เห็นชอบ กกต.: 4 ปี คสช. ยึดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญครบทุกแห่งแล้ว

12 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.17 น. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เริ่มประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบคุณสมบัติฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมขอใช้วิธีการประชุมลับ ที่ประชุม สนช. ไม่มีใครคัดค้าน
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. จึงขอให้ยุติการถ่ายทอดสด ปิดกล้องวงจรภายในสภา ให้สมาชิกงดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด และเชิญผู้สื่อข่าวออกนอกห้องประชุม สัญญาณการถ่ายทอดสดกลับมาอีกครััง เวลา 13.15 น. นับเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในการพิจารณาลับ สมาชิก สนช. ลงคะแนนเห็นชอบผู้สมัคร กกต. ทั้ง 7 คน  
ผลปรากฎว่าที่ประชุม สนช. เห็นชอบผู้สมัคร กกต. จำนวน 5 คน และไม่เห็นชอบ จำนวน 2 คน 
ผู้สมัคร กกต. ที่ได้รับความเห็นชอบ จำนวน 5 คน 
1) สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อายุ 60 ปี ศาสตราจารย์ ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 178 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง งดออกเสียง 3 คน
2 ) อิทธิพร บุญประคอง อายุ 61 ปี อดีตเอกอัครราชทูต ด้วยคะแนนเห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 5 คน
3) ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อายุ 65 ปี อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้วยคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 5 คน
4) ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อายุ 64 ปี ผู้พากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ด้วยคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 11 เสียง งดออกเสียง 6 คน
5) ปกรณ์ มหรรณพ อายุ 63 ปี ผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยคะแนนเห็นชอบ 185 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 6 คน
ผู้สมัคร กกต. ที่ไม่รับความเห็นชอบ จำนวน 2 คน
1) สมชาย ชาญณรงค์กุล อายุ 60 ปี อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้วยคะแนนเห็นชอบ 3 เสียง ไม่เห็นชอบ 193 เสียง งดออกเสียง 5 คน
2) พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อายุ 61 ปี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และประธาน กกต. จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 28 เสียง ไม่เห็นชอบ 168 เสียง งดออกเสียง 5 คน
จากรายชื่อทั้งว่าที่ กกต. ทั้ง 7 พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีผลงานหรือประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีเพียง พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ที่เคยเป็นประธาน กกต. จังหวัดศรีสะเกษ แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. สำหรับตำแหน่ง กกต. อีกจำนวน 2 คน จะต้องมีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน
4 ปี หลังการรัฐประหาร คสช. ยึดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญครบทุกแห่งแล้ว
ในช่วง 4 ปีหลังการรัฐประหาร คสช. พยายามแทรกแซงองค์กรอิสระหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 44 ต่ออายุ หรือ ปลด ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในขณะเดียวกัน คสช. ก็ยังใช้ สนช. หรือสภาที่มาจากการแต่งตั้งของตัวเอง ทำหน้าที่แต่งตั้งบุคคลเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระ 
ล่าสุดที่ประชุม สนช. เห็นชอบบุคคลผู้สมควรเป็น กกต. จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็น 3 คนแรก ได้แก่ สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อิทธิพร บุญประคอง และ ธวัชชัย เทิดเผ่าไทย ซึ่งทั้ง 3 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาอันประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราฎร (ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ที่แทน) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว) ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรมนูญแต่งตั้ง 
ส่วนอีก 2 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นคนคัดเลือก ได้แก่ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ ปกรณ์ มหรรณพ
อย่างไรก็ดี กกต. เป็นองค์กรอิสระแห่งสุดท้ายที่ สนช. ยังไม่ได้แต่งตั้งนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อ สนช. แต่งตั้ง กกต. แล้ว ก็จะเท่ากับว่า สนช. ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ได้ส่งคนเข้าไปยึดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญครบทั้งหมดแล้ว
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทบาทสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ในการกำกับการทำงานของนักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน