วงเสวนาชี้ ‘วิสามัญฆาตกรรม’ หวั่นคนตายฟรี-กระบวนการยุติธรรมไม่โปร่งใส

14 กรกฎาคม 2561 องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมรวมตัวกันจัดงานเสวนา "วิสามัญฆาตกรรมและปริศนาความยุติธรรมทางอาญาที่ยังไม่เกิด" เพื่อถอดบทเรียนการวิสามัญฆาตกรรมของ "ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ และ "อะเบ แซ่หมู่" ชาวชาติพันธุ์ลีซู ที่ตายอย่างปริศนา รวมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถคืนความเป็นธรรมให้ญาติได้อย่างแท้จริง
22 ปี วิสามัญฆาตกรรม อยุติธรรมไม่เปลี่ยนผ่าน
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความหมายของการวิสามัญฆาตกรรมว่า เป็น 'การฆ่านอกกระบวนยุติธรรม' หรือหมายถึงการทำให้เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยหลักการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้ความรุนแรงได้ ต้องเป็นไปเพื่อการปกป้องขัวิตตัวเองหรือชีวิตของบุคคลอื่น อีกทั้ง การใช้อาวุธตอบโต้ก็ต้องได้สัดส่วนกับลักษณะการก่อเหตุ และต้องมีการไต่สวนการตาย เพื่อพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
อังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการวิสามัญฆาตกรรมอย่างปริศนาอยู่หลายครั้งในสังคมไทย เช่น การวิสามัญฯ 'โจ ด่านช้าง' ปี 2539 ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการฆ่ายาเสพติด โดยผู้ต้องหาเสียชีวิตระหว่างเตรียมไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม และสภาทนายความได้อาสาตัวช่วยเหลือคดี แต่คดีดังกล่าวก็ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจากทางญาติได้ขอถอนฟ้องและไม่ติดใจการเสียชีวิต
จนมาถึง การประกาศนโยบาย 'สงครามยาเสพติด' ที่คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,500 ถึง 3,000 คน ซึ่งมีคดีสำคัญ อย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของเยาวชนอายุ 17 ปี ที่มีพยานรู้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเขาไปก่อนจะพบเป็นศพในสวนสาธารณะ อย่างไรก็ดี หลายคดีในกรณีสงครามยาเสพติดไม่มีการไต่สวนการตาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะให้ข้อมูลว่า ญาติไม่ติดใจการเสียชีวิตเช่นเดียวกัน
หลังยุคของสงครามยาเสพติด ก็มี กรณี 'กรือเซะ' เมื่อปี 2547 ที่มีผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี 32 คน ซึ่งศาลก็ได้ไต่สวนและสรุปแล้วว่า การเสียชีวิตเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดเจ้าหน้าที่ หรือกรณี 'ตากใบ' ที่มีผู้เสียชีวิต 48 คน โดยศาลได้ไต่สวนการตาย แต่ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต อีกทั้งยังระบุว่า ผู้ตายตายเพราะขาดอากาศหายใจ ทำให้คดีนี้อัยการไม่สามารถสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้
อังคณา ย้ำว่า ในการวิสามัญฆาตกรรมต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เช่น การชันสูตรก็ต้องมีอัยการและแพทย์ที่เป็นอิสระ ศาลที่ทำการไต่สวนการตายก็ต้องเป็นอิสระ และการฟ้องร้องดำเนินคดีก็ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติ มีการคุ้มครองพยานและญาติ รวมถึงการรวบรวมพยานหลักฐานต้องเข้าถึงได้โดยสะดวก
ทนายความ 'ชัยภูมิ' ตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใส ศาลยังไม่เรียกภาพกล้องวงจรปิด
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความคดีไต่สวนการตายกรณีของชัยภูมิและอะเบ ตั้งข้อสังเกตถึงทั้งสองคดีว่า สองคดีนี้เกิดขึ้นห่างกันเป็นเวลา 1 เดือน 12 วัน แต่มี 'ความผิดปกติ' ที่คล้ายคลึงกัน คือ เสียชีิวตจากทหารหน่วยเดียวกัน และผู้ตายถูกกล่าวหาว่า ครอบครองยาเสพติด พร้อมทั้งมีข้ออ้างว่า ผู้ตายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารด้วยอาวุธระเบิดแบบเดียวกัน แต่ผลทางนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า ทั้งอะเบและชัยภูมิไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักฐานยาเสพติดและอาวุธระเบิดแต่อย่างใด
รัษฎา ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ทั้งสองคดีมีจุดร่วมกันอีกหนึ่งอย่าง คือ ญาติถูกกีดกันในการเข้าไปขอพบศพ ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่า ต้องมีการแจ้งญาติให้ทราบก่อนเพื่อความโปร่งใส เมื่อความโปร่งใสไม่มี ความยุติธรรมก็ไม่มีตั้งแต่ต้น
รัษฎา ยังกล่าวถึงความไม่โปร่งใสในคดีชัยภูมิอีกว่า กระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานสำคัญอย่าง 'ภาพกล้องวงจรปิด' ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่ทหารไม่ยอมนำหลักฐานดังกล่าวใส่ในสำนวนคดี ทั้งที่เคยให้ปากคำถึงพยานหลักฐานดังกล่าวและมีการทำสำเนาหลักฐานดังกล่าวไว้ 
แต่เมื่อพนักงานสอบสวนเรียกหลักฐานดังกล่าวมาตรวจพิสูจน์ ก็ไม่พบภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ ในขณะเดียวกัน ทางทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เรียกพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบการไต่สวน แต่ศาลกลับพิจาณายกคำร้องถึงสองครั้งและระบุว่า ข้อเท็จจริงในคดีเพียงพอแล้ว ทั้งที่ พยานหลักฐานจากการให้ปากคำไม่มีน่าเชื่อถือเท่ากับภาพกล้องวงจรปิด
รัษฏา ยังกล่าวถึงกระบวนการไต่สวนของศาลอีกว่า ในคดีของชัยภูมิ ศาลไม่ยอมพิจารณาถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ชัยภูมิตายว่า เขาไปทำอะไรมา เขาพยายามต่อสู้จริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่ป้องกันตัวโดยชอบจริงหรือไม่ และเขาได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริงหรือเปล่า แต่กลับระบุแค่ว่า ผู้ตายคือใคร ตายเมื่อไร ตายที่ไหน ใครเป็นคนทำให้ตาย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต
ด้าน สุมิตรชัย หัตถสาร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นถึงบทบาทของศาลว่า  เจตนารมณ์ของการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการไต่สวนการตายของศาล พยายามวางหลักให้ศาลเข้ามามีบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ให้อำนาจศาลในการเรียกพยานหลักฐานต่างๆ ขึ้นมาไต่ส่วน แต่ในคดีชัยภูมิศาลไม่ได้แสดงบทบาทในเชิงรุกแต่อย่างใด
นักกฎหมายจี้! กระบวนการยุติธรรมต้องได้มาตรฐาน
สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า ขั้นตอนสำคัญในการพิจารณาว่า การวิสามัญฆาตกรรมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คือ การสืบสวนสอบสวน มาตรฐานระหว่างประเทศอ้างอิงตามพิธีสารมินิโซต้า จึงวางหลักไว้ว่า กระบวนการสอบสวนจะต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ละเอียดถี่ถ้วน มีความเป็นอิสระ และมีความโปร่งใส
สัณหวรรณ ให้ข้อสังเกตอีกว่า ในขณะที่กระบวนการสอบสวนคดีชัยภูมิไม่ให้ความสำคัญกับกล้องวงจรปิด แต่ทว่า ในพิธีสารมินิโซต้าระบุเลยว่า พนักงานสอบสวนควรพิจารณาหลักฐานทั้งหมดที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ภาพจากกล้องวงจรปิด 
นอกจากนี้ พิธีสารยังระบุอีกว่า ในกระบวนการสอบสวน พยานหลักฐานทุกอย่างต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสม ห้ามบุคคลที่ไม่มีอำนาจเข้าถึงพยานหลักฐานดังกล่าว เช่น ในกรณีที่จะมีผู้เข้าออกที่เกิดเหตุหรือเข้าถึงพยานหลักฐานจะต้องมีการลงนามว่าใครเข้าถึงบ้าง