ประยุทธ์ลาออกอย่าเพิ่งเฮ รัฐธรรมนูญ 60 เตรียมล่วงหน้า ‘นายกฯ คนนอก’ จากขั้วเดิม

ต้นปี 2563 รัฐบาล คสช.2 เริ่มอยู่ในภาวะขาดเสถียรภาพ แม้เสียงของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลนับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นเพราะได้มาจากการดูด (ส.ส.ให้ย้ายข้างมาจากฝ่ายค้าน) แต่สถานการณ์นอกสภากลับกำลังดิ่งเหว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ หลังถูกฝ่ายค้านเปิดโปงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้ง #รู้ทันio #ป่ารอยต่อ และความไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา #ฝุ่นPM25 และ #โควิด19

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและระบอบ คสช. รวมอย่างน้อย 72 ครั้ง เมื่อกระแสโจมตีรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง #รัฐบาลเฮงซวย ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์กินเวลาเป็นเดือน

คำถามถึงอนาคตของรัฐบาลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในรั้วสถานศึกษา แต่รวมทั้งใน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเอง แม้กระทั่งสื่อ หรือสังคมออนไลน์ที่เคยเชียร์รัฐบาลก็เริ่มกลับลำ หลายเสียงเริ่มประสานดังขึ้น เรียกร้องให้ยุบสภา หรือ นายกฯ ลาออก

อย่างไรก็ดี หลายคนยังไม่ตระหนักว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ใช่ว่าอนาคตการเมืองของไทยจะสดใสขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช.ร่างขึ้นนั้นได้วางกลไกเอาไว้ ไม่ให้ประเทศเดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งได้โดยง่าย

เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช.กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้เป็นพิเศษ

ชั้นที่ 1

ยังจำบัญชีว่าที่นายกฯ ได้ไหม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคมีมติว่าจะเสนอให้ ส.ส. เพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต.ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

ชั้นที่ 2

มาตรา 159 ยังกำหนดว่า ส.ส.ต้องพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไว้เท่านั้น ไม่สามารถพิจารณาจาก ส.ส. คนอื่นที่ไม่เคยถูกเสนอชื่อไว้ได้

ชั้นที่ 3

กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าบุคคลที่อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของทุกพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมาตรา 159 กำหนดไว้อีกชั้นว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 นั่นคือ จากจำนวน ส.ส. เต็มสภา 500 คน พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน นอกจากนี้การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ส. อย่างน้อย 50 คน ส่วนการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด

ถามว่าจากหลักเกณฑ์นี้พรรคไหนมี ส.ส.เกิน 25 คนบ้าง คำตอบมีอยู่เพียง 5 พรรคการเมือง ได้แก่

พรรคก่อนเลือกตั้ง เสนอว่าที่นายกฯ
พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พรรคเพื่อไทยสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์,
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์,
ชัยเกษม นิติสิริ
พรรคอนาคตใหม่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
พรรคภูมิใจไทยอนุทิน ชาญวีรกูล
พรรคประชาธิปัตย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคอนาคตใหม่ แน่นอน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้ว เพราะ 1) พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทำให้บัญชีว่าที่นายกฯ ที่พรรคเคยเสนอไว้ก็หายไปด้วย 2) ธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี จึงขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดในฝั่งรัฐบาล เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้คนเดียว ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ ลาออก พรรคพลังประชารัฐก็ไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ในตอนนี้ อย่างสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือหัวหน้าพรรคอย่างอุตตม สาวนายน หรือกระทั่ง ส.ส. ที่มีบทบาทสูงอย่างสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร, วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฯ รัฐบาล

พรรคภูมิใจไทย พรรคที่มี ส.ส. มากเป็นอันดับที่ 2 ในฝั่งรัฐบาล ซึ่งก่อนเลือกตั้งถูกมองว่าอาจจะเป็น “ม้ามืด” ได้ แม้ตามกฎหมายยังสามารถเสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่กระแสโจมตีจากความล้มเหลวในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่ถาโถมเข้าใส่ก็รุนแรงไม่แพ้ตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง

พรรคเพื่อไทย ยังมีสิทธิเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอแคนดิเดตของพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความสง่างามจะไม่เต็มที่ เพราะทั้ง 3 คนไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่น่าจะลงมติเพื่อส่งคนจากฟากเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงยากที่จะหาเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา

พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเหลือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีสิทธิถูกเสนอชื่อ แต่ความสง่างามก็จะไม่เต็มที่เช่นกันเพราะลาออกจาก ส.ส. ไปแล้ว และยังสูญเสียการสนับสนุนจาก ส.ส. ในพรรคของตัวเองไปมาก โอกาสที่อภิสิทธิ์จะถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. กลุ่มใหญ่ ถ้าไม่ใช่จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสองกลุ่มเรียกได้ว่าเป็น “ขั้วตรงข้าม” ที่อภิสิทธิ์เคยกล่าวโจมตีไว้อย่างหนักหน่วงมาก่อนหน้านี้ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัย “ซูเปอร์ดีล” จากข้างใดข้างหนึ่งที่ยังมองไม่เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้

โดยสรุป ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ตามมาตรา 88 และ 159 จึงเป็นกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ให้เกิดทางตันทางการเมือง ทำให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีมีเงื่อนไขและอุปสรรคมากมาย

กระนั้นก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้สร้างเงื่อนไขไปสู่ทางตันโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เพราะมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลก็ได้เตรียมการเอาไว้แล้วสำหรับ “กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด ก็ให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้

ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกฯ คนนอก ตามมาตรา 272 อาศัยเงื่อนไข ดังนี้

1) ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 คน เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้

2) ส.ส. + ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คน เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีของพรรคการเมือง

3) ส.ส. + ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ

ต้องไม่ลืมว่า เมื่อครั้งลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เขาได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันถึง 500 เสียง จำนวน 500 เสียงนี้เพียงพอแล้วต่อการเปิดช่องทางตามมาตรา 272 ช่องทางพิเศษที่เขียนไว้ตั้งแต่ครั้งร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้เขียนไว้ลอยๆ แบบไม่มีที่มาที่ไป หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออก รัฐธรรมนูญก็ได้ออกแบบ “ทางออก” เอาไว้ล่วงหน้าแล้วเพื่อให้นำมาซึ่งการอยู่ในอำนาจต่อของคนกลุ่มเดิม

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ