ปฏิรูปตำรวจยุค คสช. ‘นับหนึ่งไม่ถึงร้อย’

การปฏิรูปตำรวจเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีความพยายามจะแก้ไขมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐบาลทหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สี่ปีที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสานต่อการปฏิรูปตำรวจอยู่เรื่อยๆ ไม่น้อยกว่าห้าชุด แต่ทว่า เส้นทางของการปฏิรูปตำรวจก็ยังไม่ได้เริ่มต้นเป็นจริงเป็นจังสักที และหากเปิดดูข้อเสนอที่ผ่านมายังชวนให้หลงทางและไม่ตรงกับภาพที่ประชาชนคาดหวังให้เป็นสักเท่าไร ที่สำคัญตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจได้ก็เดินเกมส์ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ปรับโครงสร้างตำรวจเพื่อรองรับการใช้อำนาจของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิรูปตำรวจตามข้อเสนอภาคประชาชน
ปฏิรูปตำรวจวนลูป สี่ปีตั้งคณะกรรมการห้าชุดเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง
ตลอดเวลาเกือบสี่ปีของการปฏิรูปตำรวจในยุค คสช. มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปตำรวจขึ้นมาอย่างน้อยสี่ชุด ใช้บริการคนอย่างน้อย87 คน คณะกรรมการแต่ละชุดถูกตั้งขึ้นและยุบไปตามโรดแมปที่ คสช. วางไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งคณะกรรมการทั้งสี่ชุดมีดังนี้
ชุดที่หนึ่ง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 คสช. เป็นคนคัดเลือกและเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 26 คน แบ่งเป็น สายข้าราชการพลเรือน 7 คน สายข้าราชการทหาร 2 คน สายข้าราชการตำรวจ 2 คน สายนักวิชาการ 5 คน สายนักการเมือง 6 คน และภาคเอกชน 4คน และตลอดเวลาการทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีผลผลิตเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจเป็นรายงานหนึ่ง ฉบับชื่อว่า 'วาระปฏิรูปที่ 6: การปฏิรูปกิจการตำรวจ' 
ชุดที่สอง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น  15 คน แบ่งเป็น สายข้าราชการพลเรือน 5 คน สายข้าราชการทหาร 1 คน สายข้าราชการตำรวจ 4 คน สายนักวิชาการ 1 คน สายนักการเมือง 3 คน และภาคเอกชน 1 คน และตลอดการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการชุดนี้มีผลผลิตเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจเป็นรายงานห้าฉบับ ได้แก่ รายงานระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน, รายงานความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง, รายงานการวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ, รายงานการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ และ รายงานการปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน 
ชุดที่สาม 18 กรกฏาคม 2560 คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีสมาชิกทั้งหมด 36 คน แบ่งเป็น สายข้าราชการตำรวจ 15 คน สายข้าราชการพลเรือน 12 คน สายข้าราชการทหาร 2 คน สายนักวิชาการ 5 คน สายนักการเมือง 1 คน และสายสื่อมวลชน 1 คน โดยข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้ถูกจัดทำออกมาเป็นร่างกฎหมายสี่ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ การกระจายอำนาจแบบบูรณาการ, ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ, ร่าง พ.ร.บ.อำนาจการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ชุดที่สี่ 15 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มีสมาชิกทั้งหมด 10 คน แบ่งเป็น สายข้าราชการพลเรือน 6 นักวิชาการ 2 ข้าราชการทหาร 1 ข้าราชการตำรวจ 1 โดยข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้ถูกจัดทำออกมาเป็นแผนงานหนึ่งฉบับ คือ แผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ดี ภายหลังคณะกรรมการชุดที่สาม ได้ส่งร่างกฎหมายให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม. จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ พิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่คณะกรรมการปฏิรูปส่งมา ซึ่งถือว่า เป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจอีกครั้งเป็นชุดที่ 5 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 16 คน ประกอบไปด้วย รองนายกรัฐมนตรี  กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  อัยการสูงสุด และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อมาทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง เปรียบเสมือนการปฏิรูปตำรวจต้องถอยกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
คสช. ใช้อำนาจพิเศษรวมศูนย์ตำรวจ พาถอยหลัง
ตลอดการอยู่ในอำนาจของ คสช. พบว่า คสช.มีความพยายามแทรกแซงกิจการตำรวจหลายครั้งและอ้างว่าทำเพื่อการปฏิรูปตำรวจ โดยใช้อำนาจพิเศษจัดการแก้กฎหมายปรับโครงสร้างตำรวจ หรือออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นจำนวน 11 ฉบับ สามารถจำแนกประเด็นได้ดังนี้
หนึ่ง ปรับโครงสร้างตำรวจดึงอำนาจสู่ส่วนกลาง 
ตลอดสี่ปี คสช. ได้ใช้อำนาจพิเศษแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เก้าครั้ง ซึ่งการแก้ไขได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตำรวจในลักษณะรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น เช่น ประกาศ คสช.ที่ 88/2557 ที่การแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ด้วยการเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็นกรรมการ และลดสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสี่คนเป็นสองคน มีการแก้ไขให้ ผบ.ตร.ปัจจุบันเป็นผู้เสนอแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ต่อ ก.ต.ช. แทนนายกรัฐมนตรี และมีการแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ลดสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 11 คน เหลือสองคน 
นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2559 ให้อำนาจ ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้งข้าราชการตํารวจตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการถึงผู้กำกับ โดย ผบ.ตร.สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งเองได้ การใช้อำนาจพิเศษรวมศูนย์อำนาจให้กับ ผบ.ตร. เท่ากับเป็นการสวนทางกับความพยายามปฏิรูปตำรวจที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น
สอง ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนและเงินพิเศษ 
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2559 ให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน และให้ยกเลิกเงินตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดยให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนกลับมาลื่นไหลไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเฉพาะ ซึ่งแต่เดิมใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้มีการกำหนดตำแหน่งของสายงานพนักงานสอบสวนควบคู่ไปกับตำแหน่งในสายงานอื่นเป็นการเฉพาะ เนื่องจากสายงานสอบสวนมีเส้นทางการเติบโตในตำแหน่งที่จำกัด  จึงกำหนดตำแหน่งเฉพาะของพนักงานสอบสวนเพื่อให้ค่าตอบแทนเป็นพิเศษ  อีกทั้งการเลื่อนตำแหน่งมีความแตกต่างจากสายงานอื่น เพราะต้องใช้เวลาในการปฏิบัติงานควบคู่ไปกับการประเมินที่ใช้วิธีสอบเท่านั้น เมื่อเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็อาจจะทำให้ความจูงใจในการปฏิบัติงานสอบสวนน้อยลงและขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหามานานนมตั้งแต่ก่อนแก้ไขให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนมีตำแหน่งเฉพาะและเงินพิเศษ 
สาม ลดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น 
วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 คสช. ออกประกาศ คสช.ที่ 111/2557 การแก้ไขเพิ่ม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ประเด็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น จากเดิมที่มาตรา 7 กำหนดให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่ส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชน มีส่วนร่วมในกิจการตํารวจตามความเหมาะสม และตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ แต่ประกาศ คสช. แก้ไขใหม่เป็น ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติจัดระบบการบริหารให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน โดยต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วม การแก้ไขครั้งนี้เสมือนเป็นลดบทบาทของท้องถิ่นให้เหลือเพียงบทบาทการมีส่วนร่วมในสิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดมาแล้วเท่านั้น   
ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจสี่ฉบับ เน้น 'ปรับโครงสร้าง-ลดอำนาจฝ่ายการเมือง'
หากพิจารณาจากแผนการปฏิรูปของคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) หรือ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ซึ่งมีสถานะเป็นแผนแม่บทหลักในการปฏิรูปตำรวจในปัจจุบัน จะพบว่า ภาพรวมของการปฏิรูปจะมุ่งเน้นไปที่สอง เรื่องหลัก ได้แก่ 'การปรับโครงสร้าง' และ 'การพัฒนางานสอบสวน' ซึ่งพอจะจำแนกเป็นประเด็นได้ดังนี้
หนึ่ง ลดอำนาจฝ่ายการเมือง-เพิ่มหน่วยงานตรวจสอบ
สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจมีแนวคิดหลัก คือการสร้างความเป็นอิสระในการทำงานของตำรวจโดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ดังนั้น ในข้อเสนอปฏิรูปจึงเริ่มตั้งแต่การแก้ไขโครงสร้างส่วนบน ได้แก่ การลดอำนาจของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้จำกัดเฉพาะการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนการบริหารบุคคล การแต่งตั้งโยกย้ายรวมไปถึงการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
ในขณะเดียวกันเพื่อความยุติธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายจึงมีข้อเสนอให้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่สองส่วน ได้แก่ หนึ่ง คณะกรรมการร้องทุกข์ตำรวจ (ก.รท.) เป็นช่องทางให้ข้าราชการตำรวจได้ร้องทุกข์ ในกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้าย โดยคณะกรรมการต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจ และสอง คณะกรรมการอิสระพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนและสอบสวนปัญหาภายในกิจการของตำรวจ 
สอง ถ่ายโอนภารกิจและให้อิสระทางการเงิน
นอกจากโครงสร้างส่วนบนแล้ว ในโครงสร้างองค์กรทั่วไปก็ยังมีแนวคิดกระจายอำนาจ โดยการกำหนดให้บางหน่วยงาน เช่น สำนักงานจเรตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1 – 9 เป็นกองบัญชาการที่ได้รับการกระจายอำนาจแบบบูรณาการ นั้นคือ มีอิสระในทางการบริหารงบประมาณและสามารถจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเติบโตหรือเลื่อนขั้นภายในหน่วยงานของตัวเองได้ไม่ต้องเติบโตด้วยการโยกย้ายไปที่อื่น
รวมไปถึงการถ่ายโอนภารกิจไปให้หน่วยงานอื่นด้วย โดยให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจหน้าที่ของสามารถแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีอำนาจสืบสวน จับกุม หรือสอบสวน เช่น ให้รัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดด้านทรัพยากรธรรมชาติ สามารถแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับตำรวจ 
สาม ใช้ข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ช่วยในการสอบสวน
สำหรับงานด้านการพัฒนางานสอบสวนนั้น มีข้อเสนอหลักคือ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นได้ทุกคดี โดยไม่จำกัดอัตราโทษและไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าว และเพิ่มอำนาจให้พนักงานสอบสวนตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากเยื่อบุกระพุ้งแก้มของบุคคลได้ด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานสอบสวนคดีอาญา หรือทำความเห็นในคดีอาญาได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษตามระเบียบที่คณะกรรมการตำรวจกำหนด
ข้อเสนอของภาคประชาชนที่หล่นหาย
แม้ว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ด้วยการตั้งอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นขึ้นมา มีการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นตามช่องทางต่างๆ แต่ทว่า โจทย์ที่ประชาชนคิดกับที่คณะกรรมการปฏิรูปคิดกลับไม่ตรงกัน จนข้อเสนอของภาคประชาชน อาทิ 'เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ' กลับตกหล่นไประหว่างที่ คสช. ดำเนินการปฏิรูปอยู่ เช่น
หนึ่ง การปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด
ข้อเสนอหลักของภาคประชาชนคือ 'การกระจายอำนาจตำรวจ' โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด ที่ให้ตำรวจอยู่ประจำพื้นที่จังหวัด ตรวจสอบ ประเมินผลโดยคณะกรรมการจังหวัดและการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด 
เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาของตำรวจ คือ โครงสร้างการบริหารงานของตำรวจมีลักษณะรวมศูนย์ โดยคนที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายเป็นผู้บังคับบัญชาที่อยู่ในศูนย์กลางและขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกคนปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้ง การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง 
สอง การแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระ
การแยกงานสอบสวนเป็นข้อเสนอที่มีการกล่าวถึงกันมาก โดยข้อเสนอแบ่งออกเป็นสองลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่ การแยกระบบงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เนื่องจากการอยู่ภายใต้ สตช. ที่มีระบบการบังคับบัญชาแบบมีชั้นยศเหมือนทหาร ทำให้ไม่เป็นอิสระ หรืออีกทางหนึ่งคือ ให้เพิ่มหน่วยงานแยกอิสระภายใน สตช. และมีผู้บังคับบัญชาแยกต่างหากในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวน 
นอกจากนี้ ต้องให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบ ควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกินห้าปี หรือคดีที่เห็นว่าจำเป็น หรือกรณีมีการร้องเรียนตั้งแต่เกิดเหตุ และการสอบสวนต้องกระทำในห้องสอบสวนที่จัดเฉพาะ ควรเพิ่มเทคโนโลยีในกระบวนการสอบสวน เช่น มีกล้อง บันทึกภาพตลอดเวลาขณะที่มีการสอบสวน และเมื่อพนักงานอัยการ หรือศาลเรียกข้อมูลเหล่านี้ หัวหน้าสถานีต้องนำส่งให้
สาม การถ่ายโอนภารกิจพร้อมการสนับสนุน
การโอนอำนาจหน้าที่ของตำรวจไปให้กระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีอยู่ในข้อมูลอยู่ในรายงานการศึกษาเพื่อการปฏิรูปตำรวจหลายฉบับ โดยการโอนอำนาจดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเฉพาะด้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ต่างกันระหว่างข้อเสนอภาคประชาชนกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ คือ ทรัพย์สินและอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ และหากไม่โอนทรัพย์สินและอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ไปให้ ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติว่าโอนย้ายภารกิจแล้วเกิดไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์และสำนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ 
สี่ ยกเลิกรางวัลค่าปรับ จูงใจให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ
การเปรียบเทียบปรับความผิดจราจร ควรเป็นอำนาจตุลาการและต้องกระทำโดยดุลยพินิจของศาลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชน นอกจากนี้ควรยกเลิกการมอบรางวัลค่าปรับให้กับตำรวจ เนื่องจากความผิดจราจรไม่ใช่การกระทำผิดที่ซับซ้อน และการดำเนินการเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหาตำรวจแจ้งข้อหาจราจรต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้บังคับบัญชากำหนดให้ทำยอดจับเพื่อหวังเงินรางวัล