นักวิชาการชี้ ‘ปฏิรูประบบราชการ-กระจายอำนาจ’ ยกระดับคุณภาพชีวิตได้

13 ธันวาคม 2561 คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา Thammasat Resolution Talk: ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การกระจายอำนาจและปฏิรูประบบราชการ” โดยมีนักวิชาการและนักการเมืองท้องถิ่นร่วมพูดคุยถึงปัญหา อุปสรรค ความล้มเหลวและความหวังของการกระจายอำนาจและการปฏิรูประบบราชการไทย
การลดความเหลื่อมล้ำจำเป็นต้องพึ่งพาระบบราชการ
รศ.ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะใช้วิธีการ ‘พูดโดยไม่พูด’ นั้นคือจะไม่ไปกล่าวถึงการปฏิรูประบบราชการหรือการกระจายอำนาจ แต่จะพูดว่าถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ เราจะเจอกับอะไร เราจะเจอ ‘กับดักสามแพร่ง’ อันได้แก่ กับดักอำนาจนิยม กับดักรายได้ปานกลาง และกับดักความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการก้าวข้ามกับดักทั้งสามได้จะต้องมีระบบราชการที่มีคุณภาพและการกระจายอำนาจที่ลงลึก
 
ประการแรก กับดักความเหลื่อมล้ำ ไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าไทยมีลำดับความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่ เพราะไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงแน่นอน แม้ไม่นานมานี้ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ในฐานะรัฐมนตรีและฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ จะออกมาปฏิเสธการจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของเครดิตสวิส (Credit Suisse) ที่ชี้ว่าคนไทยหนึ่งเปอร์เซ็นต์มีความมั่งคั่งถึง 67 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ไทย ว่าไม่จริงเพราะเป็นข้อมูลเก่า และไม่ครอบคลุม ฉะนั้น ไม่น่าเชื่อถือ 
อย่างไรก็ดี ถ้าเราย้อนกลับไปดูคำพูดของกอบศักดิ์ ในฐานะเทคโนแครต เมื่อปี 2556 ในงานซิมโพเซียมของธนาคารแห่งประเทศไทย กอบศักกิ์พูดถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยของเขาว่า ไทยกำลังพบกับปัญหา ‘The 1% Problem’ หรือ คนรวยที่สุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกฉีกตัวออกจากระบบมีส่วนแบ่งของรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสังคมหรือ ‘สองนคราคนรวยและคนจน’ เห็นได้ว่างานวิจัยของกอบศักดิ์ชี้ปัญหาที่ไม่ต่างจากข้อมูลของเครดิตสวิส เพียงวัดผลจากรายได้ ไม่ใช่สินทรัพย์ 
งานวิจัยของกอบศักดิ์ ชี้ว่า คนรวยที่สุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2.8 เท่า ในขณะที่คนจนที่สุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกนั้นมีอัตราการเติบโตของรายได้ตำ่กว่าค่าเฉลี่ย หรือ ‘โตช้ากว่าเพื่อน’ 1.25 เท่า ขณะที่ ‘ชนชั้นกลางระดับล่าง’ หรือ คนรวยที่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ลงมา มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ ‘ชนชั้นกลางระดับบน’ หรือคนที่อยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่ 61-97 มีอัตราการเติบโตของรายได้ตำ่ว่าค่าเฉลี่ย เห็นได้ว่าชนชั้นกลางระดับล่างกำลังไล่กวดชนชั้นกลางระดับบนขึ้นมา
เราจะแก้ไขกับดักความเหลื่อมล้ำที่เราเผชิญอยู่โดยจะหวังกพึ่งเอกชนหรือระบบตลาดไม่ได้อยู่แล้ว เพราะระบบตลาดเป็นระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำในตัวมันเอง ดังนั้น องค์กรสาธารณะ หรือ รัฐเท่านั้นที่จะมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องจัดระบบสวัสดิการด้านการศึกษาและการสาธารณสุข
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ
รศ.ดร. อภิชาต อธิบายต่อว่า หากไม่ปฏิรูประบบราชการ ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับกับดักอำนาจนิยม ซึ่งงานวิจัยของกอบศักดิ์ ทำให้เราเห็นว่า ชนชั้นกลางระดับสูงเมื่อมองไปข้างบนก็เห็นแต่คนรวยหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาไม่มีทางไล่ทัน ขณะที่คนข้างหลัง หรือชนชั้นกลางระดับล่างก็ไล่กวดเข้ามา ดังนั้น ชนชั้นกลางระดับสูงย่อมรู้สึกไม่มั่นคง 
“ผมทำแบบสำรวจ ถามพวกเขา(ชนชั้นกลางระดับสูง) ว่ารู้สึกมั่นคงกับอนาคตไหม เขาตอบว่า ‘ไม่’ แต่พวกเขาตอบเห็นด้วยกับคำถามที่ว่าภายใต้สถานการณ์บางอย่าง เผด็จการอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า คุณรู้สึกไม่มั่นคง คุณก็ไปหารัฐบาลเผด็จการที่จะทำให้คุณมั่นคงเพราะมันชัดเจน มีมาตรา 44” รศ.ดร. อภิชาต กล่าว
 
 
คนชนชั้นกลางระดับบนไทยแทนที่จะเป็นพลังผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย ก็กลับกลายเป็นฐานมวลชนให้กับเผด็จการอำนาจนิยม ดังนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ คนรวยคุ้มที่จะร่วมมือกับรัฐบาลอำนาจนิยมเพื่อป้องกันการกระจายรายได้ไม่ให้เกิดขึ้น
รศ.ดร. อภิชาต อธิบายต่อว่า ขณะที่คนรวยที่สุดหนึ่งเปอร์เซ็นแรกของประเทศ หรือ ‘เจ้าสัวประชารัฐ Top 0.001%’ เข้ากันได้ดีกับรัฐและชนชั้นนำทางอำนาจ กฎหมายที่รัฐบาลทหารภูมิใจสองฉบับ หนึ่ง กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สอง กฎหมายภาษีมรดก ทั้งสองฉบับเป็นเหมือนกระดาษเปล่าเพราะเนื้อหาของกฎหมายจงใจเขียนให้มันบังคับใช้ไม่ได้ กฎหมายภาษีมรดกบังคับใช้มา 2 ปี เก็บภาษีได้ 1 คน เพราะข้อยกเว้นสูงมาก ต้องได้รับมรดกถึง 100 ล้าน ส่วนกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บภาษีคนที่มีบ้านหลังแรกมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ฉะนั้น 99.99 เปอร์เซ็นต์ของสังคมไทยไม่ต้องเสียภาษีชนิดนี้
“คุณเชื่อหรือไม่ว่า กฎหมายสองฉบับนี้ไม่ได้เกิดจาก ‘พวก Top 0.0001 %’ คุณเชื่อจริงๆ หรอว่ากฎหมายสองฉบับนี้เกิดจากข้าราชการและคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย”  รศ.ดร. อภิชาต กล่าว
ก้าวให้พ้นประเทศรายได้ปานกลาง ต้องอาศัยรัฐที่มีคุณภาพ
รศ.ดร. อภิชาต กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและกำลังแรงงานลดลง ดังนั้น คำถามคือ เราจะเป็นสังคม ‘แก่ก่อนรวย’ หรือ ‘รวยก่อนแก่’ เมื่อค่าแรงแพงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง การลงทุนของประเทศไทยน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ระบบเงินออมเราล้นเหลือ แนวโน้วอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลง ฉะนั้น เราก็กำลังจะเข้าสู่สังคมแก่ก่อนรวย
ปัจจุบัน เราเป็นโรงงานรับจ้างทำของ ขายแรงงาน ไม่มีเทคโนโลยีและการออกแบบเป็นของตัวเอง ทางออกก็คือ รัฐต้องทำการยกระดับอุตสาหกรรม (industrial upgrading) รัฐต้องลงทุนจำนวนมหาศาล ออกแบบอุตสาหกรรมและฝึกแรงงานใหม่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตและภาคธุรกิจเราแข่งขันได้ 
กลไกรัฐที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยหลักในการก้าวพ้นกับดักทั้งสามนี้ไปได้ รศ.ดร. อภิชาตสรุปทิ้งท้าย
ท้องถิ่นถูกมัดตราสังข์ด้วยกลไกตรวจสอบจากส่วนกลางจนไร้ประสิทธิภาพ
พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จังหวัดยะลา กล่าวว่า พวกเราชาวท้องถิ่นมักจะล้อเล่นกันว่า การกระจายอำนาจคือ “การกระจายจนไม่เหลือ กระจายจนหมด จนไม่มีอะไรให้พวกเราทำ” แต่พวกเราชาวท้องถิ่นซึ่งผู้นำส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ แรงผลักดันของเราคือความตั้งใจทำให้บ้านเกิดตัวเอง และความเป็นคนพื้นก็เข้าใจปัญหาต่างๆ มากกว่า
ผู้นำท้องถิ่นมีหน้าที่นำแก้ปัญหาในพื้นที่ ยกตัวอย่าง จังหวัดยะลา เมื่อมีปัญหาความไม่สงบ ตัวเลขทางเศรษฐกิจตกลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจของยะลามาจากภาคการเกษตร เทศบาลนครยะลาก็เห็นว่ารอรัฐบาลกลางไม่ได้ วิเคราะห์กันว่าต้องเพิ่มกำลังซื้อภาคเกษตร ภาคเกษตรจะได้มาใช้จ่ายในเมืองซึ่งคนในเมืองเป็นพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลนครยะลา แต่โครงการขึ้น ส่วนกลางก็เข้ามาตรวจสอบแล้วบอกว่า คนที่ได้รับประโยชน์คือคนที่มาจากนอกเขตมากกว่าคนในเขต ซึ่งนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของเทศบาลยะลา
แล้วพอท้องถิ่นแก้ไขปัญหาไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านก็ไปร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ตัวเลขการร้องเรียนต่อท้องถิ่นสูงมาก กลายเป็นท้องถิ่นไม่ตอบสนองต่อประชาชน เราชาวท้องถิ่นเหมือนถูกทำให้กลายเป็นเงื่อนไข ไม่ให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้ แล้วสุดท้ายท้องที่ก็จะเข้าเสียบทันที
“พวกเราชาววท้องถิ่นวันนี้ ถ้าเมื่อไหร่มีการกระจายอำนาจจริงจัง จะไปได้ไกล ผมพูดตลอดว่า พวกเราท้องถิ่นเหมือนถูกมัดตราสังข์ไว้เลย” พงษ์ศักดิ์ กล่าว
ประเทศไทยไม่เคยพูดถึงการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ
ผศ.ดร. อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า “ข้างหน้าเราต้องทำระบบราชการหรือระบบรัฐทั้งระบบให้มีคุณภาพ วันนี้เราอยู่อย่างนี้ถามว่าตายไหม ไม่ตายหรอก แต่เราก็จะเริ่มอารมณ์เสียมากขึ้น เพราะประเทศอื่นๆ ปรับตัวได้เร็วกว่า แล้วเราก็จะนั่งหงอย” 
แล้วเวลาพูดว่าปฏิรูประบบราชการ ก็อย่าเชื่อว่าจะได้ผลอย่างที่ตัวเองต้องการ ถ้ากลับไปดูการปฏิรูประบบราชการที่ผ่านๆ มา ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งปฏิรูประบบราชการเข้าสู่ศูนย์กลาง รัชกาลที่ 7 ซึ่งมีสร้างข้าราชการสมัยใหม่ ยุคทักษิณ ซึ่งรัฐบาลหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ระบบราชการสั่นคลอนและมีกระแสการกระจายอำนาจแต่พอมาปี 2550 และ 2560 เหมือนย้อนกลับไปช่วงรัชกาลที่ 5 อีกครั้ง
“เหมือนหนังสติ๊ก ถ่างมาเรื่อยๆ เหมือนจะเปลี่ยน สุดท้ายก็ดึงกลับไป” ผศ.ดร. อรทัย กล่าว
การปฏิรูปราชการต้องทำไปพร้อมกับการกระจายอำนาจ ถ้ากระจายอำนาจลงไป รัฐต้องหยุดภารกิจ ตอนนี้ เราอยู่กับระบบแบ่งภารกิจ (Share function) คือ รัฐทำบ้าง ท้องถิ่นทำบ้าง สุดท้ายไม่มีใครเป็นเจ้าภาพหลัก ดังนั้น การกระจายอำนาจต้องชัดเจนมากขึ้น ท้องถิ่นรับเงินไปและส่วนกลางทำหน้าที่จับตา (monitor) เท่านั้น
ประสบการณ์จากต่างประเทศ ประเทศจีนประสบความสำเร็จในเรื่องกระจายอำนาจและกระจายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ คือ สามารถสร้างการกระจายความมั่งคั่งไปทั่วทั้งประเทศ แต่ประเทศไทยในแง่การออกแบบ เราไม่เคยให้ความสำคัญในมิตินี้เลย เราเน้นเรื่องเลือกตั้งและระเบียบ แต่ไม่เคยพูดถึงกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นทำได้อย่างคล่องตัว ทั้งๆ ที่เรื่องนี้จะเป็นหัวใจทำให้เมืองแต่ละเมืองมีอัตลักษณ์ มีโอกาส โดยไม่จำเป็นต้องผ่านทุนใหญ่
ความชะงักชะงันของการกระจายอำนาจเกิดจากการออกแบบด้วย ตอนนี้การออกแบบการปกครองท้องถิ่น เรียกว่า ‘สมมาตร’ คือ เรายึดระบบเดียวกันทั้งประเทศ แต่เดี๋ยวนี้มีอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า 
‘อสมมาตร’ คือแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบการปกครองท้อนถิ่นอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน แต่ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากกว่า เช่น กฎหมายเมืองพิเศษ 
ผศ.ดร. อรทัย เสนอว่า การกระจายอำนาจอาจทำไปในลักษณะยุทธศาสตร์อ่อน (soft strategy) มากขึ้น ขับเคลื่อนประเด็นเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ตรงไหนทำได้ก็ทำ ทำเป็นตัวอย่างก่อน โมเดลแบบนี้เกิดขึ้นแล้วในขอนแก่น โดยไม่ต้องรอโครงสร้างข้างบนจะเปลี่ยน และไม่ต้องขับต้องเคลื่อนในรูปแบบการปกครองแล้ว
ผู้อำนาจมองการปฏิรูประบบราชการไทยเหมือนทุบหม้อข้าว
ผศ.ดร. วสันต์ เหลืองประภัสร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การปฏิรูประบบราชการไทยยากมากเพราะ ระบบราชการสมัยใหม่ถูกสถาปนาครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าหากนับระบบราชการเป็นสถาบันทางการเมืองสมัยใหม่(modern political institution) ถือว่าระบบราชการรวมกับกองทัพคือสถาบันทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในประเทศไทย ไม่มีสถาบันทางการเมืองไหนที่มีเสถียรภาพและความต่อเนื่องทางโครงสร้าง วิธีคิดและจารีตการดำเนินงานที่เข็มแข็งเท่าระบบราชไทย ซึ่ง 120 ปี กว่าปีไม่เปลี่ยนเลย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไม่รู้กี่ฉบับ รัฐสภาเปลี่ยนโครงสร้างรูปไม่รู้กี่ครั้ง ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนบ่อย 
ในเชิงมิติองค์กร ระบบราชการไทยเป็นหนึ่งในองค์กรการจ้างงานที่ดีที่สุดในโลก ความมั่นคงทางตำแหน่งสูง ระบบประเมินผลงานไม่ชัดเจน การปรับตัวน้อย ถ้าข้าราชการปรับตัวไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อยู่ได้ หรือกระทำความผิดก็ย้ายกันไปย้ายกันมา ยังไม่นับโครงสร้างความสัมพันธ์ในจารีตแบบไทย ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีโครงสร้างนายและลูกน้องที่ดูแลกันที่ดีมาก
“บางทีผมคิดถึงเรื่องการปฏิรูประบบราชการมากๆ ให้มีการปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ คิดถึงขั้นว่าถ้าไปทำจริง นี้ทุบหม้อข้าวตัวเอง ราชการเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ของคณะรัฐศาสตร์ รวมถึงสิ่งที่ทำให้คณะรัฐศาสตร์เชิดหน้าชูตาว่าเป็นคณะสำคัญ ใครก็ต้องให้ความเคารพยำเกรงก็เพราะไปพัวพันกับตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการ” ผศ.ดร. วสันต์ กล่าว
การทุบระบบเก่าเพื่อไปสู่ทิศทางใหม่มักไม่มั่นคง คนทำจริงๆ ก็ไม่แน่ใจ โดยธรรมชาติผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองมักจะไม่อยากทำเพราะไม่ได้รับคะแนนนิยมและมีความเสี่ยงสูง แม้จะตั้งใจทำการปฏิรูป แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการคาดหวังว่าจะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการ อีกทั้ง การปฏิรูปต้องใช้เวลา ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลต้องต้องยึดมั่นกับมันและมีเสถียรภาพสูง
ส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นพี่น้องกันต้องเกื้อกูลกัน
ผศ.ดร. วสันต์ อธิบายว่า ที่ผ่านมา วิธีคิดในเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น มักมองแยกส่วนกันหมดระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่วิธีการปฏิรูปแบบ ‘โทษกันไปโทษกันมา’ แต่เราต้องมองว่าทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกันหรือ ‘เราอยู่บ้านเดียวกัน’ ทั้งสามส่วนเป็นพี่น้องกัน มีพี่คนโต พี่คนกลาง และน้องคนเล็ก ถ้าบ้านมีวิกฤติ เราต้องแก้ปัญหาสัมพันธภาพของพี่น้องทั้งสามคน ว่าแต่ละคนควรบทบาทหน้าที่อย่างไร
ผศ.ดร. วสันต์ เสนอว่า ให้ส่วนกลางคิด ส่วนภูมิภาคประสาน และส่วนท้องถิ่นทำ ส่วนกลางควรเป็นหน่วยคลังสมอง (think tank) เพราะต้องยอมรับว่าข้าราชการที่เก่งที่สุดอยู่ในส่วนนี้ เมื่อส่วนกลางคิดเท่ากับว่าต้องถอนตัวเองออกจากภารกิจอื่นๆ และใช้งบน้อยลง ส่วนภูมิภาคเป็นกลไกประสานงาน  เพื่อให้การพัฒนาที่ควรมาจากฐานล่างสามารถล้อกับยุทธศาสตร์ด้านบน ภูมิภาคจะทำเรื่องนี้ได้ดีเพราะมีทุนทางสังคม ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเวลาสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น ทุกคนเกรงใจเพราะเห็นว่าไม่มีผลประโยชน์ และส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นหน่วยหลักในการจัดงานบริการสาธารณะให้ประชาชน
 
 
กลไกตรวจสอบล้นเกิน ปัญหาใหญ่ระบบราชการ
ผศ.ดร. วสันต์ มองว่า กลไกที่เป็นปัญหาที่สุดของระบบราชการทั้งหมด คือ ระบบควบคุมตรวจสอบ เราก้าวเข้าสู่ยุคตรวจสอบล้นเกิน(over-auditing) เรามีหน่วยงานที่กำกับตรวจสอบการดำเนินงานจำนวนมากทำให้การดำเนินการของรัฐติดขัดซึ่งเป็นอะไรที่ย้อนแย้งมาก เพราะบริบทของปัญหาเปลี่ยนแปลงไว เราต้องการความคล่องตัวและความคิดสร้าสรรค์ แต่ทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเราไม่สามารถแหวกม่านของกติกาและกลไกการตรวจสอบไปได้
กลไกในการสร้างความรับผิดรับชอบจะทำงานได้ดีต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ หรืออยู่บนฐานระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่กลไกปัจจุบันอยู่บนฐานและกลไกแบบระบบราชการ สร้างระบบกฎเกณฑ์แบบราชการ อีกทั้ง ระบบแบบนี้เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจสูงมากนำไปสู่ปัญหามากมาย ฉะนั้น การแก้ระบบราชการด้วยการกระจายอำนาจและท้องถิ่นไม่พอ ยังต้องกลับมาคิดถึงระบบกลไกตรวจสอบที่เรามีอยู่ซึ่งช่วยลดการทุจริตให้ลดลงแต่ผลกระทบอื่นที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรงกว่า
การกระจายอำนาจลดรายจ่ายการศึกษา-การดูแลผู้สูงอายุได้
ผศ.ดร. วสันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเดิม สมมติฐานหลักในการสนับสนุนการกระจายอำนาจ คือ การกระจายอำนาจเป็นรากฐานหลักของประชาธิปไตย เป็นโรงเรียนฝึกหัดประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ของการเสริมสร้างพลเรือนที่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ประเด็นคือ เมื่อไปพูดกับชาวบ้านเขาอาจไม่สนใจ แต่เรื่องที่การกระจายอำนาจจะช่วยคนได้คือ ‘คุณภาพชีวิต’ เพราะชีวิตเราจะดีได้ไม่ใช่ดีแค่เฉพาะภายในบ้านเรา แต่เมื่อเดินออกนอกบ้านต้องดีและปลอดภัยด้วย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นทำได้ดี
ผศ.ดร. วสันต์ ยกตัวอย่าง 2 เรื่อง ได้แก่ การศึกษาของเด็กและการดูแลผู้สูงอายุ ถ้าเราส่งลูกไปเรียนเอกชนในระดับอนุบาลหรือปฐมศึกษา ค่าใช้เงินขั้นต่ำอยู่ที่ 30,000 – 40,000 บาท ต่อเทอมหรือ 100,000 บาทต่อปี ถ้าท้องถิ่นจัดการการศึกษาได้ดี จะทำให้ชนชั้นกลางหันมาส่งลูกไปโรงเรียนในท้องถิ่นซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายครัวเรือนไปแล้ว 100,000 บาทต่อปี การดูแลผู้สูงอายุ แค่จ้างคนอยู่เป็นเพื่อนก็ตก 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 120,000 บาทต่อปีแล้ว แต่ถ้าท้องถิ่นมีระบบการดูแลผู้สูงอายุ มีศูนย์ดูแล เราก็ประหยัดไปได้อีก 120,000 กว่าบาท นี้เรียกว่าคุณภาพชีวิต เพราะทำให้คนในวัยทำงาน สามารถทำงานได้อย่างสบายใจ