วิษณุ ย้ำ เลือกตั้งก่อนพระราชพิธีและตามกรอบรัฐธรรมนูญ ยันใช้ ม.44 แก้ไม่ได้

วันนี้ (3 มกราคม 2562) วิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เข้าประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อชี้แจงขั้นตอนการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปอธิบายให้กกต. เพื่อให้ กกต.พิจารณาว่า จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ อย่างไร 

วิษณุ ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้แล้ว ใช้ ม.44 แก้ไม่ได้ ดังนั้น การเลือกตั้งจะใช้โรดแมปเดิมตามรัฐธรรมนูญ คือ กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ภายใน 150 วัน หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ‘กฎหมายเลือกตั้ง’  มีผลใช้บังคับ (11 ธันวาคม 2561) หมายความว่าอย่างไรการเลือกตั้งก็จะมีขึ้นก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  (ไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562) 

ส่วนกรณีที่พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง หรือ ‘พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ’ ยังไม่ประกาศใช้ จะจัดการเลือกตั้งได้ทันหรือไม่ วิษณุกล่าวว่ารัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่า แม้จะประกาศช้า อาจจะถึงวันที่ 7 มกราคม 2562 ก็ยังสามารถจัดการเลือกตั้งภายใน 24 กุมภาพันธ์ 2562 ได้ แต่ กกต. จะเหนื่อยหน่อย และทันทีที่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ประกาศใช้ ภายใน 5 วัน กกต. ถึงจะกำหนดวันเลือกตั้ง  

ทั้งนี้ วิษณุในฐานะประธานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวว่า พิธีราชาภิเษกไม่ได้มีกิจกรรมแค่ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น แต่ยังมีขั้นตอนพระราชพิธีก่อนหน้านั้น ซึ่งเมื่อนำกิจกรรมทั้งสองกิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งและกิจกรรมพระราชพิธีมาวางทาบกัน จะทำให้กิจกรรมทับซ้อนกัน ซึ่งวิษณุไม่ยืนยันว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทัน

วิษณุชี้แจงรายละเอียดว่า หากมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 กกต. จะประกาศผลได้อย่างช้าที่สุดตามกรอบกฎหมาย 60 วันหลังการเลือกตั้ง คือ 24 เมษายน 2562 ซึ่งช้าและเร็วเป็นเรื่องที่ กกต. จะสามารถจัดการได้หรือไม่ อยู่ที่ กกต. เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ตามที่นักวิชาการวิเคราะห์ว่า ผู้ชนะ ส.ส.เขต อาจฟ้องผู้แพ้การเลือกตั้ง เนื่องจากคะแนนที่แพ้ห่างไม่มาก สามารถนำไปคิดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งนี่จะเป็นปัญหาที่ทำให้ กกต. อาจประกาศผลล่าช้า ท้ายที่สุดกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากนั้น เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี การเปิดประชุมรัฐสภา การทูลเกล้าฯ จะไปชนกับขั้นตอนการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตามกรอบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งต้องจัดขึ้นไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เพราะมาตรา 268 ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งได้บังคับใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ซึ่งเมื่อนับไปอีก 150 วัน ก็จะเท่ากับว่าการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดต้องไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 

จากการประชุมชี้แจงเรื่องกำหนดการเลือกตั้ง ในวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ซึ่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กกต. และ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรค ประชุมร่วมกัน กกต.ก็ได้วางกำหนดการคราวๆ ไว้ว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นวันเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี วันที่ 1 มกราคม 2562 สำนักพระราชวังเผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 และเมื่อวานนี้ (2 มกราคม 2562) ซึ่งตามเดิมต้องประกาศใช้พพ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ และภายใน 5 วันหลังจากนั้นต้องประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ และมีกระแสว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้กระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การเดินทางมาเพื่อแจ้ง กกต. ให้ทราบถึงการเตรียมการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกเพื่อประกอบการกำหนดวันเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีการกำหนดวันพระราชพิธีแค่ 3 วัน ได้ 4-6 พฤษภาคม 2562 แต่ตามธรรมเนียมการปฏิบัติจะมีงานพิธีทั้งก่อนหน้าและตามหลังอย่างน้อยครึ่งเดือน

วิษณุ กล่าวว่า การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วเป็นอำนาจของ กกต. ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 แต่ในส่วนของรัฐบาลจะเกี่ยวข้องกับการลงประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวกลับลงมา และ กกต. จะลงประกาศในห้าวัน เพื่อบอกวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ

วิษณุ ย้ำว่า วันเลือกตั้งไม่ได้กระทบต่อพระราชพิธี และวันเลือกตั้งต้องมีก่อนวันพระบรมราชาภิเษกแน่ เพราะเป็นไปตามกำหนดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องจัดเลือกตั้ง 150 วันหลังประกาศใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ดังนั้น การเลื่อนวันเลือกตั้งให้พ้นไปจากนั้นทำไม่ได้ แม้แต่การใช้ ‘มาตรา 44’ ก็แก้ไม่ได้
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ กิจกรรมหลังวันเลือกตั้ง อย่าง ‘การประกาศผลเลือกตั้ง’ ที่ต้องทำภายใน 60 วันหลังการเลือกตั้ง ส่วนจะช้าเร็วของการประกาศผลการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับมีเรื่องร้องเรียนมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม จะเสร็จหลังวันที่ 24 เม.ย. ไม่ได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการประกอบพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก และทั้งสองอย่างไม่ควรจะทำซ้อนกัน

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่