เปิดตัวคู่มือปกป้อง “สิทธิในการประท้วง” สิทธิที่หายไปใน 4 ปีที่ผ่านมา

2 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , วิทยาลัยโลกคดีศึกษา (School of Global Studies) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาชธิปไตย รวมกันจัดเสวนาสิทธิในการประท้วง: หลักการปกป้องสิทธิมนุษยชนในการประท้วงและเปิดตัวหนังสือคู่มือสิทธิในการประท้วง ฉบับภาษาไทย ซึ่งจัดทำโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ARTICLE 19 

 

 

สิทธิการประท้วงคือหัวใจของประชาธิปไตย 

 

การประท้วงเป็นเสาหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย และเป็นองค์ประกอบเพื่อให้เกิดการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม” – อารัมภบท

 

แมททิว บิวเออร์ (Matthew Bugher) อาจารย์วิทยาลัยโลกคดีศึกษาและหัวหน้าฝ่ายภาคเอเชียขององค์กร ARTICLE 19 กล่าวว่า

ระยะเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหาร กิจกรรมทางการเมืองทุกรูปแบบถูกห้ามและปราบปรามด้วยประกาศ/คำสั่ง ของคสช. “สิทธิในการประท้วงได้หายไปจากสังคมไทยนับตั้งแต่วันนั้น สิทธิในการประท้วงให้อำนาจแก่คนเล็กคนน้อยในการต่อรองกับรัฐ เมื่อมันหายไปพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตยของไทยก็ได้หยุดลง

 

บางประเด็นในหนังสือคู่มือสิทธิในการประท้วงเหมาะกับสถานการณ์ในไทยโดยบังเอิญ เช่น ในอารัมภบทมีใจความว่า การประท้วง การเลือกตั้ง และประชาธิปไตยแยกออกจากกันไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งใช้การชุมนุมประท้วงเป็นเครื่องมือหลักในการเรียกร้องการเลือกตั้งและประชาธิปไตย แต่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ประท้วงบางเรื่อง แต่ห้ามในบ้างเรื่อง แม้ว่าจะมีหลักการที่ 16 กำหนดว่า การเข้าร่วมการประท้วงไม่ควรเป็นเหตุนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา แต่เราก็เห็นผู้ประท้วงได้รับคดีความเต็มไปหมด

 

หนังสือคู่มือสิทธิในการประท้วงฉบับภาษาไทยรวบรวมหลักการและสิทธิในการประท้วงจากกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีด้วย แมททิวหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิในการประท้วงในประเทศไทย นักกิจกรรมสามารถใช้อ้างสิทธิในการประท้วงที่พึงมี นักพัฒนาสังคมและเอ็นจีโอสามารถใช้รณรงค์และกดดันรัฐบาลเพื่อปฏิรูปกฎหมายการชุมนุม นักวิชาการสามารถใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน และนักข่าวสามารถใช้พัฒนาการรายงานข่าวเรื่องการประท้วงได้

 

นิยามของการประท้วงในหนังสือเล่มนี้อาจไม่เหมือนกับที่คนทั่วไปเข้าใจนัก การประท้วงไม่ใช่แค่การชุมนุมหน้าอนุสวรีย์ประชาธิปไตย แต่หมายถึงทุกรูปแบบของการแสดงออกถึงความไม่พอใจและความเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เฟสบุ๊ค การเขียนบทความ การนำเสนอข่าว หรือ การสอนในห้องเรียน อีกทั้ง สิทธิในประท้วงหมายรวมถึง สิทธิในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการประท้วงจึงอยู่ในใจกลางของความเป็นมนุษย์ 

 

 

สิทธิในการประท้วง vs เหตุการณ์จริงในไทย

 

อัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายจากมูลนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) นำหลักการจากคู่มือเล่มนี้มาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์การละเมิดสิทธิในการชุมนุมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนี้ 

 

หลักการที่ 7: เสรีภาพในการชุมนุม รัฐควรสนับสนุนให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้และการแจ้งการชุมนุมก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การชุมนุม แต่ในเหตุการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เช่น กิจกรรมเดินเทใจให้เทพาซึ่งเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินขบวนไปยื่นหนังสือให้พล..ประยุทธ์ ที่มาประชุมครม.สัญจรที่จ.สงขลา เครือข่ายแจ้งการชุมนุมภายหลังเริ่มเดินแล้ว ตำรวจจึงฟ้องต่อศาลว่า ไม่แจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และศาลออกคำสั่งให้เลิกการชุมนุม สุดท้ายเจ้าหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้พบนายกรัฐมนตรีและจับกุมดำเนินคดี

 

หลักการที่ 8 เสรีภาพในการเลือกสถานที่ รัฐควรประกันว่าการประท้วงอยู่ในระยะที่กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้ฟังมองเห็นและได้ยินเสียง แต่รัฐไทยกลับทำในสิ่งตรงข้าม เช่น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพชุมนุมที่เกาะกลางถนนหน้ายูเอ็น แต่ตำรวจออกคำสั่งให้ย้ายไปในสนามม้านางเลิ้ง อ้างว่าพื้นที่กว้างจุคนได้มาก ซึ่งไม่ตรงกับเจตนา คือ ให้คนได้ยิน ในทำนองเดียวกัน เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินชุมนุมอยู่ที่เกาะกลางถนนหน้าตึกยูเอ็น ตำรวจก็ออกคำสั่งให้ย้ายไปหน้าวัดโสมนัส และเมื่อไม่ปฏิบัติตาม ตำรวจก็ฟ้องศาล แต่เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีฯ ต่อสู้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าไม่ได้กีดขวางสาธารณะ ศาลเห็นด้วยจึงยกคำร้อง

 

หลักการที่ 9: เสรีภาพในการเลือกรูปแบบ รัฐควรอนุญาตให้ใช้เครื่องมือด้านภาพและเสียงได้ แต่เหตุการณ์จริงไม่เป็นเช่นนั้น เช่น การชุมนุมต่อต้านร่างพ...ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ .ก็มีการงดใช้เครื่องขยายเสียง ป้ายรณรงค์ ทั้งๆ ที่ เมื่อพูดถึงความปลอดภัย เครื่องขยายเสียงจำเป็นเพื่อให้ผู้จัดการชุมนุมควบคุมดูแลมวลชนได้

 

หลักการที่ 10: เสรีภาพในการเลือกเนื้อหาหรือแรงจูงใจในการประท้วง รัฐต้องไม่จำกัดเนื้อหาในการประท้วงแม้จะเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาล แต่เหตุการณ์จริงไม่เป็นเช่นนั้น ป้ายสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาล คสช. มักถูกห้าม เช่น กรณีการชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) ถูกปิดกั้นเพราะมีข้อความเรียกร้องการเลือกตั้ง

 

หลักการ 15: หน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการเรียกให้หยุด การตรวจค้น การควบคุมตัวหรือการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วง และ หลักการ 16: หน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดและการลงโทษผู้ชุมนุมประท้วง แต่ในความจริงรัฐไทยมักละเมิดหลักการเหล่านี้ เช่น ตำรวจควบคุมแกนนำเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินและไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบ หรือ กรณีตำรวจค้นรถสวัสดิการของกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพตำรวจค้นโดยไม่มีหมาย และถูกสอบคำให้การ โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา และห้ามไม่ให้ทนายเข้าพบ 

 

 

ประสบการณ์ทั่วโลกชี้ว่าการประท้วงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

 

การประท้วงซึ่งเป็นการรบกวน หรือละเมิดต่อบุคคลที่เห็นต่างจากแนวคิดหรือจุดยืนที่การประท้วงมุ่งส่งเสริม หรือพฤติการณ์ที่เพียงแต่ขัดขวาง เป็นอุปสรรคหรือปิดกั้นกิจกรรมของบุคคลที่สามเป็นการชั่วคราว ย่อมไม่ถือเป็นเหตุผลที่เพียงพอในการจำกัดสิทธิในการประท้วง” – หลักการที่ 10: เสรีภาพในการเลือกเนื้อหาหรือแรงจูงใจในการประท้วง

 

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า รัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกพยายามสร้างวาทกรรมว่า การประท้วงเป็นการก่อกวน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบที่ชอบธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และมักอ้างให้รอการเลือกตั้ง แต่เธอเห็นว่า การประท้วงโดยสันติก็คือการก่อกวน ซึ่งเป็นการกระทำที่ชอบธรรมและสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ดังคำกล่าวของ ไมนา คิไอ อดีตผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติที่ว่าวัตถุประสงค์ของการประท้วง คือ การก่อกวน ซึ่งไม่ใช่ความรุนแรง การประท้วงนั้นจำเป็นต้องเสียงดังและถูกได้ยิน” 

 

ตัวอย่างการประท้วงที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หลายเหตุการณ์มีลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เช่น การประท้วงในประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2559 เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี พัก กึนฮเย ออกจากตำแหน่ง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ล่าสุดมีการสานความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือ การประท้วงในประเทศฟิลิปปินส์ไล่อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มากอส ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

 

พิมพ์สิริ กล่าวด้วยว่า การประท้วงไม่ใช่งานที่จบแต่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนได้รับชัยชนะ แต่ต่อมาก็มีการโต้กลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเกิดการรัฐประหารตามมา ส่วนตัวอย่างการประท้วงที่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การประท้วงชายจีวรในพม่าเมื่อปี 2550 จากการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลซึ่งจบลงด้วยการปราบปราม การประท้วงในประเทศกัมพูชาในปี 2556 ซึ่งประชาชนประท้วงสมเด็จฮุนเซ่นว่าไม่โปรงใสในการเลือกตั้ง ซึ่งการประท้วงจบลงด้วยการปราบปรามเช่นกัน

 

อย่างน้อยที่สุด การเปิดพื้นที่ให้การประท้วงเป็นการลดความไม่พอใจให้คนในสังคม แทนที่จะมองว่า ผู้ประท้วงเป็นศัตรูของรัฐ ควรมองว่าการประท้วงเป็นเสมือนกาต้มน้ำที่มีรูระบายอากาศ ถ้าอุดทุกรู จะระเบิด การห้ามหรือกดทับไม่ให้แสดงออกจะทำให้ประชาชนที่โกรธแค้นหันไปใช้ความรุนแรงได้ ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครชอบ แต่การใช้ความรุนแรงของใครคนใดคนหนึ่งในการประท้วง ไม่ใช่ข้ออ้างในการปราบปรามการประท้วงทั้งหมด และการประท้วงของกลุ่มสุดโต่ง หรือกลุ่มที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยก็ควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิในการประท้วงของผู้คนเหล่านี้ด้วย

 

 

ประชาชนต้องต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิในการประท้วง

 

การเข้าร่วมการประท้วงโดยตัวของมันเอง ต้องไม่เป็นเหตุนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา…”- หลักการที่ 16: หน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดและการลงโทษผู้ชุมนุมประท้วง

 

รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกล่าวว่า สิทธิในการประท้วงไม่ต้องรอให้กฎหมายมารับรอง สิทธิต่างๆ เริ่มมีตั้งแต่เราเป็นมนุษย์แล้ว การประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของเรา แม้เราจะไม่รู้ตัว ถ้าเราทิ้งสิทธิในการประท้วงก็เหมือนสละสิ่งสำคัญของเราไป ประชาชนจึงต้องยืนยันสิทธิทั้งหลายด้วยตัวเอง 

 

พวกเราประท้วงเพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนในการประท้วง แม้จะโดนคดีกี่ครั้งๆ ก็จะพยายามต่อไป แต่หากปราศจากการสนับสนุนจากประชาชน เราก็จะถูกดำเนินคดีอย่างนี้เรื่อยๆ อาจมีคนตั้งคำถามว่า มีวิธีการอื่นไหมนอกจากการประท้วง ผมเห็นว่ามีวิธีการอื่น แต่พวกเราเชื่อมั่นในการลงถนน เพราะเราได้รับบทเรียนมาแล้ว เมื่อคนสามแสนคนจะลงชื่อออนไลน์เพื่อคัดค้าน ...คอมพิวเตอร์ฯ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ประกาศใช้ได้ แต่ถ้าคนสามแสนคนนี้ลงถนน ผมเชื่อว่าพ...นี้จะไม่ผ่าน

ไฟล์แนบ