คณะกรรมการวัถตุอันตราย: เมื่อข้าราชการเป็นใหญ่ในการลงมติยกเลิกสารเคมีพิษ

22 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติสั่งห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังมีการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกสารเคมีดังกล่าวซึ่งสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อม
ในการลงมติ พบว่า มีผู้เข้าประชุมทั้งหมด 26 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 29 คน โดย
1. พาราควอต : เห็นควรห้ามใช้ 21 เสียง จำกัดการใช้ 5 เสียง
2. คลอร์ไพริฟอส : เห็นควรห้ามใช้ 22 เสียง จำกัดการใช้ 4 เสียง
3.ไกลโฟเซต : เห็นควรห้ามใช้ 19 เสียง จำกัดการใช้ 7 เสียง
โดยการลงมติดังกล่าว เป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะพิจารณาตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยมีคณะกรรมการทั้งสิ้น 29 คน เป็นข้าราชการ 19 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ได้แก่
1.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 2.อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 4.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 5.ผู้แทนกระทรวงกลาโหม 6.เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 7.ผู้แทนกระทรวงคมนาคม 8.อธิบดีกรมการขนส่งทางบก 9.อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 10.อธิบดีกรมการค้าภายใน 11.อธิบดีกรมประมง 12.อธิบดีกรมปศุสัตว์ 13.อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 14.ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 15.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชากฎหมาย 16.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเคมี 17.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ 18.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ 19.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 20.ผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 21.ผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายท้องถิ่น 22.ผู้แทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม 23.ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (คนที่ 1) 24.ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (คนที่ 2)25.อธิบดีกรมการแพทย์ 26.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 27.เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 28.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 29.อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดเดิมเคยมีมติชะลอการพิจารณายกเลิกสารเคมีทั้งสามชนิดและให้และให้กรมวิชาการเกษตรไปทำการศึกษาวิธีการจำกัดการใช้ แต่ภายหลังการเลือกตั้ง 'มนัญญา ไทยเศรษฐ' รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคภูมิใจไทยออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยุติการใช้สารเคมีดังกล่าว พร้อมกับการสนับสนุนของ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข รวมถึงเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตามข้อเรียกร้องของประชาชน แต่ทว่า ฝ่ายการเมืองก็ไม่สามารถไปลงมติได้ เพราะเป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการที่เสียงส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ
ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบไปด้วย ภาครัฐ ผู้นำเข้าสารเคมี เกษตรกรและผู้บริโภค ที่มี มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณายกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามชนิด และผลการลงมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 โหวตให้ยกระดับสาร 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และให้ยกเลิกใช้สาร 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยรัฐมนตรีจะนำมตินี้เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป จนออกมาเป็นผลการลงมติในวันนี้ในที่สุด
อย่างไรก็ดี หาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับที่มีการแก้ไขเมื่อปี 2562 มีผลบังคับใช้หลังครบกำหนด 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะทำให้สัดส่วนของคณะกรรมการเปลี่ยนแปลงไป เหลือเพียง 27 คน โดยการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือการเพิ่มฝ่ายการเมืองเข้ามา ดังนี้
1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน
2) กรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน ได้แก่ ปลักกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมประมวง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมศุลกากร เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
3) กรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 8 คน ที่คณะรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง