ไม่ใช่แค่ SLAPP ปิดปาก แต่กลั่นแกล้งด้วยกระบวนการยุติธรรม

30 พฤษภาคม 2561 มีการจัดเสวนาเรื่อง การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการ “ฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ที่ห้องประชุมอิศรา อนันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยในวงเสวนาพูดถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “คดีปิดปาก” (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) คือ การฟ้องคดีเพื่อปิดปากบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน  
เมื่อผู้ริเริ่มคดีเป็นรัฐ ทำระบบยุติธรรมป่วย
ภัทรานิษฐ์ เยาดำ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) เปิดตัวเลขผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกโดยการฟ้องคดี พบว่า มี 151 คดี ที่ ศูนย์ทนายฯ รับผิดชอบอยู่ หรือคิดเป็นจำนวน 303 คน กฎหมายส่วนใหญ่ที่นำมาใช้จำกัดเสรีภาพการแสดงออก มีทั้งในประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือพระมหากษัตริย์ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล และกฎหมายที่อยู่ในรูปแบบของคำสั่ง อย่าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116  
ภัทรานิษฐ์กล่าวต่อว่า คดีส่วนมากผู้ออกมาใช้สิทธิถูกดำเนินคดีโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้งที่ได้รับมอบอำนาจมาจาก คสช. โดยตรง และเจ้าหน้าที่ทหารทำในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย อย่างเช่น ในกรณีของการจัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ที่เดินเท้าจาก ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตไปขอนแก่น ส่วนคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พบว่า ตอนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 100 คน ในกลุ่มแรกที่เป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ละคนถูกดำเนินคดี 8-10 คดี ถึง 11 ข้อหา ผู้เข้าร่วมการชุมนุมบางคนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ผู้เข้าร่วมไม่เคยถูกตั้งข้อหานี้มาก่อน 
“กรณีนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การดำเนินคดีได้รับมอบมาจากคนที่บริหารประเทศ ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ผู้ถูกดำเนินคดีอย่างเดียว แต่ทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบป่วย กลายเป็นว่า เราต้องใช้ทั้งบุคลากร องคาพยพของทุกส่วนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะมาจัดการ สำหรับตัวผู้ที่ถูกกล่าวหา ยากมากกับการที่จะโต้แย้งว่า เขาทำ หรือเขาไม่ได้ทำ”
ภัทรานิษฐ์ยังกล่าวว่า การฟ้องคดีสร้างภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือผู้ถูกกล่าวหาเอง ยิ่งผู้ถูกกล่าวหามีปริมาณมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุม คดีล่าสุดใช้เงินถึง 1,500,000 บาท ซึ่งเงินนั้นไม่ได้มาจากเงินส่วนตัวของแต่ละคน แต่ว่าเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดี  
“การใช้ SLAPP ในลักษณะนี้ ผลกระทบมันกว้างมาก เราไม่อาจพูดว่า การแก้ไขกฎหมาย มันจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะแท้จริงแล้ว SLAPP ที่เกิดขึ้นในกรณีแบบนี้ มันเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ แล้วสุดท้ายยิ่งสะสมคดี จำนวนผู้ที่ถูกกล่าวหาไปเรื่อยๆ กระบวนการทั้งหมดมันจะอ่อนแอลง ไม่สามารถแก้ไขได้ แล้วเราก็กลับมาใช้คำเดิม คือการปฏิรูป”
ฟ้องคดีในจังหวัดไกลๆ เพื่อสร้างความยุ่งยาก เพิ่มช่องทางต่อรอง
ส. รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวถึงสถานการณ์การใช้คดีปิดปากผู้นำชุมชนว่า เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้จะถูกฟ้องคดี จนเป็นเรื่องที่ปกติในสังคมไทยปัจจุบันนี้ โดยคดีที่ใช้จะมีลักษณะ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ คดีหมิ่นประมาท คดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กลุ่มอื่นๆ เช่น คดีบุกรุก
ส. รัตนมณี กล่าวถึงกรณีตัวอย่าง คดีที่กลุ่มชาวบ้านคัดค้านเหมืองหินเขาคูหา จังหวัดสงขลา โดยการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกฯ ให้แก้ไขผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากเหมือง แล้วถูกบริษัทยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 60 ล้านบาท คดีนี้ถึงที่สุดพอไปถึงศาลทางบริษัทกลับมาถอนฟ้อง โดยใช้กระบวนการที่ว่าคุยกับชาวบ้านได้แล้ว ทั้งที่ จริงๆ ไม่มีการคุยอะไรกับชาวบ้านเลย การที่เขายื่นฟ้องมาส่งผลกระทบต่อจิตใจแล้ว เพราะชาวบ้านไม่เคยถูกหมายศาลอย่างนี้มาก่อน  
ด้านบริษัทเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ก็ใช้วิธีการฟ้องหมิ่นประมาท เป็นคดีแพ่ง จากการที่ชาวบ้านติดป้ายหน้าหมู่บ้านว่า หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง ก็กลายเป็นคดีได้แล้ว คดีนี้มีการสืบพยาน ทำให้เกิดภาระที่ชาวบ้านต้องมาต่อสู้คดี ทั้งๆ ที่เรื่องแบบนี้เป็นแค่การแสดงออกว่า เขาไม่ต้องการเหมือง และเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องเหมือง
ส. รัตนมณี เล่าอีกว่าการไปฟ้องคดีในจังหวัดไกลๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องลำบากและเสียเวลา จนสุดท้ายคู่กรณีใช้คดีเป็นเครื่องต่อรองให้ชาวบ้านต้องยอม โดยมีคดีที่ชาวบ้านจากจังหวัดเลยถูกฟ้องต่อศาลในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดตาก แล้วต่อมาก็พบว่า การฟ้องคดีเหล่านั้น เป็นการฟ้องอะไรก็ได้เพื่อให้ชาวบ้านยุ่งยากวุ่นวาย เพื่อที่บริษัทจะใช้คดีเหล่านั้นมาต่อรองแลกกับการขนแร่ออกจากเหมือง จนสุดท้ายชาวบ้านต้องยอมเพื่อให้คดีหมดไป
“จะเห็นได้เลยว่าเป้าหมายของการฟ้องคดีแบบนี้ ไม่ใช่แค่การปิดปาก แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อเป็นการต่อรอง” ทนายความของชาวบ้าน กล่าว
“คดีเหล่านี้ ถ้าไม่มีการกลั่นกรองตั้งแต่ชั้นต้นสุดท้ายคดีก็ไปถึงอัยการ พอเราร้องเรียนไปที่อัยการ อัยการก็มีการสอบสวนเพิ่ม ประเด็นที่เป็นปัญหาของการสอบสวนเพิ่มก็คือว่า คนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ต้องไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการทุกๆ 1 เดือน ถ้าอยู่ในพื้นที่จังหวัดตัวเองคงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าต้องไปต่างจังหวัด อันนี้ก็เป็นปัญหา”
นอกจากนี้ ส. รัตนมณียังกล่าวว่า การโดนดำเนินคดีทำให้เกิดความยุ่งยากกับชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ความยุ่งยากใจ แต่เขาต้องสูญเสียรายได้ เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล บางทีต้องมากันหลายๆ คนเป็นชุมชน ค่าใช้จ่ายก็เพิ่ม การมาสืบพยานหลายๆ วัน ก็ทำให้เสียรายได้  เคยมีคดีที่แม้บริษัทจะถอนฟ้องไปแล้ว แต่เมื่อลองคำนวณค่าเสียหายดู ประมาณ 5 หมื่นกว่าบาท ที่เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปที่ยังไม่รวมค่าสูญเสียรายได้ 
มากกว่าการปิดปาก คือ การคุกคามโดยยืมมือกระบวนการยุติธรรม
ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ มีความเห็นว่า การใช้คำว่า SLAPP มานิยามการดำเนินคดีที่จงใจฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันอาจจะแคบเกินไป เพราะคำว่า SLAPP อาจทำให้นึกถึงแค่การปิดปาก ในความจริงผลกระทบมากกว่านั้น คือ การยืมมือกระบวนการยุติธรรม การสร้างบรรยากาศความกลัว ที่ผ่านมาเห็นเจ้าหน้าที่และผู้พิพากษาหลายท่านมีท่าทีที่ดี แต่ก็ยังต้องทำหน้าที่ไปให้จบกระบวนการ
ยิ่งชีพเสนอว่า วิธีหนึ่งในการต่อต้านการฟ้องคดีกลั่นแกล้งกัน คือ ต้องทำให้โจทก์รู้สึกว่า การทำแบบนี้ก็มีต้นทุนสูงเหมือนกัน เช่น ถ้าฟ้อง จะเป็นข่าวใหญ่กว่าตอนถูกวิจารณ์อีก เราต้องทำให้วัฒนธรรมแบบนี้มันเกิดขึ้น 
พรภัทร์ ตันติกุลานันท์ ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า คำว่า SLAPP จริงๆ แล้วเป็นคำทางกฎหมายที่ใช้ในกลุ่มประเทศที่ยึดถือคำพิพากษาของศาล (Common Law) ซึ่งจะเป็นเรื่องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายมากกว่า และส่วนใหญ่เป็นคดีประชาชนต่อประชาชน จึงเห็นควรใช้คำที่เรียกการฟ้องคดีกลั่นแกล้งกันด้วยคำว่า Judicial Harrassment หรือการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นคำที่กว้างกว่า แล้วครอบคลุมถึงการฟ้องคดีอาญาด้วย
สุมิตรชัย หัตถสาร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัญหาเรื่อง SLAPP เป็นประเด็นสำคัญ และกำลังส่งผลกระทบอยู่ ประชาชนยังเดือดร้อนจากการถูกใช้กฎหมายมาละเมิดสิทธิ หรือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ในคดีหมิ่นประมาท ปัญหาอยู่ที่จำเลยต้องเป็นผู้มีภาระพิสูจน์ว่า สิ่งที่พูดไปเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เข้าข้อยกเว้น ให้ศาลรับฟังแล้วพิจารณายกฟ้อง เป็นการสร้างภาระให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการตั้งแต่ตอนถูกแจ้งความ ต้องไปขึ้นศาลต่างๆ นานา  
สุมิตรชัยเสนอว่า คดี SLAPP เหล่านี้ไม่ต้องมีการประกันตัว เพียงแค่ให้ผู้ต้องหามารายงานตัวก็พอ ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันก็ได้อยู่แล้ว แต่ต้องมีการออกเป็นระเบียบที่ชัดเจน และคดีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องทางอาญาที่รุนแรงอะไร” 
“ภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชน นักวิชาการ คนทำงานภาคประชาสังคมในเวลานี้คือ บางคนไม่สามารถทำงานต่อได้ ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอีกหลังจากโดนดำเนินคดี นี่คือความสูญเสียของสังคมที่จะสามารถได้รับข้อมูลและใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ส่งผลต่อสังคมที่จะได้รับรู้ความจริงอย่างรอบด้านด้วย และภาระที่หนักที่สุดไปตกอยู่ที่ชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเขา ชาวบ้านเหล่านี้ก็โดนคดีเต็มไปหมด"