“เลือกตั้งใหม่” โดมิโน่ล้มรัฐบาล

แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลและมีการประชุมสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วถึงหนึ่งสมัย แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่สูง ภายใต้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า "จัดสรรปั่นส่วนผสม" ที่ใช้จำนวนคะแนนเสียงโหวตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต (ส.ส.เขต) เป็นฐานในการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) ซึ่งส่งผลให้สภาหลังเลือกตั้งมีพรรคการเมืองจำนวนมาก และไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขากในสภา กลายเป็น "สภาเสียงปริ่มน้ำ"
ดังนั้น เมื่อมีกระแสข่าวจะจัดการเลือกตั้งใหม่ย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา เพราะผลลัพธ์การเลือกตั้งหลังจากนี้อาจจะทำให้พรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงสูสีกับรัฐบาล พลิกกลับมามีคะแนนเสียงมากกว่า และทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้การลงมติเห็นชอบในกฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 หรือ การลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือเรียกได้ว่า การเลือกตั้งซ่อมดังกล่าวอาจจะกลายเป็น "โดมิโน่ล้มรัฐบาล" อย่างที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวไว้
สำหรับเขตที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ตอนนี้มีอย่างน้อย 4 เขต ได้แก่
๐ กำแพงเพชร เขต 2 พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากต้องคำพิพากษาจำคุก (อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา)
๐ ขอนแก่น เขต 7 นวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากต้องคำพิพากษาจำคุก (อยู่ระหว่างการวินิจฉัย กกต.)
๐ สมุทรปราการ เขต 5 กรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โดนใบเลือกตั้ง เตรียมจัดเลือกใหม่ (อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาล)
๐ เลือกตั้งใหม่ นครปฐม เขต 5 จุมพิตา จันทรขจร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ลาออก เนื่องจากปัญหาสุขภาพ 
ซึ่งเขตที่มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นเขตที่พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะมาก่อน 2 เขต และเป็นเขตที่พรรคร่วมรัฐบาลเขตชนะมาก่อน 2 เขต หากมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม พรรคฝ่ายค้านจะมีเสียงในสภา 246 เสียง (แต่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ที่นั่ง) พรรครัฐบาลจะมีเสียงในสภา 252 เสียง และมีฝ่ายค้านอิสระอีก 2 เสียง แต่ถ้าพรรคฝ่ายค้านชนะทุกเขตจะทำให้เสียงของพรรคฝ่ายค้านรวมเป็น 248 เสียง ในขณะที่รัฐบาลจะมีเพียง 250 เสียง ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ตำแหน่งประธานสภาและรองประธานสภาอีก 2 คน ซึ่งมาจากพรรครัฐบาลนั้น โดยมารยาททางการเมืองแล้วต้องงดออกเสียง ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านจะมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี เขตเลือกตั้งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ สมุทรปราการ เขต 5 เนื่องจากเขตดังกล่าว กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผลการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวจะต้องนำไปคำนวณที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ ดังนั้น การเลือกตั้งในเขตนี้จะส่งผลรวมต่อที่นั่งของภาพรวมในสภา ซึ่งแตกต่างกับเขตอื่นที่เป็นการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากมี ส.ส. ที่ขาดคุณสมบัติ หรือลาออก ดังนั้น ผลของการเลือกตั้งดังกล่าวจะไม่นำไปคำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์