พร้อมแล้ว! ประชาชน 10,000+ เตรียมเสนอกฎหมาย “ปลดอาวุธคสช.”

นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 เป็นต้นมา นับเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีเศษ ที่ไอลอว์ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม 24 เครือข่าย เริ่มต้นรณรงค์โครงการ “ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ” ด้วยการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่ง ของ คสช. อย่างน้อย 35 ฉบับ ในประเด็นที่ขัดต่อ เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชน
จนกระทั่งวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ในกิจกรรมรวบรวมรายชื่อ มียอดประชาชนมาใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 13,037 คน ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้มีการเลือกตั้งและกำลังจะมีสภาที่มาจากตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย จึงนับเป็นวาระที่ดีที่จะได้เสนอกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาของประชาชน เพื่อยกเลิก ‘มรดก’ ของคสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย
การจัดกิจกรรมล่ารายชื่อมีหลายพื้นที่ แม้ถูกปิดกั้น-แทรกแซงบ้าง
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีเศษที่ไอลอว์ เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายนักวิชาการ และนักศึกษา ต่างร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อให้คนมาร่วมโครงการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมถึงการลงพื้นที่ชุมชน เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทั่วประเทศ ไม่ว่าจะภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง รวมแล้วมากกว่า 150 ครั้ง โดยมีกระแสตอบรับในระดับที่ดี แม้ประชาชนบางส่วนยังอยู่ภายใต้ “ความกลัว” ที่ คสช. สร้างขึ้น และการดำเนินกิจกรรมบ้างครั้งจะถูกปิดกั้น หรือ แทรกแซงอยู่บ้าง 
ตัวอย่างเช่น กรณีเครือข่ายภาคประชาชน People Go Network จัดกิจกรรม ‘ We Walk เดินมิตรภาพ ‘ โดยมีเป้าหมายการเดินทาง 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น เพื่อรณรงค์ประเด็นสิทธิเสรีภาพกับประชาชน แต่ทว่า หลังจัดกิจกรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาแกนนำของกิจกรรมดังกล่าวจำนวน 8 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 โดยจัดกิจกรรมเข้าข่าวการชุมนุมทางการเมืองตั้งเเต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช.  
โดยตำรวจอ้างว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว มีการจำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความสื่อความหมายเกี่ยวข้องในทางการเมือง โดยเสื้อสกรีนข้อความว่า “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” พร้อมกับมีการตั้งโต๊ะและเชิญชวนผู้มาร่วมกิจกรรมให้ช่วยกันซื้อเสื้อ และให้ร่วมกันลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย โดยมีการตั้งโต๊ะลงชื่อ ปรากฏมีกระดาษข้อความ “ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.” ติดอยู่ที่โต๊ะ 
หรือ กรณีการจัดกิจกรรมที่วิทยาลัยการจัดการและพัฒนาท้องถิ่น สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 โดยเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้แสดงความกังวลต่อกิจกรรมล่ารายชื่อของไอลอว์ และมีเจ้าหน้าที่ทหาร ‘ขอความร่วมมือ’ กับทางมหาลัยไม่ให้จัดกิจกรรมดังกล่าว
ผู้คนจากหลายภาคส่วนร่วมกันผลักดันการล่ารายชื่อ
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีเศษที่เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายนักวิชากร และนักศึกษา ร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์โครงการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. เราได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนคนทั่วไปอย่างมาก ตามพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ หรือกิจกรรมทางการเมือง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และมีหลายเครือข่ายที่ติดต่อเชิญให้วิทยากรเดินทางไปอธิบายเรื่องประกาศและคำสั่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง ยังได้รับแรงสนับสนุนจากเครือข่ายภาคประชาสังคมในการรวบรวมรายชื่อ เช่น เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สมัชชาคนจน เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและภาคใต้ และองค์กรอื่นๆ มากกว่า 20 องค์กร ที่ช่วยกันเก็บรวบรวมเอกสารแบบฟอร์ม และถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่เห็นด้วยกัน
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักวิชาการ เช่น เครือข่ายนักวิชการเพื่อสิทธิมนุษยชน (คนส.) และสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มนักศึกษา เช่น กลุ่มลูกชาวบ้าน (มหาวิทยาลัยบูรพา) กลุ่มดาวดิน (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม PerMAS และ องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปัตตานี (2P2D) เป็นต้น ที่ช่วยกันจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ต่อนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศไทย
พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยขานรับ ‘ปลดอาวุธคสช.’
ก่อนการเลือกตั้งโครงการ “ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ” ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น พรรคสามัญชน ที่ประกาศว่า ทิศทางและภารกิจของพรรคสามัญชน ถึงแม้จะไม่มี ส.ส. นั่งในสภาฯ แต่ขอปลดอาวุธ คสช. ด้วยมือเปล่า เราจะรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. อย่างน้อย 35 ฉบับ ที่เป็นคำสั่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อีกพรรคคือ พรรคประชาชาติ ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค ได้ประกาศสนับสนุนโครงการล่ารายชื่อว่า สอดคล้องกับนโยบายพื้นฐานและนโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของพรรคประชาชาติ ที่ต้องการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมาย แก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต
ด้านพรรคอนาคตใหม่ ก็มีการประกาศจุดยืนว่า จะจัดการมรดกบาปของ คสช. โดยหนึ่งในนั้นคือทบทวนและพิจารณาบรรดาคำสั่ง ประกาศ กฎหมายกว่า 500 ฉบับในยุค คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ปิดกั้นการตรวจสอบผู้มีอำนาจของสื่อมวลชน แทรกแซงการทำงานของกระบวนการยุติธรรม ลดอำนาจขององค์กรท้องถิ่น ขัดขวางการพัฒนาของประเทศ
จึงยังมีความหวังว่า ส.ส. ในสภาชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจำนวนไม่น้อยจะลงมติสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยประชาชนฉบับนี้
You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67

ระบบการเลือก สว. ในปี 2567 ยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสำคัญมาก ทุกคนไม่ว่าจะมีสิทธิสมัครหรือไม่ก็ลงมือทำได้