สรุป สี่ปี คสช. “ปฏิรูป” แค่ให้ทหารเข้าไปอยู่ทุกที่ ขออย่าอ้างปฏิรูปอีกเพื่ออยู่ต่อ

ใกล้จะครบสี่ปีเต็ม ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจและปกครองประเทศ ตลอดระยะเวลานี้ คสช. อ้างถึงความจำเป็นของการปฏิรูปประเทศอยู่หลายครั้งโดยในเฉพาะสามประเด็นหลักที่เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่ม กปปส. ก่อนการเข้ายึดอำนาจ คือ การปฏิรูปตำรวจ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ภารกิจเหล่านี้เป็นเหตุผลที่หลายคนตั้งตารอให้ คสช. ทำภารกิจให้เสร็จก่อนจัดการเลือกตั้ง
จากการติดตามการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายจำนวนมากในยุค คสช. พบว่า มีการออกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยอาศัย “มาตรา 44” รวมกันแล้วอย่างน้อย 520 ฉบับ โดยเป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ คสช. คิดเองและประกาศใช้เอง ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในประเด็นการปฏิรูปตำรวจ คสช. ออกประกาศ/คำสั่งเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไปแล้วรวม 9 ครั้ง ในหลายประเด็น เช่น เพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนฝ่ายทหารเข้าไปคุมตำรวจ และลดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจาก 11 คนเหลือ 2 คน  ให้อำนาจกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งแต่งตั้งตำรวจตั้งแต่รอง ผบ.ตร. ถึงผู้กำกับได้ นอกจากนี้ คสช. ยังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและผลิตข้อเสนอแล้วสี่ชุด เมื่อจบแต่ละชุดก็ตั้งชุดใหม่มาทำงานต่อจนถึงตอนนี้ถึงห้าชุดแล้ว ตั้งวนอยู่เช่นนี้แต่ข้อเสนอที่ผลิตออกมายังไม่ได้รีบนำไปใช้อย่างจริงจัง
ในประเด็นการกระจายอำนาจ พ.ร.บ.หลายฉบับที่ออกมาในยุค คสช. มุ่งแก้ไขสัดส่วนกรรมการให้เป็นคนจากราชการส่วนกลางมากขึ้น และภาคส่วนอื่นน้อยลง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศก็ถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ระงับการเลือกตั้งไว้เป็นเวลาเข้าปีที่สี่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยาก็มาจากการแต่งตั้งด้วยอำนาจมาตรา 44 อีก และยังมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 88/2557 ตั้งกรรมการที่มีทหารเป็นส่วนใหญ่ไปกำกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวทางที่ คสช. กำลังเดินหน้าไปดูเหมือนตรงกันข้ามกับการกระจายอำนาจ ข้อเสนอที่เคยพูดกันเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็ไม่เห็น คสช. ยกขึ้นมาพูดถึงอีก หากใครที่เคยมีความหวังว่า คณะรัฐประหารชุดนี้จะมาปฏิรูปประเทศเพื่อกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ก็น่าจะเริ่มรู้สึกผิดหวังได้แล้
สำหรับการแก้ไขปัญหาทุจริต คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาอีกมากมายที่มีทหารผู้ใหญ่เข้าไปนั่งอยู่ในนั้น แต่วันนี้ก็ไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรมนัก สิ่งที่พอจะเห็นได้ชัดเจน คือการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทุจริต และการใช้ทั้ง “มาตรา 44” บวกกับบทบาทของ สนช. เพื่อเอาคนที่ คสช. “ไว้ใจ” เข้าไปอยู่ในองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตทุกแห่ง ผลที่เกิดขึ้นจึงพบว่า ในยุคนี้ไม่มีการตรวจสอบการทุจริตของกองทัพเลย แม้ว่าจะมีข่าวลือในทางเสียหายอยู่หลายครั้งก็ตาม
ในภาพรวมของสี่ปีที่ผ่านมา คสช. ได้ขับเคลื่อนสังคมไปแล้วหลายประการ ส่วนใหญ่เป็นการใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ/คำสั่ง เป็นการทำโดย คสช. แต่เพียงลำพัง นับแล้วเป็นการออกประกาศ/คำสั่ง เกี่ยวกับประเด็นคอร์รัปชั่นอย่างน้อย 29 ฉบับ เกี่ยวกับการจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อย 12 ฉบับ เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจอย่างน้อย 11 ฉบับ เน้นไปในทางส่งทหารและคนของ คสช. เข้าไปอยู่ในกลไกต่างๆ ตัดโอกาสให้กลไกอื่นๆ ในสังคมได้เติบโต และไม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ตลอดสี่ปีของ คสช. มีความพยายามบอกสังคมว่า คสช. กำลังดำเนินการปฏิรูปประเทศอยู่หลายครั้ง เริ่มจากการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำงานอยู่หนึ่งปีเต็มใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท ผลิตข้อเสนอ 505 ข้อ ครอบคลุมทุกเรื่องในสังคม แต่ไม่มีอะไรใหม่ และปฏิบัติไม่ได้ ต่อด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ทำงานอยู่ 20 เดือน ใช้งบประมาณไปกว่า 1,000 ล้านบาท มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปนับได้อย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่เป็นข้อเสนอที่นำไปปฏิบัติได้ทันทีเพียงประมาณ 1 ใน 4 ทั้งสองสภารวมกันแล้วเสนอร่างกฎหมายมากกว่า 110 ฉบับ ปัจจุบันประกาศใช้แล้วอย่างน้อย 6 ฉบับเท่านั้น ต่อมารัฐธรรมนูญของ คสช. ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน เพื่อผลิตข้อเสนออกมาอีกเป็นชุดที่สาม ซึ่งก็เสร็จภารกิจไปเมื่อเดือนเมษายน 2561 แล้ว
คสช. ถืออำนาจพิเศษที่จะออกคำสั่งอะไรก็ได้อยู่เป็นเวลาสี่ปีเต็มแล้ว และออกคำสั่งสารพัดอย่าง หาก คสช. คิดได้ว่า ควรแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างไรก็ควรจะทำเสร็จไปหลายปีแล้ว หากหลังจากนี้ คสช. ยังอ้างภารกิจที่จะต้องปฏิรูปประเทศต่ออีก ก็เป็นเพียงการหาข้ออ้างใช้งบประมาณ และหาข้ออ้างอยู่ในอำนาจต่อให้นานขึ้นเท่านั้นเอง โดยไม่ได้ตอบข้อเรียกร้องที่ประชาชนอยากเห็นแต่อย่างใด

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์