พล.ท.สรรเสริญ ถูกยื่นตรวจสอบ กรณีให้ลูกน้องช่วยพลังประชารัฐหาเสียง

17 กันยายน 2562 ที่รัฐสภา จรูญ ไชยศร รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร  
ซึ่งในการยื่นหนังสือได้ขอให้สอบข้อเท็จจริงกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยใช้อำนาจเพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ด้วยการสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเผยแพร่เอกสารหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 และยังสั่งการให้โจมตีอดีตนายกรัฐมนตรีในกลุ่มไลน์กรมประชาสัมพันธ์ กับสำนักโฆษก ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง
นอกจากนั้น ยังมีการยื่นตรวจสอบ พล.ท.สรรเสริญ เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารฝ่ายนิทรรศการและศิลปกรรมของกรมประชาสัมพันธ์ วงเงิน 25 ล้าน เพราะเป็นการใช้งบประมาณอย่างเร่งรีบ ไม่เหมาะสม และเมื่อผ่านการตรวจรับและจ่ายเงินแล้วยังปรากฏว่าอาคารชำรุด ฝ้าเพดานและอุปกรณ์เกิดความเสียหาย จึงอยากร้องขอให้พิจารณาตรวจสอบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมด้วย
ประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้ว โดยในเอกสารที่ส่งไปร้องเรียนนั้น ระบุข้อกล่าวหาไว้ 4 เรื่องด้วยกันประกอบด้วย
1.การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
2.การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
3.ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 78
4.มาตรา 82 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน และการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ข้อ 8
โดยหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่มีการยื่นพร้อมกับข้อร้องเรียนนั้น คือภาพจากกลุ่ม Line ของกรมประชาสัมพันธ์และสำนักโฆษกรัฐบาล สำนักเลขานุการนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฎว่า พล.ท.สรรเสริญ สั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชาโดยมิชอบ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาโจมตีบุคคล นักการเมือง หรือพรรคการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเมือง เช่นโจมตี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมสั่งการให้มีการนำข้อมูลที่เป็นไปในลักษณะสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมประชาสัมพันธ์จังหวัดต่างๆ ด้วย
คสช. ใช้ ม.44 แต่งตั้ง "พล.ท.สรรเสริญ" เป็นรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  
พล.สรรเสริญ แก้วกำเนิด หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับตำแหน่งเป็นโฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปี 2551 มีหน้าที่เป็นโฆษกของกองทัพบก ต่อมาในปี 2553 เป็นโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในปี 2557 หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปี 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 59/2559  เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 และการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ ให้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด ผู้ชํานาญการกองทัพบก โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีรักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว และรักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลคสช. ตั้ง พล.ท.สรรเสริญ เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เต็มตัว
จนกระทั้ง วันที่  7 เมษายน 2561 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการทหารพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ข้าราชการทหารพ้นจากตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก กระทรวงกลาโหม และแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ พลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (นักบริหารระดับสูง) สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน (17 กันยายน 2562)  
อย่างไรก็ดี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 กำหนดข้อห้ามว่า ด้วยเรื่องสำคัญๆ สำหรับรัฐบาลรักษาการไว้ ได้แก่ ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายและถอดถอนบุคลากรของรัฐ ห้ามการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ห้ามก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดผลในการเลือกตั้ง โดยบางเรื่องสามารถกระทำได้หากเป็นไปตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 
แต่ทว่า รัฐบาลคสช. กลับกล่าวอ้างว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันถือว่าเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่รักษาการ ไม่เหมือนกับกรณีการยุบสภาแล้วรัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง ทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการยังสามารถทำได้ โดยไม่มีการตรวจสอบหรือห้ามปราม และนำไปสู่การยื่นตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ  พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ใช้ตำแหน่งหาทีเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของบางกลุ่ม