เครือข่ายประชาชนร่วมแถลงวาระแรก ปักหมุด ! ปลดอาวุธ คสช.

13,409 คือจำนวนอย่างน้อยของประชาชนที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่งคสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ละเมิดสิทธิประชาชนฯ หรือเรียกอีกชื่อว่า กฎหมายปลดอาวุธคสช.
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ทางตัวแทนเครือข่าย 23 องค์กรภาคประชาชนได้เข้าพบ 'ชวน หลีกภัย' ประธานรัฐสภา เพื่อยื่นริเริ่มการเข้าชื่อเสนอ และจะเดินทางไปยื่นรายชื่ออีกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนประดิพัทธ์  เนื่องจากในปัจจุบันอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ระหว่างนี้ทางเครือข่ายก็จัดเวทีสาธารณะเพื่อสรุปสถานการณ์และแถลงวาระแรก ปักหมุด ปลดอาวุธ คสช.  
วันนี้(23 มิถุนายน 262) ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  เครือข่ายประชาชนจัดงานกิจกรรมวาระแรกประชาชน ปักหมุด ปลดอาวุธ คสช. โดยเวทีช่วงแรกเป็นของเครือข่ายประชาชนร่วมกันแถลงเหตุผลที่ต้องเข้าชื่อเพื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.35 ฉบับ(มีบางฉบับที่คสช.ยกเลิกเองไปแล้วเหลือจริงๆประมาณ 22 ฉบับ ) โดยรวบรวมตัวแทนจากทุกเครือข่ายทุกประเด็นที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ทั้ง 23 องค์กร มาร่วมแถลง และนี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนจากเวที
เสวนาห้ามจัด-ทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ เสียงสะท้อนในยุคสมัยคสช.
'วัชรพล นาคเกษม' ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 คสช.เข้ามาควบคุมจำกัดสิทธิเสรีภาพ คนรุ่นใหม่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วย โดยเฉพาะคำสั่งที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน  กิจกรรมหลายๆอย่างถูกจำกัด เช่นงานเสวนา ถูกจำกัดตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย คณะ ถูกแทรกแซงและกดดัน เลยยากมากๆที่จะจัดกิจกรรม ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมปลดอาวุธ คสช. ตั้งแต่ปี 2561 โดยทำกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อกระจายไปตามที่ต่างๆตลอด เพื่อให้คนในมหาวิทยาลัยต่างๆได้เข้าร่วม ทำให้เห็นว่าพลังของคนรุ่นใหม่ในหลายๆพื้นที่ก็มีส่วนช่วยในการจัดทำรายชื่อด้วย และอยากได้สิทธิเสรีภาพที่ถูกจองจำกลับคืนมา
ด้าน  'เนื่องนิตย์' ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่าในส่วนของเครือข่ายสลัม 4 ภาคส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากกรณีที่อยู่อาศัย เช่น กรณีรณรงค์เรื่องที่อยู่อาศัย ปกติทุกปีจะมีการรณรงค์เรื่องที่อยู่อาศัยและสามารถกำหนดทิศทางได้ว่าจะไปรณรงค์ที่ไหนเส้นทางไหนแต่หลังจาก 3-4 ปี ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ หรือถูกจำกัดพื้นที่ และเวลาเดินรณรงค์จะมีทหารมานั่งประกบเป็นรายบุคคลรวมไปถึงการถูกเรียกไปปรับทัศนคติและมีการเซ็น MOU ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกด้วย อีกทั้ง แกนนำก็จะจะถูกทหารไปถามที่บ้านว่าวันนี้จะไปไหน จะออกไปเคลื่อนไหวหรือไม่ รวมถึงมีการข่มขู่ญาติพี่น้องของคนที่ออกมาเคบื่อนไหวซึ่งส่งผลให้ครอบครัวเกิดความกังวล
อภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ก็สะท้อนบรรยากาศทางการเมืองในยุคคสช. แบบเดียวกันว่า อาวุธ คสช.มีหลายอัน จากประกาศคำสั่ง เราให้ความสำคัญ 35 ฉบับ ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลยกว่าจะได้ 10,000 รายชื่อ เราคุยทั้งหมดเห็นด้วยทั้งหมด แต่บางส่วนไม่อาจลงรายชื่อได้ เพราะถูกเพาะสร้างความกลัวจาก คสช. เช่นไปปรับทัศนคติ เยี่ยมบ้าน 
"พอเราทำกิจกรรมลักษณะแบบนี้ก็จะถูกเรียกไปคุย สิทธิเสรีภาพถูกตัดสินลงอย่างสิ้นเชิง มันแปลกมากที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน รัฐเผด็จการที่ผ่านมาเสพติดกับอำนาจตามมาตรา 44 ทำให้ประชาชนถูกกดทับ ถูกทำให้กลัว หลายๆรูปแบบ คือมันมีกลไกของรัฐทั้งในเครื่องแบบนอกเครื่องแบบคอยแซะตลอด และวาทกรรมเรื่องความมั่นคง ก็เป็นคำถามในใจว่าความมั่นคงเป็นความมั่นคงของคนไทยหรือ คสช. ทำให้เกิดความหวาดกลัว วันนี้เป็นก้าวแรก และมีอีกหลายก้าวที่ต้องไปให้ถึง นี่คือเจตจำนงของประชาชน " อภิวัฒน์กล่าว
ด้าน 'ธนพร วิจันทร์' คณะกรรมการประสานสมานฉันท์แรงงานไทย เปิดเผยว่าสิ่งที่เครือข่ายแรงงานไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างแรกคือการถูกเรียกปรับทัศนคติภายหลังรัฐประหารรวมถึงการคุกคามครอบครัว ด้วยการไปบอกให้ครอบครัวห้ามสมาชิกออกมาเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานนิยมระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ในการทำงานของแรงงานก็จะถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนอยู่แล้ว แต่ภายหลังรัฐประหารเครือข่ายไม่สามารถออกมาทำอะไรได้เลย แม้แต่การจัดการชุมนุมเพราะมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้ไม่สามารถออกมาเรียกร้องหรือบอกกล่าวอะไรกับสังคมได้ เรื่องนี้จึงป็นปัญหาสำคัญ
"เครือข่ายแรงงานไทยเราได้ค่าแรงแค่วันละ 300 กว่าบาท ดังนั้นเราไม่มีสายป่านที่จะไปสู้กับนายทุนได้ เพราะเหตุนี้เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราถูกกระทำมันไม่ใช่เราก็ต้องลุกขึ้นมาและออกมาร่วมลงชื่อเพื่อปลดอาวุธคำสั่งของ คสช. เนื่องจากเราไม่ต้องการระบอบเผด็จการเราต้องการระบอบประชาธิปไตย เราจะไปหวังพึ่ง 500 คนในรัฐสภาอย่างเดียวก็ไม่ได้เนื่องจาก 250 สว.มาจากไหนเรายังไม่รู้" ธนพรกล่าว
ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ ตัวแทนเครือข่ายสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขมวดปมสุดท้ายว่า ในมุมมองของคนทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เราเห็นว่าประชาชนถูกคุกคามมากขึ้นภายหลังการปกครองในระบอบ คสช. และกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทรัพยากร การปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงทนายความที่ออกมาช่วยเหลือคดี ก็จะถูกยับยั้งเพื่อไม่ให้นำปัญหาดังกล่าวออกมาสู่ประชาชน
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่าประกาศคำสั่งของ คสช. ที่ประกาศออกมานั้น เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของประชาชนจึงเป็นสาเหตุที่เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกมาร่วมลงชื่อเพื่อปลดอาวุธคสช. ในครั้งนี้
ปัญหา "สิทธิในที่ดินทำกิน-สิ่งแวดล้อม" โจทย์ใหญ่หลังยุคคสช.
ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ พูดถึง การเฝ้าระวังของทหาร ประกบไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องจัดสรรที่ดิน สปก.  เลยลุกขึ้นมาสู้มาเรียกร้องต่อรัฐบาล ผลกระทบจากคำสั่ง คสช.มีผลอย่างมากต่อเรา โดยเฉพาะการทำ EIA EHIA ในการเข้ามาจัดการพื้นที่สปก. จากคำสั่ง 35 ฉบับ เราได้รับผลกระทบถึง 13 ฉบับ การยกเว้นผังเมืองและให้ออกจากพื้นที่ ถ้าเรียกร้องต่อต้านก็จะถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และหาว่าเราเป็นพวกผู้มีอิทธิพล ทางทหารควบคุมตัวผู้นำเราไปที่ค่ายทหาร เราคาดหวังว่าพรรรคการเมืองที่เราเลือกเข้าไปจะเข้าไปแก้กฎหมาย ฝากถึงตัวแทนของประชาชนที่เราเลือกไปให้สนับสนุนต่อร่างกฎหมายฉบับนี้
สุนทร ดวงณรงค์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มรักบ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ   ผลกระทบจากคำสั่งคสช.ที่ประชาชนได้รับผลกระทบคือ การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชและโรงงานไฟฟ้า  โดยชาวบ้านถูกคุกคามและการถูกจับตาเกี่ยวกับการรวมกลุ่มประชุมเกิน 5 คน รวมถึงการเรียกชาวบ้านไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหาร นอกจากนี้ชาวบ้านถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว 
อีกทั้ง ยังมีเรื่องผังเมือง 4/2559 มีการยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมสำหรับโรงงานไฟฟ้าขยะโรงงานไฟฟ้าชีวมวลโรงงานกำจัดขยะ   และการละเมิดสิทธิชุมชนมากมายทั้งเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยเหมืองแร่ถ่านหินลำปางและการทวงคืนผืนป่าที่ละเมิดสิทธิประชาชน  ส่วนรูปแบบการคุกคามในพื้นที่นั้นช่วงที่มีการชุมนุมจะมีทหารและตำรวจปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมเวลทีรับฟังความคิดเห็น
ด้าน อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมปลดอาวุธ คสช. เพราะตั้งแต่หลังรัฐประหารที่กระทบกับประชาชนส่วนหนึ่ง ที่อยู่ตามชนบทและอยู่พื้นที่ทับซ้อนอุทยาน ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง 64/2557 ทวงคืนผืนป่า คนประมาณ 1.5 ล้านต้องออกจากพื้นที่  66/2557 การดำเนินการใดๆต้องไม่กระทบกับผู้ยากไร้ แต่สุดท้ายก็ได้รับผลกระทบหมด 
สิ่งที่เป็นผลกระทบเกิดขึ้นจริงๆ มีพี่น้องทั่วประเทศ ถูกทำลายที่ดินทำกิน จากการทวงคืนผืนป่า ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน  จัดการ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของกระทรวงทรัพยากร ทำลายพื้นที่และยึดพื้นที่ทำกิน  แต่ปัญหาคือนายทุนกลับรอด แต่รัฐบาลนี้ยังให้นายทุนต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี สำหรับชาวบ้านนอกจากถูกไล่ที่แล้วยังถูกดำเนินคดีอีกด้วย  ชาวบ้านนอกจากถูกฟ้องคดีอาญา ยังถูกฟ้องคดีแพ่ง ทั้งคดีไกรทองและคดีซับหวาย ข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านนำเสนอต่อพนักงานสอบสวน สุดท้ายเขาอ้าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ฉบับใหม่ 
"สิ่งที่เราทำในการปลดอาวุธ คสช. คือการแสดงออกว่าเราไม่เอาด้วยกับคำสั่งนี้ ต้องยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ละเมิดสิทธิประชาชนทุกฉบับ" อรนุชกล่าว