เลือกตั้ง 62: สี่ช่องทางให้ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557 หากในปี 2562 มีการจัดการเลือกตั้งจนสามารถตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในอำนาจประมาณห้าปีเต็ม แต่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ยังต้องการอยู่ในอำนาจต่อสังเกตอาการจากการแสดงท่าทีประกาศตัวเป็นนักการเมือง สนใจงานการเมือง และอยากสานงานที่ตัวเองทำไว้ ทั้งนี้ยิ่งเมื่อดูกติกาการเลือกตั้งก็เอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ความหวังของประชาชนไทยที่อยากจะมีนายกฯ จากการเลือกตั้งเข้ามากอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ และสิทธิเสรีภาพ อาจไม่ได้สวยงามอย่างที่คาดหวังไว้ เพราะ คสช. วางกลไก อย่างน้อยสี่ทางช่องเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกฯ ต่อยาวๆ หลังการเลือกตั้ง
1. เป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สามารถแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งเป็นนายกฯ พรรคละไม่เกินสามรายชื่อ ต่อ กกต. ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งเพื่อประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้มาตรา 87 วรรคสอง ระบุว่าเมื่อพรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลใดไปแล้ว จะสามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถูกเสนอได้เฉพาะขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือตายเท่านั้น
ช่องทางนี้ดูเหมือนจะเป็นช่องทางที่ชอบธรรมที่สุดหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เพราะอย่างน้อยช่องทางนี้จะต้องเปิดรายชื่อให้ประชาชนเห็นก่อนการเลือกตั้ง และพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะทำให้ประชาชนลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่สนับสนุน อย่างไรก็ตามยังมีข้อวิจารณ์ว่าการเข้ามาช่องทางนี้โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก็ถือว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะเป็น “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง สำหรับช่องทางนี้บรรดาคณะกรรมการบริหารและแกนนำพรรคพลังประชารัฐต่างประกาศตัวชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรค ทั้งนี้พรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่าจะได้ ส.ส. ประมาณ 150 คน ซึ่งหากรวมกับ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ก็จะเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง ซึ่งมากพอที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งแม้พรรคพลังประชารัฐจะไม่ชนะเลือกตั้งก็ตาม
อย่างไรก็ตามช่องทางนี้ก็มีความเสี่ยงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เป็นนายกฯ เช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 กำหนดว่าพรรคการเมืองที่จะเสนอนายกฯ ต้องมี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 50 คน นั้นหมายความว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. ไม่ถึงตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หมดสิทธิเป็นนายกฯ ผ่านช่องทางนี้ ซึ่งหากอยากเป็นนายกฯ ต่ออาจต้องไปใช้ช่องทางนายกฯ คนนอกแทน 
2. เป็นนายกฯ คนนอก
หากการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้ รัฐธรรรมนูญกำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. จำนวนรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด หรือ 376 คน สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีพรรคการเมือง และหากรัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามหรือ 500 คน ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้น ให้ ส.ส. เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่นอกหรือในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองก็ได้ และหากบุคคลใดที่ถูกเสนอชื่อได้คะแนนจาก ส.ส. และ ส.ว. เกินกึ่งหนึ่งหรือ 376 เสียงก็จะได้เป็นนายกฯ  
ช่องทางนี้อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะต้องใช้เสียงถึง 500 เสียง จากทั้งสองสภาเพื่อเปิดทางให้ตัวเองได้เป็นนายกฯ คนนอก แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่าสามารถหา 500 เสียงเพื่อสนับสนุนตัวเองได้ ช่องทางนี้ก็อาจดีกว่าการเอาชื่อไปฝากในบัญชีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนี่ง เพราะจะช่วยลดแรงกดดันและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในระหว่างเลือกตั้งลงได้ แต่ก็เสี่ยงอีกเช่นกันที่จะไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ หากสภาเลือกนายกฯ ได้ตั้งแต่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
3. เป็นนายกฯ รักษาการณ์ไปเรื่อยๆ
ถ้าจะเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ กฎหมายเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 มาตรา 127 ระบุว่า ให้ กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ครบ 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดก่อน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าการประกาศผลต้องไม่เกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามหากมีการจัดการเลือกตั้งใหม่เพราะมีการทุจริต เนื่องจาก กกต. แจกใบเหลือง ใบส้ม หรือ มีผู้ใช้สิทธิไม่ประสงค์คะแนน หรือ Vote No มากกว่าผู้สมัคร ส.ส. ในเขตนั้น การประกาศผลการเลือกตั้งให้ครบ 95% แต่ไม่เกิน 60 วัน จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่
ดังนั้นหากมีเหตุอันทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม เพราะการทุจริตของผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขต หรือกรณีการกระทำผิดกฏหมายการเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีผลให้จำนวน ส.ส.หลังการเลือกตั้งมีไม่ครบจำนวน 95% หรือ 475 คน การรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต. ก็ต้องรอไปก่อน และพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ พร้อมพรรคพวกก็จะต้องทำหน้าที่เป็นรัฐบาลต่อไปเรื่อยๆ และยังคงมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ พร้อมอำนาจเบ็ดเสร็จ มาตรา 44 ก็ยังคงอยู่
4. เป็นนายกฯ ตั้งตัวเองด้วย ม.44
รัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ และในระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ก็ยังมีอำนาจครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ที่ให้อำนาจ หัวหน้า คสช. กระทำการใด ๆ ก็ได้ และการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระนั้นชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด
ด้วยเหตุนี้ทั้งในช่วงเวลาระหว่างก่อนและหลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงมีอำนาจพิเศษ มาตรา 44 อยู่ในมือ ซึ่งหากระหว่างเลือกตั้ง หรือกระทัั่งการเลือกนายกฯ หาก พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าตัวเองและ คสช. กำลังเพลี่งพล่ำทำให้การสืบทอดอำนาจไม่เป็นไว้ดังที่วางแผนไว้ ก็สามารถงัดมาตรา 44 มาใช้เพื่อบอกล้างการเลือกตั้งทั้งหมดให้เป็นโมฆะ หรือสถาปนาตัวเองหรือกำหนดเงื่อนไขใดๆ เพื่อให้ตัวเองง่ายต่อการกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง