วิกฤติโควิด 19 ส.ว.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่นิ่งเฉย ยังทำงาน “สังคมสงเคราะห์” ด้วย

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ และรัฐบาลไทยต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และต่อมาก็สั่ง “เคอร์ฟิว” ห้ามออกนอกเคหสถานทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. ทำให้กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงักทั้งการประกอบการของภาคธุรกิจ และการบริหารงานของราชการ ด้านวุฒิสภาที่สมาชิกทั้ง 250 คนมาจากการคัดเลือกของ คสช. ก็มีบางคนที่พยายามทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในสถานการณ์นี้

วุฒิสภา โดยหลักการแล้วเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สำคัญในรัฐสภา เช่น การตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีโดยการตั้งกระทู้ถาม หรือเข้าชื่อกันขอเปิดอภิปรายให้รัฐมนตรีมาตอบคำถาม การพิจารณาออกกฎหมาย รวมถึงอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญนี้ เช่น การติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. ด้วยเหตุที่ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภา สมาชิกวุฒิสภาซึ่งไม่ได้ใช้อำนาจตั้งคำถามกับฝ่ายบริหาร จึงเลือกทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสถานการณ์นอกอำนาจหน้าที่ โดยเน้นไปที่งานสังคมสงเคราะห์ตามที่สมาชิกแต่ละคนถนัดเป็นการเฉพาะตัว

 

ตัวอย่างกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนของสมาชิกวุฒิสภา ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด 19

1. 28 มีนาคม 2563 ประดิษฐ์ เหลืองอร่าม สมาชิกวุฒิสภา และคณะ เดินทางไปมอบหน้ากากอนามัย จำนวน 300 ชิ้น ให้แก่ชุมชน ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ มีนายคมสันต์ อ่วมเทศ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 นายสมคิด จันทร์ศิริ ส.อบต.มาบปลาเค้า หมู่ 4 ร่วมเป็นตัวแทนรับมอบเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในชุมชน

 

2. 30 มีนาคม 2563 ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง, พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ณ อาคารดีลักซ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต โอกาสนี้ ได้บริจาคเงินจากคณะกรรมาธิการฯ และผู้มีจิตศรัทธา จำนวนแปดแสนห้าหมื่นบาท กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้โรงพยาบาลไว้จัดซื้ออุปกรณ์และของใช้จำเป็นประจำห้องผู้ป่วย 

 

3. 31 มีนาคม 2563 จิรชัย มูลทองโร่ย สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมกิจกรรมนำขนมตาลไปแจกพี่น้องประชาชน พร้อมอาหาร เครื่องดื่ม เจลล้างมือ และหน้ากากอนามัย เป็นวันที่สอง จำนวน 500 ชุด ในการนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NBT เกี่ยวกับภารกิจของสมาชิกวุฒิสภาที่ร่วมดูแลช่วยเหลือสังคม ณ โรงทานวัดโตนด อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

 

4. 2 เมษายน 2563 ธานี สุโชดายน สมาชิกวุฒิสภา และคณะ ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อร่วมซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสให้แก่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวน 122,000 บาท 

 

5. 3 เมษายน 2563 คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กและเครือข่ายครูข้างถนน ระดมจัดหาอาหารและน้ำดื่ม พร้อมเดินเท้าไปแจกจ่ายให้กับ “คนระดับล่าง” เช่น เด็กเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง คนในชุมชนแออัดที่ใช้ชีวิตอยู่กับการเก็บสิ่งของขาย หรือรับใช้ทำงานตามสถานที่ต่างๆ โดยแจกจ่ายไปแล้ว 300 กว่าชีวิต สำหรับความช่วยเหลือด้านอาหาร และน้ำดื่มดังกล่าวมาจากน้ำใจจากคนไทยที่ร่วมให้การสนับสนุน 

 

6. 3 เมษายน 2563 จัตุรงค์ เสริมสุข สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกับกรรมการหอการค้าสมุทรปราการ แบ่งปัน face shield 300 ชุด หน้ากากผ้า 300 ชิ้น แอลกอฮอล์ขวดสเปรย์ 150 ขวด มอบแก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ยังขาดอุปกรณ์ป้องกันโควิด 19 จากย่านซอยวัดด่านสำโรง ซอยวัดมหาวงษ์ สำโรงเหนือ จำนวน 300 คน

 

7. 4 เมษายน 2563 ตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กเล่าว่า ตัวเขาและประชาสังคมร้อยเอ็ดที่ก่อนหน้านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า โดยที่ชาวบ้านต้องลงมือผลิตเอง ใช้ได้เอง แจกกันเอง วันดังกล่าวเป็นวันที่นำหน้ากากที่ผลิตขึ้นไปแจกผู้ยากจนคนยากไร้ โรงเรียนคนตาบอดในจังหวัดร้อยเอ็ด โรงเรียนการศึกษาพิเศษ และบ้านพักคนชรา

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย สมาชิกวุฒิสภา ยังโพสต์เฟซบุ๊กอธิบายถึงกิจกรรมของสมาชิกทั้งหลาย ดังนี้ 
“มีคนเที่ยวปล่อยข่าวว่า สมาชิกวุฒิสภา ไม่ได้ทำอะไรเลย
จึงขอสื่อสารถึงพี่น้อง ดังนี้
1. สมาชิกวุฒิสภา จัดหาและแจกจ่ายหน้ากากอนามัยผ้า ไปยัง ปชช. ที่หัวลำโพง/อนุสาวรีย์ชัย/หมอชิต/สนามหลวง/เตาปูนและวัดหลายแห่งจำนวน 10,000 ชิ้น
2. ได้กระจายอาหารและเครื่องดื่มสู่คนเร่ร่อน/ไร้ที่พึ่งตามถนนและชุมชน 700 ครอบครัวรวมกว่า 2,000 คน และถึงคนไร้ที่พึ่ง 475 คน และจะดำเนินการต่อไปจนกว่าโควิดจะหมดไป
3. กำลังจัดเตรียม ”หน้ากากใส”จำนวน 10,000 ใบ เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลระดับอำเภอ
4. ในหลายพื้นที่ /ครูหยุย/พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์/ครูตวง อันฑะไชย/สว.รณวริทธิ์ ปริยะฉัตรตระกูล/สว.บุญมี สุระโคตร/สว.จิรชัย มูลทองโร่ย/สว.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์/สว.ศรีศักดิ์ วัฒนพร. ช่วยกันผลิตหน้ากากผ้า จัดหาอาหาร กระจายลงสู่ชุมชน ทุกวัน
5.มล.ปนัดดา ดิศกุล//นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ จัดทำบทสรุปสถานการณ์โควิด/เดินสายพบเยาวชนทั้งในที่ต้องขังและทั่วไปรณรงค์ให้มีความตระหนักถงภัยโควิดและการมีจิตสำนึกเพื่อประเทศ
และอีกสมาชิกอีกมากมายที่เข้าทำงานเสริมร่วมกับภาครัฐ/เอกชนเพื่อช่วยป้องกัน แก้ไขและช่วยเหลือประชาชนให้พ้นภัยโควิดไปให้ได้”

 

ทำในนามส่วนตัว หรือใช้อำนาจในฐานะวุฒิสภา

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้พยายามจัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชน แม้จะอยู่ในช่วงที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็ตาม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน เช่น กรณีของวัลลภ ที่เป็นกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ก็ใช้ประสบการณ์ที่เคยอยู่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กมาก่อน ทำกิจกรรมแจกของร่วมกับมูลนิธิ หรือกรณีของตวง ที่ตั้งศูนย์ผลิตหน้ากากอนามัยก็ใช้สถานที่ของมูลนิธินาวาตรีสมาน กุนัน ที่ตัวเองเป็นประธานอยู่ ในการดำเนินการ

กิจกรรมเหล่านี้ไม่ชัดเจนว่า ใช้งบประมาณจากแหล่งใด เป็นงบประมาณส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนหรือใช้งบประมาณแผ่นดินส่วนของวุฒิสภาในการดำเนินการ แต่ที่ชัดเจน คือ กิจกรรมเชิงสังคมสงเคราะห์ที่สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งแบ่งเวลาไปทำเหล่านี้ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่หลักในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้วุฒิสภา เป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ การลงมติออกกฎหมาย การติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การพิจารณาเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รัฐธรรมนูญ มาตรา 123 กำหนดให้ ส.ว.มีสิทธิร่วมกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าชื่อ 250 คนขึ้นไปเรียกให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้เมื่อมีความจำเป็น มาตรา 165 กำหนดว่า หากมีกรณีที่เกิดปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความเห็น ให้เปิดประชุมสภาและให้ ส.ส. กับ ส.ว. ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ 

บทบาทขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติในการทำงานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแม้ในภาวะวิกฤติก็ยังสามารถเดินหน้าไปได้ โดย ส.ว. เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ และการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ ทำให้มีโอกาสมากกว่าประชาชนทั่วไปที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองตรวจสอบและเสนอแนวนโยบายที่เป็นประโยชน์ หรือคัดค้านนโยบายที่สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์ ดังตัวอย่างที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติก็พยายามนำเสนออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ระหว่างที่สมาชิกวุฒิสภาหลายคนเดินหน้าทำกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ในภาวะโควิด 19 ไปเรื่อยๆ สมาชิกวุฒิสภาบางคนก็ได้พยายามทำหน้าที่ตามบทบาทที่ตัวเองมีในภาวะนี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น 23 มีนาคม 2563 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภคฯ วุฒิสภา เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ขาดแคลน และมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้จัดตั้งศูนย์ COVID-19 เพียงศูนย์เดียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ลดความสับสน และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของประชาชน หรือกรณีที่คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กนำเสนอวิธีทางงบประมาณโดยให้นำ “เงินทุนสำรองจ่าย” 50,000 ล้านบาท ออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนการกู้เงิน

 

วุฒิสภามีงบประมาณกว่า 1,800 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทน ส.ว. กว่า 300 ล้านต่อปี

ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กำหนดงบประมาณของวุฒิสภาไว้สองส่วน ส่วนแรก อยู่ในมาตรา 5 เป็นงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากร หรืองบประมาณสำหรับจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ให้กับสมาชิกวุฒิสภา ทีมงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ข้อ 22. จำนวน 1,260,905,600 บาท (ประมาณหนึ่งพันสองร้อยล้านบาท) และเขียนไว้ในมาตรา 27 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐสภาอีก 568,259,110 บาท (ประมาณห้าร้อยหกสิบแปดล้านบาท)

รวมทั้งสองส่วนแล้วเป็นเงิน 1,829,164,710 บาท (ประมาณพันแปดร้อยล้านบาท) 

ในส่วนของงบประมาณที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนนั้น ตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2555 เกี่ยวกับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนของสมาชิกรัฐสภา กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนได้รับเงินเดือน 71,230 บาท และเงินเพิ่มอีก 42,330 บาทต่อเดือน รวมแล้วได้รับเงินคนละ 113,560 บาทต่อเดือน

สำหรับประธานวุฒิสภาได้เงินเดือน 74,420 บาท และเงินเพิ่มอีก 45,500 บาท รวมแล้วได้เดือนละ 119,920 บาท ส่วนรองประธานวุฒิสภา ซึ่งปัจจุบันมีสองคน ได้เงินเดือน 73,240 บาท และเงินเพิ่มอีก 42,500 บาท รวมแล้วได้รับเงินคนละ 115,740 บาทต่อเดือน

ในหนึ่งปีมีรายจ่ายของเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องจ่ายให้กับสมาชิกวุฒิสภาเป็นเงินเดือนและเงินเพิ่ม คิดรวมได้ ดังนี้

  1. เงินที่จ่ายให้กับประธานวุฒิสภา 119,920 x 12 = 1,439,040 บาท
  2. เงินที่จ่ายให้กับรองประธานวุฒิสภาสองคน 115,740 x 2 x 12 = 2,777,760 บาท
  3. เงินที่จ่ายให้กับสมาชิกวุฒิสภาอีก 247 คน กรณีดำรงตำแหน่งเต็มจำนวน 113,560 x 247 x 12 = 336,591,840

รวมแล้วเท่ากับ 340,808,640 บาท 

 

ส.ว.เห็นต่าง จะสละเงินเดือนเพื่อช่วยเหลือโควิด 19 หรือไม่

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า มีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของสมาชิกวุฒิสภาในประเด็นการเสนอให้สละเงินเดือนสมาชิกวุฒิสภาเพื่อนำไปสมทบทุนแก้สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 โดย เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อยู่ในฝ่ายที่เห็นด้วยว่าสมาชิกวุฒิสภาควรสละเงินเดือน แต่จะให้มากหรือน้อยก็แล้วแต่ภาระของแต่ละคน และยืนยันว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคนทำงานกันตลอด ไม่ได้อยู่เฉยๆ มีการหารือกันตลอดเวลา ที่ผ่านมานำสิ่งของไปแจกประชาชนตลอด มีทั้งที่เป็นข่าว และไม่เป็นข่าว

ในส่วนของ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา อยู่ในฝ่ายไม่เห็นด้วยที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาสละเงินเดือนทั้งหมดไปช่วยแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 เพราะต่อให้ทั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสละเงินเดือนสามเดือนก็ได้เงินมากสุดแค่ 300 กว่าล้านบาท ไม่สามารถนำไปแก้ไขอะไรได้มาก อีกทั้งทุกคนไม่ได้รวยเหมือนกันทุกคน บางคนมีแค่เงินเดือนอย่างเดียว แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่มาก ดังนั้นการสละเงินเดือนจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาได้ ประเทศไทยยังไม่สิ้นไร้ไม้ตอก ถังแตกถึงขนาดที่ต้องให้สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการต้องสละเงินเดือนทั้งหมด รัฐบาลมีงบประมาณช่วยเหลืออยู่แล้ว พร้อมทั้งยืนยันว่าสมาชิกวุฒิสภาทุกคนสละเงินเดือนบางส่วนนำไปบริจาค และซื้อของ ซื้อหน้ากากแจกชาวบ้านกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่ประกาศตัวเป็นข่าว ไม่ได้อยู่เฉยๆ โดยไม่ช่วยเหลือประชาชนเลย 

ด้านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเสนอให้หักเงินเดือน ส.ว. ไปแก้ปัญหาแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ว่า ส.ว.ได้คุยกันจะหารือกับรองประธานวุฒิสภาถึงแนวทางดำเนินการ เบื้องต้นจะใช้วิธีสมัครใจขอรับบริจาคก่อน เนื่องจาก ส.ว.ทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว ประกอบกับยังไม่เปิดสมัยประชุมจึงยังไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการ เชื่อว่า ส.ว.ไม่ขัดข้อง 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสมาชิกวุฒิสภา ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าว่า สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ทั้งหกคน ได้แก่ ตัวของ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ทำเรื่องถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อของดการรับเงินเดือนและเงินต่างๆ ในฐานะวุฒิสมาชิก และผู้ช่วยผู้ดำเนินงานสมาชิกวุฒิสภา นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไปจนถึงเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่จะเป็นการสิ้นสุดการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และคืนเงินเดือนย้อนหลังที่ได้รับมาทั้งหมดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ด้วย เป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท

และสาเหตุที่คืนเงินเดือนเนื่องจากไม่อยากให้สังคมมองว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพรับเงินเดือนสองทาง อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสังคมในสภาวะที่ประเทศประสบปัญหาแพร่ระบาดโควิด 19 ซึ่งทุกอย่างก็แล้วแต่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาจะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใด 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ