รับมือโควิดในฝรั่งเศส: ประชาชนตื่นตัวช้า รัฐบาลออกตัวช้าแต่สั่งกองทัพได้

เรื่องโดย
นายอองดรัวต์ ครัวซองต์ En Droit Croissant

 

Bonjour! สวัสดีครับ ผมเป็นนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาต่อกฎหมายในระดับปริญญาโท ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันนี้ผมอยากแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์บางส่วนจากเมืองน้ำหอม ทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน เผื่อว่าอาจจะนำไปปรับใช้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในบ้านเรากันครับ 

Covid France

 

1. สภาพทั่วไปของสถานการณ์ในประเทศฝรั่งเศส

ผมเดินทางมาศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศสในช่วงพีคจริงๆ ครับ ตั้งแต่ปีก่อนที่มีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง (Gilet jaune) เหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารอาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) การประท้วงนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานเรื่องเงินบำนาญ (Grève contre la réforme des retraites) จนมาถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Coronavirus) เรียกได้ว่า เป็นคราวเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของเมืองไวน์ (และนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส) ที่แท้ทรู

ในส่วนของโรคระบาดหมายเลข 19 นั้น ก่อนที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) จะประกาศถึงมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มีนาคม รัฐบาลได้มีการ “แนะนำ” ให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง แต่ยังไม่ได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือบังคับใช้กฎหมายลงโทษกับประชาชน และถึงแม้จะมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลห้ามเที่ยวบินจากประเทศจีน แต่ก็มีเพียงมาตรการตรวจวัดไข้ที่สนามบิน ซึ่งก็มีข่าวว่า มีนักท่องเที่ยวจีนที่มีไข้ กินยาลดไข้จำนวนมากเพื่อให้เดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสได้ ร้อนไปถึงรัฐบาลฝรั่งเศสต้องรีบติดตามควบคุมตัวนักท่องเที่ยวดังกล่าว 

ในช่วงเริ่มต้นของระยะเวลาแพร่ระบาด โคโรน่าไวรัสยังเป็นเรื่องตลกล้อเลียนคนจีนในวงสนทนา อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเห็นท่าว่าเริ่ม “เอาไม่อยู่” แล้ว ประธานาธิบดีก็ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการทางโทรทัศน์ครั้งแรกในวันที่ 12 มีนาคม เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสว่า เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญที่สุดในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยหลักในช่วงสัปดาห์แรกยังเป็นการ “ขอความร่วมมือ” จากประชาชน เช่น หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและจำกัดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและให้ทำงานจากบ้านเท่าที่สามารถกระทำได้ แต่ยังคงให้บริการระบบขนส่งสาธารณะตามปกติ และขอให้ประชาชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยปฏิบัติตามคำแนะนำทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ หมั่นล้างมือ ไม่จับมือทักทาย และรักษาระยะห่างระหว่างกัน 1 เมตร เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่ยังมีคนออกมาเดินเล่น ออกกำลังกาย นอนอาบแดดที่สวนสาธารณะจำนวนมาก ต่อมา ในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม มีข่าวลือว่ารัฐบาลจะประกาศ lockdown ประเทศ มีการเคลื่อนย้ายกำลังทหารเข้าสู่กรุงปารีส จากนั้น ณ เวลา 20.00 น. เมื่อประชาชนชาวฝรั่งเศส “ไม่เชื่อฟัง” คำแนะนำของรัฐบาล (จากถ้อยคำส่วนหนึ่งของประธานาธิบดี) รัฐบาลจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีคำสั่งชั่วคราว “ห้าม” ไม่ให้สถานประกอบการและสถานบริการเปิดให้บริการแก่สาธารณะ และ “ห้าม” ไม่ให้ประชาชนออกจากเคหสถาน เว้นแต่ในกรณีที่รัฐบาลกำหนด เป็นการยกระดับสถานการณ์โดยเปลี่ยนจากการ “ขอความร่วมมือ” ไปสู่จุดเริ่มต้นของ “มาตรการทางกฎหมาย” ซึ่งต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม

 

2. มาตรการกฎหมาย


2.1) การสาธารณสุข

12 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศให้โรงพยาบาลเลื่อนการรักษาคนไข้ที่ไม่มีความเร่งด่วนทั้งหมด เพื่อให้มีกำลังบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น และเร่งการวิจัยค้นคว้าหายารักษาและวัคซีนต้านไวรัส ต่อมา วันที่ 15 มีนาคม ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขในรัฐกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและชะลอการแพร่ระบาดของไวรัส (แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 16 มีนาคม) ขอความร่วมมือให้ประชาชนหมั่นล้างมืออยู่เสมอ ให้ไอหรือจามใส่ข้อศอก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำลายกับมือ และการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร 

อันนี้คนไทยอาจจะไม่เห็นภาพ ลองดูคลิป Tousser et éternuer dans un mouchoir ou dans le creux du coude ทาง YouTube ครับ

หากผู้ใดรู้สึกว่า ตนเองมีไข้และต้องการพบแพทย์ รัฐบาลแนะนำให้ทำการนัดหมายและพบแพทย์ออนไลน์ (téléconsultation) ให้หมอวินิจฉัยอาการและออกใบสั่งยาเพื่อไปซื้อยากับร้านขายยาต่อไป (ระบบสาธารณสุขของฝรั่งเศสแยกอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ออกจากการจำหน่ายยาของเภสัชกร) ในกรณีฉุกเฉิน สามารถโทรหาศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดส่งรถและเครื่องมือแพทย์มารับที่ที่พักของตน 

เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รัฐบาลได้ให้สั่งให้กองทัพนำเครื่องบิน เรือรบมารับคนไข้ที่อยู่ในเขตการปกครองโพ้นทะเล (Départements d’ outre-mers: DOM) รวมทั้งสนับสนุนด้านบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่ปกติแล้วใช้ในการทหาร และจัดให้มีโรงพยาบาลทหารชั่วคราวตามจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ยังได้รับสิทธิในการใชัขนส่งสาธารณะฟรี รวมถึงสามารถพักอาศัยใกล้กับโรงพยาบาลผ่านทางแอปลิเคชั่น Airbnb ฟรีอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรทางการแพทย์ รัฐบาลสามารถจัดเตรียมเตียงผู้ป่วยได้เพียงประมาณ 7,000 เตียง ในขณะที่ประเทศเยอรมนีสามารถรองรับได้ถึง 30,000 เตียง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มีการส่งผู้ป่วยบางรายเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ตามหลักความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarité) อย่างไรก็ดี ยังมีประชากรจำนวนมากที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตนอกโรงพยาบาลจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านพักคนชรา (maison de retraite)

ประเด็นสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ เรื่องของหน้ากากอนามัย (masque) ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างว่า สามารถป้องกันไวรัสได้หรือไม่ รัฐบาลฝรั่งเศสกำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมเพื่อสงวนไว้ใช้เฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เพราะเชื่อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่าหน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันไวรัสตัวใหม่นี้ได้ ทำให้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด 

ต่อมา หลังจากศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศที่รณรงค์ให้ประชาชนใส่หน้ากากแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ออกมายอมรับว่าได้ดำเนินมาตรการที่ผิดพลาดและ “แนะนำ” ให้ประชาชนสวมหน้ากากพร้อมทั้งเร่งให้มีการผลิตพร้อมกับนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงสั่งให้กระทรวงกลาโหมส่งมอบหน้ากากอนามัยที่ปกติแล้วใช้ในการทหารให้กับกระทรวงสาธารณสุขอีกจำนวน 5 ล้านชิ้น ปัจจุบัน รัฐบาลได้ส่งมอบจัดหน้ากากให้กับประชาชนแล้ว

ภาพคนต่อแถวซื้อของภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย

2.2) การพาณิชย์และอุตสาหกรรม

12 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศว่าจะจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดให้แก่พนักงานที่ถูกพักงานชั่วคราว (chômage partiel) เพื่อมิให้บริษัทต้องปลดพนักงาน โดยรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระด้วยเช่นกัน โดยบริษัทสามารถเลื่อนการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมและภาษีของเดือนมีนาคมได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลอธิบาย 

ต่อมา วันที่ 16 มีนาคม รัฐบาลได้ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม เวลา 12.00 น. และเป็นเวลา 15 วันเป็นอย่างน้อย ให้บริษัททุกแห่งต้องพยายามจัดการให้สามารถทำงานจากบ้าน (le télétravail) หากไม่สามารถทำได้ จะต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ลูกจ้างเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หากไม่ทำตาม จะมีมาตรการลงโทษ และให้เลื่อนการชำระเงินสมทบประกันสังคมและภาษี และสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ประสบปัญหานั้น จะระงับค่าใช้จ่ายไปก่อน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่า 

รัฐบาลสั่งห้ามสถานประกอบการและสถานบริการบางกิจการให้บริการแก่สาธารณชน จนถึงวันที่ 15 เมษายน เช่น สถานที่จัดการประชุม สัมมนา และการแสดง ร้านอาหารและร้านขายเครื่องดื่ม ยกเว้นการขายแบบนำกลับไปทานที่บ้าน เป็นต้น แต่ได้รับยกเว้นให้กับกิจการที่สำคัญบางประเภท เช่น ร้านขายสินค้าอาหารทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ (supermarket et hypermarket) ร้านขายผลไม้และผัก ร้านขายเนื้อ ร้านขนมปัง เค้กและขนมหวาน ร้านขายเครื่องดื่ม สถานีบริการน้ำมัน ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ในส่วนของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากกฎและคำสั่งดังกล่าว รัฐบาลมีมาตรการทางเศรษฐกิจมารองรับการขาดรายได้ดังกล่าว และเนื่องจากสหภาพยุโรปประกาศระงับการใช้บังคับความตกลงว่าด้วยความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณและสัดส่วนหนึ้สาธารณะ ทำให้ประเทศฝรั่งเศสในฐานะรัฐสมาชิกมีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดเล็กมาก (TPE: très petites entreprises) ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (indépendants) หรือผู้ประกอบการขนาดย่อม (micro entrepreneur) โดยจัดสรรเงินกองทุนให้เป็นงวดๆ ตามผลกระทบที่แต่ละบริษัทได้รับ [19] 

นอกจากนี้ ในส่วนของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการตามกฎหมายแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา L5122-1 นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างลดชั่วโมงการทำงานหรือหยุดทำงานชั่วคราว (chômage partiel) ได้ โดยระหว่างนั้น นายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างบางส่วน แต่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐและสำนักงานประกันสังคมเพื่อนำมาจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับการชดเชยสูงถึง 70% ของเงินเดือนขั้นต้นและ 84% ของเงินเดือนสุทธิ (หลังจากหักภาษีแล้ว) โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะมาจากรัฐ (l’État) และสหภาพวิชาชีพแห่งชาติสำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (Union nationale interprofessionnelle pour l’emploi dans l’industrie et le commerce (Unédic))  

2.3) การคมนาคม

วันที่ 12 มีนาคม เวลา 20.00 น. ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ขอให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ กำหนดให้ปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานศึกษาทุกระดับ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม โดยไม่มีกำหนด กำหนดให้พนักงานทำงานจากบ้านเท่าที่สามารถกระทำได้ ต่อมา ในวันที่ 16 มีนาคม รัฐบาลได้ประกาศว่า นับแต่วันที่ 17 มีนาคม เวลา 12.00 น. อย่างน้อยเป็นเวลา 15 วัน จะอนุญาตให้เดินทางออกจากที่พักได้เฉพาะที่จำเป็น และจะทำการปิดชายแดนด้านประเทศสหภาพยุโรปและพื้นที่ Schengen และระงับการเดินทางระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศอื่น เป็นเวลา 30 วัน โดยยังอนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ต่างประเทศเดินทางกลับประเทศโดยสามารถติดต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลฝรั่งเศสในต่างประเทศได้ 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยกระดับสถานการณ์ดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดสภาพบังคับหรือโทษทางกฎหมายในกรณีที่มีการฝ่าฝืนไว้อย่างชัดเจน และดูเหมือนชาวฝรั่งเศสหลายคนอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคระบาดนี้ บวกกับความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลตามที่ได้เกริ่นมาข้างต้น ทำให้ยังคงมีการออกนอกบ้านมารับแสงแดดกันตามสวนสาธารณะเหมือนเมื่อคืนไม่มีอะไรเกิดขึ้นผ่านทางจอโทรทัศน์ 

อาจถือได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดยกระดับสภาพบังคับทางกฎหมาย อาศัยอำนาจตามข้อ 3 ของรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 23 มีนาคม 2020 มีคำสั่ง “ห้ามไม่ให้ออกจากบ้าน” เว้นแต่จะมีหลักฐานแสดงยืนยันเหตุผลในการออกนอกบ้าน ซึ่งรัฐบาลรับรองไว้ให้เพียงแค่ 8 กรณี ได้แก่ 

         (1) การเดินทางไปทำงานในกรณีที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
         (2) การเดินทางไปซื้อของที่จำเป็นเพื่อประกอบอาชีพและการซื้อสินค้าจำเป็นจากร้านค้าที่ได้รับอนุญาต
         (3) การเดินทางไปพบแพทย์ในกรณีที่ไม่สามารถกระทำได้โดยทางไกล
         (4) การเดินทางด้วยเหตุผลจำเป็นด้านครอบครัว
         (5) การเดินทางออกกำลังกาย เดินเล่นกับครอบครัว หรือพาสัตว์เลี้ยงไปทำธุระ จากที่พักระยะสั้น 1 ครั้ง ต่อวัน ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร
         (6) การเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
         (7) การเดินทางตามหมายศาล
         (8) การเดินทางเพื่อร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวมตามคำขอของหน่วยงานของรัฐ โดยจะต้องมีเอกสารรับรองเหตุผลการเดินทางออกจากที่พักตามข้อยกเว้นดังกล่าว 

การบังคับใช้กฎหมายมีลักษณะที่เด็ดขาด หากพบว่าผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จะถูกปรับตั้งแต่ 135 ยูโร (ราว 4,745 บาท) และสูงสุดที่ 375 ยูโร (ราว 13,346 บาท) จะต้องถูกลงโทษอย่างไม่มีข้อยกเว้น ทำให้ในช่วงแรกของการใช้บังคับมาตรการดังกล่าว มีคนถูกปรับเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ เพื่อบังคับให้ประชาชนกักตนเองอยู่ในบ้าน ในกรณีที่ผู้ใดกระทำความผิดซ้ำ ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษรุนแรงมากขึ้น กล่าวคือ ทำผิด 2 ครั้งภายในเวลา 15 วัน ปรับ 1,500 ยูโร ทำผิด 3 ครั้งภายในเวลา 30 วัน จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,750 ยูโร ทำให้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น 

 

3. ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล

3.1) ปัญหาภายในที่พักอาศัย

ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีอากาศหนาวและคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เล็กๆ เวลาที่มีแสงแดด คนฝรั่งเศสจึงชอบออกนอกบ้านมาออกกำลังกาย จูงสุนัข อ่านหนังสือ นอนอาบแดด สูบบุหรี่ ตามสวนสาธารณะต่างๆ เมื่อรัฐประกาศใช้มาตรการจำกัดการออกจากที่พัก วิถีชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลงไป การจะออกมาวิ่งหรือปั่นจักรยานออกกำลังกายแต่ละครั้งจะต้องระวังไม่ให้เกิน 1 ชั่วโมง และ 1 กิโลเมตร (อาจจะต้องวางแผนเส้นทางใน google เป็นวงกลมไม่ให้เกินขอบรัศมีดังกล่าว) นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดความเครียด การทะเลาะเบาะแว้งอันเนื่องมาจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ง่ายกว่าปกติ การเบื่ออาหาร เบื่อไม่มีอะไรทำ หดหู่ ไปจนถึงซึมเศร้า จึงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในปัจจุบัน

3.2) การทำงานในบ้าน

หลังจากประกาศเรื่องการจำกัดการเดินทางและประกาศปิดสถานบริการและสถานศึกษา ทำให้หลายบริษัท มหาวิทยาลัย และโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยให้ลูกจ้าง นักเรียนสามารถทำงานที่ที่พักได้ (Télétravail) ในช่วงแรกของการทำงานในลักษณะดังกล่าวอาจมีความขัดข้องในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้การทำงานหรือการศึกษายังไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ได้มีการพัฒนาระบบการทำงานดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมของทางมหาวิทยาลัยเอง หรือโดยการสนับสนุนปลดล็อคคุณสมบัติหลายๆ อย่างของแอปพลิเคชั่นประชุมออนไลน์ เช่น google meet ให้สามารถใช้ได้ฟรี ทำให้การทำงานภายในบ้านเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น

3.3) การเหยียดเชื้อชาติ

ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก็ปรากฏปัญหาดังกล่าวอยู่เป็นระยะ ในสายตาของชาวตะวันตก คนเอเชียไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี เค้าจะเหมารวมเป็นคนจีน (les chinois) ทั้งหมด เวลาผมเดินไปไหนมาไหนก็เจอคนล้อเลียน “หนีฮ่าว” อยู่เสมอ แต่หลังจากที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาด ชาวเอเชียนอกจากจะไม่ได้แค่โดนล้อเลียนแล้ว ยังถึงขนาดถูกทำร้ายร่างกายเพราะข้อหาว่าเป็นตัวเชื้อโรคด้วย โชคดีที่ผมยังโดนแค่หัวเราะเยาะเย้ยข้อหาสวมหน้ากากว่า “โคโรน่าๆ แค้กๆๆ” ในขณะที่ช่วงนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่นิยมใส่กันเพราะเชื่อว่าไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ 

 

4. บทวิเคราะห์

4.1) การดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล

ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการที่เข้มงวดและเป็นระบบ เช่น ก่อนที่จะประกาศ Lockdown ก็ได้มีการวางแผนช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเอาไว้รองรับ รวมถึงความที่ยังคงเป็นรัฐรวมศูนย์ (centralisation) เลยทำให้รัฐบาลสามารถสั่งการไปยังภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด เช่น การสั่งให้กองทัพดำเนินการขนคนขนของเพื่อช่วยเหลือด้านการสาธารณสุข การสั่งให้สร้างโรงพยาบาลภาคสนามจำนวนมากไว้รองรับผู้ติดเชื้อ หรือมาตรการอื่นๆ ที่จะบังคับใช้กับประชาชน เป็นต้น ทำให้ประชาชนไม่เกิดความมึนงงสับสนว่าจะต้องรอฟังคำสั่งจากใคร หรือจะต้องดำเนินการไปตามทิศทางของนโยบายใด

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประเมินสถานการณ์ระดับความร้ายแรงของเชื้อไวรัสนี้ต่ำไปในตอนแรก ทำให้รัฐบาลดำเนินการใช้มาตรการต่างๆ ได้อย่างล่าช้า ต้องรอให้ถึงการแพร่ระบาดในระยะที่สองก่อนถึงจะเริ่มลงมากำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งก็เป็นเหมือนกันกับแทบทุกประเทศในทวีปยุโรปที่ไม่ได้มีการเตรียมมาตรการใดๆ ไว้รองรับ ในขณะที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาดอยู่ในประเทศจีน

4.2) ความตระหนักและความร่วมมือของประชาชน

จากประสบการณ์ที่ได้พบปะพูดคุยอาศัยร่วมกับคนฝรั่งเศส ผมพบว่า การที่สถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสสูงกว่าประเทศไทยเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความตระหนักถึงความอันตรายของโรคระบาด เวลาร่วมวงสนทนากับเพื่อนๆ บางทีก็จะโดนล้อว่า “กังวลเกินกว่าเหตุ” และจะมีหลายคนที่ยกสถิติเรื่องอัตราการตายบนท้องถนนเพื่อชี้ให้ผมเห็นว่า “ทุกวันนี้ ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า” นอกจากนี้ หลายๆ คนยังไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาความไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาด สังเกตได้ว่า หลังจากวันที่ 12 มีนาคมที่รัฐบาลได้แถลงการณ์ “ขอความร่วมมือ” ให้ประชาชนงดออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น ก็ยังคงมีการออกนอกบ้านพบปะสังสรรค์ ทักทายหอมแก้ม จับมือ กอดกันในหมู่เพื่อนฝูงตามปกติ นักศึกษาหลายคนก็ยังคงก้มหน้าอ่านหนังสือของตนเองต่อไปในห้องสมุดที่มีคนไอ คนจาม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ล่าสุด ในช่วงเทศกาลวันหยุดอีสเตอร์ (les vacances de Pâques) คนปารีสก็ทยอยเดินทางออกไปยังต่างจังหวัด สร้างความกังวลว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก นายกรัฐมนตรีเอดัวร์ ฟีลิป (Édouard Philipp) ถึงกับต้องออกมาเตือนว่า “ไวรัสมันไม่มีวันหยุด (นะเฮ้ย!)” (Le virus n’est pas en vacances!) กันเลยทีเดียว 

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ หวังว่าจะช่วยทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ของสถานการณ์และมาตรการทางกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน หากผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

สวัสดีครับ