เลือกตั้ง 62: สำรวจ ‘แหล่งข้อมูลเลือกตั้ง’ ที่คนอยากเลือกตั้งไม่ควรพลาด

นับเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่และปรากฏการณ์ใหญ่ ที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดกว่าฟันธงผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันคือ  ‘โซเชียลมีเดีย’ หรือ พื้นที่โลกออนไลน์ จะเป็นสมรภูมิรบสำคัญยิ่งกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้องค์กรภาครัฐ เอกชน หรือสื่อ ต่างก็เข้ามาใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะในรูปแบบเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันเพื่อส่งต่อข้อมูลหรือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยวันนี้ ไอลอว์จะมาทำสำรวจว่า ปัจจุบันประชาชนมีทางเลือกรับข้อมูลได้ทางไหนบ้าง และแต่ละที่มีวิธีการใช้งาน และลักษณะเด่นแตกต่างกันอย่างไร

เว็บไซต์ กกต.: ข้อมูลทางการ-เอกสาร-สถิติ 

สำหรับใครที่ต้องการดูข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. อย่างเป็นทางการจากต้นทางที่เป็นเอกสารราชการ เพื่อใช้ในการอ้างอิงหรือค้นคว้าวิจัย “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” คือ คำตอบ โดยประกาศ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของ กกต. มีวิธีการ ดังนี้

1) เข้าเว็บไซต์ กกต. แล้วกดเข้าไปที่แทบ “ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง และรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี”

2) จากนั้น เลือกประกาศ กกต. หรือ ข้อมูลที่ต้องการ อย่างเช่น ถ้าเราต้องการทราบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ให้เลือกหัวข้อที่ 1 “รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง”

3) รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมด ข้อมูลจะเรียงตามตัวอักษรของจังหวัด ลำดับเขตเลือกตั้ง และลำดับเบอร์ของผู้สมัคร 

ข้อมูล กกต. ทั้ง 5 หัวข้อ แบ่งเป็น 1) รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 2) สถิติและจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมือง 3) รายชื่อและโลโก้ของพรรคการเมือง 4) รายชื่อนายกฯ ในบัญชีของแต่ละพรรคการเมือง และ 5) รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายช่ือ

App SMART VOTE: ดูโฉมหน้าผู้สมัคร-แคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรค

กกต. ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น SMART VOTE เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้ง การตรวจสอบหน่วยเลือกตั้ง สาระน่ารู้การเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง เป็นต้น การเข้าดูข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. มีวิธีการ ดังนี้

1) ในหน้าหลัก ให้เราเลือก “ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง”

2) เลือก “ข้อมูลผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง”

ซึ่งถ้าเราต้องการดูข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือนายกฯ ในบัญชีก็สามารถเลือกในหน้านี้ได้เช่นกัน

3) จากนั้น ให้เลือก “จังหวัด” และ “เขตเลือกตั้ง” ที่เราจะไปใช้สิทธิ

4) ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ทั้งหมดในเขตเลือกตั้งของเราก็จะปรากฎ ซึ่งถ้าเราสนใจผู้สมัครคนใดก็สามารถกดเข้าไปดูได้เช่นกัน ก็จะมีข้อมูลเบื้องต้นของผู้สมัคร ทั้งพรรคการเมืองที่สังกัด อายุ การศึกษา และอาชีพ

กกต. ไม่ได้จัดทำ SMART VOTE ในรูปแบบเว็บไซต์ ดังนั้น จึงต้องดาวโหลดแอปพลิเคชั่นมาใช้ในระบบ iOS หรือ ระบบ Android เท่านั้น 

เว็บไซต์ ELECT: ใช้รหัสไปรษณีย์ค้นหาผู้สมัครได้-มีเปรียบเทียบนโยบายพรรค

ELECT เว็บไซต์สื่อข้อมูลการเมืองการเลือกตั้งไทย ที่มีทั้งสาระความรู้และเกมส์เกี่ยวกับการเมืองไทย ได้จัดทำช่องทางในการค้นหาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตไว้ โดยมีวิธีการดังนี้

1) เมื่อเข้าเว็บไซต์แล้วให้เลือก “ข้อมูลเขตเลือกตั้งและรายชื่อผู้สมัคร” 

2) ใส่ “รหัสไปรษณีย์” เขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิเลือกตั้งอยู่

3) รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในเขตเลือกตั้งของเราทั้งหมดจะปรากฎขึ้น พร้อมข้อมูลเบื้องต้น ทั้ง โลโก้พรรค ชื่อพรรคการเมือง ชื่อผู้สมัคร อายุ อาชีพ การศึกษา และ ช่องทางในการค้นหาประวัติผู้สมัครต่อใน Google

4) นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของ ELECT ยังมีสรุปนโยบายพรรคการเมืองของแต่ละพรรค และสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้สูงสุด ไม่เกิน 3 พรรค

เว็บไซต์ Voice TV: ให้กดเลือกจังหวัด หรือพิมพ์ค้นหาก็ได้

เว็บไซต์ Voice TV ได้จัดหมวดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไว้มีข้อมูลทั้งการตรวจสอบเขตเลือกตั้ง พรรคการเมือง และข่าวเลือกตั้ง โดยการดูข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ทำได้โดยมีวิธีการดังนี้

1) เมื่อเข้าเว็บไซต์ให้เลือก “ตรวจสอบเขตการเลือกตั้ง”

2) การค้นหาสามารถทำได้ทั้งการเลือกตามรูปภาพจังหวัดที่ปรากฎ หรือ ใช้ช่องค้นหา ซึ่งสามารถใช้ “ตำบล” หรือ “อำเภอ” หรือ “รหัสไปรษณีย์” ที่เรามีสิทธิเลือกตั้งในการค้นก็ได้

รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในเขตเลือกตั้งของเราทั้งหมดจะปรากฎขึ้น ซึ่งถ้าเราสนใจผู้สมัครคนใดก็สามารถกดเข้าไปดูได้เช่นกัน จะมีข้อมูลเบื้องต้นของผู้สมัคร ทั้งพรรคการเมืองที่สังกัด อายุ การศึกษา และอาชีพ

3) ถ้าเราต้องการดูข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือข้อมูลอื่นๆ ของพรรค สามารถเลือกหัวข้อ “พรรคการเมือง” 

เว็บไซต์ Vote62: ศูนย์รวมข้อมูลเลือกตั้ง กฎกติกา-ผู้สมัคร-นโยบายพรรค

สำหรับแหล่งข้อมูลเลือกตั้งอันสุดท้ายที่เราไม่อยากให้คนที่อยากไปใช้สิทธิเลือกตั้งพลาดคือ เว็บไซต์ Vote62.com ที่เกิดจากความร่วมมือกันของ The MOMENTUM x a day BULLETIN x iLaw x opendream เพื่อจัดทำเว็บไซต์ให้บริการตรวจสอบฐานข้อมูลผู้ลงสมัคร ส.ส. เขต โดยมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เลือกตัดสินใจลงคะแนน โดยให้ความสำคัญกับนโยบายและจุดยืนด้านประชาธิปไตยของแต่ละพรรคการเมืองเป็นหลัก โดยวิธีการใช้งานมีดังนี้

1) เข้าไปที่เว็บไซต์ Vote62.com ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ จะมีข้อมูลให้เราเลือกหมวดเพื่อค้นหาข้อมูลต่อ โดยแบ่งเป็นสามอย่าง คือ หนึ่ง ช่วงอายุของเรา (อันนี้จะเลือกไม่ใส่ไม่ใส่ก็ได้) สอง ชื่อ แขวง / เขต / อำเภอ / ตำบล ที่เราสนใจ และสาม พรรคการเมืองที่เราสนใจ โดยจำแนกตามจุดยืนของพรรคการเมือง

2) เมื่อเลือกหมวดของข้อมูลที่เราค้นหาเสร็จแล้ว ให้กดที่ “ตรวจดูหมายเลขผู้สมัคร” เว็บไซต์จะประมวลและแสดงผลข้อมูลออกมาให้เรา ได้แก่ เขตเลือกตั้ง รายชื่อผู้สมัคร โลโก้ของพรรค นอกจากนี้ เรายังสามารถกดเลือกดูจุดยืนของพรรคการเมืองได้อีกด้วยว่า สนับสนุน คสช. หรือ ไม่สนับสนุน คสช. หรือไม่

3) และถ้าเราเลื่อนหน้าจอลงไปที่ด้านล่าง เว็บไซต์ Vote62.com จะมีข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น บทความอธิบายกฎกติกาการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้ง และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับนักการเมืองและนโยบายพรรค ผ่านบทสัมภาษณ์ผู้สมัครหรือแกนนำพรรค รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เลือกตั้งในประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในสังคม