การชุมนุมของประเทศไทยกับบทศึกษาของกฎหมายชุมนุมต่างประเทศ

การชุมนุมเป็นของคู่กับสังคมในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นเครื่องมือสะท้อนปัญหาในสังคมให้รัฐบาลเร่งแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”

 

ที่มาภาพ : Saharauiak

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการเดินขบวนชุมนุมประท้วงในหลายรูปแบบตามแต่ปัจจัยและบริบททางสังคม พอแบ่งได้เป็น 4 ยุค คือ
 

1. ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ภาพการเดินขบวน คือ การร้องทุกข์ขอความอุปถัมภ์จากผู้มีสถานะศักดิ์สูง

 
2. ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือยุคประชาธิปไตยเบ่งบานมีการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนต่างๆ อย่างกว้างขวาง มีการปรากฏตัวของขบวนการชาวนาที่ออกมาสะท้อนถึงสำนึกในสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมในสังคม
3. ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนกระทั่งถึงช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นช่วงหลังการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครอง เป็นยุคมืดของการเมืองภาคประชาชน มีการปรามปรามโดยรัฐและมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การชุมนุมจึงอยู่ในการควบคุมของรัฐ แต่หลังจากการประกาศใช้คำสั่ง 66/2523 มีการยกเลิกกฎอัยการศึก การเดินขบวนประท้วงก็ขยายตัวมากขึ้น 

 
4. ช่วงขบวนการชาวบ้านด้านสิ่งแวดล้อม ยุคแห่งความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเริ่มมีแนวโน้มให้เห็นภาพของความขัดแย้งระหว่างรัฐและภาคธุรกิจกับชาวบ้านตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ และได้ปรากฏชัดเจนในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา มีการเดินขบวนประท้วงกันมาก อาทิ การเรียกร้องเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ทรัพยากรน้ำ การเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ ราคาผลผลิตทางการเกษตร หรือเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ เป็นต้น [1]
 
การชุมนุมในสังคมไทยมีมานานแล้ว แต่ถูกตีกรอบจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในยุคสมัยนั้นๆ
 
แม้การชุมนุมจะถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ แต่เสรีภาพประการนี้เป็นเสรีภาพที่อาจถูกจำกัดเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะนั้น หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
 
ที่มาภาพ  : nabuhunso

เหตุการณ์การชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองที่สำคัญ เช่น เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์วันที่ 5-6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เหตุการณ์วันที่ 13-15 เมษายน พ.ศ.2552 รวมถึง เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 และเหตุการณ์วันที่ 13–19 พฤษภาคม 2553

สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองครั้งใหญ่หลายครั้ง ทั้งโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รัฐบาลในขณะนั้นๆ ต่างก็เคยหยิบเอาพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้ในการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้
 
  • ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช วันที่ 2 กันยายน 2551 จากเหตุการณ์ประทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร
  • ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินและสถานที่ราชการเพื่อขับไล่รัฐบาล
  • ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 11 เมษายน 2552 รัฐบาล ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดชลบุรีในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงบุกเข้าไปในบริเวณที่มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
  • ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 12 เมษายน 2552 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกุรงเทพมหานครและหลายจังหวัด ใกล้เคียงในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดถนนในกรุงเทพมหานครเพื่อขับไล่รัฐบาล
  • ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในสถานการณ์ที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าและแยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯและหลายจังหวัด และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นแล้วประกาศให้การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นในวันที่ 10 เมษายน 2553 เกิดการปะทะกันรุนแรงขึ้นที่สะพานผ่านฟ้าและถัดมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลสั่งสลายการชุมนุม (กระชับพื้นที่ / ขอพื้นที่คืน) ทั้งยังประกาศเคอร์ฟิวเวลากลางคืนต่อเนื่องกัน 10 คืนและถือเป็นการประกาศเคอร์ฟิวเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีปัจจุบัน พื้นที่กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดยังอยู่ภายใต้พ...ฉุกเฉิน (อ่านเพิ่มเติมได้จาก เก็บอาวุธทหาร: ยกเลิกกฎหมายความมั่นคง)

นอกจากการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ ประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อควบคุมการชุมนุมได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมที่ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองแต่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน อย่างเช่น การคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย หรือการชุมนุมของกลุ่มแรงงานเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม และการชุมนุมของเกษตรกรข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง กุ้งกุลาดำ เป็นต้น การชุมนุมเหล่านี้หลีกไม่พ้นต้องใช้พื้นที่บนท้องถนน
 
เหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเมื่อรัฐเห็นว่าการชุมนุมใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยจนเกินสมควร ทางออกที่รัฐบาลแต่ละยุคสมัยเลือกใช้คือการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างกว้างขวางโดยแทบจะไม่ต้องรับผิดชอบ จึงเกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในที่นี่จะทำการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน และฮ่องกง
 
 
อังกฤษ
การชุมนุมวิวัฒนาการมาจากสิทธิของผู้แทนราษฎรที่จะร้องทุกข์ต่อกษัตริย์ โดยต่อมาได้พัฒนามาเป็นสิทธิของประชาชนที่จะมาร้องเรียนต่อฝ่ายบริหาร
 
กฎหมายเกี่ยวการชุมนุมของประเทศอังกฤษจะแบ่งเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะกับการเดินขบวน
เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจห้ามมิให้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะ เว้นแต่ที่สาธารณะนั้นจะเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของรัฐ
 
การชุมนุมสาธารณะ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการชุมนุม หากมีการฝ่าฝืนถือว่ามีความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเท่านั้นที่มีอำนาจจับผู้ต้องสงสัยได้
 
ส่วนการเดินขบวน ก็จะต้องมีหนังสือขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ โดยมีอำนาจพิจารณา และกำหนดเงื่อนไขได้ หากไม่ปฏิบัติตามก็เป็นความผิดและสามารถจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย
 
สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมโดยเฉพาะ ซึ่งหลักการเกี่ยวกับการชุมนุมได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับการชุมนุมและการร้องทุกข์จากอังกฤษ
 
รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ โดยห้ามไม่ให้รัฐสภาตรากฎหมายที่มีผลเป็นการลิดรอนสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการพิจารณาเกี่ยวกับการชุมนุมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของศาลสูง เช่น การที่รัฐออกกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ที่จะชุมนุมต้องลงทะเบียน หากไม่ทำตามเป็นความผิดทางอาญานั้น ศาลสูงวางหลักว่า กฎหมายเช่นนี้ไม่อาจประกาศใช้ได้เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน เป็นต้น
 
จีน
จีนมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อย
 
การชุมนุมในประเทศจีนต้องขออนุญาตก่อนจัดการชุมนุม โดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจต่างๆไม่ว่าจะเป็นอำนาจสั่งเลื่อน หรือใช้ดุลพินิจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม การเดินขบวน หรือการชุมนุมเรียกร้อง
 
หากการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามที่อนุญาต หรือจัดการชุมนุมขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้จัดการชุมนุมอาจถูกเตือนหรือกักขัง และถูกดำเนินคดีทางอาญา
 
ฮ่องกง
ฮ่องกงถือเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ฮ่องกงมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุม เพื่อเป็นการกำกับดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย การจัดการชุมนุมจะมีได้ต่อเมื่อผู้บัญชาการตำรวจได้รับหนังสือแจ้งจะจัดการชุมนุม ผู้บัญชาการตำรวจอาจมีคำสั่งห้ามการชุมนุมได้
 
แต่ถ้าผู้ชุมนุมในที่สาธารณะน้อยกว่า 50 คน หรือ ในที่ส่วนบุคคลน้อยกว่า 500 คน ไม่ต้องแจ้งการชุมนุมเลย
 
ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจมีคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือ กำหนดเงื่อนไขการชุมนุม ผู้จัดชุมนุมอาจอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้
 
 
จากตัวอย่างที่ศึกษากฎหมายการชุมนุมของต่างประเทศนั้น จึงนำมาเป็นตัวศึกษาและพิจารณาว่าประเทศไทยควรจะออกแบบกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างไร และเมื่อนำมาใช้กับประเทศไทยแล้วจะได้ผลหรือไม่ เพราะสภาพสังคม ทางการเมืองของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครอง การขับเคลื่อนขององค์กรภาครัฐต่างๆ และการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะขึ้นมา จะเป็นตัวตอบโจทย์ให้สังคมไทยหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก วิเคราะห์เปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2 ฉบับ) สังคมไทยควรมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมได้แล้วหรือไม่ ประชาชนนั่นเองเป็นผู้ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการคิด และแสดงออกถึงตัวกฎหมายนี้
 
 
 
 
[1]หนังสืออ้างอิง ประภาส ปิ่นตบแต่ง. การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจนและประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย. ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก. 2541