พลังประชารัฐ ‘แพ้แล้วป่วน’ ขวางตั้ง กมธ. ศึกษาประกาศคำสั่ง คสช. ฝ่ายค้าน ‘ไม่ร่วม’ สองวัน ประชุมต่อไม่ได้

28 พฤศจิกายน 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง การประชุมครั้งที่ 9 ได้มีการประชุมในวาระ การลงคะแนน และนับคะแนนใหม่อีกครั้ง เพื่อขอตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ที่มี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และคณะ เป็นผู้เสนอ
เมื่อชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กดออดเรียกให้แสดงตน ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน แม้จะอยู่ในห้องประชุมใหญ่ แต่ไม่แสดงตนในที่ประชุมเพื่อลงคะแนน ทำให้องค์ประชุมขณะนั้นนับได้เพียง 240 คน จาก 500 คน ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบในการพิจารณาญัตตินี้ ประธานสภาจึงต้องสั่งปิดประชุม ให้เลื่อนญัติดังกล่าวไปในการประชุมครั้งถัดไป
เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวาน (27 พฤศจิกายน 2562) เวลาประมาณ 17.25 น. มีการลงคะแนนในวาระตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของ คสช. มาตรา 44 ผลปรากฏว่า จากจำนวนผู้เข้าประชุม 467 คน เห็นด้วย 234 คน ไม่เห็นด้วย 230 คน งดออกเสียง 2 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน เท่ากับว่ามีมติให้ตั้ง กมธ.ดังกล่าวได้
ทราบภายหลังว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 6 คน ลงคะแนน "เห็นด้วย" ได้แก่ 1. กันตวรรณ ตันเถียร 2. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3. พนิต วิกิตเศรษฐ์ 4. อันวาร์ สาและ 5. เทพไท เสนพงศ์ 6. ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็นเหตุให้ชนะกันไปเพียง 4 คะแนน
ทันทีหลังจากทราบผลที่ขึ้นบนจอ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ วิปฯ ฝ่ายรัฐบาลประท้วง โดยอ้างข้อบังคับข้อ 85 ขอให้ลงคะแนนใหม่ อ้างว่า มีความสับสนเนื่องจากสมาชิกไม่เข้าใจญัตตินี้ โดยมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลให้การรับรอง และประธานสภา ชวน หลีกภัย สั่งให้ลงคะแนนใหม่ตามมาตรา 83(2) คือ ใช้วิธีการเรียกชื่อสมาชิกให้ออกเสียงเป็นรายคน ท่ามกลางการประท้วงจาก ส.ส. ทั้งสองฝ่ายอย่างวุ่นวาย
ปิยบุตร แสงกนกกุล ประท้วงว่า ตามข้อบังคับข้อ 85 หมายถึงการ "นับคะแนนใหม่" จากคะแนนเสียงที่ออกเสียงกันไปแล้ว ไม่ใช่กรณีให้ "ลงคะแนนใหม่" ขณะที่ชวนพยายามจะให้มีการลงคะแนนใหม่ และเรียกชื่อ ส.ส. ให้มาทำหน้าที่เป็นกรรมการนับคะแนน แต่ว่า ส.ส. จากฝ่ายค้านไม่ยอมมารายงานตัวเพื่อทำหน้าที่กรรมการ พร้อมกับการยกมือประท้วงจาก ส.ส. ฝ่ายค้านนับร้อยคน และจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอีกจำนวนมากเช่นกัน
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ประธานวิปฯ ฝ่ายค้าน จึงเสนอให้พักการประชุม 5 นาที ชวน เห็นว่า มีความวุ่นวายมากจึงให้พักการประชุม 15 นาที แต่การประชุมหยุดไปนานร่วมหนึ่งชั่วโมงเต็ม
หลังกลับมาประชุม ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เพื่อไทย ประกาศว่าหากมีการนับคะแนนใหม่ ฝ่ายค้านจะเดินออก (Walk-out) จากที่ประชุม
ในส่วนของวิรัช รัตนเศรษฐ ได้อภิปรายว่า ที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้ เพราะมีบางพรรค โหวตสวนมติวิปฯ ฝ่ายรัฐบาล
สุดท้ายแล้ว ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จึงดำเนินการลงคะแนนใหม่ แต่พรรคฝ่ายค้านเดินออกจากที่ประชุม เมื่อนับองค์ประชุมมีสมาชิกแสดงตนทั้งหมด 92 คน ประธานจึงสั่งปิดการประชุมเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ในวันนี้ขึ้น โดย ส.ส. พรรคฝ่ายค้านไม่ทำการแสดงตนในที่ประชุม ในญัตตินี้ ซึ่ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลแสดงตนทั้งหมด 240 คน ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ ประธานสภาจึงต้องปิดประชุมสภาในวันนี้ และจะประชุมญัตตินี้อีกครั้งในการประชุมสภาฯครั้งถัดไป
—————–
วาระ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 เป็นเรื่องที่อยู่ในวาระเร่งด่วนเรื่องแรกที่สภาจะต้องพิจารณาในการเปิดประชุมสภาสมัยที่สอง โดยคนเสนอการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจาก ประกาศ คำสั่ง คสช.ฯ คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และคณะ ยื่นหนังสือให้สภาพิจารณาขอตั้ง กมธ.ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2562 โดยให้เหตุผลในการตั้ง กมธ. ว่าเนื่องจากเห็นว่าประกาศ คำสั่ง ที่ คสช. ออกยังบังคับใช้เป็นกฎหมาย และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยังส่งกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ต้องมี กมธ.ขึ้นมาศึกษาผลกระทบดังกล่าว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การลงมติในสภาผลออกมาว่า ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงน้อยกว่า แต่ถือเป็นครั้งที่สามแล้ว ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล "เสียงปริ่มน้ำ" ที่ตั้งขึ้นโดยกลไกของ คสช.
8 สิงหาคม 2562 วาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 9 เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของประธานสภาฯ ซึ่งมีข้อถกเถียงกันว่า ต้องระบุให้ประธานสภาเป็นกลาง หรือไม่ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 205 ต่อ 204 เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับ กำหนดให้ประธานสภาต้องเป็นกลาง เป็นข้อเสนอที่มาจากพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน
14 สิงหาคม 2562 วาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร ในข้อ (1) สภาสิ้นอายุ หรือ สภาถูกยุบ หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด ส.ส. พรรคเพื่อไทย ขอให้ตัดคำว่า “หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด” เนื่องจากเป็นคำสะท้อนให้นึกถึงการยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร ผลการลงมติ เสียงข้างมากของที่ประชุม 234 เสียง เห็นด้วยกับการตัดถ้อยคำดังกล่าวออกขณะที่เสียงที่สนับสนุนให้ยืนตาม กมธ.เสียงข้างมาก มีเพียง 223 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง