10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ในกฎหมายไทย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยสถิตินักโทษประหารชีวิตเมื่อ วันที่ 30 เมษายน 2561 พบว่า มีนักโทษที่ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตแล้วอยู่ในเรือนจำ 517 คน เป็นนักโทษเด็ดขาดที่คดีถึงที่สุดแล้ว อยู่ระหว่างรอผลการขอพระราชทานอภัยโทษ 200 คน อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ 287 คน อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกา 30 คน เป็นนักโทษคดียาเสพติด 296 คน เป็นนักโทษคดีความมั่นคง 3 คน และเป็นนักโทษคดีอื่น 218 คน 
ท่ามกลางบรรยากาศที่โทษประหารชีวิต ถูกนำกลับมาใช้ในทางปฏิบัติอีกครั้งในรอบเกือบสิบปี ทำให้สังคมไทยตื่นตัวถกเถียงกันเรื่องการประหารชีวิตกันอีกยกใหญ่ จึงชวนทำความรู้จักที่ทางของโทษประหารชีวิตในกฎหมายไทย เงื่อนไขและข้อยกเว้นในกรณีต่างๆ 
1. โทษประหารชีวิต เป็นโทษสูงสุดตามกฎหมายไทย จากเดิมใช้วิธียิงเป้า มาตรา 19 ของประมวลกฎหมายอาญา เขียนไว้ว่า ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย แต่ในปี 2546 รัฐแก้ไขกฎหมายอาญา เปลี่ยนวิธีการทำให้ตาย โดยเขียนมาตรา 19 ใหม่ว่า ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย
2. ในการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2546 ยังไม่ให้ใช้โทษประหารชีวิต กรณีที่เด็กเป็นผู้กระทำความผิดด้วย เขียนเพิ่มเติมเป็นมาตรา 18 วรรคสองและวรรคสาม "โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีกระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวเปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี"
3. นักโทษที่ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต หากได้รับการลดโทษด้วยเหตุตามกฎหมาย ให้ลดโทษดังนี้
(1) ถ้าจะลดหนึ่งในสามให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
(2) ถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบห้าปีถึงห้าสิบปี
4. ความผิดตามกฎหมายไทย ที่มีโทษประหารชีวิต เช่น การประทุษร้ายหรือลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์, กบฏ, เข้าร่วมรบกับข้าศึกของประเทศ, ส่งความลับให้ต่างประเทศล่วงรู้, ฆ่าผู้อื่น, ก่อการร้าย, เป็นเจ้าพนักงานข่มขืนใจหรือจูงใจผู้อื่นให้มอบทรัพย์สินให้, วางเพลิงเผาโรงเรือน, ข่มขืนจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, เอาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเรียกค่าไถ่, ชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ผลิต นำเข้า ส่งออก ยาเสพติดเพื่อจำหน่าย, ครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย ฯลฯ
5. คดีที่มีโทษประหารชีวิต ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 กำหนดว่า เมื่อพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหา ให้ถามผู้ต้องหาว่า มีทนายความหรือไม่ หากไม่มีต้องจัดหาทนายความให้ ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเรียกร้องหรือไม่ก็ตาม และมาตรา 173 กำหนดว่า เมื่อจำเลยถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ศาลตั้งทนายความให้ ไม่ว่าจำเลยจะเรียกร้องหรือไม่ก็ตาม
6. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 กำหนดว่า คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย แม้จำเลยจะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ และให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คดีนั้นๆ จะถึงที่สุดได้ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประหารชีวิตเช่นเดียวกัน
7. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 247 กำหนดว่า คดีที่จำเลยถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต ยังไม่ให้ประหารชีวิตทันที จนกว่าจะได้ดำเนินการเรื่องการอภัยโทษแล้ว และมาตรา 262 กำหนดว่า เมื่อผู้ใดถูกพิพากษาประหารชีวิต ให้ประหารเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันฟังคำพิพากษา ในกรณีที่ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ให้รอการประหารชีวิตไว้จนกว่าจะพ้นกำหนดหกสิบวันนับตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถวายเรื่องราวขึ้นไป การขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตนั้น ให้ขอได้ครั้งเดียวเท่านั้น
8. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 247 วรรคสอง กำหนดว่า ถ้าหญิงมีครรภ์ต้องโทษประหาร ให้รอไว้จนพ้นกำหนดสามปีนับตั้งแต่คลอดบุตร แล้วให้ลดโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต เว้นแต่บุตรตายก่อนพ้นกำหนดเวลา 
9. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 248 กำหนดว่าถ้าบุคคลวิกลจริตต้องโทษประหาร ให้รอการประหารไว้ก่อนจนกว่าจะหาย ระหว่างเวลานั้นศาลอาจพิจารณาไม่เอาโทษหรือให้ส่งตัวไปกักขังไว้แทนการรับโทษก็ได้ถ้าผู้วิกลจริตนั้นหายภายหลังปีหนึ่งนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต
10. ระเบียบกระทวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 กำหนดหลักเกณฑ์การประหารชีวิตนักโทษไว้ สรุปคร่าวๆ ได้ ดังนี้
10.1 เมื่อนักโทษถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต ให้เรือนจำถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ บันทึกตำหนิรูปพรรณ เพื่อส่งไปตรวจสอบกับ 1) กองทะเบียนประวัติอาชญากร 2) พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี 3) ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเจ้าของคดี เพื่อยืนยันอีกครั้งว่า ใช่จำเลยที่ต้องถูกประหารชีวิต
10.2 ให้เรือนจำจัดตรวจสุขภาพจิตนักโทษประหาร และหากเป็นหญิงต้องตรวจการตั้งครรภ์ด้วย ให้เรือนจำแจ้งสิทธิการขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษทราบ และถามว่า ต้องการจะใช้สิทธิหรือไม่ หากนักโทษต้องการให้เรือนจำดำเนินการโดยเร็ว
10.3 ในการประหารชีวิต ให้มีคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธาน ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการจังหวัด พนักงานเรือนจำตำแหน่งตั้งแต่พัศดีขึ้นไป ให้มีผู้แทนกรมราชทัณฑ์และผู้กำกับสถานีตำรวจในท้องที่ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
10.4 การจะประหารชีวิตในวันใด ให้เรือนจำเป็นผู้กำหนด โดยไม่ให้ประหารชีวิตในวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนาของนักโทษคนนั้น
10.5 ก่อนการประหาร ให้คณะกรรมการตรวจสอบรูปถ่ายและลายนิ้วมืออีกครั้ง ให้อ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษฟังด้วย
10.6 ให้เรือนจำสอบถามนักโทษที่จะถูกประหาร เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมพยานสองคน หากนักโทษประสงค์จะเขียนจดหมาย หรือส่งข้อความบอกกล่าว หรือจะโทรศัพท์พูดกับญาติหรือผู้ใด หรือมีความประสงค์จะทำสิ่งใด ซึ่งเรือนจำพิจารณาแล้วเห็นสมควรก็ให้อำนวยความสะดวกให้ ให้เรือนจำถามนักโทษถึงอาหารมื้อสุดท้าย และหากไม่เป็นการเหลือวิสัยก็ให้จัดให้ตามความเหมาะสม
10.7 ให้นักโทษได้มีโอกาสประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของตน
10.8 สารพิษสำหรับการประหารชีวิต ให้จัดเก็บไว้ที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ เมื่อจะประหารชีวิตให้ไปรับสารพิษมา ให้เตรียมพนักงานเรือนจำผู้ทำการฉีดสารพิษไว้ไม่น้อยกว่า 2 คน
10.9 สถานที่สำหรับการประหารชีวิตให้เรือนจำเป็นผู้จัดหา โดยประกอบด้วย ห้องทำการประหาร ห้องเตรียมตัวของเจ้าพนักงานรวมถึงวัสดุอุุปกรณ์ ห้องคณะกรรมการกับสักขีพยาน และห้องประกอบพิธีทางศาสนา
10.10 เมื่อถึงเวลาประหารชีวิตนักโทษ ให้นำนักโทษมายังสถานที่ที่เตรียมไว้ และดำเนินการดังนี้
(1) นำตัวนักโทษนอนลงบนเตียงที่จัดเตรียมไว้
(2) ให้พนักงานเรือนจำซึ่งได้รับการแต่งตั้ง แทงเข็มสำหรับฉีดยาหรือสารพิษเข้าเส้นเลือดในร่างกายของนักโทษ โดยต่อเข้ากับสายท่อหรืออุปกรณ์บรรจุสารพิษ พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจวัดสัญญาณการเต้นของหัวใจเข้ากับร่างกายนักโทษที่จะถูกประหาร 
(3) เมื่อได้รับสัญญาณ ให้พนักงานเรือนจำผู้ทำการฉีดยาหรือสารพิษ จัดการปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายของนักโทษ ให้ตายต่อหน้าคณะกรรมการและสักขีพยาน
(4) ให้แพทย์ประจำเรือนจำ ร่วมกับคณะกรรมการ ตรวจพิสูจน์การตายของนักโทษ และประกาศผลการเสียชีวิตให้สักขีพยานทราบในวันนั้น
10.11 ห้ามถ่ายภาพ หรือวีดีโอ เกี่ยวกับนักโทษประหาร สถานที่ประหาร และวิธีการประหาร เว้นแต่เป็นการดำเนินากรของทางราชการ
10.12 ให้เรือนจำจัดเก็บศพของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตไว้ 12 ชั่วโมง แล้วให้แพทย์ของทางราชการร่วมกับผู้บัญชาการเรือนจำตรวจสอบยืนยันการตายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนักโทษเสียชีวิตแล้วให้แจ้งญาติทราบในโอกาสแรก ให้มารับมอบศพนั้นไป ถ้าไม่มีญาติก็ให้จัดการเผาหรือฝังตามที่เรือนจำเห็นสมควร