วงเสวนาฟ้องปิดปากชี้ แม้มีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขการฟ้องปิดปากแต่อาจจะไม่มีผลบังคับใช้ได้จริง

4 Persons

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดวงคุยเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ของนักกฎหมาย ในส่วนของกลไกกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากในประเทศไทย และนำเสนอรายงาน “ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี” ซึ่งพบว่าแม้ทางฝ่ายรัฐจะมีการเพิ่มข้อกฎหมายที่เหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาการฟ้องคดีปิดปาก แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่มีผลบังคับใช้จริงเนื่องจากคดีปิดปากในประเทศไทยมักจะเป็นคดีอาญาที่ฟ้องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กฎหมายที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ใช้เพื่อแก้ปัญหาประชาชนฟ้องคดีกันเอง

 

17 มิถุนายน 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาสถานการณ์การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ การดำเนินคดี SLAPPs ที่เรียกกันเป็นชื่อเล่นว่า “คดีปิดปาก” วงคุยเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ของนักกฎหมาย ในส่วนของกลไกกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากในประเทศไทย และนำเสนอรายงาน “ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี” ซึ่งผู้ร่วมเสวนา ประกอบไปด้วย ภาวิณี ชุมศรี จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ,สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ,บัณฑิต หอมเกษ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 
คดี SLAPPs ในไทยส่วนใหญ่ถูกฟ้องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ฺีBundit Homkate
 
เริ่มวงเสวนาโดย บัณฑิต หอมเกษ อดีตเจ้าหน้าที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้นำเสนอประเด็นในรายงาน “ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี” โดยเล่าถึงเรื่องของ SLAPPs หรือ "การฟ้องปิดปาก" ในไทยว่าอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาไว้อย่างมากมาย ซึ่งที่มาของคำว่า SLAPPs พ้องเสียงกับคำว่าตบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแต่คดีหมิ่นประมาท แต่อาจจะรวมถึงข้อหาอื่นๆ เช่น ลักทรัพย์ หมิ่นประมาท ก็สามารถเป็น SLAPPs ได้
 
SLAPPs ย่อมาจากคำว่า A Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือการฟ้องคดีเพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ ซึ่งกำเนิดจากอาจารย์ทางกฎหมายในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จนพัฒนาเป็นร่างกฎหมาย และปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีกฎหมาย Anti-SLAPPs ออกมาบังคับใช้ทั้งหมดแล้ว 32 รัฐ
 
บัณฑิตได้แยกองค์ประกอบของการเป็นคดี SLAPPs ต้องเข้าองค์ประกอบสี่แบบ คือ หนึ่ง เป็นการฟ้องคดีแพ่ง สอง เป็นการฟ้องต่อบุคคลที่อยู่นอกอำนาจรัฐ สาม เป็นการฟ้องคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพ และสี่ เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ แต่บัณฑิตก็เสริมว่าไม่จำเป็นต้องตรงกับองค์ประกอบอย่างเคร่งครัด เช่นในฟิลิปปินส์ก็มีการปรับใช้ ไม่ใช่เพียงคดีแพ่ง แต่อาจจะมีคดีอาญาประกอบด้วยจากการฟ้องของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
บัณฑิตพูดถึงสถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย ว่าการฟ้องคดีประเภท SLAPPs ในประเทศไทยเช่น บริษัทฟ้องคดีต่อชาวบ้าน ผู้ฟ้องจะไม่ให้ค่อยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการฟ้องคดีเนื่องจากปกป้องชื่อเสียงของตนเอง แต่จะให้เหตุผลในการฟ้องว่าเนื่องจากถูกทำลายชื่อเสียงและทำให้ค้าขายไม่ได้ และจะไม่มีมองว่าผู้ถูกฟ้องทำไปเพราะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
 
การฟ้องคดี SLAPPs ถือว่าเป็นการส่งสัญญานต่อคนอื่นๆในสังคมว่าอย่ามายุ่งในประเด็นนี้ เช่นคดีฟาร์มไก่แห่งหนึ่งที่ฟ้องทุกคนที่เกี่ยวข้องในคดีและรายงานข่าว หรือรัฐที่ฟ้องคดีประชาชนหลังรัฐประหาร จากการศึกษาข้อมูลการฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2540 ที่ประชาชนเริ่มมีการถูกฟ้องคดี SLAPPs มากขึ้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนรู้สึกถึงสิทธิเสรีภาพมากขึ้น จึงมีการถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น โดยเก็บข้อมูลได้ทั้งหมด 212 คดี ซึ่งการฟ้องกลั่นแกล้งเริ่มมีมากขึ้นหลังปี 2556 บริบทการฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทยเป็นการฟ้องคดีอาญา มีการฟ้องคดีแพ่งโดยเอกชนเพียง 9 คดี ที่เหลือเป็นการฟ้องคดีอาญาผ่านรัฐทั้งหมด กระบวนการทั้งหมดจึงเป็นการฟ้องคดีผ่านกระบวนการอัยการ และรัฐกลายเป็นโจทก์แทน
 
กลุ่มคนที่ถูกฟ้องคดีมากที่สุดจะเป็นกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง รองลงมาจะเป็นกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อมคัดค้านโครงการของรัฐ เช่น เหมืองแร่,เขื่อน และโรงงาน รวมไปถึงนักวิชาการ และญาติของผู้เสียหาย หรือผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนกฎหมายที่นำมาฟ้องเยอะที่สุดคือหมิ่นประมาท หลังจากนั้นจะใช้ พ.ร.บ.คอมฯ หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และสุดท้ายคือการใช้ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ในข้อหาลักทรัพย์ เช่นคดีแรงงาน
 
ประเด็นสุดท้ายจากการเก็บข้อมูลสรุปได้ว่ามีรูปแบบของการฟ้องประกอบไปด้วย ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีในเขตอำนาจศาลที่ไกลจากภูมิลำเนาของจำเลย, มีการแยกฟ้องจากเหตุการณ์เดียวกันหลายคดี และการกระจายความกลัวให้โดนหลายคน เป็นต้น
 
ต่อมาบัณฑิตเสนอแนวคิดของการแก้ปัญหาในคดี SLAPPs ในประเทศไทย คือ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยยังไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ อาจจะต้องแก้ทั้งกฎหมายแพ่ง และอาญา การแก้กฎหมายที่มีโทษทางอาญา เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ไม่ควรมีโทษทางอาญา พ.ร.บ.คอมฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ควรนำมาใช้กับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก
 
ในชั้นอัยการมีประเด็นการไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ในชั้นศาลเพิ่มขั้นตอนตรวจสอบคำฟ้องก่อนจะนัดพิจารณาคดี แต่ในชั้นศาลมีความน่าเป็นห่วงเนื่องจากตรวจสอบกระบวนการไม่ได้
 
ในประเด็นของกฎหมายที่แก้ใหม่ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 เห็นว่า ยังไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันยังไม่ชัดเจนเนื่องจากในประเทศไทยไม่เคยมีกระบวนการกำหนดไว้ ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นการจำกัดสิทธิชาวบ้านที่ต้องการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องสิทธิบ้าง แต่ศาลอาจจะมองว่าเป็นการฟ้องกลั่นแกล้งได้
 
อีกประเด็นบัณฑิตเห็นว่า ในคดีที่จำเลยถูกฟ้องปิดปากควรมีการชดเชยเยียวยาเนื่องจากการฟ้องกลั่นแกล้งมีค่าใช้จ่ายในการสู้คดี หากยกฟ้อง ก็ต้องฟ้องคดีกลับ และเสียต่าใช้จ่ายอีก ควรมีการชดเชย ชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษ เช่นให้ศาลตัดสินว่าเป็นคดีแกล้งฟ้องควรให้โจทก์ชดเชยค่าต่อสู้คดีให้แก่จำเลย ซึ่งค่าต่อสู้คดีอาจจะรวมถึงค่าเดินทางไปศาล ค่าเสียโอกาสในการทำงาน ซึ่งนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความในคดีปกติ พร้อมทั้งยกตัวอย่างในกรณีของต่างประเทศเช่นการให้กรรมการบริหาร และกรรมการของบริษัทที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิด และชดใช้ค่าเสียหายในคดีด้วย
 
ประเด็นสุดท้ายบัณฑิต เสนอว่าควรเพิ่มกระบวนการให้พนักงานสอบสวน และอัยการ มีบทบาทในการพิจารณาคดีที่เข้าข่าย SLAPPs อย่างเร่งด่วน และมีอำนาจในการตัดสินใจในการฟ้องคดี
 
กฎหมาย Anti-SLAPPs ที่ออกมาอาจจะไม่มีผลบังคับได้ใช้จริง
 
Sanhawan SeeSod
 
สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า ในเรื่องของกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดหรือ Anti-SLAPPs ฟังแล้วอาจจะฟังเป็นไอเดียแบบประเทศสหรัฐอเมริกามาก ซึ่งเป็นประเทศพวกที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Common Law ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยึดตามบรรทัดฐานคำตัดสินเดิม ไม่มีประมวลกฎหมาย) ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทย แต่ในความเป็นจริง ที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็นระบบกฎหมายแบบ Civil Law หรือกฎหมายที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรแบบประเทศไทย แต่ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับ Anti-SLAPPs และมีการบังคับใช้แล้ว
 
มีการตั้งคำถามอีกว่าทำไมยุโรปไม่มีการพูดถึงเรื่อง Anti-SLAPPs กันบ้าง สัณหวรรณเล่าต่อว่าเนื่องจากในภูมิภาคยุโรปมีศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประชาชนสามารถฟ้องรัฐได้เลย หากรัฐทำสิ่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เพียงไม่ได้ใช้ชื่อกฎหมายว่า Anti-SLAPPs เหมือนกับทางสหรัฐอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ
 
ในส่วนของประเด็นการแก้กฎหมายในประเทศไทย สัณหวรรณเห็นว่าประเด็นปัญหาในกฎหมายที่แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 ประการแรกมีปัญหาในคำว่า “คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์” เนื่องจากคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์นั้นแคบมาก ถ้าราษฎรไปแจ้งความกับตำรวจ คดีจะผ่านอัยการก็ไม่เข้ากับมาตรานี้ อีกทั้งคดีปิดปากในประเทศไทย อย่างเช่นประเด็นการชุมนุมทางการเมือง ประเด็นการซ้อมทรมาน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้นที่เป็นโจทก์ รวมไปถึงคดีแพ่ง ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรานี้เช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้กฎหมายข้อนี้ไม่มีผลบังคับใช้จริง
 
สัณหวรรณ เสริมอีกว่า ในกฎหมาย Anti-SLAPPs ในต่างประเทศ ที่เขียนไว้ประมาณนี้ได้เนื่องจากกฎหมายที่นำมาใช้ฟ้องปิดปากในต่างประเทศจะไม่มีโทษทางอาญา เช่นหมิ่นประมาท ในต่างประเทศก็ไม่มีโทษทางอาญา และไม่ใช่ว่าทุกประเทศประชาชนจะสามารถฟ้องคดีเองได้ ต้องผ่านกระบวนตำรวจและอัยการ ซึ่งตำรวจและอัยการก็จะมีหน้าที่ต่างจากอัยการในประเทศไทยนิดหน่อย อัยการจะสามารถเข้ามาสืบสวนข้อเท็จจริงในคดีเหมือนกับที่เคยเห็นในหนังต่างประเทศ
 
ปัญหาประการที่สองของ มาตรา 161/1 ในคำว่า "ถ้าความปรากฎต่อศาลเอง" และ "ถ้ามีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมา" ในมาตรานี้จะเขียนไว้ไม่ชัดเจนว่าเป็นอำนาจศาลโดยเฉพาะหรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของทนายที่จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าจะสามารถยื่นพยานหลักฐานเพื่อคัดค้านผู้ฟ้องคดีต่อศาลได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่มีใครทดลองการใช้ช่องทางนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าหากยื่นคำร้องคัดค้านผู้ฟ้องคดีได้ แล้วศาลเห็นจะปัดคดีออกไปไม่ให้ฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากยอมให้ยื่นคำร้องเข้ามาพิสูจน์ได้ก็จะทับกับกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องที่เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องทำในการรับคำฟ้องจากคดีที่ราษฎรที่เป็นโจทก์อยู่แล้ว และน่าจะเป็นอำนาจของศาลเองเหมือนเดิม ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง
 
ในส่วนของการไต่สวนมูลฟ้องจากที่เคยติดตามคดีมา สัณหวรรณ เสริมว่า ส่วนมากศาลจะมองคดีที่ฟ้องเองว่าคดีมีมูลไว้ก่อน หรือรับฟ้องไว้ก่อน เนื่องจากศาลจะไม่รับฟังข้อต่อสู้ที่ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมาย ต้องสู้คดีในกระบวนการสืบพยานเพื่อให้พิสูจน์ถึงประเด็นนี้ จึงทำให้เกิดเป็นคดีแทบจะทุกคดี
 
อีกประเด็นหนึ่งสัณหวรรณพูดถึงประเด็น ในคำว่า "ไม่สุจริต บิดเบือน" ตามมาตรา161/1 จากการคุยกับผู้ร่างยอมรับว่าคำว่า "ไม่สุจริต บิดเบือน" ตีความได้กว้าง เพื่อเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคดีเอง และอีกประเด็นจากการตามงานเสวนาของศาลมีการพูดถึงคำว่า "ไม่สุจริต บิดเบือน" หรือกฎหมายข้อนี้จะนำมาใช้อย่างไร พบว่าศาลมีการระบุไว้สามประเด็นคือ หนึ่งประเด็นฟ้องศาลห่างไกล สองถูกฟ้องคดีหลายๆ ศาล และสุดท้ายประเด็นการฟ้องกลับในคดีฟ้องกลุ่มคนเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อม
 
ประเด็นการตัดสินของศาลคือการยืนยันว่าสามารถฟ้องคดีได้เพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้ฟ้อง และกระทบเสรีภาพของผู้ฟ้อง แม้จะอ้างหลักเสรีภาพในการแสดงออก แต่ตามปกติแล้วหลักเสรีภาพในการแสดงออก มีข้อยกเว้นคือไม่กระทบ เสรีภาพ และชื่อเสียง ซึ่งหากมองตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เราเป็นภาคีสมาชิก มีการตีความไว้ว่า หลักการแสดงเสรีภาพการแสดงออกต้องน้ำหนักมากกว่าข้อยกเว้น และข้อยกเว้นที่ศาลอ้างตามกฎหมายระหว่างประเทศก็มีการระบุไว้ว่าข้อยกเว้นให้ใช้ในกรณีใดบ้าง คือ หนึ่งต้องเขียนให้ชัดเจนว่าสิ่งใดทำให้ได้ หรือไม่ได้ สองต้องจำเป็น คือเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะเลือกใช้ และข้อสุดท้ายต้องใช้ข้อยกเว้นอย่างได้สัดส่วน ใช้แต่พอดีไม่ใช้ในระยะยาว แต่ศาลไทยมักชั่งน้ำหนักของหลัก และข้อยกเว้นไว้เท่าๆ กัน
 
ในประเด็นโทษหมิ่นประมาททางอาญาควรจะเอาโทษทางอาญาออกจากโทษหมิ่นประมาท แต่ควรให้มีการเรียกค่าเสียหายทาแพ่งแทน โดยให้เพิ่มสัดส่วนของโทษทางการแพ่งให้มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
มาตรา 161/1 แท้จริงแล้วอาจจะเพิ่มอำนาจศาล และไม่ได้มีไว้เพื่อคดี SLAPPs 
 
 
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจากประเด็นคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ขณะนี้มีคดีอยู่180 กว่าคดี ที่ถือว่าเข้าข่าย SLAPPs ซึ่งห้าปีที่ผ่านมาไม่มีการลดลงเลย มีแต่คดีเพิ่ม และต้องเพิ่มจำนวนคนทำงาน เพิ่มจำนวนทนายความ ขึ้นทุกปี ในหน้าที่หลักของทนายความที่ศูนย์ก็ต้องสู้คดีให้ศาลยกฟ้องให้ได้ แต่ก็ตั้งคำถามไปด้วยว่าทำอย่างไรให้การฟ้องคดีน้อยลง
 
ในส่วนของการเพิ่มมาตรา 161/1 ภาวิณีมีความเห็นว่ากฎหมายข้อนี้ไม่ได้แก้มาเพื่อคุ้มครองคนที่มาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และไม่ได้ใช้เพื่อแก้ไขคดีปิดปาก ข้อความทางกฎหมายวกไปวนมา และเห็นว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นอำนาจของศาล ในประโยคที่บอกว่าให้ศาลเห็นเองนั้น ก็เป็นอำนาจเต็มของศาล ซึ่งในคดีที่เคยทำ ไม่มีเลยที่เป็นคดีที่โจทก์มาฟ้องคดีเอง ใช้กระบวนการผ่านอัยการทั้งหมด ยกเว้นคดีหมิ่นประมาท คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ กกต. ฟ้องคดีเอง
 
และคดีส่วนใหญ่ไม่ใช่คดีที่ผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีเอง และคดีส่วนใหญ่ก็จะเป็นคดีประเภท ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา116 ข้อหายุยงปลุกปั่น, พ.ร.บ.คอมฯ ซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดิน เป็นความผิดต่อรัฐ พนักงานสอบสวน ทหาร ตำรวจ หรือใครก็ตามที่พบความผิดที่ไหนก็แจ้งความร้องทุกข์ได้ หรืออย่างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใครจะร้องทุกข์ก็ได้ เช่นเห็นข่าวในทีวีที่เชียงราย จะฟ้องคดีที่เชียงรายก็ได้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งกรณีพวกนี้เป็นคดีที่ฟ้องคดีโดยรัฐ และมีอัยการเป็นโจทก์ ไม่ใช่คดีที่ "ราษฎรเป็นโจทก์" ไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 161/1
 
อีกประเด็น ภาวิณีพูดถึงปัญหาของนักกฎหมายไทยคือ ในคำฟ้องคดีอาญาจะอธิบายคำฟ้องสั้นๆ เพื่อให้เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ไม่ได้อธิบายบริบทอย่างอื่นเพิ่มเติม ซึ่งศาลจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าคดีนี้เป็น SLAPPs หรือไม่ เนื่องจากบางครั้งคำฟ้องมีแผ่น ถึงสองแผ่นเท่านั้น
 
ในส่วนของเจตนาของผู้ร่างกฎหมายนั้น ภาวิณีเห็นว่าจากการดูมาตรา 161/1 วรรค 2 บอกไว้ชัดเจนว่าต้องการใช้กับคนที่มีคดีอาญาแล้วหนีคดี หรือเรียกง่ายๆว่าเป็น "คนไม่ดี" เช่นโจทก์มาฟ้องคดี แต่เคยต้องโทษคดีอาญาแล้วหนีคดี ไปฟ้องคดีศาลอาจจะมองว่าเป็นคนไม่ดี หรือคนที่ไม่สุจริตมาฟ้องคดี อาจจะไม่รับฟ้องคดีนั้นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตจากการทำงานเป็นทนายความ ไม่เคยได้ร่วมพูดคุยกับผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว แต่อยากจะขอให้ผู้ร่าง หรือศาลออกมาอธิบายการใช้กฎหมายมาตรา 161/1 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่านี้ด้วย

 

สุดท้ายในส่วนของการมีมาตรา 161/1 ที่มีขึ้นมาก็เห็นว่าการเกิดขึ้นมาแสดงว่าการแก้ปัญหาเรื่อง SLAPPs ในประเทศไทย เริ่มนับหนึ่งแล้ว แม้จะเห็นว่าไม่ครอบคลุม แต่ก็ทำให้ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน และทุกคนต้องช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ต่อไป