ม.44 ทำพรรคเก่าสมาชิกลดฮวบ พรรคกลาง-เล็ก-ใหม่ ไม่ง่ายหาสมาชิกเพื่อลงเลือกตั้ง

หลังจากสิ้นสุดการกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมยืนยันความเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคภายในวันที่ 30 เมษายน 2561 พรรคการเมืองสำคัญที่เคยมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ออกมาแถลงยอดการยืนยันสมาชิกพรรค ซึ่งผลปรากฎว่า ทุกพรรคการเมืองต่างมีสมาชิกมายืนยันความเป็นสมาชิกน้อยกว่ายอดจำนวนสมาชิกเดิมอย่างมาก
– พรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกเดิม 2,500,000 คน สมาชิกปัจุบัน 100,000 คน ลดลง 96%
– พรรคเพื่อไทย สมาชิกเดิม 134,822 คน สมาชิกปัจุบัน 13,000 คน ลดลง 90%
– พรรคภูมิใจไทย สมาชิกเดิม 130,000 คน สมาชิกปัจุบัน 2,500 คน ลดลง 98%
– พรรคชาติไทยพัฒนา สมาชิกเดิม 24,710 คน สมาชิกปัจุบัน 3,000 คน ลดลง 88%
– พรรคชาติพัฒนา สมาชิกเดิม 18,163 คน สมาชิกปัจุบัน 5,583 คน ลดลง 69%
– พรรคพลังชล สมาชิกเดิม 10,806 คน สมาชิกปัจุบัน 2,700 คน ลดลง 75%
จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองเดิมที่ลดลงอย่างมากครั้งนี้เป็นผลมาจากคำสั่งหน้า คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไข มาตรา 140 และ 141 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จากเดิมที่ให้สมาชิกพรรคเมืองเดิมยังคงเป็นสมาชิกพรรคนั้นๆ ต่อไป เปลี่ยนเป็นให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมต้องทำหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรค และชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
คสช. รีเซ็ตพรรคเก่า ตั้งทีมดึงอดีต ส.ส. และนักการเมือง
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ถูกมองว่าเป็นความพยายามของ คสช. เพื่อรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองเดิม เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นอิสระโดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากพรรคเดิมที่สังกัดอยู่ ภาพปรากฎชัดเจนในระหว่างที่พรรคการเมืองต่างๆ กำลังหาวิธีให้สมาชิกพรรคของตนกลับเข้ามายืนยันความเป็นสมาชิกอีกครั้ง คสช. นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และสองลูกน้องคนสนิทในคณะรัฐมนตรี คือ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็เดินหน้าพูดคุยกับอดีต ส.ส. และนักการเมือง จากพรรคต่างๆ เช่น การดึงสองพี่น้องตระกูลคุณปลืิ้มจากพรรคพลังชลเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล การเปิดทำเนียบพูดคุยกับอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และการเดินสายพูดคุยทาบทามมุ้งการเมืองต่างๆ เพื่อดึงตัวมาร่วมงานกับ คสช. และพรรคการเมืองใหม่ที่ คสช. กำลังจะจัดตั้งขึ้น   
รอศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งรีเซ็ตสมาชิกชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่? 
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องลุ้นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งบังคับให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมต้องยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะขณะนี้คำสั่งดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 140 และ 141 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่? 
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 45 อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏฺิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่บุคคลจากความแตกต่างในสถานะบุคคล ฐานะทางสังคม และความคิดทางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ด้วยเหตุนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
พรรคใหม่-เล็ก-กลาง เสียเปรียบหาสมาชิกเพื่อส่งผู้สมัครลงทั้งประเทศ 
ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ของ คสช. สมาชิกพรรคการเมืองถือว่ามีความสำคัญมาก นับตั้งแต่การจะตั้งพรรคการเมืองได้ต้องมีสมาชิกมากกว่า 500 คน ขึ้นไป และพรรคการเมืองจะต้องมีสาขาพรรคภาคละหนึ่งสาขาแต่ละสาขาต้องมีสมาชิก 500 คน ขึ้นไป สำหรับพรรคการเมืองการจะเริ่มประชุมใหญ่พรรคครั้งแรกได้จะต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อยสี่สาขา เท่ากับว่าในช่วงเริ่มต้นพรรคการเมืองเดิมต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 2,000 คน ทั้งนี้หากดูจากยอดสมาชิกที่เข้ายืนยันกับแต่ละพรรคเบื้องต้น จะพบว่าทุกพรรคการเมืองที่เคยมี ส.ส. ต่างมีสมาชิกถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ อย่างไรก็ตามแต่ละสาขาพรรคก็ต้องมีสมาชิกมากกว่า 500 คนขึ้นไปด้วยเช่นกัน 
นอกจากนี้ ก่อนการเลือกตั้งแต่ละพรรคการเมืองจะต้องมีการจัดทำไพรมารี่โหวต (Primary Vote) ก่อน เพื่อให้สมาชิกในพรรคคัดเลือกตัวแทนพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องมี “สาขาพรรคการเมือง” หรือ “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” ในเขตเลืิอกตั้งนั้น เพื่อให้สมาชิกที่อยู่ในเขตพื้นที่นั้นเป็นคนคัดเลือกตัวแทนพรรค 
นั้นหมายความว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องหาสมาชิกให้เพียงพอสำหรับการทำไพรมารี่โหวต ซึ่งหากพรรคการเมืองใดต้องการจะส่งผู้สมัครลงครบ 350 เขต อาจต้องหาสมาชิกให้ได้ถึงจังหวัดละ 100 คน เพื่อให้เกิดตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด รวมทั้งประเทศพรรคการเมืองนั้นอาจจะต้องหาสมาชิกให้ถึง 7,700 คน ใน 77 จังหวัดเพื่อจัดทำไพรมารี่โหวตก่อนการเลือกตั้ง
ทั้งนี้หากดูจากตัวเลขยอดการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเบื้องต้น จะพบว่ามีเพียงพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่มีสมาชิกพรรคมากพอจะส่งผู้สมัครลงทุกเขตเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้อาจทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กถึงขนาดกลางเสียเปรียบในการหาผู้สมัครให้ครบทุกเขตเลือกตั้ง นั้นอาจรวมถึงพรรคการเมืองใหม่ของ คสช. ด้วยเช่นกัน