สรุปรัฐธรรมนูญ 2560: ให้เอกสิทธิ์งูเห่า ลดบทบาทพรรคคุม ส.ส.

คำเตือนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าจะนำซึ่งความวุ่นวาย ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เป็นจริงขึ้นเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎร ความปั่นป่วนและการต่อรองเกิดขึ้นตั้งแต่เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองลำดับที่สี่ของสภาได้นั่งเป็นประธานอย่างเหลือเชื่อ จนมาถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องใช้พรรคร่วมถึง 19 พรรค และใช้เวลาต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกันนานกว่า 3 เดือน ขณะที่สภาเสียงปริ่มน้ำเริ่มออกฤทธิ์เมื่อฝั่งรัฐบาลโหวตแพ้ในสภาแต่ไม่ยอมแพ้ขอโหวตใหม่ ซึ่งนำมาสู่สภาล่มสองครั้งสองครา และภาพ “ส.ส. งูเห่า” ในซีกพรรคฝ่ายค้านก็ปรากฏตัวชัดเจนเมื่อต้องมีการโหวตในญัตติสำคัญ

ผลที่เกิดขึ้นคือความตั้งใจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้การเมืองไทยโดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองมีความอ่อนแอ เพื่อให้การสืบทอดอำนาจของ คสช. มีความมั่นคงและมีอำนาจต่อรองเหนือพรรคการเมือง โดยเฉพาะเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 ดูเหมือนจะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็เปิดช่องให้ ส.ส. มีอิสระในการโหวตไม่ทำตามมติพรรค และการย้ายพรรคของ ส.ส. ก็สามารถทำได้ไม่ยากนัก ประเด็นเหล่านี้มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ซึ่งที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยฉบับต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา

 

รัฐธรรมนูญ 2517 ให้ ส.ส.สังกัดพรรค กันขายตัว แก้รัฐบาลอ่อนแอ

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2517 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 (ยกเว้นรัฐธรรมนูญชั่วคราว) รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเมืองไทยก่อนหน้าปี 2517 รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้หลังการเลือกตั้งเกิด “ส.ส. อิสระ” จำนวนมากที่รวมตัวกันเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง รัฐบาลไม่สามารถควบคุม ส.ส.ได้ ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพจนในที่สุดนำไปสู่การยุบสภาหรือการรัฐประหาร 

อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองเพียงเท่านั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพได้ เพราะระบบเลือกตั้งแบบเดิมก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้เขตเลือกตั้งเดียวเลือกได้หลายเบอร์ที่ทำให้ตัวบุคคลโดดเด่นกว่าพรรค มิหนำซ้ำผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกันยังต้องแข่งขันกันเองในเขตเดียวกัน ส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้ไม่มีพรรคใดมีเสียงในสภาแบบเด็ดขาด ส่งผลให้ต้องตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคนำมาซึ่งการต่อรองผลประโยชน์แบ่งโควต้ารัฐมนตรีเหมือนเช่นเคย ขณะที่การย้ายพรรคของ ส.ส.ก่อนฤดูเลือกตั้งยังคงเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาสังกัดพรรคไว้

บทบัญญัติที่กำหนดให้ ส.ส. สังกัดพรรค

รัฐธรรมนูญ บังคับผู้สมัคร ส.ส. สังกัดพรรคระยะสังกัดพรรค
รัฐธรรมนูญก่อนปี 2517X
รัฐธรรมนูญ 2517/
รัฐธรรมนูญ 2521/
รัฐธรรมนูญ 2534/
รัฐธรรมนูญ 2540/90 วัน ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญ 2550/90 วัน ถึงวันเลือกตั้ง / กรณียุบสภา 30 วัน
รัฐธรรมนูญ 2560/90 วัน ถึงวันเลือกตั้ง / กรณียุบสภา 30 วัน

 

รัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส.หมดสิทธิย้ายพรรค สร้างรัฐบาลเข้มแข็งเป็นเผด็จการพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมากขึ้นด้วยการมีระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และไม่เปิดโอกาสให้ ส.ส. ขายตัว ด้วยการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้สมัคร ส.ส.ได้ศึกษาถึงอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดเป็นระยะเวลาพอสมควรก่อน นอกจากนี้ การกำหนดระยะเวลาสังกัดพรรคก่อน 90 วันยังปิดทางไม่ให้เกิด ส.ส.ย้ายพรรคได้ เนื่องจากการกำหนดวันเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 หากมีการยุบสภาต้องจัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งระยะเวลาไม่เพียงพอที่จะทำให้ ส.ส. ย้ายพรรคได้ทัน

เป็นที่ยอมรับว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ประสบความสำเร็จ คือการย้ายพรรคของ ส.ส.ลดลง (ยกเว้นการยุบพรรครวมกัน) และพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งสามารถควบคุม ส.ส.ได้เข้มข้น ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง การที่ ส.ส.ไม่อาจย้ายพรรคไปลงสมัครในพรรคอื่นได้ ทั้งๆ ที่อาจจะมีความต้องการอยากจะย้ายพรรคด้วยเหตุผลเรื่องแนวทางการทำงานหรืออุดมการณ์ก็ตาม ทำให้จำเป็นที่ ส.ส.ต้องเชื่อฟังพรรคการเมืองที่สังกัด และหากพรรคการเมืองนั้นไม่มีหลักประชาธิปไตยภายในพรรค หัวหน้าพรรคหรือนายทุนพรรคคือคนที่ ส.ส.ต้องเชื่อฟังและจงรักภักดี ดังนั้น เมื่อหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ส.ส.จึงตกอยู่ภายใต้นายกฯ หรือรัฐบาล ทำให้ไม่เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล และกลายเป็นปัญหาเผด็จการโดยพรรคการเมือง

บทบัญญัติที่กำหนดให้พรรคการเมืองขับ ส.ส. ออกจากพรรค

รัฐธรรมนูญวิธีการสถานะของ ส.ส.
รัฐธรรมนูญก่อนปี 2517
รัฐธรรมนูญ 2517มติพรรคการเมืองไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. 
ถ้าหาพรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน
รัฐธรรมนูญ 2521มติสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของ
คณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.
พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2534มติพรรคการเมืองพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2540มติสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของ
คณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.
พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
เว้นแต่อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2550มติสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของ
คณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.
พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
เว้นแต่อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560มติสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของ
คณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.
ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
ถ้าหาพรรคใหม่ได้ภายใน 30 วัน

บทบัญญัติที่กำหนดการพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. หากลาออกจากพรรค

รัฐธรรมนูญผลของการลาออกจากพรรค
รัฐธรรมนูญก่อนปี 2517ไม่สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2517พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2521พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2534พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2540พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2550พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
รัฐธรรมนูญ 2560พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ลดบทบาทพรรคคุม ส.ส. เกิดปรากฏการณ์โหวตสวนมติพรรค ย้ายพรรคข้ามอุดมการณ์

รัฐธรรมนูญ 2560 ลดบทบาทของพรรคการเมืองในการควบคุม ส.ส. ลงจากแต่ก่อน กล่าวคือ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นต้นมา หากพรรคการเมืองมีมติขับ ส.ส.ออกจากพรรค ส.ส.จะต้องสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.ทันที เว้นแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยังเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่ถูกขับออกสามารถอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ขณะที่ข้อกำหนดในการย้ายพรรคของรัฐธรรมนูญ 2560 คล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2550 คือ หากมีเหตุยุบสภาต้องสังกัดพรรค 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อมีการยุบสภา รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้ ส.ส. ย้ายจากพรรคการเมืองหนึ่งไปอีกพรรคการเมืองหนึ่งได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีเหตุการณ์ ส.ส.โหวตสวนมติพรรคเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งจาก ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ตั้งแต่ฝ่ายรัฐบาลเมื่อมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จังหวัดศรีษะเกษ ตัดสินใจฝืนมติพรรค “งดออกเสียง” ไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ โดยอ้างเหตุผลว่า สัญญากับประชาชนในพื้นที่ไว้ว่าจะเลือก อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าตัวเองเป็นนายกฯ เท่านั้น หรือในกรณีของ ส.ส. 4 คน ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่โหวตสวนมติพรรค ลงมติ “เห็นชอบ” ญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการกระทำของประกาศและคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 หรือ “กมธ. ม.44” โดยเทพไท เสนพงศ์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ให้เหตุผลว่า ญัตตินี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ และเป็นการทำตามอุดมการณ์ของพรรคที่ไม่สนับสนุนระบอบเผด็จการ

ขณะที่ซีกพรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็เกิดอาการเป๋จนเกิดเหตุการณ์ ส.ส.โหวตสวนมติพรรคและมติฝ่ายค้านกันหลายระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโหวตญัตติสำคัญอย่างการตั้ง “กมธ. ม.44” และการเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. …. ที่มี ส.ส.จำนวนหนึ่งจากทั้งพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ และเศรษฐกิจใหม่ ร่วมโหวตสวนทางกับเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเกิดการปรากฏตัวของ “งูเห่า” หลายระลอก การโผล่ขึ้นของงูเห่าถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากหลายสาเหตุตั้งแต่การได้ผลประโยชน์ตอบแทน หรือการแลกกับการถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ใช้อธิบายในการกระทำของพวกเขาโดยเฉพาะจากฟาก “งูเห่าสีส้ม” อดีต ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ที่กลายเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็คือ การทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันสูงสุดของประเทศ

 

เอกสิทธิ์ของ ส.ส. และมติพรรค คือการทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ส.ส.มีอิสระจากพรรคการเมืองมากขึ้น คือการกำหนดหลักการไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ของผู้แทนปวงชน (Free Mandate) โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 114 ระบุว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร … ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม…” และมาตรา 124 ที่ระบุว่า “ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร … หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด…” กล่าวคือในทางกฎหมาย ส.ส.จะโหวตเหมือนกับพรรคหรือต่างกับพรรคย่อมเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวที่สามารถทำได้ เนื่องจากว่า ส.ส.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญจึงมีหลักประกันความเป็นอิสระในการปฎิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ไว้ เพื่อให้ ส.ส.ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระไม่ต้องตกอยู่ภายใต้คำสั่งของพรรค หรือคำสั่งอื่นใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองในการลงเลือกตั้ง การทำตามวินัยพรรคก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะพรรคการเมืองในฐานะองค์กรซึ่งมีบทบาทรวบรวมความต้องการของประชาชน และแสดงความต้องการผ่านกลไกของการทำหน้าที่ของ ส.ส. จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ ส.ส.จะต้องเดินตามแนวทางการทำงาน นโยบาย และอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัด ทั้งนี้ เมื่อ ส.ส.ต้องการฝ่าฝืนมติพรรค พวกเขามักใช้เอกสิทธิ์ของตัวเองอ้างว่าทำตามเสียงประชาชน เช่น การโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ส.ศรีษะเกษ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งขณะหาเสียงเลือกตั้งเขาสัญญากับประชาชนว่าจะไม่เลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ ทำให้ต้องโหวตสวนมติพรรค หรือการโหวตญัตติตั้ง “กมธ. ม.44” ที่มี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 4 คน เข้าไปนั่งเป็นองค์ประชุมเพื่อให้พรรครัฐบาลล้มญัตตินี้ ทั้งที่เรื่องผลกระทบจากมาตรา 44 เป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ใช้หาเสียงช่วงเลือกตั้ง จากสองกรณีบรรดา ส.ส.ต่างอ้างประชาชน แต่จะอ้างขึ้นหรือไม่ต้องพิจารณาว่าการใช้เอกสิทธิ์การโหวตนั้นคำนึงถึงเจตจำนงของประชาชนที่สนับสนุนพรรค อุดมการณ์ นโยบายที่พรรคใช้หาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

บทบัญญัติเรื่องการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนของ ส.ส. ในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญเนื้อหา
รัฐธรรมนูญ 2475“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวสยามมิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตนขึ้นมา ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ” (ม.20)
รัฐธรรมนูญ 2489“…สภาผู้แทน ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” (ม.36)
รัฐธรรมนูญ 2490“…สภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นชอบของตนโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทย” (ม.44)
รัฐธรรมนูญ 2492“…สมาชิกสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” (ม.101)
รัฐธรรมนูญ 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม 2495)“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตนขึ้นมา ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ” (ม.49)
รัฐธรรมนูญ 2511“…สมาชิกสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” (ม.97)
รัฐธรรมนูญ 2517“…สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย” (ม.127)
รัฐธรรมนูญ 2521“…สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย” (ม.106)
รัฐธรรมนูญ 2534“…สมาชิกสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” (ม.117)
รัฐธรรมนูญ 2540“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” (ม.149)
รัฐธรรมนูญ 2550“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” (ม.122)
รัฐธรรมนูญ 2560“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม…” (ม.114)
You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

ลาออกสมาชิกพรรค ไปสมัคร สว. 67 ต้องทำยังไง?

สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว;jkผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือ สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง