เลือกตั้ง 62: คดีไทยรักษาชาติจะจบเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการยุติการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนจะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่น่าติดตามมากที่สุดเรื่องหนึ่ง กองเชียร์ของพรรคนี้คงกำลังลุ้นกันอย่างหนักว่า พรรคที่เพิ่งมีชื่อเสียงขึ้นมาจะรอดจากข้อกล่าวหา “กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ได้หรือไม่ และจะกระทบถึงผลการเลือกตั้งของประเทศอย่างไร 

ย้อนเหตุการณ์การยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติ

8 กุมภาพันธ์ 2562 หลังพรรคไทยรักษาชาติ สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่โดยเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค แต่ในช่วงดึกคืนวันเดียวกันก็มีพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

จนกระทั่งวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมกันแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่า “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ซึ่งเป็นเหตุในการยุบพรรคได้ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 โดยให้เวลาพรรคไทยรักษาชาติยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน

ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแก่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อต่อสู้ 8 ประเด็น และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 กกต. ได้ทำคำคัดค้าน และคำชี้แจงต่อศาลหลังจากพรรคไทยรักษาชาติยื่นคำชี้แจงต่อศาลเรียบร้อยแล้ว 

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดีอีกครั้ง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงว่ายังไม่ใช่วันตัดสินยุบพรรค เป็นเพียงวันนัดพิจารณาคำชี้แจงพยานหลักฐานของทั้งผู้ร้อง (กกต.) และผู้ถูกร้อง (พรรคไทยรักษาชาติ) หลังจากนั้นศาลจึงจะมีมติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ


ศาลจะสั่งไต่สวนเพิ่มหรือยุติการไต่สวนเลยก็ได้ 

ในนัดพิจารณาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นนัดประชุมภายในของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นขั้นตอนตามตามมาตรา 58 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เพื่อพิจารณาว่า จากเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายยื่นมานั้น คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอแล้วหรือไม่ 
หากศาลพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็จะสั่งให้ไต่สวนต่อ โดยศาลต้องประกาศวันนัดไต่สวนครั้งแรก และคู่กรณีสามารถอ้างตนเอง หรือบุคคลอื่นมาเบิกความต่อศาล หรือหลักฐานอื่นส่งเข้ามาเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ในวันนัดไต่สวนครั้งแรก ศาลจะนั่งพิจารณาคดีไต่สวนพยาน หากยังไต่สวนไม่เสร็จ หรือยังได้พยานหลักฐานไม่เพียงพอศาลต้องกำหนดวันนัดไต่สวนต่อไป และทำการไต่สวนตามวันนัด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสามารถนัดวันไต่สวนพยานหลักฐานอีกกี่ครั้งก็ได้จนกว่าพยานหลักฐานเพียงพอจึงจะมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวน

หากในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ศาลประชุมกันแล้วเห็นว่า คดีมีหลักฐานเพียงพอแล้ว ศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัยได้เลย ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหรือหาหลักฐานใดเพิ่มเติมอีก ศาลก็สามารถสั่งยุติการไต่สวนได้เลย

หลังจากศาลสั่งยุติการไต่สวน กระบวนการภายในของศาลจะเริ่มขึ้น โดยคู่ความและประชาชนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้อีก โดยศาลจะประชุมปรึกษากันเพื่อพิจารณาวินิจฉัยพยานหลักฐานทั้งหมด และให้ตุลาการองค์คณะทำความเห็นส่วนบุคคล เพื่อแถลงในที่ประชุมศาล หลังจากนั้นองค์คณะจะนัดประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อให้มีมติร่วมกันเพื่อให้ทำเป็นคำพิพากษาคดี เมื่อแล้วเสร็จจะนัดหมายให้ผู้ร้อง และผู้ถูกร้องมาฟังคำพิพากษา 

คดีจะจบเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการสั่งยุติการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ

จากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 พบว่าในกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องใช้เวลาได้ไม่นานเกินเท่าใด เช่น ระยะเวลาในการไต่สวนพยานหลักฐาน การนัดประชุมเพื่อลงมติขององค์คณะ หรือการนัดหมายวันอ่านคำพิพากษา กฎหมายให้อำนาจในการกำหนดวันเวลาเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเอง จึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่า คดีจะสิ้นสุดได้เร็ว หรือช้าสุดเมื่อไหร่

แต่สิ่งที่พอจะสังเกตได้ คือ ในขั้นตอนการออกคำสั่งยุติการไต่สวนคดี ถ้าศาลต้องการให้คดีนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ก็สามารถสั่งยุติการไต่สวนคดีตั้งแต่นัดพิจารณาหลักฐานได้ ทำให้คดีไม่ต้องมีการนัดไต่สวนพยานหลักฐานต่อ ศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัย ลงมติเพื่อให้ได้คำพิพากษาได้อย่างรวดเร็ว และอาจเสร็จสิ้นไดก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 หรือภายหลังจากนั้นไม่นานนัก 

You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

กลุ่มคนสมัครน้อย ไม่ต้องเลือกกันเองแต่ยังต้องเลือกไขว้

กรณีที่กลุ่มอาชีพหนึ่งมีผู้สมัครไม่ถึงห้าคน ผู้สมัครในกลุ่มทั้งหมดก็จะถือว่าผ่านรอบการเลือกกันเองโดยทันที อย่างไรก็ดี ผู้สมัครยังต้องผ่านรอบการเลือกไขว้จากกลุ่มอาชีพอื่นในอำเภอเดียวกันอีก