ยุคสมัยที่ใช้คดี “ปิดปาก” พูดเรื่องเขื่อน-แรงงาน-ซ้อมทรมาน-การเมือง ถูกฟ้องได้หมด

4 Persons
สมาคมนักกฎหมายสิทธิจัดวงคุยถอดบทเรียนจำเลยที่ถูกฟ้องคดี SLAPPs เพื่อสร้างภาระและอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในแต่ละประเด็นต่างกัน จากประสบการณ์หลายคดีเห็นข้อสรุปตรงกันว่า การดำเนินคดีมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการแสดงความคิดเห็น สร้างผลกระทบ สร้างความกลัว ต่อคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้
17 มิถุนายน 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาสถานการณ์การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ การดำเนินคดี SLAPPs ที่เรียกกันเป็นชื่อเล่นว่า “คดีปิดปาก” มีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะหลายเรื่อง ทั้งนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ประชาชนที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากร และคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่รายงานเรื่องสิทธิแรงงาน และการซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ “ลูกเกด” นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจของ คสช. เล่าว่า ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ตำรวจจะหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่น คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้วมาไล่ให้ดูว่า เราจะผิดมาตราไหนบ้าง นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้ เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก หรือ พ.ร.บ.ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อให้เรารู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง
 
ชลธิชา เล่าว่า จากการพยายามจัดกิจกรรมหลายครั้งภายใต้ยุคของ คสช. ก็ถูกดำเนินคดีมาแล้ว 7 คดีที่ต้องขึ้นถึงชั้นศาล ยังไม่รวมการถูกปรับเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายครั้ง ในปี 2561 เมื่อจัดกิจกรรมในนาม “คนอยากเลือกตั้ง” ก็ถูกตั้งข้อหาติดๆ กัน ทั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 จากการแค่ไปยืนเฉยๆ เพื่อแสดงออก และคดีใหม่ล่าสุด คือ คดีร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ครั้งหนึ่งเคยเห็นเอกสารของตำรวจที่ใช้ในการดำเนินคดีเขียนไว้ว่า การดำเนินคดีโดยใช้ข้อหาหลายๆ ข้อหาพร้อมกันให้เป็นไปเพื่อ “เพิ่มความกดดัน สร้างความยุ่งยากสับสนให้กับแกนนำ มากกว่าการมุ่งจับตัวแกนนำไปไว้ในเรือนจำ”
 
นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา เล่าว่า เมื่อปี 2561 มีกลุ่มน้องๆ จัดกิจกรรมจึงไปร่วมดู หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาบอกว่า ถูกทหารกดดันให้ดำเนินคดีให้ได้ และให้เราเลือกว่า อยากจะถูกดำเนินคดีในช้อหาอะไร ระหว่างข้อหา “ชุมนุมเกินห้าคน” ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หรือจะเอาพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งทางเลือกหลังมีแค่โทษปรับ และสามารถจ่ายค่าปรับให้จบได้ แต่ถ้าเลือกข้อหาแรกจะดำเนินคดีคนเดียวไม่ได้ ต้องมีน้องๆ มาโดนคดีด้วยรวมห้าคน คดีนี้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินคดีเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นแค่ความพยายามที่ทำให้คนถูกดำเนินคดีมีภาระมากขึ้น
 
“เมื่อมีคดีแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ศาลหรืออัยการมักจะเลื่อน มีนักศึกษาจากเชียงใหม่ที่ถูกดำเนินคดีที่กรุงเทพ ต้องจ่ายค่าเครื่องบินสำหรับเดินทางมาตามนัดทุกครั้งแต่ก็ต้องพบว่า เลื่อนตลอด คนมาศาลต้องเสียค่าเดินทางและเสียค่าแรงที่ควรจะได้รับจากการทำงานตามปกติ เราต้องเสียเวลาในชีวิตไปจำนวนมากไปกับการเดินทางเพื่อเลื่อนนัด และยังมีการกระทำรูปแบบอื่นอีก เช่น เอาหมายเรียกคล้องเชือกฟางไปแขวนไว้หน้าบ้าน”
 
“เรามักจะถามกันว่า โดนคดีไปแล้วกี่คดี มีทหารมาเยี่ยมแล้วกี่ครั้ง แต่ตอนนี้ยังขาดไปมิติหนึ่งที่เราไม่ได้คุยกัน คือ ผลกระทบทางจิตใจ เราไม่ได้ถามกันว่า คนที่โดนคดีแต่ละคนเขารู้สึกยังไง มันไม่ใช่แค่ว่า เป็นคดีทางการเมืองที่จะต้องติดคุกหรือไม่ติดคุก แต่มันคือความอยุติธรรม มันคือความรู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาต่อสู้” ชลธิชา เล่า
 
Krisakorn
 
กฤษกร ศิลารักษ์ หรือ “ป้าย ปากมูล” ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล เล่าว่า เขาเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านตั้งแต่ปี 2538 เนื่องจากครอบครัวได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล และเคลื่อนไหวต่อสู้ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ ถูกดำเนินคดีสองช่วง ช่วงแรก คือ ปี 2542 เมื่อสมัชชาคนจนปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” ไปยึดสันเขื่อนตั้งหมู่บ้านก็ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ต่อมาก็มีคดีฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ฐานอั้งยี่ซ่องโจร ในยุคนั้นกฤษกรเล่าว่า โดนตั้งข้อหาทั้งหมดสามคดีแต่ส่งฟ้องจริงๆ คดีเดียว ส่วนคู่คดีถูกพิพากษาให้ติดคุกไป 1 ปี
 
ตอนนี้คดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม มีอยู่สองคดี คดีแรกเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2560 ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีจัดประชุมเพื่อปิดเขื่อนปากมูล ผมโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความไม่เห็นด้วย และถูกข้อหาฐานหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้ผมของเรียกว่า “คดีปิดเขื่อน” สืบพยานกันเสร็จแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 กันยายน 2562 ผมมั่นใจว่า ในทางข้อเท็จจริงผมต่อสู้คดีได้ ถ้าหากจะแพ้ก็มีเหตุผลเดียว คือ เขาเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งเป็น ”พ่อบ้านพ่อเมือง”
 
อีกคดีหนึ่งเกิดเนื่องจากเราเอาเจ้าหน้าที่ไปจับนายทุนที่ตัดไม้ บริเวณที่เรียกว่า "ดอนลำพวง" และเรารู้ว่า ตำรวจกับอัยการทำสำนวนเอื้อให้ประโยชน์กับจำเลย จึงเอาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นหลักฐานสำคัญในคดีเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยได้รอลงอาญา ผมก็เห็นว่า เป็นคำพิพากษาที่แย่เกินกว่าจะรับได้ ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองให้กับผู้พิพากษา ทำให้ศาลเป็นคนแจ้งความกับผม
 
ในคดี “ปิดเขื่อน” ทางนั้นเขาติดต่อมาว่า ถ้าอยากยุติคดีให้ผมโพสต์เฟซบุ๊กชมผู้ว่าฯ ซึ่งผมไม่รู้ว่า จะให้ชื่นชมได้อย่างไร ถ้าทำดีจริงเราก็จะชม จนกระทั่งในวันสืบพยานฝ่ายโจทก์ก็เสนอให้ขอโทษแล้วจบกัน ซึ่งผมบอกไปว่า ผมขอโทษก็ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ของเรื่องศักดิ์ศรี เป็นเรื่องที่เราต้องยืนยันว่า ผู้ว่าฯ เขาทำไม่ถูก ส่วนคดี “ดอนลำพวง” มีทหารในพื้นที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ผู้บัญชาการมณฑลเรียกผมไปคุยโดยมีอัยการ มีผู้หลักผู้ใหญ่มาคุยด้วย ขอเพียงว่า ให้ลบโพสต์แล้วจะไม่ดำเนินคดี ทหารใช้เวลากล่อมอยู่ประมาณสามชั่วโมง แต่ผมก็ไม่ลบก็เลยต้องไปต่อสู้คดี
 
“ผมได้รับเกียรติจากพนักงานสอบสวน ตั้งคณะทำงานกล่าวหาผมเก้าคน คือ ระดับสารวัตรทั้งโรงพักมาเป็นพนักงานสอบสวน การเป็นผู้ต้องหาที่มีคนระดับผู้ว่าฯ ฟ้องคดี หรือมีศาลเป็นผู้กล่าวหาฯ มันก็น่ากลัวในหมู่ของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านหวั่นไหวอยู่พอสมควร” ป้าย ปากมูล เล่า
 
“ตลอดเส้นทางในการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของชาวบ้าน ทั้งสองรอบที่โดนคดีไปก็เป็นเครื่องรับรองว่า ในอนาคตน่าจะมีอีก ในการเคลื่อนไหวมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ถลำไป แม้ว่าจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่เป็นความตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามที่พยายามใช้ เมื่อใดที่เราเลยเส้นไปนิดหนึ่งที่เขาสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาได้เขาก็จะใช้กับเรา” คำบอกเล่าจากประสบการณ์ของนักต่อสู้เพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรแห่งภาคอีสาน 
 
 
 
 
สุธารี วรรณศิริ อดีตเจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ตี้ไฟไรต์ กล่าวว่า การดำเนินคดีเป็นชุดต่อแรงงานชาวพม่ากลุ่มหนึ่งที่ทำงานอยู่ในฟาร์มไก่ เริ่มขึ้นจากคนงานร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน และร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย กลุ่มคนงานจึงถูกนายจ้างดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทและฐานลักทรัพย์จากการเอาบัตรลงเวลาทำงานไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของเครือข่ายเพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ก็ถูกดำเนินคดีตามไปด้วย หลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดเผยและมีหลายคนสนใจเข้าไปทำรายงานนำเสนอข้อเท็จจริง ก็มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน นักข่าว รวมทั้งนักวิชาการตามมาอีก รวมแล้ว 16 คดี มีคนตกเป็นผู้ต้องหา 21 คน
 
“นี่เป็นการใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่คุกคามไม่ให้มีการอภิปรายหรือพูดถึงปัญหาสิทธิแรงงาน ระหว่างที่ไปขึ้นศาล บริษัทแจ้งต่อศาลว่า อยากให้ศาลสั่งยึดพาสปอร์ตของจำเลยเพื่อไม่ให้จำเลยยังสามารถเดินทางไปพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่ แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ของการดำเนินคดีเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน” สุธารี เล่า
 
สุธารี หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทด้วย เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินคดีว่า นอกจากค่าประกันตัว ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่คนงานต้องใช้ไปอย่างมากแล้ว คดีเหล่านี้ยังสร้างความรู้สึกระแวดระวังให้เกิดขึ้นกับคนทำงานอยู่ตลอดเวลาว่า จะพูดอะไรได้บ้าง? ถ้าหากพูดไปแล้วจะถูกดำเนินคดีอีกหรือไม่? ถึงขั้นมีการพูดมายังทนายความของจำเลยว่า จะมีงานทำไปตลอดชีวิต 
 
 
 
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทหารสามารถควบคุมตัวประชาชนภายใต้กฎอัยการศึกได้ 7 วัน โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจนี้ มีการจัดตั้ง “หน่วยซักถาม” ขึ้นมา ด้วยเจ้าหน้าที่ที่ใส่ผ้าพันคอสีแดง คนที่ถูกคุมขังในขั้นตอนนี้จะถูกจำกัดการเยี่ยมให้เหลือน้อยที่สุด จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยถูกจับกุมมีทั้งผู้ที่ถูกบังคับให้ยืนสี่วัน ถูกบังคับให้ไม่นอน หรือถูกคุมขังในห้องแอร์เย็นๆ เพื่อบีบให้รับสารภาพ
 
พรเพ็ญ เล่าต่อว่า สิ่งที่คนทำงานต้องการก็คือข้อมูลว่า มีการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นหรือไม่ เราก็สัมภาษณ์เก็บข้อมูล 82 กรณีตั้งแต่ปี 2556-2557 และทำรายงานออกมาแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งให้องค์กรสหประชาชาติ ในรายงานไม่มีชื่อผู้ถูกจับกุมและไม่มีชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เราถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท เราต่อสู้คดีตั้งแต่ยกแรกโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำงานเก็บข้อมูลของเราทั้งหมด ซึ่งกลับส่งผลเป็นว่า หลังจากนั้นเราไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมหรือพูดคุยกับผู้ถูกควบคุมตัวในกระบวนการพิเศษได้
 
มีความพยายามเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้มาตลอด 15 ปีของความขัดแย้ง มีคดีที่ผู้เสียหายเองถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จ มีคดีที่ผู้เสียหายถูกสั่งลงโทษจำคุกหนึ่งปีจากการเล่าเรื่องที่ตัวเองถูกซ้อมทรมาน เมื่อสื่อมวลชนพยายามช่วยกันรายงานก็มีการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนด้วย จนกระทั่งกำลังจะมีการดำเนินคดีกับญาติหรือครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวด้วย หากมีการพยายามเผยแพร่เรื่องการควบคุมตัวก็จะถูกขอให้ลบ โดยมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบถือปืนเข้ามาที่บ้านหรือที่ทำงานด้วยอำนาจกฎอัยการศึก บางครั้งก็ถูกขอให้เข้าไปพูดคุยในค่ายอีก ด้วยเหตุผลเดียว คือ “นายไม่พอใจ”
 
“ถ้าทหารเดินไปแจ้งความกับตำรวจว่ามีการโพสต์ว่า เกิดการซ้อมทรมาน ถือเป็นการหมิ่นประมาท ตำรวจจะรับแจ้งความ แต่ถ้ามีคนเดินไปแจ้งตำรวจว่า มีญาติถูกควบคุมตัวในค่ายทหารและอาจจะถูกทำร้ายร่างกาย ตำรวจจะขอหลักฐานการถูกทำร้ายร่างกาย หลายคนก็พ่ายแพ้ไปด้วยความกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขาและครอบครัว” พรเพ็ญเล่า