ส่องการเลือกตั้งไต้หวัน : บทเรียนการก้าวข้ามอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย

 
ไต้หวันหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า  สาธารณรัฐจีน เป็นรัฐประชาธิปไตยและมุ่งเน้นว่า อธิปไตยเป็นของประชาชน ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นผู้บัญชาการทหารของประเทศ ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปีและสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ 2 วาระเท่านั้น วันที่ 16 มกราคม 2016 ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 14 โดยครั้งนี้ไต้หวันได้ ไซ อิงเหวิน (Tsai Ing-Wen) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party, DPP) เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ
 
 
 
ที่มาภาพ : Flickr
 
พรรคการเมืองไต้หวัน จากพรรคอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย
 
 
ปัจจุบันไต้หวันมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนตามกฎหมายประมาณ 300 พรรค แต่รูปแบบของพรรคการเมืองในการบริหารประเทศยังถือว่า เป็นระบบสองพรรค กล่าวคือ หลังจากไต้หวันเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเมื่อปี1996 มีพรรคใหญ่สองพรรคผลัดกันบริหารประเทศ ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party-DPP) ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรครัฐบาลและมีสัดส่วนผู้แทนสูงที่สุดในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพรรคขนาดใหญ่เป็นลำดับสองในสภาคือพรรคชาตินิยมจีนหรือพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang-KMT)  โดยก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคก๊กมินตั๋งได้สภาที่นั่งเกินครึ่งสภามาตลอด 
 
 
แม้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะมีพรรคการเมืองใหม่หลายพรรค เช่นพรรคประชาชนมาก่อน(People First Party), พรรคพลังใหม่(New Power Party) แต่พรรคเหล่านี้ยังไม่สามารถชนะใจประชาชนจนได้ที่นั่งในสภามากนัก ทำให้ไม่สามารถคานอำนาจในสภาได้
 
 
พรรคการเมืองหลักของไต้หวัน
 
 
นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงได้ในปี 1996 มีเพียงสองพรรคสามารถชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีได้คือ พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ส่วนที่นั่งสภาผู้แทนราษฎรถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างสี่พรรคคือ พรรคก๊กมินตั๋ง, พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า, พรรคพลังใหม่และพรรคประชาชนมาก่อน
 
 
๐ พรรคชาตินิยมจีนหรือพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT)
 
 
หลังจากซุน ยัตเซน (Sun Yat-Sen) สถาปนาไต้หวันที่หนานจิงเมื่อปี 1 911 พรรคชาตินิยมจีน หรือพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ค่อยๆก่อร่างเป็นพรรคการเมืองที่รวมสมาชิกจากกลุ่มการเมืองอื่นๆ ต่อมาเมื่อปี1928 ไต้หวันรวมชาติกับจีน พรรคก๊กมินตั๋งบริหารประเทศมาตลอด จนกระทั่งช่วงปี 1949 พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้พรรคคอมมิวนิสต์จีนและเสื่อมอำนาจลงจึงลี้ภัยมาที่ไต้หวัน ประกาศใช้กฎอัยการศึกและบริหารไต้หวันโดยเป็นรัฐบาลเพียงพรรคเดียว 
 
 
นอกจากนี้พรรคก๊กมินตั๋งยังปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ของชาติหรือเอกชนเป็นสินทรัพย์ของพรรคอย่างไม่เป็นธรรมและยังกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มข้าราชการ ไปพร้อมกันกับการสั่งสมอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในกลุ่มดังกล่าว จนกระทั่งในปี2000 พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคก๊กมินตั๋งสนับสนุนแนวนโยบายจีนเดียว แต่การตีความคำว่า จีนเดียวขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่าย (One China with respective interpretations)  เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวันกับจีนและคัดค้านการเป็นรัฐอิสระของไต้หวันอย่างแข็งขัน
 
 
๐ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party, DPP) 
 
 
ในปี 1986 พรรคก๊กมินตั๋งยังประกาศใช้กฎอัยการศึกและห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ที่ต่อต้านการปกครองอย่างเผด็จการของพรรคก๊กมินตั๋งหรือที่มีศัพท์เฉพาะว่า “คนนอกพรรค” (黨外人士)* ใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวนอกพรรค (黨外運動) ส่งเสริมประชาธิปไตย เช่น การจัดทำนิตยสาร เป็นต้น หลังจากนั้น “คนนอกพรรค” บางส่วนจึงมาร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า 
 
 
ต่อมาในปี 1987 ก๊กมินตั๋งประกาศหยุดใช้กฎอัยการศึก พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าจึงเริ่มเคลื่อนไหวและชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2000  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนพรรคคุมอำนาจบริหารครั้งแรกของไต้หวัน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าสนับสนุนดำรงฐานะของประเทศไว้ดังเดิมต่อไป สมาชิกพรรคบางส่วนสนับสนุนความเป็นอิสระของไต้หวันและปฏิเสธการรวมไต้หวันเข้ากับจีน
 
 
๐ พรรคพลังใหม่(New Power Party)
 
 
ในปี 2015 พรรคพลังใหม่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนักศึกษาทานตะวัน (The Sunflower Student Movement) และกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมืองและความเป็นพลเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่พรรคการเมืองใหม่ปรากฏขึ้นโดยไม่อิงอาศัยพรรคการเมืองดั้งเดิมเพื่อเป็นทางเลือกทางการเมืองของไต้หวัน สมาชิกพรรคส่วนใหญ่คัดค้านนโยบาย จีนเดียว แต่การตีความคำว่า จีนเดียวขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่าย (One China with respective interpretations) มองว่า ไต้หวันดำรงฐานะเป็นอิสระอยู่แล้ว เห็นได้จากการที่ไต้หวันผ่านกระบวนการความเป็นประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ทั้งหมด, การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยประชาชนและการผลัดเปลี่ยนขึ้นบริหารประเทศของพรรคการเมือง
 
 
 
เฟรดดี้ ลิม ผู้ก่อตั้งพรรคพลังใหม่
ที่มาภาพ : Flickr
 
อย่างไรก็ดีในทางการเมืองระหว่างประเทศ จีนวางท่าทีแข็งกร้าวต่อไต้หวันมาตลอด ทำให้ไต้หวันยังไม่สามารถสมัครเข้าองค์การระหว่างประเทศในฐานะเป็นประเทศ ซึ่งพรรคพลังใหม่กำหนด “แสวงการทำให้ไต้หวันมีฐานะประเทศอย่างปกติ”เป็นนโยบายหลักของพรรค พยายามส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมนานาชาติในนามไต้หวัน สมัครเข้าองค์การระหว่างประเทศต่างๆ 
 
 
๐ พรรคประชาชนมาก่อน(People First Party)
 
 
พรรคประชาชนมาก่อนก่อตั้งขึ้นโดย ซ่ง ชูวยู (Soong Chu-yu) ซึ่งเป็นแกนนำของก๊กมินตั๋ง แต่เนื่องจากในปี 2000 พรรคก๊กมินตั๋งไม่ได้เสนอเขาเป็นผู้แทนเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาจึงตัดสินใจสมัครเลือกตั้งผู้แทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง หลังจากการเลือกตั้งเจมส์ ซ่ง สร้างขึ้นพรรคประชาชนมาก่อน สมาชิกพรรคส่วนหนึ่งมาจากพรรคก๊กมินตั๋ง มีนโยบายหลักส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายระหว่างไต้หวันและจีน
 
 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการหาเสียงเลือกตั้ง
 
 
ตามมาตรา11 ของรัฐธรรมนูญของไต้หวัน บัญญัติว่า “ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก การสอน การเขียนและการจัดพิมพ์ ” การแสดงออกทางการเมือง วิชาการ ศาสนาและธุรกิจอยู่ในการคุ้มครองของมาตรานี้ด้วย ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสมบูรณ์ สามารถแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในสาธารณะ โดยกรณีที่การแสดงออกในทางที่หมิ่นประมาทจะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายอาญา แต่หากสามารถพิสูจน์ว่า ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะไม่มีโทษ
 
 
ก่อนการเลือกตั้งบรรดาผู้แทนและสมาชิกพรรคหรือทีมหาเสียงจะสะท้อนนโยบายและความคิดเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะ ไต้หวันมีรายการดีเบททางโทรทัศน์ หรือการให้สัมภาษณ์ บางครั้งก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้แทนกับผู้แทนด้วยกันจากความคิดเห็นหรือจุดยืนที่แตกต่าง นำไปสู่การฟ้องร้องหมิ่นประมาท พิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาล แต่กฎหมายของไต้หวันความผิดฐานหมิ่นประมาทมีโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หากศาลสั่งกักขัง จำเลยสามารถจ่ายค่าปรับแทนการกักขังได้ โดยส่วนใหญ่คดีมักจะจบที่การจ่ายค่าปรับ การแถลงขอโทษผ่านสื่อเช่น หนังสือพิมพ์ เป็นต้น
 
 
กฎหมายการเลือกตั้งและการถอดถอนข้าราชการบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1980 และเคยปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง ในกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการหาเสียงการเลือกตั้ง ระบุว่า พรรคการเมืองและผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองสามารถใช้สื่อสารมวลชนในการหาเสียง โดยห้ามไม่ให้สถานีโทรทัศน์กับวิทยุปฏิบัติต่อ พรรคการเมืองและผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองของแต่ละพรรคอย่างไม่เป็นธรรม
 
 
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครสามารถหาเสียงได้ก่อนการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 28 วัน แต่เนื่องจากไม่ได้กำหนดอัตราโทษฝ่าฝืน ผู้สมัครและพรรคการเมืองจึงเริ่มหาเสียงล่วงหน้าหลายเดือน แต่เพื่อไม่รบกวนประชาชน พรรคการเมืองสามารถหาเสียงได้แค่ตั้งแต่เวลา 7.00-22.00 น. เท่านั้น นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดว่า หากรบกวนการหาเสียงของผู้สมัครรายอื่นๆหรือกระจายข่าวลือ มุ่งหมายให้ผู้สมัครชนะหรือพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง มีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี
 
 
แคมเปญประธานาธิบดี 2016 ใกล้ชิดประชาชนและเข้าถึงคนรุ่นใหม่
 
 
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันใช้ระบบคะแนนเสียงข้างมาก(First past the post) คือผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็ถือว่า ชนะการเลือกตั้งนั้นๆ โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ มีผู้เข้าสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งหมดสามคนด้วยกันคือ จู ลี่หลุน (Chu Li-lun) , ไซ อิงเหวิน (Tsai Ing-Wen), และ ซ่ง ชูวยู (Soong Chu-Yu)
 
 
รูปแบบการหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันไม่ต่างจากการหาเสียงในหลายประเทศที่เน้นการหาเสียงแบบใกล้ชิดเข้าถึงประชาชน พรรคการเมืองจะพยายามวางยุทธศาสตร์ในการหาเสียง โดยมุ่งหมายให้ผู้ออกเสียงเข้าถึงผู้สมัครและความคิดทางการเมืองของผู้แทนให้มากที่สุด โดยอิงอาศัยเครื่องมือร่วมสมัยอย่างอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียล ทีมงานของผู้สมัครก็จะช่วยผู้สมัครเปิดแฟนเพจในเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรม ซึ่งต่อมาเป็นพื้นที่ให้ผู้สมัครโพสต์ความคิดเห็นทางการเมือง สร้างความรู้สึกใกล้ชิดกันประชาชนมากขึ้นและเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย 
 
 
สองตัวอย่างในบรรดาความพยายามสื่อสารกับประชาชน คือ รายการ “เป็นหัวหน้าทีมรณรงค์หนึ่งวัน” โดยนักการเมืองที่จัดทำมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าใจว่า ในวันหนึ่งนักการเมืองต้องทำอะไรบ้าง  และการร้องเพลงฮิปฮอป พร้อมออกมิวสิควีดีโอเพื่อหาเสียงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่  นอกจากนี้มีการผลิตสินค้าที่ระลึกเพื่อระดมทุนที่ใช้ในการเลือกตั้ง  นอกจากนี้ช่วงเลือกตั้งถ้าหากมีโอกาสไปไต้หวันก็จะเห็นโฆษณาผู้สมัครอยู่บนป้ายโฆษณา บนรถเมล์และตามท้องถนน  
 
 
ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีของแต่ละพรรคจะพยายามเดินทางลงพื้นที่ไปหาเสียงในเขตต่างๆ อย่างเข้มข้น โดยการหาเสียงจะร่วมมือกับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเดียวกัน
 
 
๐ จู ลี่หลุน พรรคก๊กมินตั๋ง
 
 
จู ลี่หลุน (Chu Li-Lun ,Eric Chu) สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคก๊กมินตั๋ง เขาเกิดในตระกูลการเมืองที่มีสายสัมพันธ์อันแนบนานกับพรรคก๊กมินตั๋ง ก่อนหน้านี้จู ลี่หลุน ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของ New Taipei city เขาปฏิเสธในการลงสมัครเข้าชิงเก้าอี้ผู้นำมาโดยตลอด แต่ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีหง เฉี้ยวจู ตัวแทนของพรรคมีคะแนนเสียงตกลงไปที่ร้อยละ 15.6 เทียบกับ ไซ อิงเหวินคู่แข่งซึ่งนำทิ้งห่างไปที่ร้อยละ 46.8 ทำให้สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งเสนอเปลี่ยนจู ลี่หลุนเป็นผู้สมัครแทนจึงทำให้เขาเข้ามาสู่สนามการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 14 ในที่สุด  
 
 
โดยหลักแล้วพรรคก๊กมินตั๋งสนับสนุนแนวนโยบายจีนเดียวแต่การตีความคำว่า จีนเดียวขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่าย (One China with respective interpretations) ทีมแคมเปญของจู ลี่หลุน ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่จู ลี่หลุนเป็นผู้แทนพรรคอย่างเป็นทางการจะลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้านและการวางตัวเป็นกลางที่สามารถรับมือกับการเมืองระหว่างช่องแคบของจีนและไต้หวัน (Cross-strait Relations)  นอกจากนี้ยังไปเยือนสหรัฐอเมริกาตามรอย ไซ อิงเหวิน อีกด้วย 
 
 
 
 
ระหว่างปี 2008-2016 สมัยของหม่า อิง จิว (Ma Ying-Jeou) ประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋ง มีกรณีที่หลิน หยีชิห์ (Lin Yi-Shih) เลขาธิการสำนักการบริหารของประธานาธิบดีขอสินบนและการคอร์รัปชั่นกับองค์กรรัฐวิสาหกิจ, พลทหารถูกฝึกหนักจนถึงแก่ชีวิต แต่ทหารกลับปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตาย รวมทั้งการที่สภานิติบัญญัติผ่านวาระอย่างน่ากังขา ทำให้ประชาชนไม่พอใจรวมกันออกมาประท้วงกว่า 500,000 คน ขณะที่ช่วง 8 ปีดังกล่าวมีการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน และเศรษฐกิจไต้หวันไม่สดใสนัก ทำให้ชาวไต้หวันหลั่งไหลมาแสวงหาอนาคตที่จีนมากขึ้น แต่ความแนบแน่นของพรรคก๊กมินตั๋งและจีน กลับทำให้ชาวไต้หวันเป็นกังวลต่ออนาคตว่า จะต้องพึ่งพิงจีนมากขึ้น  เหล่านี้กลายเป็นปัจจัยทำให้หนทางการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของจู ลี่หลุน ไม่ง่ายนัก
 
 
๐ ไซ อิงเหวิน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
 
 
ในปี 2012 ไซ อิงเหวิน (Tsai Ing-Wen) เคยสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แต่ช่วงเวลาดังกล่าวข้อครหาของการคอร์รัปชั่นของเฉิน สุ่ยเปียน (Chen Shui-Bian) ประธานาธิบดีคนแรกของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่ลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2008 ยังไม่สร่างซา และการพลาดพลั้งในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง รวมทั้งท่าทีที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของไต้หวันและจีน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ ไซ อิง เหวินพ่ายแพ้การเลือกตั้งในที่สุด
 
 
 
ที่มาภาพ : Flickr
 
ในการแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ไซ อิงเหวินกลับมาแก้ไขจุดอ่อนของแคมเปญของเธอ โดยชูนโยบายการดำรงสถานะของไต้หวันไว้ดังเดิม เพื่อที่จะนำประโยชน์อย่างที่สุดให้แก่ชาวไต้หวัน โดยวางท่าทีชัดเจนต่อความสัมพันธ์และนโยบายระหว่างไต้หวันและจีนจำต้องวางอยู่บนฐานของศักดิ์ศรีของแต่ละฝ่ายและการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เป็นการส่งสัญญาณไปยังจีนถึงเรื่องข้อตกลงทางการค้าและบริการข้ามช่องแคบ(ไต้หวัน-จีน) ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ซึ่งเป็นผลดีต่อคะแนนเสียงของเธอ เพราะประเด็นข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ประชาชนหลายแสนคนออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลของพรรคก๊กมินตั๋ง แต่ก็ไม่สามารถทัดทานได้
 
 
และเน้นหนักไปที่เรื่องเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใสเท่าไหร่นักในหลายปีที่ผ่านมา โดยเธอวิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจของพรรคก๊กมินตั๋งว่า ไม่ปกป้องบรรษัทภายในประเทศจากการแข่งขันของจีน ขณะที่แรงงานต้องออกไปทำงานต่างประเทศ และมีจำนวนมากที่ทำงานอยู่ภายใต้บริษัทสัญชาติจีน ทั้งคนรุ่นใหม่ก็ไร้ที่ทางในบ้านของพวกเขา นอกจากนี้ในการหาเสียงแต่ละครั้ง ไซ อิงเหวินก็ย้ำถึงเหตุการณ์ที่ตกเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ในยุคพรรคก๊กมินตั๋ง โดยคืนก่อนการเลือกตั้ง เธอขึ้นเวทีปราศรัยว่า 
 
 
ใน 8 ปีที่ผ่านมา มีหลายๆเรื่องเกิดขึ้นที่นี่ เมื่อขบวนต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ มี2แสนคนเรียกร้องความปลอดภัยทางการพลังงานที่นี่ เมื่อสิบโทเสียชีวิตในกองทัพบก มี2.5แสนคนประท้วงรัฐบาลโกหกและปกปิดความจริงที่นี่ เมื่อรัฐบาลให้สัตยาบันแก่ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ(ไต้หวัน-จีน)โดยวิธีอยุติธรรม มี5แสนคนชุมนุมที่นี่ แต่…ไม่ว่าประชาชนมีเสียงมากขนาดไหน คนที่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีไม่เคยได้ยินแม้แต่น้อย…ถ้าคุณหวังว่าไต้หวันมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาให้ทุกคนเดินเข้าหน่วยเลือกตั้ง แสดงปณิธานขอบคุณด้วยตนเอง บัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีขอให้เลือกเบอร์ที่2 ไซ อิงเหวิน เราช่วยกันทำให้ทำเนียบประธานาธิบดีเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยบัตรเลือกตั้ง
 
 
๐ ซ่ง ชูวยู พรรคประชาชนมาก่อน
 
 
ซ่ง ชูวยู (Soong Chu-yu, James Soong) เกิดในครอบครัวของทหารก๊กมินตั๋ง ก่อนอพยพมาที่ไต้หวัน ในปี 1994-1998 เขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดไต้หวัน (Governor of Taiwan Province) เขาเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวชาติพันธุ์พื้นเมืองไต้หวัน จากการที่เขาเป็นนักการเมืองพรรคก๊กมินตั๋งคนแรกที่พยายามจะใช้ภาษาไต้หวันในวาระทางการเมืองและวาระทางการ
 
 
ที่มาภาพ : Creative commons
 
ที่มาภาพ : Creative commons
 
ในปี 2000  ซ่ง ชูวยูต้องพลาดหวังในการลงแข่งขันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากพรรคก๊กมินตั๋งมีมติส่ง เหลียน จั้นแทน เขาจึงลงสมัครอิสระแทน ต่อมาพรรคก๊กมินตั๋งขับเขาออกจากพรรคและฟ้องร้องเขาในข้อหายักยอกทรัพย์ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเขาแปดเปื้อนและพ่ายแพ้ให้แก่เฉิน สุ่ยเปียนจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในที่สุด เขาได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับสองที่ร้อยละ นักวิเคราะห์มองว่า การเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของซ่ง ชูวยู ทำให้สัดส่วนคะแนนที่พรรคก๊กมินตั๋งได้น้อยลง เป็นผลให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าสามารถชนะเลือกตั้งได้
 
 
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้เขายืนยันว่า จะสนับสนุนการสื่อสารกันระหว่างพรรคการเมือง กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งสัญญาว่า จะสร้างรัฐบาลร่วมหลายพรรคเพื่อที่จะสิ้นสุดการครองอำนาจของพรรคเดียวในรัฐบาล ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเขากล่าวขอโทษที่เคยจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกในช่วงที่ไต้หวันอยู่ภายใต้อำนาจกฎอัยการศึก ในประเด็นเรื่องนโยบายระหว่างไต้หวันและจีน เขามีเป้าหมายในการคงไว้ซึ่งสถานะเดิมของไต้หวัน และกล่าวย้ำในเรื่องความโปร่งใส่และการตรวจสอบได้ในนโยบายดังกล่าว
 
 
ไต้หวันไม่มีประธานาธิบดีคนนอก
 
 
ท้ายที่สุด ไซ อิงเหวินกลายเป็นประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรกของไต้หวัน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 14  ได้คะแนนร้อยละ 56.12 ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนพรรคบริหารครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ไต้หวัน และเป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินร้อยละ 50 ของที่นั่งในสภาทั้งหมดสามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนได้ถึง 68 ที่นั่งจาก 113 ที่นั่ง ถือเป็นพรรคใหญ่สุดในสภา ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งจากเดิมมี64ที่นั่งเหลือเพียง35 ที่นั่ง และพรรคพลังใหม่ได้ 3 ที่นั่ง
 
 
 
ที่มาภาพ : Flickr
 
 
ไซ อิงเหวินเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2016 เป็นการส่งอำนาจอย่างสงบเรียบร้อยและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าบริหารไต้หวัน
 
 
 
* เหตุที่เรียกว่า คนนอกพรรคเนื่องจากห้วงเวลาดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ผู้ที่เห็นต่างกับพรรคก๊กมินตั๋งไม่สามารถจัดตั้งพรรคได้จึงนำกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวนอกกลไกพรรคการเมือง แต่ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกคนนอกพรรคบางส่วนได้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progress Party: DPP) การเคลื่อนไหวของคนนอกพรรคเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย