี้ทางกรมชั่งน้ำหนักอย่างมากในหลายๆ เรื่อง เรื่องสุขภาพร่างกายและจิตใจของเยาวชนนั้นก็เป็นตัวแปรสำคัญก่อนการออกมาตรการต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญมากที่เยาวชนเหล่านั้นจะมีโอกาสได้ออกกำลังกายได้เคลื่อนไหว การไปโรงเรียนหรือทำกิจกรรมนั้นเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง การศึกษาและสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่พึงมีพึงได้ ซึ่งตรงตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้กลายเป็นกฎหมายของสวีเดนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

สวนสาธารณะ Rörsjöstaden Malmö (ภาพจาก Jit Lundqvist 16 เมษายน 2020 บ่าย 4 โมง)



โย่ฮานบอกว่า การที่เด็กเหล่านั้นถูกบังคับให้อยู่บ้าน ส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวอย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญโรงเรียนสำหรับเด็กบางคนนั้นเหมือนกับที่ที่ปลอดภัยที่สุดของเขา เด็กบางคนที่บ้านแตก พ่อแม่ขี้เมา ติดยา หรือตกงาน มีปัญหาสุขภาพทางจิตทำให้ไปลงที่เด็ก ดังนั้น การที่โรงเรียนปิดแล้วเด็กเหล่านั้นจำใจต้องอยู่บ้าน และยิ่งไกลหูไกลตาจากครูและเจ้าหน้าที่ที่โรงเรียนแล้ว เด็กเหล่านั้นมีแนวโน้มว่า อาจจะถูกทารุณกรรมเพิ่ม นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ที่เด็กบางคนไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้อยู่บ้าน เด็กบางคนถึงขนาดฝากท้องไว้กับอาหารกลางวันของโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ

กรมอนามัยเชื่อว่า การปิดโรงเรียนทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าดีเสียด้วยซ้ำ ในแง่ของการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้กรมสุขภาพรักษาสมดุลระหว่างการลดการระบาดในวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันกรมก็ให้ความสำคัญกับเยาวชนในระยะยาวมากพอสมควร 

 

ความไว้เนื้อเชื่อใจใช้ได้จริงหรือ (Tillit vs auktoritär)

ถ้าจะเข้าใจว่า สวีเดนแตกต่างอย่างไรกับเพื่อนบ้านนั้น เราคงต้องไปดูแผนที่โลกที่เขียนตามแบบสำรวจชื่อดังที่เก็บสถิติมานานนับสองทศวรรษอย่าง World Value Survey ซึ่งทำให้เราเห็นภาพได้ชัดว่า สวีเดนนั้นแตกต่างจากนานาประเทศ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะเกิด แต่เป็นมานานแล้ว การสั่งสมความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อรัฐ รัฐมีต่อประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันนั้นมีมานานหลายทศวรรษแล้ว 

ตั้งแต่การเข้ามาบริหารประเทศของพรรคสังคมนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลงเรื่อยมา การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นอุตสาหกรรม ทำให้คนสวีเดนเชื่อว่า พวกเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ผ่านระบบการเมือง ผ่านการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังที่เราเห็นได้จากสถิติผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่มีสูงถึง 87-88 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

การที่คนในสังคมสวีเดนรู้สึกว่า พวกเขาสามารถกำหนดทิศทางประเทศและสังคมได้ ส่งผลให้คนที่นี่กระตือรือร้นและพยายามมีส่วนร่วมในการตัดสินอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับโคโรน่าไวรัสในครั้งนี้ 

รัฐแบ่งมาตรการเป็นสองส่วน คือ ข้อห้ามกับคำแนะนำ การขอความร่วมมือกับบุคคลทั่วไปผ่านคำแนะนำนั้นเป็นเหมือนกุศโลบายว่า เราทุกคนมีส่วนร่วมในการรับมือในครั้งนี้ ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤติในครั้งนี้ โดยเกิดเป็นภาพที่เพื่อนบ้านออกไปจ่ายตลาดให้ผู้สูงอายุ มีคนอาสาตัวออกไปช่วยโรงพยาบาลรับมือกับผู้ป่วย คนทั่วๆ ไปช่วยกันเย็บเสื้อคลุม ผลิตหน้ากากส่งหน่วยงานสาธารณสุข แม้ว่ารัฐเองจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการสั่งการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วทุกคนต้องคล้อยตามด้วย และการที่จะให้คนทำตามนั้นพวกเขาต้องเข้าใจจุดประสงค์ และที่สำคัญมีความเชื่อมั่นในรัฐ ซึ่งสวีเดนเองก็ใช้ยุทธวิธีนี้เหมือนกับการรณรงค์ฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนในสวีเดนนั้นมีสถิติสูงมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แม้ว่าจะใช้ความสมัครใจก็ตามแต่สถิตินี้สูงกว่าประเทศหลายประเทศในยุโรปที่ใช้การออกกฎหมายบังคับ จะว่าไปแล้วการใช้ความสมัครใจและขอความร่วมมือจากภาคประชาชนนั้นเป็นวิธีที่คนสวีเดนใช้มานานเกือบจะศตวรรษแล้ว

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตามที่รัฐขอร้อง แต่หนึ่งในมันสมองของกรมสุขภาพในการวางยุทธศาสตร์ อันเดิร์ช เทกแนลล์ (Anders Tegnell) มักตอบกับสื่ออย่างใจเย็นว่า เราต้องคอยเตือนพวกเขาอยู่เสมอๆ ทำให้เขาเห็นภาพเหมือนกับเรา การย้ำพร่ำบอกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่มันใช้ได้กับทุกกลุ่มหรือไม่ 

ร้านอาหารในใจกลางเมือง Lilla Torg Malmö (ภาพจาก Jit Lundqvist 17 April 2020 หกโมงเย็น)

 

พหุวัฒนธรรมกับความท้าทายของสวีเดน  Mångfaldssamhälle

สวีเดนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม สถิติล่าสุดพบว่า สวีเดนมีคนต่างชาติที่มาจาก 160 ประเทศที่มีจำนวนราวๆ สองล้านคน คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ยิ่งถ้าดูย้อนไปที่คนต่างด้าวรุ่นสองรุ่นสามแล้วจะยิ่งมีมากกว่านี้ กลุ่มคนต่างด้าวนี้ก็มีทั้งอยู่ปะปนกันกับคนสวีเดนโดยทั่วๆ ไป และกลุ่มที่อยู่กันอย่างหนาแน่นเป็นเขตใหญ่ๆ ตามชานเมือง 

แคปหน้าจอมาจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมด 30 ภาษา

ชานเมืองที่เรียกว่า แย่ร์ว่า (Järvaområde) เป็นเมืองที่ตั้งนอกเมืองหลวงสต๊อคโฮล์ม ซึ่งกลายเป็นเป้าที่สื่อให้ความสนใจอย่างมาก เพราะย่านนี้กลายเป็นที่พักอาศัยของคนต่างด้าวจำนวนมาก และตามสถิติของกรมสุขภาพและอนามัย พบว่า เมืองเหล่านี้มีเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อสูงมาก มากกว่าใจกลางเมืองหลวงหลายเท่าตัว และที่สำคัญมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสนี้มากกว่าใครเขาด้วย 

หลายฝ่ายเชื่อว่า นี่อาจจะเป็นความผิดพลาดของรัฐที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้ช้าไป เช่น เรื่องข้อมูลข่าวสารที่ต้องมีหลายภาษา และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ วัฒนธรรมที่แตกต่าง การขอคำแนะนำสำหรับพวกเขานั้นอาจจะดูเหมือนไม่ชัดเจนมาก การบังคับ กฎหมายที่เฉียบขาด การลงโทษที่รุนแรงอาจเป็นทางเลือก บางคนเชื่อว่า การสั่งห้ามที่รุนแรงอย่างห้ามออกจากเคหสถานนั้นเป็นการชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเหล่านั้นมันซีเรียสเพียงใด แต่จะให้รัฐออกมาบังคับคนบางกลุ่มในขณะเดียวกันก็ขอเพียงความร่วมมือกับคนบางกลุ่มก็ไม่ได้ หรือถ้าจะบังคับให้หมดก็ไม่ได้เพราะคนบางกลุ่มก็เชื่อว่าพวกเขากำลังถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพอยู่ จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่จะให้ทุกคนที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างเดินไปในทิศทางเดียวกัน 

 

ระบบสวัสดิการจากเปลวเทียนถึงเชิงตะกอน จุดแข็งหรือจุดอ่อน Välfärdsstaten ”Från vaggan till graven” 

จากสถิติที่มีเรารู้ว่าผู้สูงอายุ 70+ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด สวีเดนเองก็เชื่อมั่นกับระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ทั้งระบบสาธารณสุขและระบบเงินบำนาญ ทำให้ผู้สูงวัยมีอิสระจากลูกหลาน การไม่รวมกันอยู่ระหว่างรุ่น เป็นปัจจัยที่ทำให้การคุ้มครองกลุ่มเปราะบางนั้นอาจจะไม่ยากนัก เมื่อเทียบกับบางประเทศที่ยังต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์ภายในครอบครัว หมายความว่า เราไม่ต้องจับครอบครัวใดแยกออกจากกัน เพราะพวกเขาต่างแยกกันอยู่อยู่แล้ว และนั่นเป็นการง่ายที่เราจะปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุที่เปราะบางไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อจากลูกหลานที่ออกไปทำกิจกรรมและรับเชื้อมาจากนอกบ้าน

ระบบรัฐแบบสวัสดิการอย่างสแกนดิเนเวียนั้นทำให้ประเทศแถบสแกนดิเนเวียรับมือกับปัญหาไวรัสครั้งนี้ได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศในยุโรปกันเอง แต่ปัญหาที่สวีเดนประสบ คือ การแพร่กระจายเชื้อไวรัส ภายในบ้านพักผู้สูงอายุ เรียกได้ว่า สถานที่ที่ควรจะปลอดภัยที่สุดสำหรับกลุ่มเปราะบางเหล่านั้น กลายเป็นที่อันตรายสำหรับพวกเขา ความผิดพลาดที่ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ นี้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สถิติของสวีเดนฉีกแตกต่างออกไปจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

ภูมิคุ้มกันหมู่ Flockimmunitet การฆ่าตัวตายหรือการมองการณ์ไกล  

สวีเดนกลายเป็นที่จับตามองจากนานาชาติ หลังจากที่อดีตนักวิทยาการระบาดของสวีเดน อั้นนา ลินเด้ (Anna Linde) ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมว่า กรมสุขภาพกำลังใช้ยุทธศาสตร์ภูมิคุ้มกันหมู่ Flockimmunitet ซึ่งในช่วงเวลาใกล้กันอังกฤษก็แถลงข่าวถึงการวางยุทธศาสตร์นี้พอดิบพอดี และหลังจากนั้นไม่นานก็มีนักวิจัยสองร้อยกว่าคนในอังกฤษเขียนจดหมายเปิดผนึกต่อต้าน หลายประเทศเปลี่ยนรูปแบบการรับมือ แต่สวีเดนก็ยังใช้ยุทธศาสตร์เดิม 

 

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจยุทธศาสตร์ของสวีเดนไขว้เขว 

ภายใต้หลักคิดของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แบบสวีเดนนั้น ตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือ เตียงผู้ป่วยไอซียู กรมอนามัยมียุทธศาสตร์ที่ว่าจะเลี้ยงกราฟไปเรื่อยๆ ตามที่วางแผนเอาไว้ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรก็ตามจะไม่ให้เกินศักยภาพของโรงพยาบาลที่มีอยู่ ถ้ามีการแพร่ระบาดเชื้อมากเกินไปหมายความว่า โอกาสที่จะเกินกำลังของระบบสาธารณสุขมีสูงมาก ดังนั้น ต้องการมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นมาช่วยระงับ แต่ถ้าน้อยเกินไปก็หมายความว่า มาตรการที่เด็ดขาด เช่น การปิดเมือง  จะส่งผลสะท้อนกลับทางด้านอื่นแทน เช่น สุขภาพจิตของคน ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว หรือแม้กระทั่งปัญหาสุขภาพร่างกาย 

บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่ใช้มาตรการเด็ดขาดสั่งปิดเมืองทำให้กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อแบนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประวิงเวลาในช่วงที่เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาล สิ่งที่กรมสุขภาพและทีมป้องกันโรคระบาดกลัวที่สุด คือ การกลับมาระบาดระลอกสองและสามเมื่อเปิดเมือง เมื่อผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งนั่นหมายความว่า ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่พยายามไม่ให้เกิด มันจะเกิดขึ้นอยู่ดี แต่เป็นอนาคตข้างหน้า

ถ้าจะพูดให้ชัดๆ ก็คือ กรมสุขภาพมองว่า เราเลี้ยงกราฟไปเรื่อยๆ เราได้ผลลัพธ์สองอย่าง คือ หนึ่ง โรงพยาบาลรับมือไหว เมื่อโรงพยาบาลเอาอยู่ โอกาสที่ผู้เสียชีวิตก็น้อยลง เพราะมีบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือพอ และผลอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมีคนค่อยๆ ติดเชื้อแล้ว โอกาสที่จะแพร่กระจายก็ลดลงแปรผกผันกับจำนวนผู้ที่เคยติดเชื้อ จำนวนผู้มีภูมิคุ้มกัน

ยุทธศาสตร์ภูมิคุ้มกันหมู่นี้ จะว่าไปแล้วมีเสียงตอบรับทั้งดีและไม่ดี  ทั้งภาคประชาชนและสายนักวิจัยด้วยกัน แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ กลุ่มนักวิจัย 22 คน 22 forskarna ที่มาจากสายแพทย์และสาธารณสุข ส่งบทความไปที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสวีเดน ตำหนิการทำงานของกรมสุขภาพ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลฉีกขนบที่เคยมีมา และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะสั่งประกาศปิดเมือง ปิดโรงเรียน ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงข่าวนี้ก็สะพัดและกลายทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ไปชั่วข้ามคืน 

แต่หลังจากนั้นไม่ทันจะข้ามวันก็มีนักวิจัยหลากหลายแขนงออกมาตอบโต้ และจับผิดกับข้อมูลที่นักวิจัย 22 คนนั้นอ้างอิง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้เราเห็นว่า มีผู้สนับสนุนกรมอนามัยมิใช่น้อย และเราอาจจะเห็นได้จากการสำรวจความนิยมของ โนวุส (Novus) สถาบันโพลที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่งของสวีเดนเมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า คนส่วนใหญ่มีความไว้วางใจรัฐบาลในการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ได้ดีถึงดีมาก 63 เปอร์เซ็นต์ และ 73 เปอร์เซ็นต์มีความเชื่อมั่นกับกรมสุขภาพ แม้ว่ากระแสจากภายนอกจะถาโถมเข้ามา แม้ว่าจะมีการแตกคอกันเองในสายงานวิจัยภายในประเทศ แต่นั่นก็ไม่สั่นคลอนความเชื่อมั่นที่พลเมืองมีต่อระบบราชการและนักการเมืองของพวกเขา แต่เราก็ต้องรอดูต่อไปว่ามันจะคงระดับอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

 

ทางสายกลาง Lagom?

ลี่ซ่ะ เบราเวิร์ช Lisa Brouwers หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของกรมสุขภาพย้ำนักย้ำหนาว่า การรับมือกับไวรัสครั้งนี้ เราไม่อาจจะรู้ได้ว่ามันจะยืดเยื้อไปนานสักเท่าไหร่ เราจะรอจนกว่าวัคซีนจะมา หรือไวรัสตายไปเอง ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมใจเอาไว้ว่ามันจะใช้ระยะเวลายาวนาน และกลยุทธ์ที่จะรับมือในครั้งนี้ ต้องมองในระยะยาว ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่กรมสุขภาพเสนอมานั้นมีลักษณะจะเป็นใครทำก็ได้ และเราอดทนทำมันไปนานๆ ก็ได้ อย่างเช่น การล้างมือบ่อยๆ ทิ้งระยะห่าง ไม่เยี่ยมผู้สูงวัย  

มาตรการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนไม่ต้องไปลงทุนลงแรงอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมมาก ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิมากจนเกินไป ทำให้ผู้คนคล้อยตามได้ ทั้งทางพฤตินัยและความรู้สึก ซึ่งกรมสุขภาพบอกว่า ถ้าจะให้เรารับมือกับไวรัสแบบนี้ไปยาวๆ เราไปไหว การเลือกปิดๆ เปิดๆ อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่า
โย่ฮาน อธิบดีกรมสุขภาพบบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะวัดว่าสวีเดนล้มเหลวกับการรับมือกับไวรัสครั้งนี้หรือเปล่า ต้องดูว่าระบบสาธารณสุขในอีกสี่ห้าปีนี้เป็นอย่างไร สังคมจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง การจะด่วนตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะ ยุทธศาสตร์ใครล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ มันอาจจะเร็วไป ที่แน่ๆ การมาของไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นช่องโหว่มากมายในสังคม เราได้เห็นสังคมของเราในอีกมุมมองหนึ่ง เราได้เห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นทั้งเรื่องสวยงามและเรื่องน่าเศร้าและน่าตกใจ กับโครงสร้างของตลาดแรงงานในสวีเดน และที่สำคัญเราเห็นได้ชัดเจนเลยว่า สังคมเรานั้นต่างเชื่อมโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อ 


อ้างอิง